ความเชื่อพื้นบ้านอันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมอีสาน

Socail Like & Share

ความเชื่อชาวอีสาน
นิยามและขอบเขต
ความเชื่อ คือ การยอมรับอันเกิดอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์นั้นๆ หรือสังคมมนุษย์นั้นๆ แม้ว่าพลังอำนาจ เหนือธรรมชาติเหล่านั้นไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับและให้ความเคารพเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้เรียกว่าความเชื่อ
ฉะนั้นความเชื่อจึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก ไม่เพียงแต่จะหมายถึง ความเชื่อในดวงวิญญาณทั้งหลาย (belief in spiritual beings) ภูติผี คาถาอาคม โชคลาง ไสยเวทย์ต่างๆ ยังรวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ยอมรับนับถือ เช่น ต้นไม้ (ต้นโพธิ์ ต้นไทร) ป่าเขา เป็นต้น

นักมานุษยวิทยามีความเห็นว่า มนุษย์ในสังคมบุพกาลมีความเชื่อประจำกลุ่มของตน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้าประจำกลุ่ม หรือดวงวิญญาณที่ปกป้องคุ้มครองกลุ่มมนุษย์ จะต้องกระทำพิธีกรรมเซ่นสรวงบวงพลีเพื่อวิงวอนขอร้องให้เทพเจ้า หรือดวงวิญญาณเหล่านั้นปกป้องคุ้มครองเพทภัยให้แก่กลุ่มชน จากความเชื่อในเรื่องวิญญาณเหล่านี้ได้พัฒนาเติบโตตามธรรมชาติ และสภาวะทางสังคมมนุษย์มาเป็นศาสนาสมัยใหม่ ซึ่งเป็นระบบระเบียบมากกว่าความเชื่อในครั้งบุพกาล
ขอบเขตในการศึกษาความเชื่อในสังคมอีสานนี้จำกัดอยู่ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมสมัยใหม่ มุ่งที่จะศึกษาความเชื่อพื้นฐานของสังคม โดยยึดตำนานนิทานปรัมปรา และพยายามแยกให้เห็นว่าความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ถึงแม้จะพบว่ามีพิธีกรรมจำนวนมากในท้องถิ่นอีสานที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธกับความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณก็ตามที แต่ก็พอจะแยกแยะได้จากพิธีกรรมเหล่านั้นว่าส่วนใดเป็นแบบพุทธ ส่วนใดเป็นคติความเชื่อเรื่องภูติผี ก่อนที่จะกล่าวถึงความเชื่อในสังคมอีสาน อันสัมพันธ์กับวิถีชีวิตในสังคมนั้น ใคร่อยากจะชี้ให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาล การกำเนิดโลกของชาวลุ่มแม่น้ำโขง หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โลกทรรศน์เกี่ยวกับจักรวาล และโลก” เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐาน และเป็นการแยกแยะให้เห็นว่าความเชื่ออันสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ของคนไทยแต่ละกลุ่มย่อมแตกต่างกัน ตามสภาพของภูมิศาสตร์ และการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าโครงสร้างของวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนปลีกย่อยที่ต่างไปจากกลุ่มคนไทยภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้อยู่ไม่น้อย
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *