คำบุพบท

Socail Like & Share

บุพบท (อ่าน บุบ-พะ-บท) แปลว่าคำหน้าบท* หมายความ ถึงคำชนิดที่ใช้นำหน้านาม สรรพนาม หรือกริยาบางพวกที่เรียกว่า กริยาสภาวมาลา เพื่อบอกตำแหน่งของคำนาม สรรพนาม หรือกริยาเหล่านั้นว่า มีหน้าที่เป็นอะไร เช่นตัวอย่างว่า ‘เขาตีฉันด้วยมือ’ ดังนี้บุพบท ‘ด้วย’ บอกตำแหน่งของคำ ‘มือ’ ว่ามีหน้าที่สำหรับตี เป็นต้น

คำบุพบทภาษาไทย ต่างกับบุพบทของภาษาอังกฤษอยู่บ้าง คือของเขา ต้องทำหน้าที่เชื่อมคำให้ติดต่อกันเป็นข้อสำคัญ แต่ของไทย ‘บุพบท’หมายถึง คำหน้าบท นามซึ่งท่านตั้งขึ้นแทนวิภัตติในภาษาบาลี ดังนั้นจึงนำหน้าคำที่ตั้งต้นขึ้นเฉยๆ ก็ได้ เช่นตัวอย่างคำบุพบท ‘ดูกร ข้าแต่’ ที่นำหน้าคำนามของผู้ถูกร้องเรียก (คำอาลปน์) เช่นตัวอย่าง ‘ดูกร สงฆ์ ข้าแต่ ท่าน’ ซึ่งไม่เชื่อมกับ คำใดเลย* เป็นต้น ดังจะกล่าวต่อไป เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษายิ่งขึ้น จึงรวบรัดบุพบทภาษาไทยออกเป็นจำพวกใหญ่ ๒ พวก คือ (๑) จำพวกที่ไม่เชื่อมกับคำอื่น และ (๒) จำพวกที่เชื่อมกับคำอื่น ดังจะอธิบายต่อไปนี้
………………………………………………………………………………………..
* บท ที่นี้หมายความกว้าง ได้แก่คำ วลี หรือประโยคก็ได้
*คำบุพบทในภาษาไทยนั้น ชั้นเดิมก็ตั้งขึ้นแทนวิภัตตินามในภาษาบาลี ซึ้งคำนามของเขาต้องมี วิภัตติ ติดอยู่ท้ายด้วยทุกคำ เราจึงตั้งคำบุพบทเหล่านี้แทน วิภัตติ ของบาลีเพื่อให้แปลได้ตรงกัน ต่างกันก็เพียงบาลีเอาวิภัตติไว้ท้าย แต่เราเอาบุพบทไว้หน้าตามระเบียบภาษาไทยของเรา เท่านั้น เช่นตัวอย่าง
เทวะ (อะ) = (ข้าแต่) เทวดา คำร้องเรียก (อาลปน์)
เทโว (โอ) = (อันว่า) เทวดา คำประธาน
เทวํ (อํ) = (ซึ่ง) เทวดา คำกรรม
เทเวน (เอน) = (ด้วย) เทวดา คำทำหน้าที่เครื่องใช้
เทวายะ (อายะ) = (แก่) เทวดา คำทำหน้าที่ผู้รับ ดังนี้เป็นต้น

คำในวงเล็บท้ายบาลีคือวิภัตตินาม คำในวงเล็บหน้าคำไทยนั้น คือคำบุพบทซึ่งตั้งขึ้นแทนวิภัตตินาม ที่จรงคำบุพบทของเราไม่มีมาก เพิ่งมามีมากภายหลังเมื่อเรานิยมใช้ภาษาบาลี อนึ่งคำ ‘อันว่า’ ที่ท่านใช้นำหน้าประธานนั้น สังเกตเห็นเป็นคำนำหน้าข้อความเป็นพื้นไม่มีนำหน้าคำเลย จึงจัดไว้ในชนิดคำสันธาน
…………………………………………………………………………………………
บุพบทที่ไม่เชื่อมกับคำอื่น  บุพบทพวกนี้คือบุพบทที่เนื่องมาจากภาษาบาลี มีหน้าที่นำหน้าคำอื่นเท่านั้น แต่ไม่ได้เชื่อมกับคำข้างหน้าเลย จึงมักจะมีในหนังสือเทศน์ และข้อความที่ใช้ศัพท์แสงทำนองบาลี เช่น คำ ประพันธ์ต่างๆ เป็นต้น อันนับว่าเป็นภาษาไทยของเราเหมือนกัน บุพบทพวกนี้จำแนกออกเป็นประเภทได้ดังนี้

ก. บุพบทนำหน้าคำอาลปน์ หมายถึงบุพบทที่นำหน้าคำร้องเรียก ได้แก่คำ ‘ดูกร ดูรา ดูก่อน ข้าแต่’ เหล่านี้ ซึ่งโดยธรรมดาเราจะพูดกับใคร เราจะต้องเรียกผู้นั้นขึ้นก่อน เพื่อให้ฟังคำพูดของเราต่อไป คำที่เราเรียกนี้มัก เป็นสามานยนาม เช่น ‘นักเรียนทั้งหลายฟังฉันพูด’ หรือเป็นวิสามานยนาม เช่น ‘นายแดงฟังฉันพูด’ หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่สอง เช่น ‘ท่านทั้งหลาย ฟังฉันพูด’ ฯลฯ คำนั้น เรียกว่า นาม หรือ สรรพนาม อาลปน์ แต่คำอาลปน์เหล่านี้ ท่านมักใช้คำบุพบทนำหน้าเข้าอีก เพื่อให้ตรงกับภาษาบาลี เช่น ‘ดูกรนักเรียนทั้งหลาย ดูรานายแดง ข้าแต่ท่านทั้งหลาย’ เป็นต้น หรือ บางทีก็ใช้คำอุทานนำหน้าบ้าง เช่น ‘แน่ะ! นักเรียนทั้งหลาย เฮ้ย!นายแดง โอ!ท่านทั้งหลาย’ ดังนี้เป็นต้น คำบุพบทจำพวกนี้เมื่อเวลาบอกสัมพันธ์ ท่านให้เขียนรวมกับคำอาลปน์ซึ่งเรียกว่า ‘บุพบทวลี* อาลปน์’ มิได้มีหน้าที่ประกอบส่วนใดๆ ของประโยคเลย ถึงแม้ว่าจะกรอกไว้ในตารางช่อง ‘บทเชื่อม’ อย่างเดียวกับคำอุทาน แต่ก็ไม่บ่งความว่าเป็นบทเชื่อมกับคำใดๆ เลย ดังนั้นจึงจัดว่าเป็นบุพบทไม่เชื่อมกับคำอื่น ซึ่งมีใช้อยู่ ๔ คำ คือ ‘ดูกร ดูรา ดูก่อน ข้าแต่’ และใช้ในที่ต่างกัน คือคำ ‘ดูกร ดูรา ดูก่อน’ ใช้นำหน้านามหรือสรรพนามผู้น้อย แต่คำ ‘ขำแต่’ นั้นใช้นำหน้านามหรือสรรพนามผู้ใหญ่ หรือในที่กล่าวถ่อมตัว เช่นตัวอย่าง พระพุทธองค์ ตรัสว่า ‘ดูกรสงฆ์’ พระสงฆ์ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์…’ และปาฐกกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่านสมาชิกทั้งหลาย’ เป็นต้น
………………………………………………………………………………………….
*วลี หมายถึงคำกลุ่มหนึ่งตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป เรียกชื่อตามคำข้างหน้า เช่นคำหน้าเป็นบุพบท ว่า “ของฉัน ในบ้าน ฯลฯ” ก็เรียก “บุพบทวลี” และคำนามนำหน้าว่า “นกยางกรอก คนไทย ฯลฯ” ก็เรียกนามวลีเป็นต้น ซึ่งจะมีกล่าวพิสดารในวากยสัมพันธ์
………………………………………………………………………………………….
ข้อสังเกต คำอุทานเช่น แน่ะ! เฮ้ย! ฯลฯ ก็นำหน้าคำอาลปน์ได้เหมือนกัน เช่น ‘แน่ะ! ท่านดูโน่น’ ‘เฮ้ย! เด็กดูโน่น’ฯลฯ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ คำอุทานเหล่านี้ถึงจะแปลไม่ได้ก็มีความหมายเฉพาะคำ เช่น‘แน่ะ!’ เป็น สำเนียงร้องให้ดู และ ‘เฮ้ย!’ เป็นสำเนียงร้องให้รู้แล้ว และจะเอาไว้หลังสรรพนามหรือเอาไว้ลอยๆ ก็ได้ เช่น ‘ ท่าน แน่ะ, ดูโน่น ’ หรือ ‘ แน่ะ! ดูโน่น ’ เป็นต้น แต่บุพบทพวกนี้มีหน้าที่อย่างเดียวที่นำหน้าคำอาลปน์อย่างบุพบทอื่นๆ เท่านั้น จะเอาไว้ข้างหลังนามหรือเอาไว้ลอยๆ ว่า ‘ท่านดูกร ดูโน่น’ หรือว่า ‘ดูกร ดูโน่น’ ไม่ได้ทั้งนั้น

บุพบทที่นำหน้าการิตการก’ คือคำที่ทำหน้าที่รับใช้ ได้แก่คำ ‘ยัง’ ซึ่งติดมาจากภาษาบาลีว่า ‘ครูยังศิษย์ให้นอน’ คำ ‘ยัง’ หาได้เชื่อมกับคำ ‘ครู’ ข้างหน้าไม่ แต่ใช้นำหน้าคำ ‘ศิษย์’ อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งยังมีใช้อยู่ในภาษาไทย เช่นในคำเทศน์และคำประพันธ์เป็นต้น จึงยังคงใช้เรียกอยู่ว่าบุพบทนำหน้าคำการิตการก แต่ที่ไทยใช้ทั่วไปนั้น ใช้ว่า ‘ครูให้ศิษย์นอน’ หาต้องใช้ ‘ยัง’ นำหน้าศิษย์ไม่ ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า*

บุพบทที่เชื่อมกับบทอื่น คือบุพบทที่นำหน้านาม สรรพนาม หรือกริยาสภาวมาลาดังกล่าวแล้ว รวมกันเป็นบุพบทวลีซึ่งจะกล่าวในวากย-สัมพันธ์ต่อไป ย่อมทำหน้าที่ประกอบคำอื่นทั้งนั้น เว้นไว้แต่บุพบทนำหน้าคำ อาปน์และการิตการกเท่านั้น และเมื่อบุพบทวลีประกอบคำใด คำบุพบทนำหน้าวลีก็ได้ชื่อว่าเชื่อมคำนั้นให้ติดต่อกับคำท้ายวลีนั้นๆ ด้วย ตัวอย่าง ‘เสื้อของฉัน’ ดังนี้ คำ ‘ของ’ ซึ่งอยู่หน้าบุพบทวลี ‘ของฉัน’ ย่อมเชื่อมคำ ‘เสื้อ’ ข้างหน้าให้ติดต่อกับคำ ‘ฉัน’ ข้างท้ายเสมอไป ดังนั้นท่านจึงเรียกชื่อตามหน้าที่ของคำข้างท้ายบุพบทนั้นๆ เช่นบุพบทนำหน้านามหรือสรรพนามเจ้าของเป็นต้น คงจะแยกไว้เป็นประเภทๆ ให้สังเกตเป็นหลักต่อไปนี้
…………………………………………………………………………………………
*ยังมีบุพบทที่ใช้นำหน้ากรรตุการกในประโยคกรรมตามแบบบาลีอีกคำหนึ่ง คือคำ ‘อัน’ ซึ่งตรงกับคำ ‘โดย’ ในสำนวนอังกฤษ เช่น ‘หนังสือเขียนโดยนาย ก’- แต่บาลีว่า ‘หนังสืออัน นาย ก เขียน’ แต่มาเป็นภาษาไทยคำ ‘อัน’ ที่นี้เป็นคำประพันธสรรพนามในภาษาไทย หาใช่เป็น
คำบุพบทอย่างคำ ‘ยัง’ ไม่
………………………………………………………………………………………….
ก. บุพบทนำหน้ากรรม ไค้แก่คำ ‘ซึ่งแก่’ ที่จริงบุพบทที่ใช้นำหน้ากรรมการก (ผู้ถูกกระทำ) ในภาษาไทยเราไม่นิยมใช้เลย มักชอบใช้กรรม
การก ลอยๆ ว่า ‘เขาชอบเด็ก เขาชอบฉัน’ เป็นต้น

คำ ‘ซึ่ง’ ที่ใช้นำหน้ากรรมการกนี้มักติดมาจากหนังสือเทศน์ ซึ่งท่านใช้ ตามสำนวนบาลี เช่น ‘คนต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เขาบริโภคซึ่งอาหาร’ เป็นต้น

คำ ‘แก่’ นี้ใช้ในหนังสือโบราณ เช่นตัวอย่าง ‘พระองค์อาศัย แก่ เชตุพน วิหาร’ เป็นต้น บัดนี้ไม่ได้ใช้แล้ว มีใช้อยู่บ้างก็เป็นคำพิเศษ เช่น ใช้แก่ กริยา‘ถึง’เช่น‘ถึงแก่กรรม ถึงแก่พิราลัย ลุแก่โทษ ฯลฯ’ และกริยา ‘เห็น’ เช่น ‘เห็นแก่หน้า เห็นแก่สินบน’ เป็นต้น

หมายเหตุ บุพบทที่นำหน้ากรรมการกนี้ ในภาษาสามัญไม่นิยมใช้โดย มาก แต่คำ ‘ซึ่ง’ ยังคงใช้อยู่บ้างในสำนวนติดมาจากหนังสือเก่า ดังตัวอย่างข้างบนนี้ประการหนึ่ง หรือใช้ประโยคที่มีภาคกริยายืดยาว เมื่อใส่ ‘ซึ่ง’ เข้าจะได้รู้ง่ายว่าเป็นภาคกรรมของประโยคนั้นๆ เช่น ‘ผู้ใดฆ่าก็ดี ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี ซึ่ง สัตว์มีชีวิต….” เป็นต้น ข้อหลังนี้ยังมีประโยชน์ควรเลือกใช้ตามควร

ข. คำบุพบทที่นำหน้าคำที่เป็นเจ้าของ ได้แก่ ‘แห่ง, ของ’ ซึ่งเชื่อมกับนามข้างหน้าเป็นพื้น เช่นตัวอย่าง ‘บุตรแห่งนายสี, ชีวิตของเขา

หมายเหตุ ในบุพบททั้ง ๒ คำนี้ คำ ‘ของ’ แพร่หลายมากกว่าคำ ‘แห่ง’และคำ ‘ของ’ นอกจากใช้เช่นเดียวกับคำ ‘แห่ง’ ดังกล่าวแล้ว ยังใช้เชื่อมกับกริยาของประโยคเป็นพิเศษได้อีก เช่น ‘เรื่องนี้เขาคิดของเขาเอง’ หรือ ‘เขาพูดของเขาน่าฟัง’ ดังนี้เป็นต้น

ค. คำบุพบทนำหน้าบทบอกลักษณะ ได้แก่ บุพบทที่นำหน้าคำหรือวลี ที่ทำหน้าที่บอกลักษณะหรืออาการของบทข้างหน้า ซึ่งมักเป็นคำกริยา หรือ อาการนามเป็นพื้น ดังจะจำแนกไว้ให้เป็นที่สังเกตต่อไปนี้
(๑) นำหน้าบทที่บอกลักษณะเป็นเครื่องใช้ หรือมีอาการร่วมกัน ตาม กัน หรือแสดงอาการต่างๆ ได้แก่คำ ‘ด้วย กับ ทั้ง โดย ตามฯลฯ’ ตัวอย่าง ‘ตีด้วยไม้ เห็น กับ ตา ไป กับ เพื่อน อยู่ ด้วย กัน นอน ทั้ง เครื่องแบบ กล่าว โดย จริง เดิน ตาม ทาง ทำ ตาม กฎหมาย’ ดังนี้เป็นต้น

(๒) นำหน้าบทบอกลักษณะเป็นผู้รับ และเป็นความประสงค์ของบท หน้า ได้แก่คำ ‘แก่ แด่ ต่อ เพื่อ สำหรับ เฉพาะ’ เหล่านี้ เป็นต้น ดังตัวอย่าง ‘ให้เงิน แก่ บุตร  ถวาย แด่ เจ้านาย หาเงิน เพื่อ บุตร ยื่นคำร้อง ต่อ ศาล มีไว้ สำหรับ ชม มีไว้ เฉพาะ ตัวเขา’ เป็นต้น

ฆ. คำบุพบทนำหน้าบอกเวลา ได้แก่ บุพบทซึ่งนำหน้าคำหรือวลีที่ทำ หน้าที่บอกเวลา ดังจะจำแนกไว้พอเป็นที่สังเกต คือ:-

(๑) นำหน้าบทบอกเวลาทั่วไป ได้แก่คำ ‘เมื่อ ใน ณ’ ฯลฯ เช่น ‘เมื่อเช้า เมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ ใน กลางเดือน ณ วันที่ ๑ เดือนนี้’ เป็นต้น

(๒) นำหน้าบทบอกเวลาเริ่มต้น ได้แก่คำ ‘แต่ ตั้งแต่’ ฯลฯ เช่น ‘แต่เช้า ตั้งแต่เช้า’

(๓) นำหน้าบทบอกเวลาสุดท้าย ได้แก่คำ ‘จน กระทั่ง’ ฯลฯ ‘จน เช้า กระทั่ง เที่ยง’

(๔) นำหน้าบทบอกเฉพาะเวลา ได้แก่คำ ‘สำหรับ เฉพาะ’ ฯลฯ เช่น ‘สำหรับปีหน้า เฉพาะ ปีนี้’

หมายเหตุ บุพบทพวกนี้เชื่อมได้ทั้งนาม กริยา และวิเศษณ์แล้วแต่ความ เช่นตัวอย่าง ‘เชื่อมกับนาม-คน เมื่อ ครั้งโน้น อาหาร สำหรับ วันหน้า ฯลฯ เชื่อมกับคำกริยา-เขาไป แต่ เช้า เขาอยู่ จน เย็น เขาอยู่ เฉพาะ กลางคืน ฯลฯ และเชื่อมกับคำวิเศษณ์-หอม จน เย็น หอม เฉพาะ เวลาเช้า’ เป็นต้น

ง. บุพบทนำหน้าบทบอกสถาน ได้แก่ บุพบทที่นำหน้าคำหรือวลี อันทำหน้าที่บอกสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบุพบทนำหน้าคำบอกเวลาเหมือนกัน ดังจะจำแนกไว้พอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้:-

(๑) นำหน้าบทบอกสถานที่ทั่วไป คือบอกสถานกว้างๆ ซึ่งไม่รู้ว่าตรงไหน  ได้แก่คำ  ‘ที่’  เช่นตัวอย่าง ‘ของ ที่ ตู้’ คำ ‘ที่’ หมายความกว้างๆ ว่า บนตู้ก็ได้  หรือ ใต้ตู้ ในตู้ ข้างตู้ก็ได้ ไม่จำกัดแน่นอน ดังนี้เป็นต้น

(๒) นำหน้าบทบอกสถานที่เฉพาะ เช่นคำ ‘ใต้ ใน เหนือ บน ข้าง ริม’ ฯลฯ เช่น ‘ของ ใน ตู้ ของ ใต้ ตู้ เป็นต้น

(๓) นำหน้าบทบอกระยะของสถานที่ เช่น ‘ใกล้ ไกล ห่าง ชิด’ ฯลฯ
ตัวอย่าง ‘บ้านอยู่ ใกล้ นา ป่าอยู่ ไกล เขา’ เป็นต้น

(๔) นำหน้าบทบอกสถานที่ต้นทางหรือเหตุการณ์ต้นเค้า เช่น  ‘แต่ จาก’ ตัวอย่าง ‘ต้นไม้เกิดแต่แผ่นดิน เขามาจากพระนครศรีอยุธยา’ เป็นต้น

(๕) นำหน้าบทบอกสถานที่เบื้องปลาย ซึ่งมักใช้กับกิริยาเคลื่อนไหว ‘ไป มา’ ฯลฯ ได้แก่คำ ‘ถึง สู่ ยัง ที่ จน กระทั่ง’ ฯลฯ ตัวอย่าง ‘ไป ถึง บ้าน ไป สู่ บ้าน มา ยัง บ้าน ไป ที่ บ้าน ตลอด จน ห้องสวม ไป กระทั่ง เมือง แขก’ เป็นต้น

จ. คำบุพบทนำหน้าบทบอกประมาณ ได้แก่บุพบทที่นำหน้าคำ หรือวลีที่ทำหน้าที่บอกกำหนดจำนวน มีประเภท ดังต่อไปนี้:-

(๑) นำหน้าบทบอกกำหนดแน่นอน ได้แก่คำ ‘สิ้น ทั้ง ทั้งสิ้น หมดทั้งตลอด พอ’ ฯลน ซึ่งเชื่อมได้ทั้งนาม กริยา หรือวิเศษณ์ ตัวอย่าง ‘ใช้เงิน สิ้น สามชั่ง ข้าว ทั้ง ยุ้งนี้ ข้าว ทั้งสิ้น สามยุ้งนี้ ทหาร หมดทั้ง กองร้อยนี้  นอน ตลอด คืน เก็บไว้ พอ สามปี เป็นต้น

(๒) นำหน้าบทบอกกำหนดไม่แน่นอน ได้แก่คำ ‘เกือบ ประมาณ สัก ราว’ ฯลฯ ซึ่งใช้ได้ทั่วไปอย่าง ข้อ (๑) ดังตัวอย่าง คน เกือบ สาม
ร้อย อยู่ เกือบ สามปี คน สัก ห้าร้อย ไปได้ ราว ห้าเส้น เป็นต้น

ข้อสังเกต วิธีสังเกตคำบุพบทที่เชื่อมกับคำอื่นนั้น ก็คือ บุพบทพวกที่ทำหน้าที่เชื่อมบทหน้ากับบทหลังให้ติดต่อกัน และความหมายสำคัญอยู่ที่บทหลัง ส่วนตัวบุพบทมีความหมายเพียงทำหน้าที่เชื่อมบททั้งสอง ให้ติดต่อกันอย่างหนึ่ง และแสดงว่า บทหลังบุพบทนั้นทำหน้าที่ประกอบบทหน้า เพื่อบอกลักษณะ บอกกาล บอกสถาน และบอกประมาณ ดังอธิบายมาแล้วอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงควรสังเกตไว้ว่า ใจความสำคัญอยู่ที่บทหังบุพบท ส่วนตัวบุพบทนั้นมีความหมายเพียงบอกหน้าที่ของบทหลังให้ละเอียดยิ่งขึ้นเท่านั้น ดังนั้นในความหมายกว้างๆ เราจึงไม่ต้องใช้บุพบทเชื่อมก็ได้ เช่น ‘อยู่บ้าน’ ดังนี้ คำ บ้าน ก็เป็นบทประกอบบอกสถานที่อยู่แล้ว ถ้าจะให้ความหมายละเอียดยิ่งขึ้นก็เติมบุพบทลงไปว่า ‘อยู่ ใน บ้าน อยู่ ใกล้ บ้าน’ เป็นต้น หรือบางแห่งเรารู้ความหมายกันทั่วไปแล้ว เช่น ‘นอนเตียง นั่งเก้าอี้’ เช่นนี้ก็ไม่นิยมใส่บุพบทว่า ‘นอน บน เตียง นั่ง บน เก้าอี้’  ให้เป็นการยืดยาว ตัวอย่างเช่นนี้มีในภาษาไทยมากมาย เช่น ‘ว่ายน้ำ,กินตะเกียบ’ ฯลฯ บางแห่งเลยกลายเป็นคำประสมไปก็มี และยังมีข้อสังเกตเป็นพิเศษอีกหลายอย่าง ดังจะรวบรวมมาไว้พอเป็นหลักดังนี้ :

(๑) มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าคำบุพบทเหล่านี้ไม่มีบทตามหลัง ต้องนับว่าเป็นคำ ‘วิเศษณ์’ ประกอบบทหน้า เรียกชื่อตามความหมายของคำวิเศษณ์นั้นๆ ตัวอย่าง ‘ไปเมือง ไกล บ้าน ใกล้ เรือนเคียง เขาอยู่ ใต้ มาก ฉันอยู่ เหนือ มาก’ เป็นต้น

(๒) ใช้วิเศษณ์แทนบุพบทได้ในที่บางแห่ง ตัวอย่าง ‘บ้านอยู่ ไกล จากบ้านฉัน’ ‘บ้านเขาอยู่ ใกล้ กับบ้านฉัน’ คำ ไกล และ ใกล้ เป็นวิเศษณ์ ประกอบกริยา ‘อยู่’ และคำ ‘จาก’ และ ‘กับ’ เป็นบุพบทเชื่อมคำ ‘ไกล ใกล้’ ให้ติดต่อกับ ‘บ้านฉัน’ แต่ถ้าเราพูดละบุพบท จาก และ กับ เสียว่า ‘บ้านเขา อยู่ ไกล บ้านฉัน บ้านเขาอยู่ ใกล้ บ้านฉัน’ เช่นนี้ คำ ‘ไกล ใกล้’ ก็ทำหน้าที่ เป็นบุพบทแทน ‘จาก’ และ ‘กับ’ ได้

(๓) คำกริยารองที่ไช้เป็นวิเศษณ์ จะทำหน้าที่เป็นบุพบทไม่ได้ เพราะ ใจความอยู่ที่กริยารอง เช่นตัวอย่าง ‘เขาเดิน มา ยังบ้าน เขาวิ่ง ข้าม ซึ่งรั้ว เขาเดิน เตะ ซึ่งกระโถน’ ฯลฯ ดังนี้ถึงจะละบุพบทเสียว่า ‘เขาเดินมา บ้าน เขาวิ่ง ข้าม รั้ว เขาเดิน เตะ กระโถน’ เช่นนี้ คำ ‘มา ข้าม เตะ’ ไม่ใช่บุพบท แต่ทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ประกอบคำข้างหน้า ถึงละบุพบทหรือไม่ละก็ตาม ก็รวมเรียกว่าเป็น กริยาวลี แต่งคำข้างหน้าทั้งนั้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร