การเรียกคนวัยต่างๆ ตามตำราจีน

Socail Like & Share

ตามตำราจีนได้เรียกคนในวัยต่างๆ ไว้ดังนี้
“ตั้งแต่เกิดมาจนได้ ๓ ขวบ ถ้าเป็นชายเรียกว่า ไฮ้-แปลว่ากำลังอยู่ในความเลี้ยงดู ถ้าหญิงเรียกว่า-เอ็ง-แปลว่ากำลังเป็นหนูแดงอยู่ เด็กอยู่ภายใน ๑๐ ปี เรียกว่า อิ่ว แปลว่าวัยเยาว์ ภายใน ๑๕ ปีเรียกว่า-เซ้งท้ง-แปลว่าเป็นเด็กโต ภายใน ๒๐ ปีเรียกว่า-เยียกก่วน-แปลว่าวัยหนุ่ม ภายใน ๓๐ ปี เรียกว่า-จ่าง-แปลว่า ชายฉกรรจ์ ภายใน คนแก่๔๐ ปี เรียกว่า-เคี้ยง-แปลว่าแข็งแรง ภายใน ๕๐ ปี เรียกว่า-ไหง-แปลว่าแก่ ภายใน ๖๐ ปี เรียกว่า-คี้-แปลว่าชรา ภายใน ๗๐ ปีเรียกว่า-เหลา-แปลว่าเฒ่า ภายใน ๘๐ ปี เรียกว่า-เตี๊ยก-แปลว่าแก่หง่อม ภายใน ๙๐ ปีเรียกว่า-เม้า-แปลว่า หลงลืม ภายใน ๑๐๐ ปี เรียกว่า-คี่อี๊-แปลว่า ปราศจากความรู้สึก

มนุษย์มีอายุ ๕๐ ปีบริบูรณ์นับเข้าเป็นเขตที่เรียกว่า-ซิ่ว-แปลว่าอายุยืน เพราะในวัยนี้ให้มีความรู้สึกผิดชอบที่ล่วงพ้นมาในอดีตกาล จึงควรเป็นผู้ใหญ่ที่ถือไม้เท้าในครอบครัวของตนได้ ผู้ที่มีอายุ ๕๐ ปีนั้น ยังเป็นอายุยืนขึ้นต่ำ ถ้ามีอายุยืนถึง ๖๐ ปีนับเป็นอายุยืนขั้นกลาง ถ้ามีอายุยืน ๗๐ ปีนับเป็นผู้มีอายุยืนขั้นสูง
ตามคตินิยมของจีนนั้น นับถือคนเฒ่าคนแก่ว่าเป็นผู้ที่รอบรู้มากกว่าคนหนุ่มคนสาว เพราะผ่านโลกผ่านประสบการณ์มามากกว่าคนหนุ่มคนสาว จึงควรแก่การเคารพ ลัทธิขงจื๊อกล่าวไว้ว่า คนอายุ ๖๐ ปีเป็นอายุขั้นต่ำ ๘๐ ปีเป็นขั้นกลาง ๑๐๐ ปีเป็นขั้นสูง ตามลัทธินั้นว่าผู้มีอายุยืนต้องถือไม้เท้าเป็นเกียรติยศฉะนั้น ถ้าอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปให้ถือได้แต่วงครอบครัว ถ้าอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปให้ถือได้ในตำบล ถ้าอายุ ๗๐ ปีขึ้นไปให้ถือได้ในเมือง ถ้าอายุ ๘๐ ปีขึ้นไปให้ถือได้ในราชฐาน ถ้ามีอายุถึง ๙๐ ปี พระเจ้าแผ่นดินควรเสด็จไปเยี่ยมถึงที่อยู่นี่เป็นเรื่องของลัทธิขงจื๊อ

ตามตำรากามสูตรของพราหมณ์แบ่งวัยของคนออกเป็น ๓ วัย คือ วัยพาล ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ ๑๖ ปี วัยกลางคน เมื่ออายุครบ ๗๐ ปี เลย ๗๐ ปีไปแล้วเป็นวัยชรา

ทีนี้ลองมาดูคติของไทยเราบ้างว่าได้แบ่งวัยของคนไว้อย่างไร คติของคนไทยในภาคเหนือได้แบ่งวัยคนออกเป็นระยะ ระยะละ ๑๐ ปีเหมือนกัน และมีคำอธิบายคล้องจองกันดังนี้
๑๐ ปี อาบน้ำบ่หนาว
๒๐ ปี แนบสาวบ่เบื่อ
๓๐ ปี ตื่นเมื่อก่อนไก่
๔๐ ปี มือไขว่หน้าผากคะนึง
๕๐ ปี ไปบ่หึงทอดหุ่ย
๖๐ ปี เป่าขลุ่ยบ่ดัง
๗๐ ปี เนื้อหนังเป็นลูกรอก
๘๐ ปี หนักหนวกมาหู

๙๐ ปี ลูกหลานดูนั่งให้
๑๐๐ ปี ไข้ก็ตายบ่ไข้ก็ตาย

เป็นอย่างไรบ้างครับคติของไทยเรา
สำนวนเกี่ยวกับอายุอีกสำนวนหนึ่งว่าดังนี้
๑๐ ปี อาบน้ำบ่หนาว         ซาวปีเว้าสาวบ่เบื่อ
๓๐ ปี ฮู้เมื่อก่อนไก่        ๔๐ ปี ไปไหนมาทอดขา
๕๐ ปี ไปไหนมาทอดหุ่ย    ๖๐ ปี เป่าขลุ่ยบ่ดัง
๗๐ ปี ตีระฆังบ่เหง่ง        ๘๐ ปี ร้องเพลงบ่เพราะ
๙๐ ปี หัวเราะบ่ดัง        ร้อยปีไข้ก็ตายบ่ไข้ก็ตาย

ชนชาติต่างๆ แบ่งวัยคนเราออกไปละม้ายคล้ายคลึงกันมาก แต่รวมความแล้วก็ไม่พ้นความตายทั้งนั้น อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า คนเรานั้นอายุไม่ยืนเกินร้อยปี แต่ถึงจะอยู่เกินร้อยปีก็หนีไม่พ้นความตายนั่นแหละ ข้อนี้ไม่มีใครที่จะเถียงได้ แต่ถึงดังนั้น คนเราก็ยังขวนขวายเพื่อที่จะไม่ตายหรือขยายระยะเวลาแห่งการตายให้นานออกไป ความคิดข้อนี้มีมาแล้วแต่อดีตกาล และมีผู้กำลังคิดค้นอยู่ในปัจจุบัน และคงจักมีผู้คิดค้นอีกต่อไปในอนาคตถึงเรื่องการที่จะต่ออายุให้ยืนนานนี้

คนไทยเราเคยเชื่อถือเรื่องยาอายุวัฒนะกัน ว่าใครกินยาอายุวัฒนะแล้วจะทำให้มีอายุยืน จนถึงกับท่านสุนทรภู่กวีเอกของเรา ท่านก็เชื่อเรื่องยาอายุวัฒนะนี้ ได้ลงทุนลงแรงไปขุดค้นหาที่วัดเจ้าฟ้าอากาศที่กรุงศรีอยุธยา เพราะเชื่อลายแทงที่ได้มาจากเมืองเหนือว่า แต่โบราณมีพระเจ้าตะเภาทองมาสร้างพระพุทธปฏิมาไว้ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศแล้วมีฤษีสี่องค์เอายาอายุวัฒนะมาถวายให้เสวยแต่พระเจ้าตะเภาทองไม่ประสงค์ที่จะทรงมีพระชนมายุยืนนานเพราะว่าเป็นการหลงอย่างหนึ่ง จึงเอายาใส่ตุ่มฝังไว้ใต้พระประธานนั้น สุนทรภู่ท่านได้ลายแทงจึงไปทำพิธีขุด ก็ถูกภูตผีปีศาจซึ่งเฝ้าอยู่นั้นแผลงฤทธิ์ทำพิษเอาจนต้องเลิกพิธี นี้เป็นตัวอย่างที่เราได้รู้เรื่องของผู้ที่ขวนขวายหายาอายุวัฒนะเท่าที่จารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

คนเรานั้นมีอายุยืนนานสักเท่าไร  เท่าที่ปรากฏคนอายุยืนที่สุดเห็นจะประมาณ ๑๖๐ ปีว่าผู้ที่อายุยืนนี้เป็นพวกที่อยู่บนภูเขาสูงในประเทศรัสเซีย ในประเทศไทยกราก็มีผู้พบว่าผู้ที่มีอายุยืนที่สุดมีอายุถึง ๑๓๐ ปี เป็นผู้หญิงอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นคนที่ต้องทำงานหนักอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา ตั้งแต่เป็นเด็กจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม คนเราที่จะให้อายุยืนนานได้นั้นต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างคือนอกจากรักษาอนามัยดีแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ที่ออกกำลังกายอยู่เสมอไม่ว่าด้วยการทำงาน ออกกำลังหรือเล่นกีฬาเป็นการบริหารร่างกาย ยิ่งกว่านั้นว่ากันว่าผู้ที่มีบรรพบุรุษอายุยืนก็มักจะมีอายุยืนไปด้วย แต่ข้อนี้ไม่จริงเสมอไปถ้าผู้นั้นไม่ระมัดระวังตัวในเรื่องสุขภาพอนามัยแล้วความตายก็มาเยี่ยมเร็วกว่าบรรพบุรุษเป็นแน่

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี