คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ

Socail Like & Share

คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญมีอยู่ ๓ ข้อคือ
๑. ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
๒. ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อกฎลูกเสือ
๓. ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือนั้นมีอยู่ ๑๐ ข้อคือ
๑. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
๒. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
๓. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อ่น
๔. ลูกเสือเป็นมิตรของทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
๕. ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
๖. ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
๗. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
๘. ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
๙. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
๑๐. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

ถ้าลูกเสือของเราปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือได้โดยเคร่งครัดแล้ว ปัญหาของวัยรุ่นจะไม่เกิดขึ้นเป็นแน่

อนึ่ง คำว่าลูกเสือนั้นเราแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Scout ซึ่งเป็นคำผสมซึ่งแยกออกได้ ดังนี้

S  มาจากคำ Smartness  ความว่องไวผึ่งผาย
C มาจากคำ  Courtesy    ความสุภาพอ่อนน้อม
O มาจากคำ  Obedience   การกระทำตามคำสั่ง, ความเชื่อฟัง
U มาจากคำ  Usefulness   เป็นประโยชน์
T มาจากคำ   Trustworthiness  คือความสุจริตมั่นคง

ที่หน้าหมวกของลูกเสือเรามีหน้าเสือและมีคำขวัญว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” คือสอนให้ลูกเสือเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตนั่นเอง

เดี๋ยวนี้เรามีลูกเสือขึ้นอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าลูกเสือชาวบ้าน คนที่จะเป็นลูกเสือประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กนักเรียน แต่เอาพวกชาวบ้านที่สมัครใจมาร่วมรับการอบรมและการฝึกแบบลูกเสือ ก่อให้เกิดความรักหมู่คณะและทำประโยชน์ส่วนรวมได้มากขึ้น

นายแพทย์ถวิล  สุนทรารักษ์  นายแพทย์ใหญ่จังหวัดสุรินทร์ได้กรุณาเขียนประวัติลูกเสือชาวบ้านมาให้ใจความว่า

ผู้ที่ริเริ่มให้มีลูกเสือชาวบ้านขึ้นคือ พ.ต.อ.(พิเศษ) สมควร  หริกุล ผู้บังคับการตำรวจชายแดนภาค ๒ และรักษาการผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๔ สาเหตุที่จะจัดให้มีขึ้น เพราะท่านผู้นี้มีความประทับใจในกิจการลูกเสือ ภายหลังที่ได้รับการฝึกวูดแบดจ์สำรองที่ค่ายลูกเสืออุดรธานี โดยมีนายสมเกียรติ  พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้ตรวจการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้อำนวยการฝึก จึงได้ชักชวนให้ตำรวจตระเวนชายแดนทั้งนายพันนายร้อยนายสิบ และพลตำรวจเข้ารับการฝึกวูดแบดจ์ แล้วต่อมาท่านผู้นี้ได้ริเริ่มฝึกชาวบ้านรุ่นแรกที่ตำบลเหล่ากอหก กิ่งอำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จำนวน ๑๑๕ คน เมื่อวันที่ ๙ ถึงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๔ ผลปรากฏว่าพวกชาวบ้านได้มีความสามัคคีกลมเกลียวกันดีระหว่างสมาชิกด้วยกันและครูฝึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัย ได้พระราชทานเงินให้ครั้งแรก ๑๐๐,๐๐๐ บาท พระองค์มีพระราชประสงค์จะให้มีการฝึกชาวไทยที่แข็งแรงทุกคนให้ได้ ๓ ล้านคนใน ๕ ปี โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพันคอ ห่วงผ้าผูกคอ ตราหน้าเสือของคณะลูกเสือแห่งชาติ วุฒิบัตร และบัตรประจำตัว ขณะนี้ (ตุลาคม ๒๕๑๗) ฝึกมาแล้วประมาณ ๙๐๐ รุ่น จำนวนลูกเสือชาวบ้านประมาณ ๓ แสนคน

เคยไปเห็นลูกเสือชาวบ้านเขาร้องเพลงล่ำลากันเมื่อได้รับการฝึกจบลงไปแล้ว จะเป็นเพราะผลของการฝึกอบรมหรือการได้อยู่ร่วมกันเป็นเวลาหลายวันก็ตามที ปรากฏว่าพวกลูกเสือชาวบ้านทั้งหลายต่างร้องไห้อาลัยล่ำลากันทุกครั้งหรือทุกรุ่นทีเดียว นับว่าการฝึกลูกเสือชาวบ้านได้รับผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง อันคนเรานั้นเมื่อรักกันแล้ว การที่จะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันเมื่อมีความจำเป็นก็ย่อมจะทำได้ง่าย เพราะเราทำให้คนที่เรารัก เราเสียสละให้พวกพ้องของเรา คนเราที่ทะเลาะวิวาทกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะถือว่านั่นพวกเขา นี่พวกเรา มีทิฎฐิมานะอิจฉาริษยากัน ซึ่งกิเลสเหล่านี้ระหว่างคนที่เรารักจะเกิดขึ้นได้ยาก

ถ้าทุกแห่งเต็มไปด้วยลูกเสือชาวบ้าน บ้านเมืองของเราคงจะสงบสุขและน่าอยู่ขึ้นอีกมาก

เรามีคำพังเพยหรือสุภาษิตเกี่ยวกับเสืออยู่หลายคำ เช่น หน้าเนื้อใจเสือ หมายความว่าคนนั้นมีหน้าซื่อแต่ใจโหดร้ายทารุณเหมือนเสือ

เขียนเสือให้วัวกลัว เป็นการวาดเรื่องให้คนกลัว แต่ความจริงแล้วเรื่องที่ว่านั้นไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ เหมือนเขียนรูปเสือหลอกวัว วัวก็ไม่กลัวฉะนั้น

ใจดีสู้เสือ  หมายความว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่ร้ายแรงเกิดขึ้นอย่าตกใจง่ายๆ พยายามทำใจให้มีความกล้าไว้ แล้วอันตรายนั้นๆ จะพ่ายไปเอง ว่ากันว่าเสือนั้นถ้าประจันหน้ากับคนแล้ว ถ้าคนไหนใจกล้าไม่หลบหรือวิ่งหนี ไม่ช้าเสือจะวิ่งหนีเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี