ขงจื๊อในฐานะนักการปกครอง

Socail Like & Share

ขอให้พระราชาจงเป็นพระราชา
ขอให้เสนาบดีจงเป็นเสนาบดี
ขอให้บิดาจงเป็นบิดา
ขอให้บุตรจงเป็นบุตร

ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่อำนาจของราชวงศ์โจวในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของแคว้นต่างๆ กำลังเสื่อมลง ทำให้แคว้นต่างๆ ที่มีเจ้าปกครองของตนเองแข็งตัวเป็นอิสระ นักประวัติศาสตร์จีนเรียกยุคนี้ว่า ยุคชุนชิว หรือยุคฤดูใบไม้ผลิ-ใบไม้ร่วง (722-481 ก่อน ค.ศ.) ยุคหลังจากนั้นไปเรียกว่ายุคจันกว่อ (Chan Kuo) หรือยุคแห่งการสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ (408-222 ก่อน ค.ศ.) เป็นยุคสมัยที่อำนาจจากส่วนกลางของราชวงศ์โจว เสื่อมโทรมจนถึงที่สุดเป็นจุดแห่งการพังทะลายของโครงสร้างทางสังคม และการเมืองก่อให้เกิดการสงครามอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันหยุด  ในฐานะที่เป็นผู้ประกาศความคิดเรื่องการมีระเบียบและการมีคุณธรรม ขงจื๊อจึงสอนให้ต่อต้านกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น  โดยย้ำความสำคัญของความรับผิดชอบที่มีแฝงอยู่ในความสัมพันธ์ของมนุษย์-ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐและแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ขงจื๊อได้เคยเห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นในโลก  ในเมื่อพระราชาไม่ได้ปฏิบัติตนเยี่ยงพระราชา เสนาบดีไม่ปฏิบัติตนเยี่ยงเสนาบดี เป็นต้นฉะนั้น ขงจื๊อจึงมีความคิดเห็นว่าก้าวแรกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกที่ปราศจากความสงบเรียบร้อยนั้น คือ การทำให้ทุกคนยอมรับและปฏิบัติตามหน้าที่ฐานะอันเหมาะสมของตน

อุดมคติอันสูงสุดของขงจื๊อคือ การมีรัฐปกครองโลกทั้งหมด ซึ่งขงจื๊อเรียกว่าเป็น “มหาอาณาจักร” (Grand Commonwealth) หรือ ต้าตุง (Ta Tung) ทฤษฎีความคิดของขงจื๊อเรื่อง มหาอาณาจักรนี้ มีอยู่ในบทความเรื่อง หลี หยุ่น (Lu Yuh) หรือวิวัฒนาการแห่งจารีตประเพณี ซึ่งเป็นบทความบทหนึ่งในคัมภีร์ หลี จี่ (Li Chi) (คัมภีร์แห่งจารีตประเพณี) ความเจริญก้าวหน้าของสัมคมในขั้นแรก คือ โลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ขั้นที่สองคือ โลกที่มีความสงบสุขบ้างเล็กน้อย หรือ มีสภาพที่จะนำไปสู่ความสงบ คือ แคว้นต่างๆ มีความสุข มีความสงบ ขึ้นที่สามคือ ขั้นของมหาอาณาจักรอันเป็นอุดมคติ ซึ่งมีอรรถาธิบายไว้ดังนี้

เมื่อมีการปฏิบัติตามหลักของเต๋า อันยิ่งใหญ่แล้ว วิญญาณของความสุข ของประชาชนจะครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก บุคคลผู้มีสติปัญญาและมีคุณธรรมจะได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบ จะมีการย้ำความสำคัญของความสุจริตใจต่อกันและกัน จะมีการปลูกฝังเรื่องความเป็นพี่น้องกัน เพราะฉะนั้น มนุษย์จะไม่มีความรัก เฉพาะแต่ในบิดามารดาของตนเท่านั้น หรือปฏิบัติดีต่อบุตรหลานของตนเองเท่านั้น บุคคลผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลจนกระทั่งตาย บุคคลที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติจะมีงานทำ คนหนุ่มจะมีทางทำมาหากินเลี้ยงดูตนเอง สตรีหม้าย เด็กกำพร้า และบุคคลที่ไม่มีลูกหลายคอยดูแลเอาใจใส่ ตลอดทั้งบุคคลผู้ที่ไม่ปกติเพราะโรคภัยไข้เจ็บจะได้รับความเมตตากรุณา บุรุษจะมีงานที่เหมาะสมทำสตรีจะมีบ้านและครอบครัวที่ดี มนุษย์จะรังเกียจแต่การที่ได้เห็นสิ่งของทั้งหลาย มีอยู่เกลื่อนกลาดโดยไร้ประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้สะสมเอาไว้เพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว เขาไม่ชอบที่พลังงานของตนไม่ได้นำไปใช้อย่างเต็มที่ แต่พวกเขาใช้พลังงานของเขาไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตนแต่ฝ่ายเดียว เพทุบายที่เห็นแก่ตัวจะถูกกำจัดไม่ยอมให้เกิดขึ้นได้ ขโมย นักหยิบฉวย คนคดโกง ไม่มี ประตูหน้าบ้านของบุคคลทุกคนเปิดอยู่ตลอดเวลา โดยไม่หวาดเกรงว่าจะมีอันตรายอันใด นี้คือสภาพการณ์ของยุคแห่งมหาอาณาจักร

ในการวางโครงการของชีวิตของคนนั้น ขงจื๊อ ถือเอาพระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจวเป็นบุคคลในอุดมคติ  ฉะนั้นเพื่อที่จะสร้างมหาอาณาจักรที่ปกครองโลก ให้เป็นความจริงขึ้นมานั้น ประการแรก ขงจื๊อจะต้องรอคอยให้ “กษัตริย์ผู้มีความรู้แจ้ง” (enlightened sovereign) ปรากฏตนขึ้นมาก่อน อันเป็นบุคคลที่ขงจื๊อจะยอมรับใช้ เหมือนดังเช่นพระมหาอุปราชแห่งแคว้นโจว รับใช้ราชวงศ์โจวฉะนั้น

ถ้าหากชะตาชีวิตของเขากำหนดมาไม่ให้เขาได้รับใช้ “กษัตริย์ผู้รู้แจ้ง” แล้ว เขาก็ขอให้ได้มีนักปกครองที่มีความสนใจอย่างจริงจัง  ในการปกครองที่จะมอบให้เขาได้มีความรับผิดชอบในตำแหน่งสูง และเชื่อในคำแนะนำของเขาเหมือนดังที่ พระมหาอุปราช (Huan) แห่งแคว้น ฉี๋ (Ch’i) ได้มอบความไว้วางใจให้แก่ กวน จุง (Kuan Chung) รัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่เจ็ดก่อน ค.ศ. ฉะนั้น และถึงแม้ว่าโอกาสอย่างนี้ก็ไม่มี เขาปรารถนาจะแสวงหางานในแคว้นเล็กๆ เพื่อวางแบบอย่างของการปกครองที่ดี เหมือนดังที่ จื้อ ชัน (Tzu) (Ch’an) นักรัฐบุรุษที่มีชื่อในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. กระทำให้แคว้นเจ็ง (Cheng) ฉะนั้น

ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ขงจื๊อไม่ได้เป็นแต่เพียงนักอุดมคติ เขาไม่ได้ให้แต่เพียงภาพอันสมบูรณ์ของสังคมของมนุษย์ที่พึงประสงค์เท่านั้น แต่เขายังวางแผนการที่จะปฏิบัติให้ลุล่วงตามอุดมคตินั้นให้ได้ในชีวิตของเขา ยิ่งกว่านั้น เมื่อ จื้อ กุง (Tzu Kung) สานุศิษย์รักของเขาคนหนึ่ง ถามเขาถึงหลักสำคัญของการปกครองที่ดี ขงจื๊อได้กำหนดหลักสำคัญที่ตรงกับความเป็นจริงได้สามประการ คือ มีอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ มีอาวุธอย่างเพียงพอ และประชาชนมีความไว้วางใจ (ซิน-Hsin) ในการปกครองของบ้านเมือง ในกลักสามประการนี้ ขงจื๊อถือว่า หลักอันสำคัญที่สุดนั้นคือ ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ถ้าปราศจากสิ่งนี้แล้ว รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ขงจื๊อได้กล่าวไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า

นักการปกครองนั้น จะไม่สนใจในเรื่องความขาดแคลนโภคทรัพย์ แต่จะสนใจในการกระจายโภคทรัพย์อย่างเป็นธรรมในหมู่ประชาชน นักปกครองนั้นจะไม่สนใจในความยากจน แต่จะสนใจในเรื่องสวัสดิภาพของประชาชนในเมื่อ บ้านเมืองมีการกระจายโภคทรัพย์อย่างเป็นธรรม ความยากจนก็ไม่มี ในเมื่อมีความสุขสงบ ประชาชนก็จะไม่บ่นเรื่องความขัดสน และเมื่อประชาชน มีความพอใจในสภาพของตนแล้ว การที่ประชาชนจะลุกขึ้นต่อสู้รัฐบาลก็ไม่มี

จุดอ่อนแอของแคว้นหลู คือ การไม่มีสวัสดิภาพในสังคม และการไม่มีความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขงจื๊อพยายามแก้ไข แต่ประสบความสำเร็จน้อยมาก ถึงแม้ว่าพระมหาอุปราชเจา จะครองแคว้นหลู แต่ท่านก็เป็นเพียงเจว็ดอยู่ในกำมือของสกุลที่มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงอยู่สามสกุล คือ สกุล จี้ ซุน (Chi Sun) สกุล ซู่ ซุน (Shu Sun) และสกุล เม้งซุน (Meng Sun) หัวหน้าของสกุลทั้งสามสกุลนี้เป็นเสนาบดีที่สำคัญๆ สามกระทรวง คือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงกลาโหม ในปี 517 ก่อน ค.ศ. เมื่อขงจื๊อ กลับมาจากการไปเยี่ยมแคว้นหลวงของพระเจ้าจักรพรรดินั้น พระมหาอุปราชเจา ถูกขับไล่ออกไปจากแคว้นหลู เพราะการจลาจลภายในแคว้น จนต้องหนีไปอยู่แคว้น ฉี๋ (Ch’i) ซึ่งเป็นแคว้นที่มีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นหลูไปทางทิศเหนือ

เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์อันไม่มีระเบียบของสมัยนั้น ขงจื๊อจึงเร่งรีบเดินทางไปยังแคว้นฉี๋ ตามขบวนเสด็จของพระมหาอุปราชไปด้วย แต่ได้มุ่งตรงไปยังเมืองหลวงของแคว้นฉี๋ ชื่อ หลิน-จื๊อ (Lin-Tzu) ซึ่งอยู่ห่างจากแคว้นหลูไปทางทิศเหนือประมาณหลายร้อยไมล์ ความตั้งใจของเขาคือ เพื่อชักชวนพระมหาอุปราชจิง (Ching) ของแคว้นฉี๋ เพราะว่าแคว้นฉี๋เป็นแคว้นที่ใกล้เคียงแคว้นเดียวเท่านั้น ที่สามารถจะมีอิทธิพลเหนือเหตุการณ์ต่างๆ ของแคว้นหลูได้ แต่พระมหาอุปราชจิงแห่งแคว้นฉี๋นั้น แม้จะทึ่งในความมีสติปัญญาของขงจื๊อเป็นอย่างมาก แต่ก็ลังเลไม่ยอมรับขงจื๊อไว้ในราชการของแคว้นฉี๋ ขงจื๊อจึงต้องกลับมายังแคว้นหลู

การเดินทางของขงจื๊อไปยังแคว้นฉี๋ครั้งนั้น ไม่ได้เป็นการเปล่าประโยชน์ไปเสียงทั้งหมดทีเดียว เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่ขงจื๊อได้มีโอกาสได้ลิ้มรสของความไพเราะของดนตรีเซ่า (Shao) ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นดนตรีที่ประพันธ์ขึ้นโดยพระเจ้าซุ่น (Shun) ซึ่งเป็นพระจักรพรรดินักปราชญ์ในสมัย 2255-2205 ก่อน ค.ศ. เขารู้สึกจับใจในลีลาอันไพเราะอย่างยิ่งของดนตรีเซ่า จนไม่ยอมแตะต้องอาหารเป็นเวลานานถึงสามเดือน ขงจื๊อยืนยันว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยคิดเลยว่า ดนตรีนั้นจะมีความไพเราะซาบซึ้งถึงปานนี้”

ขงจื๊อยังคงอยู่ในแคว้นหลูเป็นระยะเวลานาน นอกวงการของราชการเพราะว่าเป็นยุคสมัยที่มีแต่ความโกลาหลวุ่นวาย หลังจากพระมหาอุปราชเจาผู้ถูกเนรเทศถึงแก่สวรรคตไปแล้ว พระมหาอุปราชติง (Ting) ผู้เป็นมหาอุปราชองค์ใหม่ก็กลายเป็นเจว็ดของสกุลผู้มีอิทธิพลทั้งสามต่อไป สิ่งที่เลวยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บรรดาเสนาบดีที่สำคัญๆ ถูกจับไปขังหรือไม่ก็ถูกขับไล่ออกไปจากอาณาจักรของตน โดย หยาง ฮู (Yang Hu) ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ของสกุลจี้ ซุน ซึ่งบัดนี้กลายเป็นสกุลที่มีอำนาจย่างแท้จริงในแคว้นหลู ต่อมา เม้ง อี จื้อ (Meng I Tzu) ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของขงจื๊อได้ต่อสู้และปราบอิทธิพลของอย่างฮูได้ จึงได้มีอำนาจในบ้านเมืองขึ้น และจากอิทธิพลของ เม้ง อี จื้อ นี้เองที่ทำให้ขงจื๊อได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของเมือง เจง-ตู (Cheng-Tu) ซึ่งเป็นเมืองตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงออกไปประมาณยี่สิบแปดไมล์ ต่อมาขงจื๊อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมที่มีความสำคัญเป็นรองจากกระทรวงการศึกษาธิการ กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงกลาโหม ที่มีหัวหน้าของสกุลอิทธิพลทั้งสามสกุลเป็นเสนาบดีอยู่เท่านั้น

ถึงแม้ว่าเวลาที่ขงจื๊อดำรงตำแหน่งสำคัญในบ้านเมืองนี้ จะเป็นเวลาถึงยี่สิบห้าปีหลังจากมรณกรรมของ จื้อ ชัน (Tzu Ch’an) ซึ่งเป็นรัฐบุรุษผู้มีชื่อเสียงของแคว้นเจ็ง (Cheng) ก็ตาม แต่บุคลิกลักษณะและความสามารถของ จื้อ ชัน ก็มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการปฏิรูปสังคมของขงจื๊อทั้งหมด ขงจื้อกล่าวว่า

จื้อ ชัน มีคุณธรรมสี่ประการของ จุน จื้อ (Chun Tzu) หรือมหาบุรุษ คือ มีความสุภาพในความประพฤติส่วนตัว มีความละเอียดถี่ถ้วนในการรับใช้เจ้านาย มีความเมตตา กรุณาในการปฏิบัติต่อประชาชน และมีความเที่ยงธรรมในการกำหนดหน้าที่การงานให้ประชาชน

ขงจื๊อได้ปฏิบัติตนตามแบบอย่างของจื้อชันเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการปรับปรุงในเรื่องกิริยามารยาท และศีลธรรมจรรยาของประชาชนในแคว้นหลูเป็นอย่างมาก จนเป็นที่อิจฉาของแคว้นต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ปรับปรุงนั้น ขงจื๊อย้ำความสำคัญเรื่องการเลี้ยงดูประชาชนให้พอเพียง ได้มีการกำหนดอาหารสำหรับคนแก่และคนหนุ่มแตกต่างกัน มีการกำหนดงานให้ทำโดยเหมาะสมกับกำลังวังชาของบุคคล ในยุคนั้นบุรุษเป็นคนสัตย์ซื่อ สตรีเป็นหญิงบริสุทธิ์ ประชาชนถึงกับมีประเพณีแสดงความเป็นระเบียบ โดยการเดินตามถนนคนละซีก สิ่งของที่มีค่าวางไว้ตามถนนหนทางโดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญหาย คนเลี้ยงแกะเลิกธรรมเนียมให้แกะกินน้ำก่อนจะนำไปขาย คนต่างเมืองที่เดินทางมายังแคว้นหลูจะมีความสบายใจไม่ต้องเกรงภัยต่างๆ

ความสำเร็จของขงจื๊อนี้แสดงให้เห็นว่า ขงจื๊อเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงบุคลิกภาพของขงจื๊ออยู่เรื่องหนึ่งที่บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งขงจื๊อตามเสด็จพระมหาอุปราชของแคว้นหลูไปเจรจากับพระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ที่เมือง เจีย-กู้ (Chia-Ku) เพื่อตกลงข้อพิพาทเก่าๆ และเพื่อสร้างความเป็นมิตรแก่กัน หัวหน้าพนักงานของฝ่ายมหาอุปราชของแคว้นฉี๋ตั้งชื่อขงจื๊อว่า “บุรุษผู้มีแต่จารีตประเพณี แต่ปราศจากความกล้าหาญ” ได้แนะนำเจ้านายของตนให้ใช้อำนาจแห่งอาวุธบังคับพระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลู และผนึกแคว้นหลูเข้าไว้ในอาณาจักรเสีย แต่ขงจื๊อดำเนินการเจรจาด้วยความเชี่ยวชาญ ซึ่งไม่แต่เพียงได้ขจัดปัดเป่าอันตรายแก่บ้านเมืองที่จะบังเกิดขึ้นนั้นเท่านั้นไม่ แต่ยังชักจูงให้พระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ ได้ลงพระนามในสัญญามิตรภาพ พร้อมกับคืนดินแดนที่ได้ยึดเอาไปแต่ก่อนนั้นคืนให้แก่แคว้นหลูด้วย

ชัยชนะของขงจื๊อในการเจรจาในครั้งนี้ เพิ่มพูนความนิยมในตัวขงจื๊อมากขึ้น และทำให้ฐานะตำแหน่งของขงจื๊อมีอิทธิพลมากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน ขงจื๊อได้เริ่มการปฏิรูปภายในแคว้นหลู เรียกว่า “การรณรงค์เพื่อทำลายนครอันมั่งคงสามแห่ง” (Destruction of Three Fortified Cities Campaign) มีเมืองใหญ่ในแคว้นหลูอยู่สามแห่ง คือ เมืองปี่ (Pi) เมืองหัว (Hou) และเมืองเจ็ง (Cheng) ซึ่งมีสกุลจี้ซุน ซู่ซุน และเม้งซุน มีอำนาจครอบครองอยู่ตามลำดับนั้น มักจะเป็นที่มั่นที่ทำให้เกิดการจลาจลวุ่นวายภายในแคว้นขึ้นอยู่เสมอ ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ครั้งนี้จึงมีเป็นสองประการ ประการแรกคือ เพื่อระมัดระวังมิให้เกิดการจลาจลภายในบ้านเมืองจากผู้มีอำนาจเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ขึ้นอีก ประการที่สอง เพื่อป้องกันไม่ให้สกุลทั้งสามขยายอำนาจอิทธิพลมากขึ้น ขงจื๊ออุทิศตนให้แก่การงานอันนี้อย่างแข็งขัน และก็ประสบความสำเร็จในการทำลายอิทธิพลในเมืองปี่ และเมืองหัวลงได้ แต่สกุลเม้งซุนนั้นยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเมืองเจ็งต่อไป เพราะว่าเจ้าเมืองเจ็ง ซึ่งเคยเป็นสานุศิษย์เก่าคนหนึ่งของขงจื๊อ เพิกเฉยต่อคำสั่งของขงจื๊อที่ให้กวาดล้างสกุลอิทธิพลนั้น

ภายใต้สถานการณ์ปกติแล้ว เมืองเจ็งก็คงจะไม่ต่อต้านกับคำสั่งของขงจื๊อได้ แต่ในขณะที่ขงจื๊อกำลังปรับปรุงเหตุการณ์ทั้งหลายของแคว้นของตนอยู่นั้น บุคคลผู้มีเจตนาร้ายได้รวมตัวกัน เพื่อทำการแก้แค้นขงจื๊อ ผลจากการปฏิรูปเหตุการณ์ภายในแคว้นหลู ทำให้ขงจื๊อสร้างอิทธิพลของพระมหาอุปราชมากขึ้น และลดอำนาจของพวกเสนาบดีลง ฉะนั้นความไว้วางใจที่สกุลอิทธิพลทั้งสามเคยมีต่อขงจื๊อนั้น นับวันจะถึงเวลาที่สิ้นสุดลง ถ้าตราบใดที่ขงจื๊อยังมีตำแหน่งในบ้านเมืองอยู่ ตราบนั้นอำนาจในบ้านเมืองทั้งหลายจะมารวมอยู่ที่พระมหาอุปราช และอำนาจอิทธิพลของสกุลทั้งสามที่เคยมีมาแต่เดิมนับวันจะหมดลง ด้วยความหวาดเกรงในชื่อเสียงของขงจื๊อ และความริษยาในความนิยมที่ขงจื๊อได้รับ พวกสกุลทั้งสามจึงมีความเกลียดชังและไม่ไว้วางใจในขงจื๊อต่อไป และเลิกสนับสนุนขงจื๊อนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขณะเดียวกัน พระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ หลังจากพ่ายแพ้แก่กลวิธีของขงจื๊อในการเจรจาที่เมืองเจียกู้แล้ว มีความปรารถนาที่จะต่อต้านอิทธิพลของ “บุรุษแห่งจารีรตประเพณี” โดยการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างขงจื๊อกับพระมหาอุปราช ผู้เป็นนายของขงจื๊อ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นฉี๋ จึงใช้ “ยุทธวิธีแห่งสตรีงาม” คือแทนที่จะส่งกองทหารที่กล้ารบและรัฐบุรุษผู้ฉลาดสุขุม แต่กลับส่งสาวงามจำนวนแปดสิบนาง มีความเชี่ยวชาญในการฟ้อนรำขับร้อง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอันสวยงาม พร้อมทั้งม้าดีสีขาวสลับดำจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบตัวมาเป็นบรรณาการ พระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลู ซึ่งยังหนุ่มแน่นและหลงใหลในกามคุณอยู่ก็ติดกับ และปล่อยตัวแสวงหาความสุขสำราญ ละทิ้งบทเรียนคำสอนเรื่องความวางตัวอันเหมาะสมทั้งปวงที่ขงจื๊อเคยสอนให้จนหมดสิ้น พระมหาอุปราชทรงหลงใหลอยู่ในกามสุขอยู่เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามวันสามคืน ไม่ออกว่าราชาการอันใด ไม่สนใจในขงจื๊อแต่ประการใด หลังจากนั้นไม่นาน ขงจื๊อก็ลาออกจากราชการไปดำรงชีวิตร่อนเร่พเนจรต่อไป

มีเหตุการณ์อันหนึ่ง โดยเฉพาะที่เป็นตัวเร่งให้ขงจื๊อลาออกจากราชการ คือ ในปีหนึ่งๆ นั้น จะต้องมีพระราชพิธีที่สำคัญสามครั้ง คือ ครั้งหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ และอีกสองครั้งในวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงเส้นศูนย์สูตร ในราชพิธีฤดูใบไม้ผลินั้น พระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลูจะต้องเส้นสรวงบูชายัญด้วยสัตว์เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อสวรรค์และดิน เนื่องจากเวลาพระราชพิธีกำลังใกล้เข้ามา ขงจื๊อหวังว่าความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชพิธีนี้ คงจะเป็นเครื่องยับยั้งความหลงใหลในการซ้องเสพกามสุขของพระมหาอุปราชลง แต่ปรากฏว่า พระราชพิธีนั้นดำเนินไปอย่างลวกๆ และบรรณาการที่เคยส่งให้ขงจื๊อเป็นประจำทุกปีนั้นก็ถูกงด ขงจื๊อรู้สึกผิดหวังและเบื่อหน่ายเป็นอย่างยิ่ง สิ่งเดียวที่เขาจะทำได้คือ การยื่นใบลาแล้วเดินทางออกจากแคว้นหลูไปพร้อมกับสานุศิษย์ จำนวนหยิบมือหนึ่ง นี้คือปี 497 ก่อน ค.ศ.

หลังจากเป็นเวลานานถึงสิบสี่ปี ที่ขงจื๊อเดินทางจากแคว้นหนึ่งไปสู่แคว้นหนึ่งเพื่อแสวงหาผู้อุปถัมภ์และแสวงหาโอกาสที่จะสร้างบ้านเมืองที่มีการปกครองในแบบอุดมคติของเขา ถึงแม้ว่าการเดินทางของเขาในระยะนี้จะไม่มีรายละเอียด แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าครั้งแรกขงจื๊อไปที่แคว้นเหว่ย (Wei) ซึ่งเป็นแคว้นที่มีพลเมืองมาก มีโอกาสดีที่จะพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ เขาเกิดความคิดขึ้นมาทันทีทันใดว่า แคว้นเหว่ยนั้นต้องการความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ก่อนแล้วต้องการการศึกษาเป็นประการที่สอง ขงจื๊ออุทานต่อหน้าสานุศิษย์ของตนว่า

ถ้าข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้มีตำแหน่งรับผิดชอบแล้ว ข้าพเจ้าสามารถจะปรับปรุงบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้ภายในเวลาหนึ่งปี และสามารถทำให้สำเร็จตามความคิดได้ภายในเวลาสามปี

แต่พระมหาอุปราชแห่งแคว้นเหว่ยในขณะนั้น กำลังหมกมุ่นอยู่กับความสวยงามและความเย้ายวนของนางสนมผู้มีเสน่ห์คนหนึ่งอยู่ ฉะนั้นบุรุษผู้มีคุณธรรมอันสมถะดังเช่นขงจื๊อนั้นจึงไม่ใช่บุคคลผู้อยู่ในรสนิยมของท่าน ฉะนั้น ขงจื๊อจึงเห็นได้ชัดว่า ราชสำนักของแคว้นเหว่ยนั้น ไม่ใช่สถานที่อันเหมาะสมสำหรับตน ขงจื๊อจึงออกจากแคว้นเหว่ยไปสู่แคว้นอื่นต่อไป

หลังจากนั้น ชีวิตร่อนแร่ของขงจื๊อไม่มีผู้ใดล่วงรู้มากนัก แต่ก็คงจะไม่ผิดความจริงถ้าจะกล่าว่า ขงจื๊อได้ไปเยี่ยมแคว้นสุง (Sung) แคว้นเจ็น (Chen) และแคว้นฉู่ (Ch’u) หลังจากที่อยู่ในแคว้นแจ็นเป็นเวลาหลายปี ขงจื๊อได้กลับไปยังแคว้นเหว่ยในปี 483 ก่อน ค.ศ. ในปีนั้นเอง ขณะที่เขามีอายุประมาณหกสิบแปดปีนั้น เขาถูกเรียกตัวให้กลับไปยังแคว้นหลู ขณะที่เขาเดินทางเที่ยวไปนั้น เขาได้พบก็แต่คำบอกปัดปฏิเสธและความผิดหวัง ไม่มีเจ้าครองแคว้นใดปรารถนาจะฟังความคิดเห็นของเขาเลย มีหลายครั้งที่เขาจำต้องเผชิญกับความยากลำบากและอันตราย ขณะที่เขาเดินทางอยู่ในแคว้นสุงนั้น ขงจื๊อกับสานุศิษย์แทบจะเอาชีวิตไม่รอดจากกองทหารที่ ฮ้วนถุย (Huan T’ui) เสนาบดีของแคว้นสุงส่งมารบกวนครั้งหนึ่ง ประชาชนของเมืองก๋วง (Kuang) เข้าใจว่าขงจื๊อนั้นคือ หยางฮู (Yang Hu) ศัตรูเก่าผู้มีกำลัง จึงเข้าทำการล้อมจับขงจื๊อ ด้วยความอดทนและการวางท่าอย่างสง่าไม่เกรงของขงจื๊อเท่านั้น ที่ทำให้ขงจื๊อสงบอารมณ์ได้ไม่หวั่นไหว จนประชาชนชาวเมืองก๋วง จำได้ว่าเขาคือขงจื๊อ อีกคราวหนึ่ง ขณะที่ขงจื๊อและสานุศิษย์ เดินทางอยู่นอกเมือง ต้องขาดแคลนอาหารและเสบียง จนแทบจะอดอาหารตาย ความกล้าหาญและความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของขงจื๊อนั้น จะเห็นได้จากคำกล่าวของขงจื๊อเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อันลำบากดังนี้

อุดมบุรุษนั้น แม้จะเผชิญกับความทุกข์ยาก ก็หาแสดงการหวั่นไหวไม่ คนเล็กๆ เท่านั้นที่ยอมละเมิดศีลธรรม เมื่อถึงคราวอับจน

ขงจื๊อเป็นผู้ยึดมั่นอยู่ในคำสอนของตน และอดทนต่อความยากลำบากด้วยความกล้าหาญอย่างเยี่ยมยอด โดยไม่มีการบ่น ขณะที่เขาไม่เผชิญกับฐานะที่ลำบากนั้น เขาก็มักจะถูกวิจารณ์และเยาะเย้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกนิยมในปรัชญาเต๋า

มาถึงตอนนี้ ขงจื๊อและสานุศิษย์ได้พบกับผู้ใช้ชีวิตอยู่อย่างวิเวกสองคน คือบุคคลที่ถอนตนออกมาจากโลกด้วยความรังเกียจในความผันแปรไม่แน่นอนของเหตุการณ์ของยุคสมัย ท่านผู้อยู่อย่างวิเวกคนหนึ่งในสองคนนี้ กล่าวกับ จื้อหลู (Tsu Lu) สานุศิษย์คนหนึ่งของขงจื๊อว่า

“โลกทั้งโลกปั่นป่วนเหมือนทะเลที่กำลังบ้าคลั่ง แล้วขงจื๊อนั้นเป็นใครกันถึงจะมาเปลี่ยนแปลงโลกได้? เจ้านั้นกำลังติดตามบุคคลที่หลบลี้หนีจากคนนี้ จากคนนั้นไปเรื่อยๆ มันจะเป็นการไม่ดีไปกว่านั้นหรือ ถ้าเจ้าจะติดตามบุคคลที่ถอนตนออกจากโลกทั้งโลกเช่นข้านี้?”

เมื่อจื้อหลู นำเรื่องนี้มาเล่าให้ขงจื๊อฟัง ขงจื๊อได้ให้คำตอบที่ดีที่สุด ดังนี้

เรานั้นไม่อาจจะอยู่ร่วมกับนกและสัตว์ทั้งหลายได้ ถ้าเราไม่อยู่กับเพื่อนมนุษย์เหมือนกันแล้ว เราจะอยู่กับใครล์

ในโอกาสที่คล้ายกันนั้น จื๊อหลู กล่าวขึ้นอย่างตรงไปตรงมาแทนอาจารย์ของตน เป็นถ้อยคำที่สรุป เหตุผลที่ขงจื๊อต้องเดินทางต่อไปเรื่อยๆ แม้จะไม่สมหวัง แต่ก็ไม่ย่อท้อว่า

การปฏิเสธไม่ยอมรับใช้ราชการนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ระหว่างคนแก่กับคนหนุ่มนั้นจะต้องมีอยู่ฉันใด เราจะทิ้งความสัมพันธ์ของนักการปกครองกับประชาชนผู้ถูกปกครองได้อย่างไรกัน?  ถ้าบุคคลปรารถนาจะสร้างความบริสุทธิ์ของตนแล้ว บุคคลต้องละเลยความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ทั้งหมด บุคคลผู้ยิ่งใหญ่นั้น จะต้องรับใช้บ้านเมืองเพราะว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติเช่นนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะทราบดีว่าการรับใช้บ้านเมืองนั้น เขาจะต้องประสบกับความล้มเหลวก็ตาม

ข้อความประโยคสุดท้ายจากคัมภีร์ปกิณกะนิพนธ์ของขงจื้อที่ควรแก่การสังเกตคือ

เมื่อจื๊อหลู มาถึงเมืองซีเหมิน (Shi-men) เพื่อค้างคืนนั้น คนเฝ้าประตูเมืองถามว่า “ท่านมาจากไหน?”
“ข้าพเจ้ามาจากขงจื๊อ”
“อ๋อ คนที่ขันอาสาทำในสิ่งที่ตนรู้เป็นอย่างดีว่าถ้าทำไปก็เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ คนนั้นใช่ไหม?”

ประโยคสุดท้ายนั้นคือ ภาพอธิบายอันสมบูรณ์เกี่ยวกับขงจื๊อ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ