ความเป็นมาของพระพิรุณ

Socail Like & Share

พระพิรุณ

วรุณ, พระ
พระวรุณหรือพระพิรุณ เป็นเทพแห่งฝนและน้ำทั้งหลาย เป็นผู้รักษาความสุขสวัสดีแห่งมนุษย์ทั้งปวง มีพระสมุทร พระคงคาเทวี ลำน้ำ สระ น้ำพุ เป็นบริวาร พระวรุณมีมเหสีชื่อ วารุณี ซึ่งเป็นเทพีแห่งเหล้า แต่แปลกแฮะแม้พระวรุณจะเป็นสวามีเทพีแห่งเหล้าก็เถอะ พระวรุณไม่ยอมเสวยเหล้าเลยเชียว ไม่เหมือนพระอินทร์ซึ่งชอบเสวยเหล้านัก ผมชักสงสัยอยู่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะมิ่งมเหสีบังคับไม่ให้สวามีดื่มเหล้าก็ได้นะ นี่ผมเดาเอาดอก อาจเป็นเพราะพระวรุณไม่ชอบดื่มก็เป็นได้

เรื่องของเทวดาทั้งหลายทั้งปวงน่ะ ท่านจัดเป็น ๓ พวก พวกที่๑. อยู่ในสวรรค์ เช่น พระวรุณ วิษณุ ฯลฯ อทิติ พวกที่อยู่ในฟ้า (อากาศป มีพระอินทร์ พระรุทระ พวกที่สามอยู่บนพื้นโลก คือ อคนี โสม และยม

ในสมัยโบราณโพ้น พระวรุณเป็นที่นับถือยกย่องแห่งพราหมณืมาก แต่ต่อมามีพระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหมา ความเป็นเลิศของพระวรุณก็เลยถอยลง อำนาจหน้าที่ต่างๆ ของพระวรุณก็เลยถูกแบ่งปันไป เหลือแต่เป็นเจ้าแห่งฝนและน้ำนั่นแหละ

ตามไตรเพทนั้นกล่าวว่า พระวรุณเป็นโอรสของ พระกัศยปประชาบดี กับพระอทิติ ซึ่งมีโอรสด้วยกัน ๘ องค์ คือ ๑. วรุณาทิตย์ (คือพระวรุณ) ๒. มิตราทิตย์ ๓. อริยมนาทิตย์ ๔.ภคาทิตย์ ๕. องศาทิตย์ ๖. อินทราทิตย์ ๗. ธาตราทิตย์ ๘. สุริยาทิตย์

จะเห็นว่า ทีคำว่า อาทิตย์ พ่วงท้ายทั้งนั้น ทั้งนี้ก็หมายความว่า ลูกพระอทิตินั่นเอง ในบรรดาลูกพระอทิติทั้ง ๘ นี้ พระวรุณเป็นหัวหน้าเพราะเป็นพี่ใหญ่ ส่วน สุริยาทิตย์ หรือพระสุริยะนั้นออกจาะมีกรรมอยู่ พระอทิติไม่รักไม่ยอมรับว่าเป็นลูก จึงไม่ได้ไปอยู่บนสวรรค์เหมือนพระอาทิตย์พี่ๆ อีก ๗ องค์ ต้องขับรถลอยละล่องอยู่ในระหว่างสวรรค์กับมนุษยโลกจนทุกวันนี้ ในพระเวทว่าพระสุริยาทิตย์นี้เป็นผู้ให้แสงสว่างและความอบอุ่น ทรงรถเทียมด้วยม้าสีแดง ๗ ตัว

ในเรื่องพระอาทิตย์นี้ ไม่ใช่มีดวงเดียวอย่างที่เราเข้าใจหรอก และก็ออกจะสับสนเต็มที ผมจำเป็นต้องให้ผู้อ่านและ บอ.กอ. ต่วยปวดหมองอย่างผมบ้าง เพราะการเรียบเรียงเรื่องเทพแต่ละองค์น่ะ ผมคว้าหนังสือหลายเล่ม ความไม่ลงรอยกันชวนให้หมองล้ามาก เรื่องพระอาทิตย์นี่ก็เถอะ ความข้างต้นน่ะผมเก็บมาจากหนังสือเรื่องวรรณคดีไทยของอาจารย์หรีด เรืองฤทธิ์ ตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒ ทีนี้ผมขอคัดจากหนังสือ พระศุณหเศป พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ บ้าง

“พระอาทิตย์ (ซึ่งโดยมากก็มาใช้อยู่แคบๆ เพียงเรียกดวงตะวัน) ซึ่งเป็นพระสุริยาทิตย์นั้น ในพระเวทมี ๗ องค์คือ ๑ วรุณ ๒ มิตร ๓ อรยัมมัน ๔  ภค ๕ ทักษ ๖ อังศ ๗ สุริย ฟาสาวิตฤ แต่พระวรุณเป็นหัวหน้าในหมู่เทพทั้ง ๗ นั้น”

เห็นไหมล่ะครับ ไม่ตรงกันหรอก และอีกแห่งหนึ่งมีว่า “พระวรุณในที่นี้ตามที่เข้าใจได้ว่า พระอาทิตย์อีกภาค ๑ นั่นเอง คือพระอาทิตย์เวลาเย็น ในอาถรรพเวทมีข้อความอยู่ว่า “เวลาเย็นพระอัคนีย่อมเป็นพระวรุณ และพระมิตรเมื่อยามอุทัยในรุ่งเช้าครั้นเมื่อเป็นพระสาวิตฤแล้วจึงเตร็จไปในฟากฟ้า และเป็นพระอินทร์แล้วจึงยังสวรรค์ให้อบอุ่นในท่ามกลาง”

ส่วนในหนังสือศาสนาสากลเล่ม ๑ ของหลวงวิจิตวาทการ บอกว่ามีพี่น้องรวมกัน ๗ องค์เหมือนกัน ไม่ใช่ ๘ องค์ คือมี วรุณาทิตย์ มิตราทิตย์ อริยมนาทิตย์ องศาทิตย์ อินทราทิตย์ และสุริยาทิตย์ ไม่มีธาตราทิตย์ครับ

บอกแล้วนะครับ ว่าพระวรุณนั้นยิ่งใหญ่มาก ในหนังสือศุณหเศปนั่นแหละ มีคำสรรเสริญพระวรุณไว้ถึง ๓๑ บท จะคัดมาสัก ๔ บทก็พอนะ ลีลาสำนวนโวหารไพเราะสละสลวยดีครับ

๑.  “ข้าแต่พระวรุณเทวราช  แม้แต่สกุณชาติอันบินไปในอากาศก็มิได้มีกำลังและความสามารถเสมอด้วยพระองค์และจะทนพระพิโรธแห่งพระองค์มิได้เลย ทั้งลำน้ำทั้งหลายอันไหลอยู่ไม่มีที่สุดก็ดี ลมทั้งหลายก็ดี จะมีความรวดเร็วเกินกว่านั้นมิได้เลย”
๒. “พระวรุณเทวราชผู้ทรงมเหศรศักดิ์ ผู้สถิตในฟากฟ้าอันหาที่สุดมิได้ พระองค์ผู้ทรงค้ำจุนไว้ซึ่งกองแสงสว่างอันรัศมีส่องลงมา และมีฐานอยู่เบื้องบน ขอรัศมีเหล่านั้นจงมารวมอยู่ในข้าทั้งหลายเพื่อเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต”
๓. “พระวรุณเทวราชไซร้ พระองค์ได้ขยายมรรคาแห่งดวงตะวันเพื่อโคจรไปมาทุกๆ วัน เป็นมรรคาข้ามไปในอากาศอันปราศจากมรรคา ขอพระองค์จงเป็นผู้ชำนะแก่ปวงผู้ที่เป็นศัตรูแก่ดวงจิตแห่งข้าทั้งหลาย”
๔. “ข้าแต่เทวราช พระองค์ไซร้ย่อมมีโอรสทั้งร้อยและทั้งพัน ขอพระบารมีแห่งพระองค์จงคุ้มเกรงรักษาข้าทั้งหลาย ขอจงทรงกำจัดนิรฤดีผู้เป็นปัจจามิตรให้ห่างไกลข้าพระองค์ และขอจงทรงบันดาลให้ข้าทั้งหลายรอดพ้นจากปวงบาปกรรม อันข้าพระองค์ได้กระทำมาแล้ว”

การที่พระวรุณได้รับยกย่องจากชาวอินเดียมาก ก็เป็นเพราะพระวรุณหมายถึงพระอาทิตย์และเทพแห่งฝนนั่นเอง ตอนแรกพวกอริยกะอยู่ทางเหนือมาก อากาศก็หนาว ดวงอาทิตย์ให้ความอบอุ่นแก่มนุษย์นี่ครับ ส่วนตอนที่เป็นภูมิภาคร้อน ฝนก็ต้องมีความสำคัญอีกนั่นแหละ

พระวรุณถือกันว่าเป็นเทพที่มีพระวรกายงามมาก นับว่าท้าวเธอเป็นผู้สร้างและบำรุงทั้งเทวโลกและมนุษยโลก และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณายิ่ง แต่ว่าท้าวเธอก็เกลียดความเท็จเป็นที่สุด กล่าวกันว่าไม่มีใครที่พูดความเท็จโดยที่พระวรุณจะไม่ทราบได้เลย และรู้ละเอียดยิบว่าใครจะกะพริบตากี่ครั้ง เมื่อใครกล่าวเท็จหรือผิดสัญญา ท้าวเธอก็ใช้วรุณบาศคล้องไปลงทัณฑ์ หรือบันดาลให้ป่วยไข้ และทำนองเดียวกันถ้าใครอยู่ในสัตย์หรือเกรงต่อบาปก็จะปูนบำเหน็จให้มีความสุขความเจริญ และช่วยให้พ้นมฤตยูได้ในบางครั้งบางหน

ก็ในเรื่องพระศุณหเศปนั่นแหละ มีเรื่องว่า ท้าวหริศจันทร์ ผู้ครองอโยธยาทรงอยากมีโอรส ได้ไปขอโอรสต่อพระวรุณโดยสัญญาว่าถ้าได้โอรสแล้วจะเอาบุตรทำบูชายัญ ก็แปลกอยู่เหมือนกันนะอุตส่าห์ขอโอรสเพราะอยากมี แต่มีแล้วก็จะทำให้ตายโดยวิธีบูชายัญ ในที่สุดท้าวหริศจันทร์ก็ได้โอรสสมใจ มีนามว่า พระโรหิตกุมาร ทีนี้ความรักลูกก็คิดเบี้ยวสัญญาต่างๆ ในที่สุดพระวรุณก็ลงโทษให้ท้าวหริศจันทร์เป็นโรคท้องมาน เรื่องนี้แปลกดีแฮะ โรคท้องมานนี้เป็นโรคพุงป่องอันเกิดจากน้ำที่มีอยู่ในท้องเยอะ อันเป็นผลมาจากตับแข็ง และคนที่เป็นโรคตับแข็งก็จะเกิดกับคนกินเหล้าบ่อยๆ ทีนี้พระวรุณเป็นเจ้าแห่งน้ำแล้วก็มีชายาเป็นเทพีแห่งเหล้า คิดให้ดีเถอะ คนสร้างนิยายเรื่องนี้มีปัญญาเนี้ยบจริงๆ สัมพันธ์กันดีออกจะบอกให้

พระวรุณน่ะ อวตารลงมาเกิดเป็นจำพวกสิบแปดมงกุฎคอยช่วยเหลือพระรามเหมือนกัน คือเป็นไวยบุตร เฉพาะพระวรุณนี้ในรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ ร.๑ ไม่ได้กล่าวไว้ ไปปรากฎในลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางรามจันทรอวตารของ ร.๖ ถึงแม้จะอวตารลงมาแล้ว เทพก็ยังคงมีอยู่นะครับ ในเรื่องรามเกียรติ์ ร.๑ น่ะว่าสุรเสนซึ่งเป็นสิบแปดมงกุฎเหมือนกัน คือพระพุธอวตารลงมา สุรเสนนี้ตามเรื่องว่าเป็นลูกของพระวรุณนี่แหละ และยังมีเรื่องเกี่ยวกับพระวรุณอีก คือพระรามฝากศรที่ได้จากรามสูรไว้กับพระวรุณ เรื่องของเรื่องรามสูรพิเรนทร์นัก พระรามก็ปราบได้แต่ยกโทษให้ รามสูรก็ถวายศรให้พระราม พระรามก็ฝากไว้กับพระวรุณหรือพิรุณ

“เดชอานุภาพพระจักรกฤษณ์    ทศทิศกัมปนาทหวาดไหว
พระพิรุณเทวารักษาไว้            ด้วยใจจงรักภักดี”

ตอนหนึ่ง พระรามรบกับพระยาขร คันศรประจำองค์พระรามเกิดหักก็เรียกศรที่ฝากไว้
“เมื่อนั้น            พระพิรุณเทวัญแกล้วกล้า
รู้ว่าสมเด็จพระจักรา        ต่อด้วยยักษาใจทมิฬ
บัดนี้ศรทรงพระองค์หัก    จักเอาซึ่งคันธนูศิลป์
ของรามสูรอสุริน            ล้างเสี้ยนแผ่นดินให้บรรลัย
แจ้งแล้วจึงหยิบเอาคันศร    อันฤทธิรอนสามโลกสะเทือนไหว

ออกจากวิมานแก้วแววไว        เหาะไปยังโคทาวารี”

ในเรื่องพระนล  ซึ่งเป็นเรื่องเกร็ดที่แทรกอยู่ในมหากาพย์ภารตะนั้น ตอนทมยันตีเลือกคู่ พระวรุณก็ไปร่วมด้วยโดยแปลงให้เหมือนพระนล ตอนนั้นมีพระนลตัวปลอมเยอะครับ แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อตรงที่ทมยันตีมีต่อพระนล ก็สามารถเลือกพระนลองค์จริงได้ พระวรุณก้ไม่ได้โกรธเกรี้ยวอะไรหรอก กลับอวยพรพร้อมกับเทพองค์อื่นๆ
“ต่างองค์เทเวศรต่างมี        มนัสยินดี
ด้วยพระนลแก้วไกรสมร
ต่างองค์อำนวนอวยพร    สี่องค์อมร
รวมแปดประการขานไข
พระอินทร์ผู้ครอบครองไตร     ตรึงษาธิปไตย
ผู้ผัวศจีศรีสมาน
ให้ท้าวนลราชมหิบาล        สัมฤทธิในการ
พลีและบวงสรวงสวรรค์
อีกหนึ่งยามองค์ทรงธรรม์    ดำเนินผ่านพลัน
ให้ชนนิยมบารมี            ฯลฯ
พระวรุณเจ้าน้ำฤทธิ์รงค์    ให้ฝนอันองค์
กษัตริย์จะเรียกได้ดาย
อีกให้มาลีหลากหลาย        สุวคนธ์ขจาย
บ่มีเวลาราโรย”

ในเรื่องสาวิตรี (เล่าแล้วในเรื่องพระยม) พระวรุณก็อวยพรสี่กษัตริย์คือ พระสัตยวาน สาวิตรี ท้าวทยุมัต และนางไสยพยา
“ตัวเราวรุณอุทกราช        ประสาทพรว่าขอให้มีฝน
ตกดีทั่วไปในมณฑล        เพื่อนฝูงชนชื่นบานสราญดี”

พระวรุณ  มีนามเรียกกันต่างๆ ดังนี้
ประเจตัส แปลว่า ผู้มีปัญญา
ชลปติ แปลว่า เจ้าแห่งน้ำ
อัมพุราช แปลว่า เจ้าแห่งน้ำทั้งหลาย
ปาศี แปลว่า ผู้ถือบ่วง
ยาทปติ แปลว่า เจ้าแห่งสัตว์น้ำ
สินธุปติ แปลว่า เจ้าแห่งน้ำ

ในคัมภีร์มหาภารตะ กล่าวว่า พระวรุณเป็นโอรสของ ฤาษีกรรทมพรหมบุตร และว่าเป็นโลกบาลรักษาทิศประจิม เป็นใหญ่ในหมู่นาค

รูปพระวรุณนั้น สีกายขาว หัตถ์ขวาถือบ่วงหรือบางทีก็คือธนูศรก็มี ทรง “มกระ” คือเหรา เป็นพาหนะ ข้างไทยเราว่าทรงนาค รูปเขียนบางแห่งทำเป็นรูปเทวามี ๔ กรบ้าง ๖ กรบ้าง หัตถ์ขวาถืออาโภค คือร่มที่ถูกน้ำไม่เปียก รูปคล้ายเศียรนาค หัตถ์ซ้ายถือบ่วงบาศ พาหนะนั้นมักเขียนเป็นจระเข้ พระวรุณนี้มีเมืองชื่อวสุธาหรือสุธา และมักประทับที่บุษปศิรี อ้อ ตราประจำกระทรวงเกษตรน่ะใช้เป็น พระพิรุณทรงนาค เห็นจะเป็นเพราะพระวรุณหรือพิรุณเป็นเทพแห่งน้ำ และนาคก็ให้น้ำ กระทรวงเกษตรของเราต้องการน้ำหรือขาดน้ำทำนองนี้นั่นเอง

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร