คำกาพย์

Socail Like & Share

ประเภทคำกาพย์  คำกาพย์ของไทยเราหมายถึงคำกานท์พวกหนึ่ง  ซึ่งต่างกับคำกลอนเพราะจัดวรรคต่างกัน ต่างกับคำโคลงและร่าย เพราะไม่นิยมเอกโท และต่างกับฉันท์ เพราะไม่นิยมครุ ลหุ แต่ท่านประพันธ์เข้ากับฉันท์ได้

กาพย์ที่เป็นสามัญมี ๓ ประเภท คือ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ ครั้งโบราณหนังสืออ่านเล่นก็ดี หนังสือสอนอ่านก็ดี แม้จนหนังสือตำราบางอย่าง ท่านมักแต่งเป็นกาพย์ ๓ ประเภทนี้สลับกันแทนคำกลอนในสมัยนี้

กาพย์เหล่านี้ คงเป็นคำกานท์ดั้งเดิมของไทยเราอย่างเดียวกับโคลงและร่ายดังกล่าวมาแล้ว ครั้นอาจารย์ทางบาลีรวบรวมมาแต่งเป็นภาษาบาลี เรียกว่าคัมภีร์กาพย์  จึงเรียกว่า กาพย์ ตามภาษาบาลี

๑. กาพย์ยานี   ที่นิยมใช้แต่งสลับกับกาพย์ฉบัง และสุรางคนางค์  ในสมัยนี้มีสัมผัสมากกว่ากาพย์ยานีโบราณ ดังแบบข้อบังคับต่อไปนี้

คณะ  เหมือนโบราณ คือ บทหนึ่งมี ๒ บาท  บาทต้นเรียกว่า บาทเอก บาทท้ายเรียกว่า บาทโท และบาทหนึ่งมี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ  รวมบาทหนึ่งเป็น ๑๑ คำทั้ง ๒ บาท  ดังนั้นท่านจึงเขียนชื่อไว้ข้างหน้า “ยานี ๑๑” บ้าง “ยานี” บ้าง บางทีก็เขียน “๑๑” บ้าง

สัมผัสนอก  ในส่วนสัมผัสนอก คือสัมผัสบังคับท่านใช้อย่างเดียวกับสัมผัสกลอนทุกอย่าง ต่างกันเพียงวรรคหนึ่งๆ มีคำน้อยกว่ากันเท่านั้น ดังจะทำแผนไว้ให้ดูต่อไปนี้
silapa-0429 - Copy
………………………………………………………………………………………….
๑ คำกาพย์ แปลว่า คำของกวี ทางบาลีก็หมายความว่าฉันท์ แต่พระอาจารย์ทางบาลีได้รวบรวมเอาคำโคลงและคำกานท์อื่นๆ ของไทยที่ใช้อยู่ในสมัยนั้นมาแต่งเป็นภาษาบาลีให้ชื่อว่า “กาพยสารวิลาสินี” และ “กาพยคันถกะ” และกำหนดให้มีสัมผัสอย่างไทย  ซึ่งไม่เคยมีในภาบาลีเลย แต่ในส่วนโคลงร่ายของไทยมีบังคับ เอก โท ด้วย ท่านเว้นเสีย  เพราะภาษาบาลีไม่นิยม เอก โท  จึงเกิดมีโคลงตามแบบคัมภีร์กาพย์ไม่นิยม เอก โท ขึ้นดังกล่าวแล้ว

และกาพย์ ๓ ประเภทนี้  ท่านยังจำแนกเป็นประเภทละหลายชนิด โดยกำหนดวรรคและคำต่างๆ กัน และเรียกชื่อต่างๆ กันด้วย ครั้นต่อมาท่านเอาฉันท์บางบทของบาลีมาแต่งเป็นทำนองกาพย์เข้าอีก แต่มิได้นิยม ครุ ลหุ เคร่งครัดอย่างบาลีนัก  ดังนั้นกาพย์ ๓ ประเภทนี้ ท่านจึงแต่งปนเปกับฉันท์ก็ได้

๒ คำ “ยานี” ที่ใช้เรียกชื่อกาพย์ ๑๑ นี้ ท่านเรียกตามฉันท์อินทรวิเชียร  ซึ่งยกมาเป็นตัวอย่างว่า “ยานีธภูตานิสมาคตานิ” แต่ท่านลดข้อบังคับ ครุ ลหุ และเติมสัมผัสเข้าแทน และเรียกว่า กาพย์ยานี ตามตัวอย่างฉันท์นั้น ดังจะอธิบายต่อไปในข้อ “กาพย์พิเศษ” อีก
………………………………………………………………………………………….
และสัมผัสบทส่งต้นนี้จะต้องคล้องกับสัมผัสของบทต่อไป เช่นกลอนตามแผนข้างบนนี้ จะเห็นได้ว่า ๒ บาท จึงเป็นบทหนึ่ง เพราะจบรวดสัมผัสที่ท้ายบาทโท แต่ต้องแต่งให้จบลงที่ท้ายบาทโท จึงจะครบบท

สัมผัสใน  กาพย์ที่แต่งเป็นคำสวด เช่น กาพย์พระไชยสุริยา กาพย์ประถมมาลา เป็นต้น มักจะมีสัมผัสสระทุกวรรค และโดยมากเป็นสัมผัสชิดกัน ที่จริงจะใช้สัมผัสคั่นก็ได้ แต่วรรคหนึ่งๆ มีน้อยคำใช้สัมผัสคั่นลำบาก บางแห่งท่านก็ใช้สัมผัสอักษรแทนบ้าง แล้วแต่เหมาะ เพราะสัมผัสในไม่ใช่สัมผัสบังคับจะไม่มีเลยก็ไม่ผิด จงสังเกตตัวอย่างในกาพย์พระไชยสุริยา (ของสุนทรภู่) ต่อไปนี้
silapa-0430 - Copy
เสียงวรรณยุกต์  สำหรับกาพย์ยานีและกาพย์อื่นๆ ไม่มีบังคับอย่างกลอน คือในสัมผัสรวดหนึ่งจะมีเสียงวรรณยุกต์เสียงเดียวกันทั้งหมดก็ได้  ข้อสำคัญมีอยู่เพียงไม่ให้ส่งและรับเป็นคำเดียวกัน เช่น ส่ง กัน จะรับ กัน หรือ กัณฑ์, กรรณ์ ฯลฯ  ซึ่งมีเสียงอ่านอย่างเดียวกันไม่ได้ รวมความว่าจะใช้คำเสียงอ่านซ้ำกันอยู่ถัดกันไปไม่ได้ แต่ถ้าใช้คำต่อไปเป็นเสียงอื่นแล้ว คำที่สามก็ใช้ซ้ำกันเช่นนี้มีบ้าง เช่น

“หอมกลิ่นพิกุลแกม        กับนางแย้มทรงกลิ่น สี
มลิลาสารภี                   งามกลิ่น สี น่าใคร่ชม”

เช่นนี้ใช้ได้ทุกแห่ง แต่ท่านไม่นิยม ข้อสำคัญท่านนิยมในรวดเดียวกัน ไม่ใช้ซ้ำกันเลย เป็นส่วนมาก๑

หมายเหตุ  ตามแผนข้างบนนี้  เป็นกาพย์ยานีนิยมสัมผัส  ซึ่งใช้กันอยู่บัดนี้  แต่กาพย์ยานีโบราณ ท่านใช้สัมผัสแต่ เชื่อม สลับ ในบาทเอกเท่านั้น ส่วนสัมผัสเชื่อมรองในบาทโทนั้นไม่ต้องมี เช่นตัวอย่างของเก่าของท่านดังนี้

บาทเอก  ชมพรรณบุปผา  ผกาแก้วพิกุลแกม (มีเชื่อมสลับ)
บาทโท    สารภียี่สุนแซม   ลดาดอกลำดวนดง (ไม่มีเชื่อมรอง)

และตัวอย่างในหนังสือมาลัย ดังนี้
บาทเอก  ในกาลอันลับล้น        พ้นไปแล้วแต่ครั้งก่อน (มีเชื่อมสลับ)
บาทโท    ภิกษุหนึ่งได้พระพร    ชื่อมาลัยเทพเถร (ไม่มีเชื่อมรอง)

๒. กาพย์ฉบัง  กาพย์นี้ท่านเรียกชื่อว่า “ฉบำ” ก็มี  บางทีก็เขียนเลขหมายไว้ข้างหน้าว่า “๑๖” เท่านั้นก็มี  เพราะกาพย์นี้บทหนึ่งมี ๑๖ คำ และมีข้อบังคับดังต่อไปนี้

คณะ  บทหนึ่งมีบาทเดียว จึงไม่มีบาทโทอย่างกาพย์ยานี และบาทหนึ่งๆ มี ๓ วรรค คือวรรคต้นมี ๖ คำ วรรคกลางมี ๔ คำ และวรรคท้ายมี ๖ คำ รวมเป็นบทหนึ่งมีบาทเดียว ๑๖ คำ  และเพราะมีบาทเดียวไม่กำหนดบาทเอก บาทโท จึงแต่งให้จบลงในบาทไรก็ได้ นับว่าครบบทหนึ่งเท่านั้น
………………………………………………………………………………………….
๑ ในกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ ท่านพยายามใช้เสียงวรรณยุกต์อย่างกลอนอยู่มาก เช่น ส่ง-เสียง-สามัญ-รับเสียงจัตวา เป็นต้น  แต่ที่ใช้ตรงกันข้ามกับที่ว่านี้ คือ ส่ง จัตวา รับสามัญก็มี เช่น

แม่นกปกปีกเคียง       เลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร(ส่งจัตวา)
ภูธรนอนเนินเขา        เคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์(รับสามัญ)

รวมความว่าท่านมิได้มีข้อบังคับเรื่องเสียงวรรณยุกต์เลย แต่ก็พยายามให้ใช้เสียงวรรณยุกต์ได้อย่างกลอนยิ่งมากยิ่งดี
………………………………………………………………………………………….
สัมผัส  กาพย์นี้ไม่มีสัมผัสสลับจึงจบรวดในบาทเอก-โท ได้  ซึ่งตามธรรมดาจบสัมผัสรวดหนึ่งท่านนับเป็นบทหนึ่ง  สัมผัสนอกของกาพย์นี้ตามแบบโบราณท่านใช้ ๓ แห่ง คือ คำสุดวรรคต้นเป็นสัมผัสรับ คำสุดวรรคกลางเป็นสัมผัสรอง และคำสุดวรรคท้ายเป็นสัมผัสส่ง ตามตัวอย่างของท่านดังนี้
silapa-0432 - Copy
๓. กาพย์สุรางคนางค์  บางทีก็ใช้ว่า “สุรางคณา” แต่ก็แปลว่านางฟ้าด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง  บางทีท่านเขียนไว้ข้างหน้าว่า “๒๘” เท่านั้นก็มี  เพราะกาพย์นี้บทหนึ่งมี ๒๘ คำ  โดยปรกติที่ใช้กันแพร่หลายในบัดนี้มีข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

คณะ  บทหนึ่งมีบาทเดียว ซึ่งมี ๗ วรรคด้วยกัน และวรรคหนึ่งๆ มี ๔ คำ  ซึ่งรวมเป็นบทหนึ่งมี ๒๘ คำ  ดังนั้นท่านจึงเรียกว่า กาพย์ ๒๘ ก็ได้ และเพราะกาพย์นี้มีบทละบาทเดียว คือไม่มีบาทโท จึงแต่งให้จบลงในบาทใดก็ได้อย่างกาพย์ฉบัง ไม่จำเป็นให้จบในบาทคู่เหมือนกาพย์ยานี

สัมผัส  มีระเบียบอย่างสัมผัสกลอน คือ มี สลับ รับ รอง ส่ง และมีเชื่อมสลับ เชื่อมรอง เช่นกัน แต่เติม-สลับ-และ-รอง ขึ้นอีกอย่างละรวดดังแผนต่อไปนี้
silapa-0433 - Copy

รวมความว่าสัมผัสรวดใหญ่ มีสัมผัสสลับต้นหนึ่ง ๓ วรรค คือ “กน” เป็นสลับหนึ่ง “ปน” เป็นรองสลับหนึ่ง และ “คน” เป็นเชื่อมสลับหนึ่ง แล้วจึงถึงรับของรวดใหญ่ “ไป” ซึ่งอยู่ท้ายวรรคนั้น และรองมี ๒ วรรค คือ “ธร” เป็นสลับสอง “นอน” เป็นเชื่อมสลับสองต่อแล้วจึงถึง “ไพร” อยู่ท้ายวรรค เชื่อมสลับสอง นับว่าเป็นรอง ๑ ของรวดใหญ่ แล้วถึงรอง ๒ ซึ่งอยู่ท้ายวรรคต่อไป (วรรค ๖) แล้วจึงถึงเชื่อมรอง ๒ ของรวดใหญ่อยู่ต้นวรรคส่งคือคำ “ไพ” แล้งจึงถึงส่งของรวดใหญ่ ซึ่งอยู่ข้างท้ายวรรค (วรรค ๗) คือคำ “สถาน” ต้องคล้องกับสัมผัสรับ วรรคที่ ๓ ของบทต่อไป เป็นดังนี้เรื่อยไป

แบบกาพย์สุรางคนางค์โบราณ  ก็ทำนองเดียวกับแผนข้างบนนี้ แต่ท่านไม่นิยมใช้สัมผัสเชื่อมต้นวรรค เป็นสัมผัสบังคับ คือใช้แต่สัมผัสสลับ รับ รอง ส่ง ตามแผนข้างบนนี้ เช่นตัวอย่างเดิมของท่าน ดังนี้
silapa-0434 - Copy
เสียงวรรณยุกต์  กาพย์นี้ก็นิยมใช้เสียงวรรณยุกต์เช่นเดียวกับกาพย์ยานี และกาพย์ฉบังเหมือนกัน จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก

กาพย์พิเศษ  ได้แก่กาพย์ซึ่งมีข้อบังคับหรือวิธีประพันธ์แตกต่างออกไปจากกาพย์ที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ กล่าวโดยย่อมี ๒ ประเภท ดังนี้

(ก) คือประเภทกาพย์ที่อาจารย์ทางบาลีได้รวบรวมเอาคำกานท์ในภาษาไทยโบราณ เช่นคำโคลง คำร่าย และคำนำอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในสมัยนั้นมาแต่งเป็นภาษาบาลี ใช้ชื่อว่าคัมภีร์กาพยสารวิลาสินี และกาพยคันถกะ เป็นต้น และคำกานท์เหล่านั้น ท่านให้ชื่อ “กาพย์” ทั้งสิ้น  ซึ่งที่จริงก็มีแบบบังคับอย่างโคลง ร่าย ฯลฯ ของไทยเราเดิมนั้นเอง  ต่างแต่ไม่มีบังคับ เอก โท เท่านั้น เพราะภาษาบาลีไม่มีวรรณยุกต์  กาพย์เหล่านี้ท่านนำมาแต่งเป็นโคลงในภาษาไทยก็มีอยู่บ้าง จึงได้รวบรวมมาอธิบายไว้ในแผนกโคลงข้างต้นนี้ รวมเรียกว่า “โคลงตามแบบคัมภีร์กาพย์”

(ข) ลำนำทั้ง ๓ ที่เราเรียกกาพย์ตามแผนข้างบนนี้ ท่านก็รวบรวมมาแต่งเป็นภาษาบาลีไว้ในคัมภีร์กาพย์นั้นด้วย แต่ท่านแบ่งออกไปเป็นหลายชนิดด้วยด้วย ทั้งใช้ชื่อตามภาษาบาลีต่างออกไปด้วย ที่จริงนอกจากตัวอย่างที่ท่านทำไว้ให้ดูแล้วก็ไม่มีที่อื่นอีก ฉะนั้นในที่นี้จะนำมากล่าวแต่เฉพาะที่ท่านใช้อยู่เท่านั้น ดังต่อไปนี้

(ค) กาพย์ยานีที่ใช้เป็นพิเศษ  กาพย์ยานีนอกจากที่แต่งรวมกับบทกาพย์ด้วยกัน ดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังแต่งเข้ากับฉันท์ได้อีก เพราะมีข้อบังคับคล้ายฉันท์อินทรวิเชียร ต่างกันก็เพียงแต่ไม่นิยมครุลหุเท่านั้น เช่นตัวอย่างในคำกฤษณาสอนน้อง ดังนี้

“ตื่นก่อนเมื่อนอนหลัง        พึงเฝ้าฟังบรรหารแสดง
ตรัสใช้ระไวระแวง             ระวังศัพท์รับสั่งสาร” ดังนี้เป็นต้น

แต่ก็ไม่แปลกกับกาพย์ยานีโบราณ ส่วนที่ใช้เป็นพิเศษที่ควรนำมากล่าวให้พิสดารนั้น ดังต่อไปนี้

(ฆ) กาพย์ห่อโคลง กาพย์ยานีนี้ท่านแต่งสลับกันกับโคลง ๔ สุภาพ ให้เนื้อความเข้ากับโคลงนั้นด้วย นับว่าเป็นกาพย์พิเศษอย่างหนึ่ง เรียกชื่อว่า “กาพย์ห่อโคลง” ตามวิธีแต่งนั้น คือแต่งกาพย์ขึ้นบทหนึ่งก่อน แล้วแต่งโคลงให้มีเนื้อความเลียนกาพย์นั้นเป็นลำดับต่อลงมาบทต่อบท เป็นการประกวดความคิดกัน ซึ่งนับว่ายากอยู่ เพราะโคลงแบบหนึ่งมี ๗ ถึง ๙ คำ แต่กาพย์มีเพียงวรรคหนึ่ง ๕-๖ คำเท่านั้น จะต้องใช้ถ้อยคำให้ได้ความเท่ากันกับกาพย์บาทละวรรคด้วย ส่วนข้อบังคับก็เช่นเดียวกันกับโคลงกับกาพย์ยานี ซึ่งวางไว้ข้างบนนั้นเอง แต่ข้อบังคับพิเศษ สำหรับกาพย์ห่อโคลงดังนี้ คือ

ต้องแต่งกาพย์ยานีบทหนึ่ง ซึ่งมี ๔ วรรค สลับกับโคลงสี่สุภาพบทหนึ่ง ซึ่งมี ๔ บาท ให้เนื้อความในกาพย์วรรคหนึ่งเท่ากันกับโคลงบาทหนึ่งๆ ด้วยตามลำดับ และให้คำต้นวรรคกาพย์กับคำต้นบาทโคลงเป็นคำเดียวกันด้วย๑ ดังตัวอย่างของเก่าต่อไปนี้

กาพย์ยานี
“ช้างต้นเผือกพลายพัง        อีกสมวังเนียมกุญชร
ม้าต้นดั่งไกรสร                  สิงห์สีหราชอาจสงคราม

โคลง ๔ สุภาพ
ช้างที่นั่งพัง๒ ล้ำ        กิริณี
อีกพลายปราบไพรี      ราบได้
ม้าที่นั่งดังศรี             สิงหราช
สิงห์คึกอึกอาจให้       ปราบด้วยชำนาญ๓”

หมายเหตุ  ตามข้อบังคับมีว่า วรรคกาพย์กับบาทโคลงทุกคู่ต้องเป็นเนื้อความที่ถ่ายออกจากกัน คือเป็นอย่างเดียวกัน แต่ตามตัวอย่างข้างบนนี้มีเหลื่อมล้ำกันอยู่บ้าง แสดงว่านับว่าใช้ได้แล้ว เพราะคำประพันธ์โบราณท่านนิยมความไพเราะเป็นสำคัญ มาในสมัยนี้กวดขันข้อบังคับกันเป็นข้อสำคัญ  ก็ควรแต่งให้ได้ตามที่นิยมกัน แต่ข้อสำคัญยิ่งนั้นอยู่ที่ความไพเราะและให้ได้ความชัดเจน

อนึ่งกาพย์กับโคลงท่านแต่งเป็นบทๆ ไม่คล้องจองติดต่อกันก็มี ดังตัวอย่างข้างบนนี้ ถ้าเราจะแต่งให้คล้องจองกันอย่างลิลิตก็นับว่าไพเราะยิ่งขึ้น คือต้องให้ได้สัมผัสถูกต้องตามสัมผัสรับของโคลงและกาพย์ด้วย๔

………………………………………………………………………………………….
๑ ข้อนี้เห็นมีต่างกันบ้าง แต่ก็น้อยแห่ง น่าจะเป็นด้วยท่านไม่นิยมเข้มงวดนักกระมัง

๒ “พัง” ควรเป็นเอกตามข้อบังคับโคลง ๔  โคลงโบราณท่านไม่เข้มงวดในข้อบังคับนัก ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านจึงไม่นิยมนัก

๓ ตัวอย่างกาพย์ห่อโคลงนี้ท่านเอากาพย์ขึ้นต้น และเอาโคลงไว้ทีหลัง ตามที่เขียนไว้นี้ แต่สังเกตดูคำอธิบายของท่าน น่าจะเห็นว่าควรแต่งโคลงขึ้นก่อนแล้วแต่งกาพย์เลียนโคลงนั้นภายหลัง เพราะท่านเปรียบโคลงเป็นต้นไผ่หรือต้นอ้อย และคำกาพย์นั้นเปรียบดังกาบ  ซึ่งห่อหุ้มต้นอ้อยและต้นไผ่อีกทีหนึ่ง  ซึ่งมักจะหุ้มให้มิดยาก เพราะบาทโคลงมีมากกว่าคำกาพย์วรรคหนึ่งๆ จึงเป็นของต้องใช้ความคิดรวบรัดข้อความ นับว่าเป็นศิลปะทางกวีดีอยู่ และตัวอย่างที่แต่งโคลงก่อนก็มีอยู่มาก เช่น กาพย์ห่อโคลงเห่เรือเป็นต้น มีข้อต่างกันอยู่ก็คือ ท่านไม่แต่งโคลงบท ๑ กาพย์บท ๑ สลับกันไปอย่างที่อธิบายไว้ในแบบ  แต่ท่านแต่งกาพย์เลียนตามโคลงไว้บทหนึ่งก่อน แล้วก็แต่งกาพย์บรรยายความต่อไปนี้เท่าไรๆ ก็ได้  เมื่อจบความแล้วจึงขึ้นโคลงใหม่ แล้วก็แต่งกาพย์ต่อไป อย่างข้างต้นที่อธิบายมานี้ท่านเรียก “กาพย์ห่อโคลง” เหมือนกัน

๔ สัมผัสของโคลงสุภาพนั้น คือรับคำที่ ๑-๒-๓ ของบาทต้น แต่รับโคลงดั้นต้องไปรับคำที่ ๕ ของบาท ๒ (ถ้าจะแต่งโคลงดั้นบ้างก็ต้องรับดังนี้) ส่วนสัมผัสรับของกาพย์ยานีนั้นต้องไปรับคำท้ายของบาทเอกอย่างกาพย์ยานีรับกัน
………………………………………………………………………………………….
อนึ่งกาพย์ห่อโคลงที่ท่านแต่งเป็นเรื่องยืดยาวนั้น  เห็นท่านแต่งโคลงขึ้นก่อนแล้วแต่งกาพย์เลียนโคลง และเพิ่มเติมอีกเท่าไรก็ได้ ดังนั้นจึงรวมความได้ว่ากาพย์ห่อโคลง แต่งได้ ๓ อย่างคือ

(๑) แต่งกาพย์ยานีก่อน แล้วแต่งโคลงเลียนบทต่อมา ตามตัวอย่างในแบบอย่างหนึ่ง
(๒) แต่งโคลงก่อนแล้วแต่งกาพย์เลียนบทต่อบทอย่างหนึ่ง
(๓) หรือแต่งโคลงก่อนแล้วแต่งกาพย์เลียน และแต่งกาพย์พรรณนาเพิ่มเติมอีก อย่างกาพย์ห่อโคลงเห่เรือเป็นต้นอีกอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างกาพย์ห่อโคลงเห่เรือของเก่า
โคลง
ปางเสด็จประเวศด้าว        ชลาลัย
ทรงรัตน์พิมานชัย              กิ่งแก้ว
พรั่งพร้อมพวกพลไกร        แหนแห่
เรือกระบวนต้นแพร้ว          เพริศพริ้งพายทอง

กาพย์๑
พระเสด็จโดยแดนชล        ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย       พายอ่อนหยับจับงามงอน
นาวาแล่นเป็นขนัด            ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน             สาครลั่นครั่นครื้นฟอง
ฯลฯ

และจะแต่งกาพย์พรรณนาต่ออีกเท่าไรก็ได้

(ง) กาพย์ฉบังที่ใช้เป็นพิเศษ  ในข้อนี้ดูไม่แปลกไปจากกาพย์ฉบังธรรมดานัก เป็นแต่ท่านนิยมแต่งกาพย์ฉบังนี้เป็นกลบทนาคบริพันธ์ชุกชุมเท่านั้น จึงนำมาอธิบายไว้ในที่นี้ด้วยดังต่อไปนี้
………………………………………………………………………………………….
๑ กาพย์นี้ท่านแต่งเพียงเลียนตามความให้ได้รับบาทโคลงบนเท่านั้น  หาได้เลียนคำให้เหมือนกันตามแบบข้างบนนี้ไม่ เข้าใจว่าท่านต้องการให้ได้เรื่องการไพเราะเท่านั้น ไม่เข้มงวดทางระเบียบนักสมัยนี้มักต้องการระเบียบด้วย ถ้าดำเนินตามตัวอย่างข้างบนนี้ได้ก็ยิ่งดี
………………………………………………………………………………………….
ฉบับนาคบริพันธ์ หรือนาคบริพันธ์ ๑๖ คือกาพย์ฉบับที่ท่านแต่งเป็นกลบทที่เรียกว่า นาคบริพันธ์ คือ ใช้สัมผัสผูกพันกันอย่างงูกลืนหางได้แก่ให้สัมผัสอักษร ๒ คำ ท้ายวรรค เกี่ยวพันกันกับ ๒ คำที่ขึ้นต้นวรรคต่อไป ตามแบบตัวอย่างของท่านดังนี้

บทที่ ๑ “ปางพระศาสดาจอมไตร  เสด็จประดิษฐานใน  ดุสิตมิ่งแมนสวรรค์
บทที่ ๒ แมนสวัสดิ์สมบัติอนันต์    อเนกแจจรร              พิพิธโภไคศูรย์
บทที่ ๓ โภไคสวรรยามากมูน    มากมายเพิ่มพูน      อนันต์เนื่องบริพาร” ฯลฯ

หมายเหตุ  ตัวอย่างข้างบนนี้ท่านแต่งเป็นนาคบริพันธ์ ๒ แห่ง คือ ๒ คำวรรคต้น กับ ๒ คำวรรคกลาง เช่น…..อนันต์, กับ อเนก….., หรือ…..มากมูน, กับ มากมาย…..เป็นต้น และ ๒ คำท้ายบท กับ ๒ คำที่ขึ้นบทใหม่ เช่น…..แมนสวรรค์, กับ แมนสวัสดิ์….., และ……โภไคศูรย์, กับ โภไคสวรรยา……เป็นต้น และคำต้นท่านใช้ซ้ำกัน  แต่คำที่ ๒ ไม่ซ้ำกัน แต่ได้สัมผัสอักษรกัน ดังตัวอย่างอื่นๆ เช่น-สมบัติ-สมบูรณ์, รังแก-รังเกียจ เป็นต้น

ที่จริงจะใช้เพียงสัมผัสอักษรสลับกัน เช่น สมบัติ-ทรงแบ่ง, และ รังแก-รู้กัน เป็นต้นก็ดี และจะใช้ได้ทั้งหมด หรือเว้นบ้างอย่างข้างบนนี้ก็ดี หรือใช้เพียงแห่งเดียวก็ดี  ถ้าใช้เป็นระเบียบเช่นนั้นเสมอไป ก็นับว่าเป็นนาคบริพันธ์ได้ทั้งนั้น ที่จริงกาพย์ฉบังนาคบริพันธ์นี้ก็เป็นเพียงกลบทเท่านั้น ข้อบังคับต่างๆ ก็เป็นทำนองเดียวกับกาพย์ฉบังทั้งนั้น ที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้ก็เพราะมีแบบโบราณท่านนิยมแต่งกันโดยมากเท่านั้น  ถึงจะบกพร่องไปบ้างก็ไม่เป็นไร ดังบทต้นข้างบนนี้ท้ายวรรคต้นไม่เป็นนาคบริพันธ์ (จอมไตร-เสด็จประดิษฐานใน) ถึงจะเอากาพย์อื่นๆ เช่น ยานี มาแต่งเล่นบ้างก็ได้๑
………………………………………………………………………………………….
๑ ถ้าจะแต่งกาพย์ยานีให้เป็นนาคบริพันธ์บ้าง  ซึ่งเลียนจากกาพย์ พระไชยสุริยาดังนี้
“ขึ้นกกตกทุกข์ยาก        ทุกข์ยิ่งมากจากเวียงไชย
เวียงชื่นรมย์รื่นใจ        รื่นจิตต์ไม่คงอยู่นาน” เป็นต้น

หรือจะแต่งให้เป็นนาคบริพันธ์  เฉพาะแห่งเดียวให้เป็นระเบียบกันไปอย่างฉบังก็ได้ชื่อ “ยานีนาคบริพันธ์” หรือ “นาคบริพันธ์ ๑๑” ก็ได้เช่นกัน
………………………………………………………………………………………….
หมายเหตุ  กาพย์ยานีและกาพย์ฉบังนี้  ท่านใช้แต่งเป็นคำพากย์โขนและหนังด้วย  โดยมากคำพากย์ฝ่ายพระราม  ท่านแต่งเป็นกาพย์ยานี แต่คำพากย์ฝ่ายยักษ์ท่านแต่งเป็นกาพย์ฉบัง  ส่วนวิธีแต่งนั้น เป็นไปอย่างกาพย์โบราณ ดังกล่าวมาแล้ว

(จ) กาพย์สุรางคนางค์ที่ใช้เป็นพิเศษ  กาพย์สุรางคนางค์ ท่านนำมาแต่งไว้เป็นบาลี ทั้งในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี และคัมภีร์คันถะ และเรียกชื่อต่างๆ กันด้วย  แต่ที่แต่งเป็นไทยท่านเรียกว่า สุรางคนางค์ทั้งนั้น แต่ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะที่ท่านแต่งเป็นพิเศษในภาษาไทยเท่านั้นดังนี้

๑. กาพย์สุรางคนางค์ที่บังคับครุลหุ  กาพย์นี้ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี ซึ่งท่านแต่งเป็นบาลีไว้มีบังคับครุ ลหุ ด้วย คือมีลหุ และครุสลับกันไปทุกวรรคจนจบบท  ตามตัวอย่างของท่านดังนี้

“สุสารโท มหิทฺธิโก มหาอิสี, สุปาทจกฺ-กลกฺขณี, วราหรี วรนฺททา ฯลฯ”

กาพย์นี้ ตามตัวอย่างที่แต่งเป็นไทย ท่านมิได้นิยมครุลหุตามแบบนี้ คือ แต่งอย่างกาพย์สุรางคนางค์โบราณดังกล่าวแล้วนั้นเอง  แต่มีบางแห่งที่แต่งเข้ากับฉันท์ ท่านนิยมให้มีครุ ลหุ ตามแบบนี้ด้วย จึงนับว่าเป็นกาพย์พิเศษส่วนหนึ่ง ดังแต่งไว้เป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

“ชะอมชบา มะกอกมะกา มะค่าและแค, ตะขบตะค้อ สมอแสม มะกล่ำสะแก ก็แลไสว” ดังนี้เป็นต้น

กาพย์นี้ท่านให้ชื่อว่า “กากคติ” (ทางเดินของกา แต่ในภาไทยท่านก็เรียกสุรางคนางค์เช่นกัน บางทีก็เขียนไว้ข้างหน้าว่า “๒๘” เท่านั้น

๒. กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒ คำ กาพย์สุรางคนางค์ธรรมดามี ๒๘ คำ คือ ๗ วรรค วรรคละ ๔ คำ แต่กาพย์นี้เติมวรรครองสลับเข้าอีกวรรคหนึ่ง รวมกับวรรครับเป็น ๘ วรรค จึงเป็น ๓๒ คำ ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0439 - Copy
ดังตัวอย่างเทียบให้ดูดังนี้
สุรางคนางค์ ๒๘ (ตัวอย่างเดิม)

สลับต้น                 รองสลับต้น             รับ
“สรวมชีพขอถวาย    บังคมโดยหมาย         ภักดีภิรมย์

สลับต่อ                    รอง๑            รอง๒        ส่ง
เสร็จจำนองฉันท์        จำแนกนิยม    วิธีนุกรม    เพื่อให้แจ้งแจง”

สุรางคนาง ๓๒ (เติมวรรครองสลับต้น ๒ เข้าอีกวรรคหนึ่ง) ดังนี้

silapa-0440 - Copy

หรือจะให้สัมผัสเชื่อมเข้าอีก ดังตัวอย่างข้างบนนี้ก็ได้ ที่จริงกาพย์สุรางคนางค์ ๓๒ นี้ ท่านตั้งชื่อไว้เป็นพิเศษเหมือนกัน แต่ที่ท่านแต่งในภาษาไทย ก็ใช้เรียก “สุรางคนางค์” หรือใส่ “๓๒” ไว้ข้างหน้า เท่านั้น เราควรเรียกว่า “สุรางคนางค์ ๓๒” ก็พอ

๓. กาพย์สุรางคนางค์ ๓๖ ที่เรียกว่ากาพย์ขับไม้ กาพย์ชนิดนี้ท่านใช้ร้องขับกับเพลง ซอ และบัณเฑาะว์ ในพิธีบางอย่าง เรียกกันทั่วไปว่า “กาพย์ขับไม้” ดำเนินกลอนอย่างสุรางคนางค์ และเพิ่มขึ้นอีก ๒ วรรค วรรคละ ๔ คำ รวมเป็น ๓๖ คำ จึงเป็นสุรางคนางค์ ๓๖ คำนั่นเอง ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0441 - Copy

วรรคที่เติมขึ้นนั้น คือ รองสลับต่อ กับ รอง๓ ที่ขีดเส้นใต้ไว้ตามระเบียบ ต้องแต่งกาพย์ขับไม้นี้ ๒ บท แล้วจึงแต่งโคลงขับไม้ต่ออีก ๒ บท สลับกันดังนี้จนจบ แต่โคลงที่ใช้ต่อกาพย์นี้ท่านไม่นิยม เอก นิยมแต่ โท เท่านั้น และโทคำที่ ๕ บาทต้นนั้น จะใช้ลงในคำที่ ๔ ก็ได้ อย่างโคลงธรรมดา และคำส่งท้ายบทของกาพย์หรือโคลง ต้องรับสัมผัสกับคำที่ ๕ บาทต้นของโคลงบทต่อไปด้วย  ถ้าบทต่อไปเป็นกาพย์ก็ต้องให้คล้องตามแบบบังคับกาพย์ ดังตัวอย่างของท่านแสดงไว้ดังนี้

silapa-0442 - Copy

(คำส่งนี้จะต้องไปเข้าสัมผัสกับคำรับท้ายวรรคที่ ๓ ของกาพย์ต่อไป เช่น คำว่า “ศรี” ที่บอกไว้ว่า “รับ” ข้างบนนี้)

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร