ครูกับนักเรียน

Socail Like & Share

คุณครูประจำชั้นของนักเรียนห้องหนึ่ง รู้สึกพอใจที่เด็กทุกคนนั่งเงียบเรียบร้อย เวลาก้มกราบก็ทำความเคารพจริงๆ ไม่มีใครเล่นหลุกหลิกซุกซน ตั้งใจเรียน อุปกรณ์การเรียนก็ครบไม่ต้องหยิบยืมกันให้วุ่นวาย ทั้งๆ ที่เป็นเด็กนักเรียนใหม่เสียส่วนใหญ่ เมื่อครูเดินตรวจงานก็ได้แต่นึกในใจว่า
“อือม์! เด็กพวกนี้เรียบร้อยไม่มีที่ติ จะเป็นโชคดีของเราปีนี้ หรือว่าพวกนี้ยังใหม่ ยังไม่รู้จักดีกระมัง?”

คุณครูต้องสังเกตอีกทีเมื่อเวลาผ่านไปว่า ศิษย์จะยังมารยาทดี รู้จักกาลเทศะอย่างเดิม หรือเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือกับหลังมือ

คุณครูมองลอดแว่นไปดูสุนทรีที่เป็นหัวหน้าชั้นด้วยความชมเชย และคิดว่า
“โดยมากนักเรียนในห้องดี เพราะหัวหน้าดี”

สุนทรีต้องมีคุณสมบัติอย่างดียิ่ง จึงสามารถดูแลเพื่อนร่วมชั้นทั้งชายหญิงได้ ทุกคนต้องรับรู้และทำตามไม่ว่าเธอจะขอร้องอย่างอ่อนหวานหรือบัญชาอย่างเฉียบขาด

ทุกคราวที่คุณครูหิ้วสมุดหนักๆ มาจากห้องพักครู จะมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาแถวๆ ห้องนั้นเสมอ จนคุณครูอดยิ้มไม่ได้
คุณครูถามขึ้นว่า
“ต้องการอะไร ไชยา?”
ไชยายืนตัวตรงยิ้มอย่างสุภาพแล้วตอบว่า
“ผมจะมาขอรับสมุดของคุณครูขอรับ คุณครูถือเองก็จะหนักมากเกินไป”

ไชยาทำหน้าที่สุภาพบุรุษอย่างแท้จริง ไม่ว่าคุณครูจะเข้ามาสอนหรือเมื่อสอนเสร็จแล้วเดินออกจากห้อง จะต้องมีไชยา สุนทรี ดนัย นุกูล ผลัดกันหอบสมุดมาส่งให้คุณครูในห้องพักครูอย่างเรียบร้อย

จริยากับวารุณี ก็รับหน้าที่ดูแลความสะอาดโต๊ะครูโดยไม่ต้องแต่งตั้ง ทำให้คุณครูไม่เคยต้องนั่งลงบนเก้าอี้ที่สกปรกไปด้วยฝุ่นละอองหรือผงชอล์คเลย

จริยามีผ้าสองผืนเก็บไว้ในโต๊ะเธอเอง ผืนหนึ่งสำหรับเช็ดบนโต๊ะ เก้าอี้ และอีกผืนหนึ่งสำหรับเช็ดขาโต๊ะ พนักเก้าอี้ ขาเก้าอี้ ที่สกปรกมากกว่า เธอซักผ้าเมื่อทำธุระเสร็จแล้วตากผึ่งแดดไว้ เมื่อแห้งก็นำมาเก็บที่เดิม

ส่วนวารุณีเป็นคนรักสวยรักงาม เธอแต่งกายสะอาด ถูกกฎของโรงเรียน เธอชอบนำดอกไม้สดมาปักในขวดแก้วที่โต๊ะคุณครูทุกเช้า ทำให้ดูสดชื่นแจ่มใสคุณครูก็มีกำลังใจสอนไปได้ทั้งวัน

เรื่องดอกไม้กับแจกันขวดปากแคบก็ไม่ได้ทำให้นักเรียนต้องสิ้นเปลืองแต่อย่างใด เพราะนักเรียนแต่ละคนใครมีดอกไม้ที่บ้าน หรือหากพบริมทางที่สวยสะดุดตาก็จะเก็บเอามาปักแจกัน เช่น ดอกแพงพวยขาวหรือชมพู หรือดอกชบา นานๆ ทีถึงจะเป็นดอกกุหลาบหรือกล้วยไม้สักครั้งหนึ่ง

ในลิ้นชักโต๊ะคุณครูก็ไม่มีใครถือวิสาสะเปิดออกดู แต่ครูบางคนชอบบ่นว่า โต๊ะของเขานักเรียนชอบเอาสมุดมาเก็บไว้เพราะขี้เกียจขนกลับบ้านและไม่อยากเอามาอีกตอนมาโรงเรียน

แต่โต๊ะของคุณครูชั้นนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ภายในลิ้นชักจะมีกระดาษหนาสีน้ำตาลปูรอง ข้างในมีสมุด ดินสอ และหนังสือของคุณครูเอง คุณครูไม่ได้ใส่กุญแจ เพราะคิดว่าไม่มีใครเปิดดู ไม่มีใครมายืนเท้าคาง หรือเท้าโต๊ะ หรือนั่งบนขอบโต๊ะ แม้แต่บนเก้าอี้ครูก็ไม่มีใครเคยนั่ง นอกจากตัวของครูเอง

ทุกเช้าจะมีการอบรมในเรื่องความตรงต่อเวลา การแสดงความเคารพ การรักษาความสะอาด ระเบียบวินัย และอื่นๆ เป็นเวลา 15 นาที ในขณะที่ทุกคนเขาเงียบกันหมด ครูสังเกตเห็นสุกานดานั่งเหม่อลอย สมประสงค์ก็พยายามคุยกับเพื่อนร่วมโต๊ะ เมื่อคุยไม่ถนัดก็แอบเอาเศษกระดาษเขียนข้อความให้เพื่อนอ่าน วรรณาก็ชอบสวมเสื้อดึงชายออกมาข้างนอกมากๆ ส่วนเกรียงก็ชอบสวมรองเท้าที่มีหัวแหลมๆ

บ่อยครั้งที่สุกานดาถูกเรียกให้ตอบคำถามในชั่วโมงการอบรม จนเธอไม่กล้าเหม่อลอยหรือหลับในอีก คนอื่นๆ จึงรู้ว่าครูสังเกตอยู่จึงไม่กล้าเหม่อลอยเลยเพราะกลัวจะถูกเรียกได้เหมือนกัน ในชั่วโมงอบรมจึงมีแต่คนตั้งใจฟังเสียงพูดที่ไพเราะของคุณครู

สมประสงค์อึดอัดมากเมื่อถูกย้ายโต๊ะให้มานั่งกับเดชคนที่เงียบที่สุดในชั้น แต่ก็ไม่กล้าขัดคำสั่งของคุณครู

วรรณนากับเกรียง มักถูกคุณครูเรียกมาตอบคำถามที่กระดานดำบ่อยๆ บางทีก็ให้ตอบปากเปล่า

วรรณนาอายจนหน้าแดง เมื่อเสื้อถูกดึงออกมาจากขอบกระโปรงจนชายหลุดรุ่มร่ามในแบบที่เธอคิดว่าทันสมัย สายตาทุกคู่มองมาอย่างขบขัน ในวันต่อๆ มาจึงทำให้เธอแต่งตัวได้เหมาะสมขึ้น

ส่วนเกรียงอ้อนวอนขอรองเท้าคู่ใหม่จากคุณแม่ โดยที่เขาบอกแม่ว่า
“มันคับเกินไปจ้ะแม่ ตอนที่ผมลองดูน่ะ ผมไม่ได้เดิน พอเดินหนักๆ เข้ามันเลยบีบ”

แม่ตอบเขาว่า
“งั้นก็ไปซื้อเสียใหม่ แต่หนนี้สะเพร่าไม่ได้นะ เกรียง เงินทองไม่ใช่ของหาง่ายๆ จะได้ใช้ทิ้งใช้ขว้าง ไม่รู้จักเสียดาย”

เกรียงตอบอย่างโล่งใจ
“จ้ะแม่ ตอนนี้ผมสัญญาแน่นอนเลย”

ในตอนแรกๆ คุณครูสังเกตว่านักเรียนเก่ากับนักเรียนใหม่จะแบ่งกันเป็นสองพวก แต่ก็จับให้นั่งปนเปกันหมด คนที่สนิทกันก็ต้องถูกจับแยกออกจากกัน ตอนแรกๆ ก็โกรธคุณครูที่ทำแบบนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความใกล้ชิดก็ทำให้เพื่อนใหม่เป็นคนน่าคบไม่น้อย จึงสนิทกันไปทั่วทั้งห้อง

เมื่อคุณครูสั่งการบ้าน ถ้าใครไม่นำมาส่ง ครูก็จะจดรายชื่อเอาไว้ และผู้นั้นต้องออกมาให้เห็นผล ครูพบว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ก็ไม่มีใครขาดส่งการบ้านเลย นอกเสียจากคนที่ป่วย

นักเรียนที่ลาป่วย ก็จะมีใบลา ลงชื่อรับรองโดยผู้ปกครองจริงๆ ไม่มีใครปลอมลายมือผู้ปกครองได้ คุณครูจะติดต่อกับผู้ปกครอง ทุกคนรู้ดีจึงไม่กล้าทำ เพราะถ้าเกิดมีขึ้นก็ต้องเผชิญหน้ากับความลำบากใจไม่น้อย

คุณครูเห็นนักเรียนในห้องของตนเอง นั่งบริโภคกันอย่างเอร็ดอร่อย ในช่วงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ทุกคนจะช่วยน้องที่เล็กกว่าซื้อขนม ช่วยถือชามอาหารร้อนๆ มาให้ที่โต๊ะอาหาร เวลาน้องๆ จะซื้ออาหารก็ให้แซงคิวไปก่อนอย่างเต็มใจ

ครูอีกท่านหนึ่งพูดว่า
“นี่เป็นผลของการอบรมของคุณครูแน่นอน”
“ศิษย์ในห้องคุณครูจึงเรียบร้อย อยู่ในวินัยน่าชมอย่างนี้”

คุณครูพูดถ่อมตัวว่า
“แต่เขาเป็นคนดีกันเองน่ะค่ะ”
“ถ้าศิษย์ไม่รักดีและไม่เชื่อฟังแล้ว ต่อให้อบรมสั่งสอนกันแต่ไหนก็คงไม่เกิดประโยชน์”

ความซาบซึ้งอิ่มเอิบในใจกับความเอ็นดู ความรัก และหวังดีในตัวศิษย์ คงไม่มีใครรู้ดีเท่าคุณครูคนนี้ ความภูมิใจของครูเมื่อศิษย์ได้ดี ประพฤติดีและประสบความสำเร็จ หากศิษย์นั้นก็ต้องเข้าใจในความหวังดีของครูเช่นเดียวกัน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์