คำกลอน

Socail Like & Share

ข้อบังคับคำกลอนทั่วไป คำกานท์ของไทย ถ้าจะจัดตามประวัติว่าไหนมีมาก่อนและไหนเกิดขึ้นภายหลังแล้ว ก็น่าจะเป็นตามลำดับที่เรียงไว้ในข้อ ๔ ประเภทคำกานท์ไทย คือ ร่าย โคลง กาพย์ ฉันท์
………………………………………………………………………………………….
๑ น่าจะใช้คำว่า “สักวาท์”
………………………………………………………………………………………….
และกลอน แต่ในตำรานี้ต้องการจะแสดงประเภทที่ง่ายและใช้แพร่หลายเป็นสามัญขึ้นต้น แล้วยกประเภทที่ยากและแพร่หลายน้อยกว่าเรียงขึ้นไปเป็นลำดับ โดยถือเอาความสะดวกในการสอนการเรียนเป็นข้อใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงจะอธิบายประเภทคำกลอนซึ่งผู้ศึกษาควรจะรู้ก่อน เพราะเป็นของง่ายและแพร่หลายทั่วไป ดังนี้

๑. คณะ คณะของคำกลอนท่านจัดเป็นบทๆ และบทหนึ่งๆ อย่างน้อย ต้องมี ๒ บาท เรียกว่า บาทเอก บาทโท เพราะที่สุดของสัมผัสซึ่งจะกล่าวข้างหน้าไปลงที่ท้ายบาทโท เพื่อจะให้จบสัมผัสจึงต้องให้จบในบาทโทเป็นคู่กันไป และบทหนึ่งจะมีกี่คู่ก็ได้

ในบาทหนึ่งๆ จัดเป็น ๒ วรรค เรียกวรรคสลับ วรรครับ (ในบาทเอก) และวรรครอง และวรรคส่ง (ในบาทโท) และในวรรคหนึ่งๆ นั้นบรรจุคำ ตั้งแต่ ๖ คำ ถึง ๙ คำ เป็นอย่างมาก กลอนคำร้องมักใช้ ๖-๗ หรือ ๘ คำเป็นพื้น และกลอนอ่านเล่น เช่นกลอนสุภาพหรือกลอนเสภา มักใช้ ๘ คำ หรือ ๙ คำเป็นพื้น โดยมากนิยม ๘ คำเป็นเกณฑ์ จึงเรียกว่ากลอนแปด ถ้าเป็นคำลหุจะใช้ ๒ พยางค์เป็นคำหนึ่งก็ได้ หรือถ้าเป็นคำอักษรนำจะแยกเป็น ๒ คำก็ได้ หรือรวบใช้เป็นคำเดียวก็ได้ ตามเห็นเพราะ

๒. สัมผัส  จะยกเอาสัมผัสนอกมาอธิบายก่อน เพราะเป็นสัมผัสบังคับ ดังนี้ กลอนมีสัมผัสนอกเป็น ๒ รวด รวดเล็กมีคู่หนึ่งเป็นสัมผัสสลับ ซึ่งเป็นสัมผัสอื่นแทรกเข้ามา อยู่ท้ายวรรคที่๑ จึงเรียกวรรคที่๑ นึ้ว่าวรรคสลับ ซึ่งไปรับกับต้นวรรคที่ ๒ เรียกว่า “เชื่อมสลับ” และรวดใหญ่มี ๒ คู่ คู่ต้นเป็นสัมผัสรับ อยู่ท้ายวรรคที่ ๒ ซึ่งเรียกว่า “วรรครับ” คือไปรับกับคำส่งในท้ายบาทโทข้างต้น ซึ่งถ้ามี คู่ ๒ เรียกว่าสัมผัสรอง อยู่ท้ายวรรคที่ ๓ ซึ่งเรียกว่า วรรครอง ต้องรับกับสัมผัสส่งเป็นที่ ๒ รองสัมผัสรับลงมา และรับกับสัมผัสเชื่อมในต้นวรรคที่ ๔ ด้วย เรียกว่า, “เชื่อมรอง” ต่อไปนี้ก็เป็นสัมผัสส่ง ซึ่งรับกับสัมผัสคู่ดังกล่าวแล้ว สัมผัสนี้อยู่ท้ายวรรคที่ ๔ ที่เรียกว่าวรรคส่ง ซึ่งนับว่าจบสัมผัสของกลอน ดังจะทำแผนคณะและสัมผัสนอกไว้เพื่อดูง่ายดังนี้
silapa-0358 - Copy
หมายเหตุ  รวดเล็ก คือ สลับกับเชื่อมสลับ รวดใหญ่ คือส่งกับ รับ รอง กับ เชื่อมรอง

ข้อสังเกต
ก. สัมผัสเชื่อมอยู่ต้นวรรคนั้นมีอยู่ ๒ แห่ง คือ (๑) รับกับสัมผัสสลับ เรียกว่าสัมผัสเชื่อมสลับ และ (๒) รับกับสัมผัสรอง เรียกว่าสัมผัสเชื่อมรอง (ดูแผน)

สำหรับกลอน ๘ คำ คำต้นวรรคต่อไป ตั้งแต่คำที่ ๑ ถึงคำที่ ๕ ใช้รับ เป็นสัมผัสเชื่อมได้ทุกคำ แต่คำที่ ๓ เป็นเพราะ และใช้มากที่สุด รองลงมา ก็คำที่ ๕ ส่วนคำอื่นๆ ไม่สู้เหมาะจึงมีใช้น้อย ธรรมดาสัมผัสเชื่อม ผู้อ่าน จะต้องทอดจังหวะเล็กน้อยให้รู้ว่ารับกัน ถ้าไม่ใช้คำที่ ๓ หรือที่ ๕ มักฉงนในการทอดจังหวะ เลยทำให้เลือนไป เช่นตัวอย่างคำเชื่อมอยู่ที่ ๑

“สยมภาคลมฟ้าในธาตรี สี่ทวีปห่อนหาญพาลผจญ” (พาลีสอนน้อง) คำ สี่ ที่นี้ ถ้าอ่านไม่เป็นมักจะเลือนเสียไม่เด่น

ข. สัมผัสเลือน หมายถึงสัมผัสรับที่อยู่ใกล้กันหลายคำจนทำให้เลอะ เลือนไปหมด เช่นตัวอย่าง “โอ้เจ้าพวงบุปผามณฑา ทิพย์ สูง ลิบลิบ เหลือหยิบ ถึงตะลึงแหงน” คำ ลิบลิบ หยิบ เป็นสัมผัสรับได้ทั้งนั้น จึงทำให้พร่าไปไม่ไพเราะ ถึงจะไม่มีข้อห้ามท่านก็ไม่ค่อยใช้ สู้มีคำเดียวเด่นๆไม่ได้

๓. เสียงวรรณยุกต์   สัมผัสนอก ท่านบังคับเสียงวรรณยุกต์ด้วยดังนี้

ก. สัมผัสสลับ ใช้ได้ทั้ง ๕ เสียง แต่กลอนสุภาพใช้เสียงสามัญไม่สู้ เพราะ ท่านจึงไม่ใคร่ใช้ ส่วนสัมผัสเชื่อมสลับก็ใช้ได้ทั้ง ๕ เสียงเช่นกัน ถึงจะร่วมเสียงวรรณยุกต์กับสัมผัสสลับเช่น ฉัน กับ หัน คิด กับ นิตย์ ฯลฯ ก็ใช้ได้ เว้นไว้แต่จะอ่านอย่างเดียวกัน เช่น “ขัน” กับ “ขัน” ฯลฯ ถึงจะต่างรูปกันเป็น ขัน, ขัณฑ์, ขรรค์ หรือ สรง, สงฆ์ ฯลฯ เช่นนี้ก็ใช้ไม่ได้

ข. สัมผัสรับ ห้ามเสียงสามัญ นอกนั้นไม่ห้าม แต่นิยมเสียงจัตวาโดยมาก ข้อสำคัญต้องให้เสียงวรรณยุกต์ต่างกันกับคำส่งซึ่งเป็นของคู่ของมัน  เช่นส่ง “ติด” ต้องรับ “มิตร” หรือส่ง “มิตร” ต้องรับ “ติด” เป็นต้น ถึงแม้รูปวรรณยุกต์จะเหมือนกัน เช่น “ล้ม” กับ “ก้ม” “น้า” กับ “หน้า’’ ฯลฯ ก็ใช้ได้

ค. สัมผัสรอง ห้ามเสียงวรรณยุกต์ร่วมกับสัมผัสรับในรวดของมันกับ เสียงจัตวา๑ นอกนั้นใช้ได้ แต่นิยมใช้เสียงสามัญโดยมาก และสัมผัสเชื่อมรองนี้ เกี่ยวข้องกับสัมผัสรองอย่างเดียวกับสัมผัสเชื่อมสลับกับสัมผัสสลับ จึงไม่กล่าวซ้ำอีก

ฆ. สัมผัสส่ง ห้ามเสียงจัตวา เสียงอื่นๆ ใช้ได้หมด แต่นิยมเสียงสามัญโดยมาก อนึ่งสัมผัสส่งนี้ ท่านห้ามไม่ให้ส่งร่วมเสียงสระกับคำส่งรวดต้น เช่นรวดต้นส่งสระอา เช่น กา น้า ป้า ฯลฯ แล้วรวดต่อไปจะส่งสระอาอีก เป็น มา พา ฯลฯ ไม่ได้ ต้องใช้สระอื่นส่งคั่นเสียอย่างน้อยรวดหนึ่งจึงจะ ซ้ำได้
………………………………………………………………………………………….
๑ สัมผัสรอง เคยพบใช้เสียงจัตวาอยู่บ้าง แต่น้อยแห่งเต็มที
………………………………………………………………………………………….
ข้อสังเกต  สัมผัสรวดใหญ่ของกลอนทั้ง ๔ คำ คือส่ง (อยู่ท้ายบาทโท ข้างต้น) รับ, รอง และเชื่อมรอง ซึ่งมีเสียงสระร่วมกัน และมีเสียงวรรณยุกต์ร่วมกันได้หรือมิได้ ตรงไหน ได้ชี้แจงไว้ถ้วนถี่แล้วข้างบนนี้ ส่วนคำที่อ่านอย่างเดียวกัน เช่น “การ” กับ “กาล” หรือ “กาญจน์” ฯลฯ ห้ามขาดเฉพาะที่อยู่เรียงกัน แต่จะเอาเสียงวรรณยุกต์อื่นคั่นเสียเพียงคำเดียวก็ใช้ได้ คือ จะเรียงกันเป็น (๑) ยา หา ยา รา ก็ได้ หรือซ้ำกัน ๒ คู่เป็น (๒) ดี สี ดี สี ก็ได้ หรือ (๓) กา ขวา ลา กา ดังตัวอย่าง

(๑) พระอภัยมณี         — “จนเคลิ้มกายหลับไปในไส ยา
ฝ่ายนารีพี่เลี้ยงในวังราช   แสนสวาทพราหมณ์น้อยละห้อยหา
ครั้นสิ้นแสงสุริยนสนธยา         มาเฝ้าแก้วเกศราอยู่พร้อมกัน”

(๒) สวิสดิรักษา                —“ เป็นมงคลศุภรัตสวัสดี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วนสีแสด                  กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี          วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม

(๓) พระอภัยมณี             —“จะทุกข์ร้อนว้าเหว่อยู่เอกา
พระนึกนึกแล้วสะอึกสะอื้นไห้        ชลเนตรหลั่งไหลทั้งซ้ายขวา
ซบพระพักตร์อยู่บนแท่นแผ่นศิลา     ทรงโศกากำสรดระทดใจ”

แต่โดยมากท่านใช้ให้ต่างกัน

๔. สัมผัสใน มีได้ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ถึงแม้ว่าจะไม่มีในข้อบังคับท่านก็พยายามให้มีแทบทุกวรรค เพราะนิยมกันว่า ยิ่งมีมากยิ่งเพราะ และท่านนิยมใช้สัมผัสสระเป็นข้อสำคัญยิ่งกว่าสัมผัสอักษร ถึงท่านจะไม่บังคับ แต่ก็มีหลักพอเป็นที่สังเกตทั่วๆ ไปได้ดังนี้

สัมผัสสระ   สัมผัสสระนี้มีวิธีใช้อย่างเดียวกัน ทั้งบาทเอกและบาทโท แต่ วรรคหน้า กับ วรรคหลัง ใช้สัมผัสต่างกันอยู่บ้าง คือ:-

วรรคหนา ทั้ง ๒ บาท ใช้สัมผัสสระดังแผน ๘ คำดังนี้ และแบ่งเป็น
silapa-0360 - Copy
กลอนวรรคละ ๘ คำเช่นนี้ ถ้ามีโอกาสใส่สัมผัสในได้ใน ๒ ตอนเสมอไป ก็นับว่าดีมากทีเดียว ส่วนคำที่สุด คือคำที่ ๘ เป็นคำสัมผัสนอก (สลับหรือรอง) ไม่เกี่ยวกับสัมผัสใน

ตอนต้น ตั้งแต่ ๑ ถึง ๔ จะเลือกใส่ตรงไหนก็ได้ และจะใช้สัมผัสชิด หรือสัมผัสคั่นก็ได้ เพราะทั้งนั้น ดังตัวอย่าง
silapa-0361 - Copy

ตอนท้าย คือ ๕, ๖, ๗, ๘ ท่านนิยมว่าสัมผัสคั่นเป็นเพราะ ถ้าได้คู่สัมผัส คือ ๕ และ ๗ นั้นมีเสียงยาวหรือหนัก (ครุ) และคำคั่นคือ ๖ นั้น ให้มีเสียงเบา (เช่นลหุ) ยิ่งสละสลวยมากขึ้น ท่านนิยมใช้กันเป็นพื้น เช่น
silapa-0361 - Copy1
นั้นถึงจะเป็นคำหนักหรือยาวก็ต้องอ่านให้สั้นจึงจะเพราะ เช่น
silapa-0361 - Copy2
เพราะรองลงไปก็คือสัมผัสชิด คือ ๕ กับ ๖ เป็นสัมผัสชิด ควรจะให้เป็น คำหนักหรือยาว และคำที่ ๗ ที่จะต่อกับสัมผัสนอกควรจะให้สั้นหรือเบา ดังตัวอย่าง

silapa-0362 - Copy
คำที่ ๗ นั้นถึงท่านจะใส่คำหนักหรือยาวก็ต้องอ่านให้สั้น เช่น
silapa-0362 - Copy1
วรรคหลัง ต่างกับวรรคต้นอยู่ที่ตรงมีสัมผัส คือ สัมผัสเชื่อมอยู่อีกคำหนึ่ง จึงมีข้อสังเกตแตกต่างออกไปบ้าง ดังนี้

ตอนต้น ได้อธิบายมาแล้วว่าสัมผัสเชื่อมกลอน ๘ อาจจะวางได้ตั้งแต่ คำที่ ๑ ถึงที่ ๕ ที่นิยมมากก็คือคำที่ ๓ กับคำที่ ๕ คำอื่นมีน้อยและไม่เพราะด้วย จะกล่าวแต่คำที่ ๓ กับคำที่ ๕ เท่านั้น ดังนี้

silapa-0362 - Copy2
สัมผัสสระเป็นสัมผัสในทีเดียว เพราะถ้าใช้เข้าก็ไปปนกับสัมผัสเชื่อม ทำให้สัมผัสเชื่อมเลือนไปไม่เด่น แต่ท่านใช้สัมผัสอักษรแทนดังจะกล่าวต่อไป แต่ถ้าคำเชื่อมไปอยู่คำที่ ๕ ซึ่งไกลออกไป ตอนต้นก็ใช้สัมผัสสระได้เต็มที่อย่างอธิบายมาแล้วในวรรคหน้า จึงไม่กล่าวซ้ำ

ตอนท้าย ถ้าคำเชื่อมอยู่คำที่ ๓ ก็วางสัมผัสได้อย่างเดียวกับตอนท้าย ของวรรคหน้า จึงไม่ต้องกล่าว แต่ถ้าคำเชื่อมไปอยู่คำที่ ๕ ทำให้ตอนที่จะวางสัมผัสสระมี ๒ คำ คือ ๖, ๗ จะเอาคำที่ ๕ มารวมสัมผัสด้วยก็ได้ เช่นสัมผัส คั่น “—ทิพย์, สุดวิสัยไกลลิบเหลือ หยิบ ถึง” หรือสัมผัสชิด เช่น“—ทิพย์, สุดวิสัยไกลลิบหยิบไม่ถึง” ดังนี้ก็ได้ แต่คำ “หยิบ” เป็นสัมผัสเลือน ทำให้สัมผัสเชื่อม “ลิบ” ไม่เด่น ดังนั้น ท่านมักใช้สัมผัสอักษรแทน ดังจะกล่าวต่อไป หรือจะวางคำ ๖ และ ๗ เป็นสัมผัสชิดก็ได้ แต่ไม่ให้เลือนกับ “ลิบ” 5 เช่น “–ทิพย์, สุดวิสัยไกลลิบ จ้องมอง เปล่า”

สัมผัสอักษร  ท่านใช้สลับกันไปกับสัมผัสสระ เหมาะตรงไหนก็วางตรงนั้น มิได้จำกัดแน่นอน และสัมผัสชิดจะใช้ชิดกันเรียงไปกี่คำก็ได้ แล้วแต่เหมาะ สัมผัสคั่นก็เช่นกันจะมีคำคั่นกี่คำก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ไพเราะ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0363 - Copy

และเพราะ สัมผัสในไม่ใช่เป็นข้อบังคับ ดังนั้นสัมผัสสระจะไม่ตรงทีเดียว เช่น ไอ กับ อาย, เอา กับ อาว เป็นต้น ท่านก็ใช้ เพราะไม่มีเสียหายอย่างไร อาจจะฟังเป็นเสียงคล้องจองกันได้ดีกว่าที่จะไม่มีสัมผัสเสียเลยทีเดียวด้วย

ข้อสังเกต ข้อสำคัญของกลอนนั้นอยู่ที่สัมผัสนอกและใช้ถ้อยคำให้เหมาะได้ความชัดเจน ส่วนสัมผัสในทั้งคู่นั้นเป็นแต่เพิ่มให้ไพเราะยิ่งขึ้นเท่านั้น ถึงจะใช้สัมผัสในให้รับกันพราวตามแบบข้างบนนี้ แต่ถ้าใช้ถ้อยคำไม่เหมาะ อ่านไม่ได้ความชัดเจนก็ใช้ไม่ได้ กลอนบางบทมีแต่สัมผัสนอกและใช้ถ้อยคำเหมาะเจาะ เข้าใจความได้ชัดเจนกินใจผู้อ่านก็นับว่าเป็นกลอนดีได้เหมือนกัน

อนึ่งกลอน ๘ นี้ ท่านใช้ประพันธ์กลอนสุภาพและบทเสภาเป็นพื้น ใช้ ๙ คำก็ได้ แต่ต้องเป็นคำสั้น เช่น อักษรนำเป็นต้น ถ้าเป็นกลอนเสภาจะใช้ ๗ คำบ้างก็ได้ แต่ต้องเป็นสระยาวหรือเสียงหนัก

กลอน ๖ หรือ ๗ กลอนชนิดนี้ท่านประพันธ์บทละครเป็นพื้น บางแห่ง ท่านตั้งใจจะให้เป็นวรรคละ ๖ คำล้วน เรียกชื่อว่า “กลอน ๖” เมื่อเป็นเช่นนี้ จะต้องใช้คำยาวและหนักเป็นพื้น และสัมผัสในโดยมากก็ต้องใช้สัมผัสชิด และสัมผัสเชื่อมก็ต้องร่นมาเพียงคำที่ ๔ และใช้คำที่ ๒ กับคำที่ ๔ มากที่สุด ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0364 - Copy
ตัวอย่าง
บาทเอก ข้าขอน้อมเกล้าเคารพ             หัตถ์จบบรรจงตรงเศียร
บาทโท   ถวายพระพุทธเลิศเทิดเธียร     ปราบเสี้ยนศึกมารบรรลัย
เป็นต้น

แต่กลอนบทร้องทั้งหลาย มีตั้งแต่วรรคละ ๖ คำ ถึงวรรคละ ๘ คำ ดังจะกล่าวต่อไป

กลอนคำร้อง คือกลอนที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับขับร้อง กลอนประเภทนี้ ผู้แต่งต้องชำนาญในการขับร้องอยู่ด้วย จึงจะแต่งได้ดี แต่ครั้งโบราณท่านถือเอาคำกลอนเป็นใหญ่ กล่าวคือแต่งกลอนขึ้นก่อน แล้วจึงหาเพลงขับร้องให้เหมาะกับกลอนนั้น คำกลอนคำร้องมีตั้งแต่ วรรคละ ๖ คำขึ้นไปจนถึง ๘ คำ เพื่อให้เหมาะกับเพลงขับร้องต่างๆ เป็นชนิดๆ ไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับตำรานี้ และกลอนคำร้องนี้บาทหนึ่งๆ จัดเป็นคำร้องคำหนึ่งๆ หรือจะว่า ๒ วรรคเป็นคำร้องคำหนึ่งก็ได้ แต่เพราะคำกลอนจะต้องจบในบาทโทเสมอไป ดังนั้น คำร้องทุกบทจึงต้องมีจำนวนคู่ทั้งนั้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนคำซึ่งท่านจัดไว้ท้ายบทคำร้องนั้นๆ

ข้อบังคับทั่วไป คือ คณะ และ สัมผัส ของกลอนขับร้องนี้ เหมือนกับ อธิบายไว้ข้างต้นทุกประการ ดังนั้นต่อไปนี้จะแยกอธิบายแต่ข้อบังคับเฉพาะบทเท่านั้น คือ:-

๑. กลอนบทละคร คณะของคำกลอนโบราณท่านใช้วรรคละ ๖ คำและ ๗  คำเป็นพื้น บางวรรคก็มีถึง ๘ คำ คือวรรคไรมีคำหนักหรือคำยาวท่านก็ใช้ ๖ คำ ถ้าวรรคไรมีคำสั้นเช่นคำอักษรนำปน ท่านก็ใช้ ๗ คำหรือ ๘ คำ ตามเหมาะแก่การร้อง ส่วนสัมผัสนั้นใช้อย่างเดียวกับกลอนทั่วไปดังกล่าวมาแล้ว ต่อไปนี้จะนำเอาข้อบังคับเฉพาะบทละครมากล่าวคือ

คำขึ้นต้น  บทละครย่อมมีคำขึ้นต้นบทโดยมาก ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องมี ครบวรรค เช่นจะมีเพียง ๒ คำก็ได้ และคำขึ้นต้นบทนี้ท่านใช้แทนวรรคสลับ ได้ทั้งวรรค ถึงจะมีน้อยคำ ผู้ร้องต้นบทก็ร้องเอื้อนให้ยาวเข้าจังหวะกับวรรคต่อไปด้วย เช่นตัวอย่าง

คำขึ้นต้นวรรคสลับ         วรรครับ
“มาจะกล่าวบทไป             ถึงสี่องค์ทรงธรรม์นาถา”
“เมื่อนั้น                           องค์ศรีปัตราได้ทราบสาร”
“บัดนั้น                            ทั้งสี่โหราอัชฌาสัย” เป็นต้น
อิเหนา

ข้อสังเกต คำขึ้นต้น “มาจะกล่าวบทไป” นั้น มักใช้สำหรับขึ้นต้นเรื่อง หรือกล่าวถึงเรื่องที่แทรกเข้ามา คำขึ้นต้น “เมื่อนั้น” ใช้ขึ้นต้นกล่าวถึงผู้มียศสูง เช่นกษัตริย์ พระมเหสี หรือผู้เป็นใหญ่ในที่นั้นๆ ส่วนคำขึ้นต้น “บัดนั้น” ใช้ขึ้นต้นสำหรับผู้น้อยซึ่งมีผู้ใหญ่อยู่เหนือ เช่นตัวอย่าง

บัดนั้น วายุบุตรคำนับรับอาสา” (มีพระรามเป็นใหญ่กว่า)
เมื่อนั้น คำแหงหนุมานหาญกล้า” (เป็นใหญ่แต่ลำพัง)

ใช้ขึ้นต้นอย่างกลอนดอกสร้อย  คือใช้คำว่า “เอ๋ย” คั่นเป็นคำที่สอง มัก จะใช้ในความที่กล่าวพรรณนาชมสิ่งของต่างๆ เช่น “ม้าเอ๋ยม้าเทศ, รถเอ๋ยรถทรง ฯลฯ” หรือในการเกี้ยวพาราสีหรือตัดพ้อต่อว่ากัน เช่น “น้องเอ๋ยน้องรัก, ถ้อยเอ๋ยถ้อยคำ, แสนเอ๋ยแสนงอน ฯลฯ” แต่คำขึ้นต้นชนิดนี้จะต้องมีสัมผัสเชื่อม
silapa-0366 - Copy
เป็นต้น ซึ่งบางแห่งท่านเขียนย่อๆ ว่า “ม้าเทศ, รถทรง, น้องรัก, ถ้อยคำ, แสนงอน” เป็นต้น เพื่อให้ผู้ร้องเติมเอาเองก็มี แต่ก็ต้องมีสัมผัสเชื่อมรับเช่นกัน

คำลงท้าย กลอนบทละครทั่วๆ ไป มักเป็นเรื่องยาว ไม่ต้องมีกำหนดคำ ลงท้าย เมื่อจบบทหนึ่งๆ จะลงว่า “เอย” หรือว่า “เทอญ” หรืออะไรก็ได้ตามแต่จะเหมาะ

๒. คำกลอนร้องส่งดนตรี คำกลอนประเภทนี้ นักขับร้องคัดเอาคำกลอน ต่างๆ มีบทละครเป็นต้น เอาไปปรับปรุงให้เหมาะทางดนตรี ถึงแม้ว่าจะเป็นคำกลอนโดยมาก แต่ก็มีลักษณะไปอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจะได้รวมเอาไปกล่าวในเพลงร้องข้างหน้าต่อไป ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะกลอนร้อง ซึ่งท่านตั้งแบบไว้เป็นหลักฐาน ดังต่อไปนี้

ก. บทดอกสร้อย คำกลอนชนิดนี้คล้ายกับบทละครโดยมาก มีต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนี้

คณะ บทหนึ่งมักมีตั้งแต่ ๔ คำร้อง ถึง ๘ คำร้องเป็นเหมาะ และคำร้องหนึ่งก็คือบาทหนึ่งดังกล่าวแล้ว และวรรคหนึ่งก็มี ๖ คำ ถึง ๘ คำ อย่าง เดียวกับบทละคร

คำขึ้นต้นและคำลงท้าย คำขึ้นต้นวรรคสลับต้องมี ๔ หรือ ๕ คำ คำที่ ๑
กับคำที่ ๓ ซ้ำกัน มีคำ “เอ๋ย” คั่นกลาง ดังกล่าวมาแล้วในบทละคร เช่น
“ม้าเอ๋ยม้าเทศ” เป็นต้น ส่วนคำลงท้ายไม่จำกัดลงได้ตามชอบ ส่วนข้อบังคับอื่นๆ ก็อย่างเดียวกับบทละครทั้งนั้น

หมายเหตุ กลอนบทดอกสร้อยโบราณมักแต่งร้องแก้กันในระหว่างชายหญิง ซึ่งเรียกบทชาย,บทหญิงหรือจะแต่งเป็นเรื่องอื่นก็ได้ ดังจะยกตัวอย่งต่อไปนี้

ของโบราณ จากตำราฉันทลักษณ์ เดิม
บทชาย
นอนเอยนอนวัน                   ใฝ่ฝันว่าได้มาพบศรี
เจ้าสาวสวัสดิ์กษัตรี              อยู่ดีหรือไข้เจ้าแน่งน้อย
เรียมรักเจ้าสุดแสนทวี           ตัวพี่ไม่ไข้แต่ใจสร้อย
ดังหนึ่งเลือดตาจะหยดย้อย    เพราะเพื่อน้องน้อยเจ้านานมา ฯ ๔ คำ ฯ

ของใหม่จากแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการ
แมวเอ๋ยแมวเหมียว                       รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา     เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง                     ค่ำค่ำซ้ำนั่งระวังหนู
ควรจะนับว่ามันกตัญญู                 พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย ฯ ๔ คำ ฯ

ข. บทสักวา กลอนชนิดนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับกลอน ๘ ที่กล่าวมาแล้ว มีต่างกันอยู่ก็เพียงใช้ขึ้นต้นว่า “สักวา” แล้วจะแต่งต่อไปว่ากระไรก็ได้ จนจบ วรรคสลับที่ขึ้นต้นนั้น แต่ต้องลงท้ายบทว่า “เอย” ทุกบทไป และบทหนึ่งบังคับให้มี ๔ คำร้อง

หมายเหตุ กลอนสักวานี้ ใช้ร้องแก้กันระหว่างชายหญิงอย่างบทดอก สร้อยก็ได้ หรือจะสมมติเป็นตัวละคร เช่น ให้วงหนึ่งเป็นอิเหนา อีกวงหนึ่งเป็นบุษบา แล้วแต่งให้ร้องแก้กันก็ได้ หรือจะแต่งเป็นเรื่องอื่นก็ได้ตามใจชอบ ดังจะยกมาไว้เป็นตัวอย่างต่อไปนี้

พระนิพนธ์กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ
สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน                  ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพยอม     อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม

แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม   ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์            ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย ฯ ๔ คำฯ

ค. บทเสภา บทกลอนชนิดนี้ใช้สำหรับขับร้อง เพื่อฟังเรื่องกันเล่น ข้อบังคับในการประพันธ์ก็เป็นชนิดเดียวกันกับกลอน ๘ แปลกกันอยู่แต่คำขึ้นต้น ซึ่งนอกจากขึ้นต้นตามธรรมดากลอน ๘ แล้ว ก็มักขึ้นต้นว่า “ครานน—” ต่อกับคำอื่นเป็นระเบียบประจำทีเดียว และคำลงท้ายก็มิได้จำกัด และบทเสภาเป็นกลอนขับฟังเรื่องราว ฉะนั้นบทหนึ่งจึงมีจำนวนคำร้องมากๆ ไม่มีกำหนด มีเฉพาะเพียงให้จบในบทคู่ตามบังคับคำกลอนทั่วไปเท่านั้น

หมายเหตุ กลอนบทเสภาที่มีชื่อเสียงและแพร่หลายทั่วไปนั้นก็คือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เพราะมีกวีดีๆ แบ่งกันแต่งเป็นตอนๆ ตามถนัด และมีสำนวนต่างๆ กัน แต่อยู่ในข้อบังคับกลอนดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น ในที่นี้จะคัดมาไว้ พอเป็นตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น ดังนี้

ตอนขุนแผนเขาห้องนางแก้วกิริยา
ครานั้นนางแก้วกิริยา             เสน่หาปลื้มใจใหลหลง
ความรักให้ระทวยงวยงง        เอนแอบอ่อนลงด้วยความรัก
สะอึกสะอื้นอ้อนแล้วถอนใจ    น้ำตาไหลซกซกลงตกตัก
แค้นใจที่มาไล่ข่มเหงนัก        แล้วจะลักวันทองไปเที่ยวไพร
ตัวท่านจะสำราญระริกรื่น       ข้านี้นับคืนคอยละห้อยไห้
เพลินป่าพ่อจะมาต่อปีไร        ขุนช้างก็จะไล่พาโลตี

ท่านจะมาหากันนั้นต่างหาก    กรรมวิบากพามาไม่พอที่
ให้พะวังกังขาเป็นราคี            ทำทีควักค้อนด้วยงอนใจ ฯ ๘ คำ ฯ

ประเกทกลอนสุภาพหรือกลอนตลาด บทกลอนจำพวกนี้เรียกกันทั่วไปว่า “กลอนตลาด” น่าจะหมายความว่ามีผู้แต่งขายในตลาดทั่วไป เพราะกลอนชนิดนี้มีผู้แต่งเป็นเรื่องต่างๆ ขาย ที่เรียกว่าเรื่องประโลมโลก เช่น เรื่องโคบุตร, ลักษณวงศ์ และพระอภัยมณี เป็นต้น ต่อมาท่านเรียกกลอนชนิดนี้ว่า “กลอนสุภาพ” ฉะนั้นต่อไปจะเรียกว่า กลอนสุภาพ แทนกลอนตลาดทุกแห่ง

๑. กลอนสุภาพต่างๆ กลอนสุภาพนี้มีข้อบังคับอย่างเดียวกับกลอน ๘ ทั้งนั้น แต่สำนวนที่นับว่าดีเลิศนั้น ได้แก่ สำนวนของท่านสุนทรภู่ ผู้เป็นกวีเลิศในทางนี้ และข้อบ้งคับที่ได้อธิบายไว้นั้น โดยมากก็ยึดเอาแบบแผนในหนังสือของท่านเป็นเกณฑ์ และเรื่องที่นิยมใช้แต่งเป็นกลอนสุภาพนั้น มักจะเป็นเรื่องอ่านฟังกันเล่นเพราะๆ เช่นเรื่องอ่านเล่นที่เรียกว่าเรื่องประโลมโลก เช่นเรื่องโคบุตร, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องพระอภัยมณี เป็นต้น เรื่องนิราศต่างๆ คือ เรื่องจากบ้านเรือนไปสู่ถิ่นอื่น มักพรรณนาถึงความห่วงใยคู่รัก ถึงท้องถิ่นที่ไปพบ แล้วคร่ำครวญต่างๆนานา เช่นนิราศพระแท่นดงรัง นิราศเมืองแกลง เป็นต้น เรื่องภาษิตต่างๆ ที่ผู้แต่งผูกเป็นกลอนเพื่อให้ฟังไพเราะ และจำง่าย เช่น พาลีสอนน้อง สุภาษิตสอนหญิง เป็นต้น และเรื่องเพลงยาวเป็นทำนองจดหมาย ซึ่งชายหญิงมีไปมาถึงกันก็ได้ หรือเล่าถึงกิจการต่างๆ สู่กันฟังก็ได้ ซึ่งทำเป็นกลอนสุภาพเรียบๆ ก็มี แต่งเล่นสัมผัสต่างๆ หรือเล่นถ้อยคำเป็นเล่ห์กลต่างๆ ซึ่งเรียกกันว่ากลอนกลก็มี ดังจะแยกอธิบายต่อไปข้างหน้า

ข้อบังคับของกลอนสุภาพที่แปลกกับกลอนอื่นๆ นั้น มีดังนี้

คำขึ้นต้น ถึงจะใช้คำอะไรๆ ขึ้นต้นได้ทั้วนั้นก็จริง แต่บังคับให้ขึ้นต้น ตั้งแต่วรรครับไป กล่าวคือทิ้งวรรคสลับเสียทั้งวรรค ซึ่งจะเป็นด้วยครั้งโบราณ ท่านจะร้องใช้สำเนียงเอื้อนแทนอย่างบทละครหรืออย่างไรไม่ปรากฏ แต่ปัจจุบันนี้สังเกตกันว่า ถ้าแต่งกลอนสุภาพแล้วก็ตั้งต้นแต่วรรครับ คือวรรคท้ายของบาทเอกไปเท่านั้นเป็นพอ ส่วนคำลงท้ายนั้นท่านบังคับให้ลงคำ “ เอย ” ในท้ายบาทโท โดยธรรมดามักจะเป็นเรื่องยืดยาวโดยมากนับเป็นคำร้องตั้งพื้นก็มี และในวรรคหนึ่งๆ นั้นโดยมากท่านใช้ ๘ คำหรือ ๙ คำเป็นพื้น

หมายเหตุ เพราะเหตุที่กลอนสุภาพเป็นเรื่องยืดยาวมาก มีที่สังเกตอยู่ เพียง ๒ แห่ง คือขึ้นต้นด้วยวรรครับ และลง “เอย” เมื่อจบเท่านั้น และ เรื่องอ่านเล่นโดยมากก็ไม่ใคร่จบเสียด้วย เราจึงไม่ใคร่พบคำลง “เอย” ของเรื่องเช่นนี้ เรื่องที่เห็นขึ้นต้นและลงท้ายได้ง่ายก็คือเพลงยาว และกลอนกลบทเท่านั้น ฉะนั้นต่อไปนี้ จะนำแค่บทขึ้นต้นกลอนสุภาพมาให้ดูพอเป็นที่สังเกตดังนี้

บทขึ้นต้นกลอนสุภาพเรื่องต่างๆ
เรื่องโคบุตร
แต่ปางหลังยังว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมติกันสืบมา        ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย ฯลฯ

เรื่องพระอภัยมณี
แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์    ครองสมบัติรัตนานามธานี ฯลฯ

เรื่องพระแท่นดงรัง
นิราศรักหักใจอาลัยหวน
ไปพระแท่นดงรังตั้งใจครวญ        มิได้ชวนขวัญใจไปด้วยกัน ฯลฯ

เรื่องสุภาษิตสอนหญิง
ประนมหัตถ์นมัสการขึ้นเหนือเศียร
ต่างประทีปโกสุมประทุมเทียน    จำนงเนียนนบบาทพระศาสดา ฯลฯ

เรื่องสุภาษิต พาลีสอนน้อง
จะกล่าวถึงพานเรศเรืองสนาม
กำแหงหาญชาญเชี่ยวในสงคราม ทรงพระนามสมญาว่าพาลี ฯลฯ

เพลงยาว (ต้นฉบับในฉันทลักษณ์)
พอสบเนตรศรเนตรอนงค์สมร
ที่เยื้องแผลงดังพระแสงพระสี่กร เมื่อทรงศรหน่วงน้าวประหารมาร ฯลฯ เช่นนี้เป็นต้น

ส่วนบทต่อๆไป จากบทขึ้นต้นเหล่านี้ ก็เป็นอย่างกลอนทั่วไป คือมีวรรคสลับ, รับ, ส่ง ต่อเนื่องกันไป เมื่อจบก็ลง “เอย” ในท้ายบาทโท ดังกล่าวมาแล้ว

ประเภทกลอนกลต่างๆ๑ กลอนประเภทนี้ก็คือกลอนสุภาพนั้นเอง เพราะข้อบังคับทั่วๆ ไป เช่นขึ้นต้นและลง “เอย” เป็นอย่างกลอน
………………………………………………………………………………………….
๑ คำกลอนกลต่างๆ นี้ คัดตามคำจารึกวัดพระเชตุพน………………………………………………………………………………………….
สุภาพทั้งนั้น ข้อที่ต่างกันก็คือท่านเพิ่มข้อบังคับขึ้นเป็นพิเศษอีก แล้วเรียกชื่อเป็น ๒ ชนิด คือ (๑) กลอนกลบท๑ กับ (๒) กลอนกลอักษร๒ ดังจะอธิบายต่อไปนี้

๑. กลอนกลบทต่าง ๆ กลอนพวกนี้มีข้อบังคับอย่างกลอนสุภาพ ดัง กล่าวแล้ว ผิดแต่ท่านประดิษฐ์ข้อบังคับต่างๆ เช่น สัมผัสสระ สัมผัสอักษร หรือไม้เอกโทเป็นต้น ในวรรคหนึ่งๆ ให้เป็นแบบต่างๆ กัน แล้วท่านก็ตั้งชื่อต่างๆ ตามแบบข้อบังคับที่คิดขึ้นนั้น ดังจะยกบางบทมาให้เห็นเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

กลบทตรีประดับหรือประดับเพชร  คือให้มีคำผันด้วยไม้เอกโท ๓ คำ อยู่ในวรรคหนึ่งๆ ดังนี้

จารึกวัดพระเชตุพน
อมรแมนแม่นแม้นเจ้างามโฉม
ชะลอล่อล้อโลกให้โศกโทรม     แต่เลาเล่าเล้าโรมฤดีแด ฯลฯ

หมายเหตุ คำผันนั้น จะเป็นอักษรสูง, กลาง, ต่ำ ก็ไค้ เช่น ขอ ข่อ ข้อ, กอ ก่อ ก้อ, คอ ค่อ ค้อ ฯลฯ และสอดลงตรงไหนก็ได้ แล้วแต่จะเหมาะกับสัมผัส แต่จะต้องมีคำผันเช่นนี้ทุกวรรค

กลบทกบเต้นต่อยหอย๓  มีข้อบังคับคือต้นวรรคให้มีสัมผัสอักษรซ้ำสลับกันเป็น ๒ ชุดๆ ละ ๓ คำ และมีสัมผัสสระชิดระหว่าง ๒ ชุดนั้น ดังแผนนี้
………………………………………………………………………………………….
๑ กลอนกลบท คือกลอนสุภาพที่แต่งเล่นสัมผัสสระ และอักษรให้วิจิตรพิสดารขึ้น มีชื่อเรียกต่างๆ กัน

๒ กลอนกลอักษร คือกลอนสุภาพ ที่แต่งวางตัวอักษรให้เป็นกล เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาเอาเองเรียกชื่อต่างๆ เช่นกัน แต่ที่อื่นๆ ท่านเรียกกลอน ๒ ชนิดนี้ว่า “กลอนกลบท” รวมกันโดยมาก

๓ กลบทกบเต้นต่อยหอย คำที่ ๒ กับคำที่ ๕ ท่านบังคับให้สัมผัสอักษรกันเท่านั้น แต่ถ้าจะแต่งให้ได้สัมผัสสระกันด้วย คือให้เป็นคำซ้ำกันเช่นในวรรคที่ ๒ ว่า “แม้คนอื่นหมื่น คน ออ——–” ก็นับว่าไพเราะดีขึ้นดังจะแต่งว่า “ขอ แม่ จำคำ แม่ จนชนม์สลาย แม้ คน อื่นหมื่น คน ออขอไม่วาย ล้วนเลิศชื่อลือเลิศชายไม่หมายปอง” เป็นต้น แต่จะแต่งให้ได้ความเข้ากันดีนั้นยากมาก ฉะนั้นตัวอย่างจึงวางไว้ตามแบบ เมื่อใช้คำซ้ำกันมากก็ยิ่งดี หรือจะพยายามให้ซ้ำกันได้ทุกวรรคก็นับว่าดียิ่ง
………………………………………………………………………………………….
silapa-0372 - Copy

ข้างบนสัมผัสอักษรสลับกัน     ข้างล่างสัมผัสสระชิด

แต่งขึ้นใหม่
ขอแม่จำคำมั่นจนชนม์สลาย
แม้คนอื่นหมื่นคนออขอไม่วาย    ว่อนลือชาว่าเลิศชายก็ไม่ปอง ฯลฯ

กลบทนาคบริพันธ์   มีข้อบังคับท้ายวรรค ๓ คำซ้ำอักษรกับต้นวรรคต่อไป ในคำที่ ๑-๒ ซ้ำกัน แต่คำที่ ๓ ซ้ำแต่อักษร เพี้ยนสระกันได้ดังแผน
silapa-0372 - Copy1

๑, ๒ ต้องซ้ำกันจริงๆ แต่ ๓ ให้สัมผัสอักษรกัน ดังตัวอย่าง

แต่งขึ้นใหม่
โอ้ชาตาข้าน้อยช่างถอยถด
ช่างถอยทั้งวาสนาปัญญาลด    ปัญญาเลวเหลวหมดเรื่องจดจำ ฯลฯ

หมายเหตุ ถ้า ๓ คำต้นวรรคและท้ายวรรคเพียงแต่รับสัมผัสอักษรสลับกัน ไม่ต้องให้ซ้ำกัน ท่านเรียกว่า “อักษรบริพันธ์” ตัวอย่าง

แต่งขึ้นใหม่
โอ้ชาตาข้าน้อยช่างถอยถด
เชาว์ที่เกิดเลิศมานั้นซาลด        นี่ซ้ำเลวเหลวหมดกระมังเรา ฯลฯ

อนึ่งกลบทนาคบริพันธ์นี้ ท่านได้แต่งเป็นกาพย์ฉบังก็มี

กลบทธงนำริ้ว มีข้อบังคับให้ใช้คำหน้าวรรคซ้ำกันวรรคละคู่ดังตัวอย่างต่อไปนี้

แต่งขึ้นใหม่
ชะชะมัวชั่วช้าปัญญาเขลา
อยู่อยู่ก็ถูกหลอกปอกลอกเอา    ใครใครเขาก็ไม่เป็นถึงเช่นนี้ ฯลฯ

กลบทสะบัดสะบิ้ง มีข้อบังคับให้คำท้ายวรรค ๔ คำเข้าสัมผัสอักษรกัน คือคำที่ ๓ กับคำที่ ๓ ซ้ำกัน และที่ ๒ กับที่ ๔ ร่วมสัมผัสอักษรกันดังแผนนี้

silapa-0373 - Copy
ข้างบนร่วมสัมผัสอักษร ข้างล่างร่วมสัมผัสสระ คือ ๑ กับ ๓ ซ้ำกัน ดังตัวอย่าง

แต่งขึ้นใหม่
โรคลมจับใจยิ่งสวิงสวาย
แต่ลมรักร้อนรนกระวนกระวาย  มิสมหมายโรคลมก็ถมก็ทับ ฯลฯ

กลบทกินนรเก็บบัว มีข้อบังคับให้มีคำซ้ำกัน มีคำอื่นคั่นกลางอยู่ตลอด ต้นวรรค ตั้งแต่คำที่ ๒ ถึงคำที่ ๕ จะซ้ำ ๒ กับ ๔ หรือ ๓ กับ ๕ ก็ได้ ดังแผน:-
silapa-0373 - Copy1
ที่โยงข้างล่างคือคำซ้ำ ดังตัวอย่าง

แต่งขึ้นใหม่
โอ้! โชคข้าโชคใครก็ไม่เหมือน
พึ่งญาติเล่าญาติก็คิดแต่บิดเบือน    ครั้นพึ่งเพื่อนพวกเพื่อนก็เชือนแช ฯลฯ

กลบทกวางเดินดง  มีข้อบังคับให้ใช้คำ “เอ๋ย” ไว้ในคำที่สอง ต้นวรรค ทุกวรรค และคำที่ ๑ ก็ให้ใช้เปลี่ยนกันแปลกออกไป เช่น เนื้อเอ๋ย, นกเอ๋ย, ไม้เอ๋ย ฯลฯ ดังตัวอย่าง

แต่งขึ้นใหม่
ลมเอ๋ยเหตุไหนจึงไม่พัด
ป่าเอ๋ยโอ้เย็นเยียบเงียบสงัด        นกเอ๋ยนัดกันเหงาเศร้าถึงใคร ฯลฯ

หมายเหตุ  ถ้าใช้คำเป็นคู่กันไปตลอดทั้งบท เช่น “พ่อเอ๋ย” กับ “ลูกเอ๋ย” หรือใช้อื่นๆ เช่น “น้องเอ๋ย” กับ “พี่เอ๋ย” เป็นต้นก็ดี ท่านให้ชื่อว่า “หงส์ทองลีลา”

กลบทบัวบานกลีบ  มีข้อบังคับใช้ ๒ คำต้นวรรค เช่น “เจ้างาม” หรือ “เสียดาย” หรือ “อกเอ๋ย” ฯลฯ ซ้ำกันไปจนจบบท ดังตัวอย่าง

จารึกวัดพระเชตุพน
เจ้างามพักตร์เพียงจันทร์บุหลันฉาย
เจ้างามเนตรดุจนัยนาทราย      เจ้างามขนงก่งละม้ายคันศรทรง ฯลฯ

กลอนกลบททำนองนี้ ท่านแต่งเป็นแบบแผนไว้มากมาย แบบหนึ่งก็ให้ชื่ออย่างหนึ่ง ถ้าอยากดูพิสดารจงดูจารึกวัดพระเชตุพนหรือตำราสิริวิบูลกิติ แต่จารึกวัดพระเชตุพนท่านทำเป็นบทๆ และใช้ถ้อยคำถูกต้องดีกว่า

ข้อสังเกต  กลอนกลบทเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นกลอนสุภาพทั้งนั้น เป็นแต่ ประดิษฐ์ข้อบังคับเช่นสัมผัสสระ สัมผัสอักษรเป็นต้น ให้แปลกๆ กันเท่านั้น จะแต่งเล่นเป็นบทๆ อย่างจารึกวัดพระเชตุพนก็ได้ หรือจะแต่งเป็นเรื่องเดียวกันโดยกลบทแบบต่างๆ เชื่อมติดต่อกันอย่างเรื่องสิริวิบูลกิติก็ได้

ข้อสำคัญในการแต่งนี้  ก็คือเลือกกลบทต่างๆ ให้มีทำนองเหมาะกับเรื่องที่จะแต่ง เช่นเรื่องแสดงความโกรธบ่นว่าผู้อื่นหรือตนเอง ก็ใช้ กลบทธงนำริ้ว ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำ “ชะๆ” หรือ “เหม่ๆ” ฯลฯ หรือถ้าเป็นเรื่องแสดงความอาลัยสิ่งของที่จะจากไป ก็ใช้กลบทเช่น กวางเดินดง  ซึ่งขึ้นต้นด้วยไม้เอ๋ย, ป่าเอ๋ย ฯลฯ หรือถ้าเป็นเรื่องรำพันชมความงามต่างๆ ก็ใช้กลบทบัวบานกลีบ ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำ “เจ้างามนั่น, เจ้างามนี่” จนหมดที่ต้องการชม หรือจะใช้แสดงความห่วงใยว่า “เสียดายนั่น, เสียดายนี่” จนหมดสิ่งที่ห่วงใยก็ได้เช่นนี้เป็นต้น

และขอสำกัญอีกอย่างหนึ่ง ก็ใช้ถ้อยคำที่ท่านบังคับไว้ในกลบทนั้นๆ ให้ ถูกต้องกับภาษาที่เขาใช้กันทั่วไป เช่นในกลบทกบเต้นต่อยหอยว่า “ ขอน้องจำ คำน้องจนชนม์สลาย” นั้น ต้องให้ได้ความติดต่อกัน เช่น “ทำอวดดีทีอวดเด็กเล็กเล็กเล่น” หรือ “จิตนึกรักจักหนีร้างกระไรได้” อย่าให้เป็นแต่สักว่าขอไปที เช่น “พี่รักจริงพิงรักเจ้าเบาเมื่อไร” หรืออื่นๆ ทำนองนี้ หรือในกลบท สะบัดสะบิ้ง ซึ่งคำท้ายเป็นคำซ้ำกัน เช่น “สวิงสวาย, ทุรนทุราย” ฯลฯ นั้น ต้องใช้เป็นคำที่เขาพูดกันเช่นนั้น และคำหน้าที่ซ้ำกันนั้นถ้าเป็นคำสั้น  หรืออักษรนำดังตัวอย่างที่ให้ไว้นั้นจะสละสลวยเพราะขึ้นอีก ถึงจะใช้คำยาวหรือคำหนัก เช่น “กลางค่ำกลางคืน, ทุกวี่ทุกวัน” ฯลฯ ท่านก็ไม่ห้ามแต่ทำให้กลอนเยิ่นไป ผู้อ่านต้องเน้นให้สั้นเข้า หวังว่าตัวอย่างดังที่ให้ไว้นั้น ก็พอจะถือเป็นหลักที่สังเกตได้แล้ว

๒. กลอนกลอักษร   กลอนกลอักษรนี้ ก็เป็นประเภทกลอนสุภาพเช่น เดียวกับกลอนกลบทนั่นเอง แต่ในวรรคหนึ่งๆ นั้น ท่านตั้งตัวอักษรทำเป็นกลไว้ให้อ่านเอาเอง ให้ถูกทำนองกลอน และเรียกชื่อต่างๆ กัน ดังจะยกตัวอย่างบางบทมาให้ดูต่อไปนี้

กลอักษรคมในฝัก คือในวรรคหนึ่งๆ ท่านเขียนไว้ ๖ คำเท่านั้น ผู้อ่าน จะต้องอ่านไปถึงคำที่ ๓ แล้วถอยหลังอ่านคำที่ ๓ มาถึงคำที่ ๑ อีก แล้วจึงอ่านคำที่ ๔ ต่อไปจนจบวรรค รวมเป็น ๘ คำ ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0375 - Copy

จารึกวัดพระเชตุพน๑
ปางเริ่มรัก จะห่างเหิน
สองใจเป็น ต้องหมองเมิน    เขินขามคิด สะเทิ้นอาย ฯลฯ
………………………………………………………………………………………….
๑ ตัวอย่างกลอักษรนั้น ตามแบบท่านเขียนไว้เป็นกลเพียง ๕-๖ คำ ดังนี้ทุกวรรค แต่ตามตัวพิมพ์จารึกวัดพระเซตุพน ท่านพิมพ์ตามตัวอย่างอ่านทั้งหมด จึงแลดูไม่เป็นกลอักษรไป
………………………………………………………………………………………….
ตัวอย่างอ่าน
ปางเริ่มรักรักเริ่มปางจะห่างเหิน
สองใจเป็นเป็นใจสองต้องหมองเมิน  เขินขามคิดคิดขามเขินสะเทิ้นอาย ฯลฯ

กลอักษรงูกลืนหาง คือในวรรคหนึ่งๆ ท่านเขียนไว้ ๕-๖ คำ ผู้อ่าน อ่านจบวรรคต้องย้อนมาอ่านขึ้นต้นอีก ๓ คำ ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0376 - Copy
จารึกวัดพระเชตุพน
“โอ้อกเอ๋ยแสนวิตก
กะไรเลยช้ำใจ        จะจากไกลไม่เคย” ฯลฯ

ตัวอย่างอ่าน
“โอ้อกเอ๋ยแสนวิตกโอ้อกเอ่ย
กะไรเลยช้ำใจกะไรเลย    จะจากไกลไม่เคยจะจากไกล ”

กลอักษรนกกางปีก   คือในวรรคหนึ่งๆ ท่านเขียนไว้ ๕-๖ คำ เมื่ออ่าน ถึงคำที่ ๓ ที่ ๔ แล้วต้องอ่านซ้ำถอยหลังเข้ามาอีก ๒ คำ แล้วจึงอ่านต่อไปจนจบวรรค ดังแผนต่อไปนี้
silapa-0376 - Copy1

จารึกวัดพระเชตุพน
“แสนรักร้อนหนักอกเอ๋ย
ฉันใดจะได้ชมชิดเชย        ไม่ลืมเลยปลื้มอาลัย” ฯลฯ

ตัวอย่างอ่าน
“แสนรักร้อนร้อนรักหนักอกเอ๋ย
ฉันใดจะได้ชมชิดชิดชมเชย      ไม่ลืมเลยเลยลืมปลื้มอาลัย” ฯลฯ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร