การเล่นว่าวของชาติต่างๆ

Socail Like & Share

ชาวจีนทำว่าวเป็นรูปมังกรและปลา แต่ก็ชักว่าวให้ลอยขึ้นอยู่เฉยๆ ไม่ได้แข่งขันอะไรกัน บางท้องถิ่นชาวจีนมีว่าวของชาวจีนประเพณีอยู่ว่าครอบครัวใดมีเด็กเกิดใหม่จะทำว่าวรูปปลาไปผูกไว้ที่ลานบ้าน ชาวบ้านจะได้รู้ว่าบ้านนั้นมีเด็กเกิดใหม่แล้ว ชาวจีนเชื่อกันว่าว่าวเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณ เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณนั้นบินได้ลอยไปมาเช่นเดียวกับว่าวเหมือนกันว่าวของญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นก็มีการเล่นว่าวเป็นประเพณีอยู่อย่างหนึ่งที่เรียกว่าเทศกาลดอกเชอรี่บานจะมีคนชักว่าวให้ลอยอยู่ในท้องฟ้านับเป็นพันๆ ตัว เมื่อถึงฤดูกาลเช่นว่านั้น

สำหรับในเมืองไทยของเรานั้น ว่าวคงจะรู้จักกันมานานพอสมควรทีเดียว เพราะปรากฏในพงศาวดารเหนือว่าพระร่วงชอบทรงว่าว คราวหนึ่งว่าวของพระร่วงขาดลอยไปติดปราสาทเมืองตองอู ต้องเสด็จไปเอาว่าวจากปราสาทของพระยาตองอู ก็แสดงว่าคนไทยเรารู้จักเล่นว่าวอย่างน้อยก็สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว ยิ่งกว่านั้น ในสมัยอยุธยาตอนต้นมีกฎมณเฑียรบาลห้ามประชาชนชักว่าวข้ามพระราชวังไว้ด้วย แสดงว่าการเล่นว่าวในสมัยอยุธยาคงจะมีมากพอสมควรจนถึงกับมีกฎหมายห้าม และปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งเข้ามาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า การเล่นว่าวในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นดูน่าสนุกสนานมาก

ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ซึ่งครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระยายมราชสังข์ ซึ่งไปครองเมืองนครราชสีมา ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเกิดทิฐิมานะ กระด้างกระเดื่องขัดรับสั่งมิยอมเข้าไปเฝ้าตามประเพณีเมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ ทางกรุงต้องส่งกองทัพไปปราบปรามอยู่ถึงสองปี ก็ทำการไม่สำเร็จเพราะพระยายมราชสังข์มีฝีมือในการรบสมเป็นทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมามีแม่ทัพคนหนึ่งคิดใช้ปืนกลขึ้นใช้ ปืนกลสมัยนั้น เมื่อยิงไปแล้วกระสุนจะตกลงไปในเมืองแต่ยังไม่ระเบิดทันที ต่อสายชนวนลุกลามไปถึงจึงระเบิดขึ้นคงจะเป็นทำนองเดียวกับลูกระเบิดเวลานี้นั้นเอง อาวุธอีกยอ่างหนึ่งซึ่งคิดขึ้นใช้ในการตีเมืองนครราชสีมาคราวนี้ก็คือ ใช้ว่าวจุฬาขนาดใหญ่ชักขึ้นเหนือเมือง ที่ว่าวนั้นมีหม้อดินดำติดไว้ด้วย และมีตะเกียงเรียกวาอังแพลมติดขึ้นไปด้วย พอไฟไหม้สายป่านขาดว่าวก็ตกลงในเมืองพร้อมกับหม้อดินดำ ก็เกิดระเบิดไฟไหม้บ้านเมืองขึ้น ชาวเมืองต้องช่วยกันดับไฟเป็นโกลาหล เมืองนครราชสีมาก็แตก แต่พระยายมราชสังข์หนีรอดไปได้ นี่คือว่าวที่ใช้ในราชการสงครามเป็นครั้งแรก การที่จะใช้ว่าวอย่างนี้ได้ ก็แสดงว่าคนไทยเราสมัยนั้นต้องนิยมเล่นว่าวกันมาก่อนแล้ว และมีความชำนาญในการทำว่าวด้วย จึงทำว่าวขนาดใหญ่ขึ้นใช้ได้

การเล่นว่าวแต่เดิมมานั้น คงจะเป็นเพียงชักว่าวให้ลอยลมอยู่เฉยๆ ไม่ได้เล่นคว้าว่าวกันอย่างทุกวันนี้ ว่าวที่พวกเด็กชอบเล่นกันก็คือว่าวที่มีเสียงดัง ที่เรียกว่าว่าวดุ๊ยดุ่ย เพราะมีเสียงดังอย่างนั้น เครื่องที่ทำให้เกิดเสียงก็คือเอากระดาษมาติดกับเชือกขึงจากหัวของว่าวโยงมายังไม้ปีกอันบน เมื่อกระดาษนี้ถูกลมกระทบก็ทำให้เกิดเสียงขึ้น ทางปักษ์ใต้มีว่าวดุ๊ยดุ่ยทำเป็นรูปนก เรียกกันว่าว่าวนก ตรงหัวของว่าวนกนี้ทำเครื่องให้เกิดเสียงชนิดหนึ่งติดไว้เรียกว่าแอก แอกนั้นทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้อ่อนพอดัดให้โค้งได้เป็นรูปคันธนู แล้วใช้ใบลานจักให้เป็นชิ้นเล็กขนาด ๒ เซนติเมตร ขึงเหมือนสายธนู เมื่อแอกนี้ถูกลมกระทบจะดังเสียงไพเราะมาก คือดังหง่าวๆ ถ้าผูกไว้ทั้งคืนก็ดังเป็นเพลงกล่อมนิทราดีเหมือนกัน

ว่าวนั้นทำเป็นรูปต่างๆ แล้วแต่จะคิดกันขึ้น แต่ว่าวที่ขึ้นชื่อลือชาและเล่นกันในฤดูว่าวก็คือว่าวปักเป้ากับว่าวจุฬา ว่าวปักเป้านั้นเป็นว่าวสี่เหลี่ยมแฉกเหมือนรูปดาว มีหางสมมติว่าเป็นหญิง ส่วนว่าวจุฬานั้นมีปีก และมีขา ๒ ขา ไม่ต้องมีหาง การทำว่าวเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ว่าวปักเป้าก็ดี ว่าวจุฬาก็ดี ถ้าทำไม่เป็นแล้ว มันก็เพียงแต่ขึ้นไปลอยอยู่เฉยๆ แต่คนที่รู้จักสัดส่วนทำแล้ว มันขึ้นส่ายไปมาสวยงามทีเดียว ทั้งว่าวปักเป้าและว่าวจุฬาคงจะมีมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว เพราะปรากฏอยู่ในกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกำหนดหน้าที่ตำรวจไว้ว่า

“ถ้าทรงว่าวเพลาเช้าเพลาเย็นนั้น เจ้ากรมปลัดกรมผู้อยู่เวร เข้ามาคอยกราบทูลพระกรุณาด้วยลมกล้าลมอ่อน ถ้าเสด็จไปทรงว่าวเจ้ากรมปลัดกรม ซึ่งอยู่เวร ประนมมือแห่เสด็จไปถึงลานทรงว่าวในสวนกระต่าย เข้าเฝ้าคอยรับสั่ง ครั้นวิ่งว่าวคือวิ่งรอก เรียกหัวหมื่น คือตัวสี่ตำรวจเลวขึ้นไปวิ่ง และเกณฑ์ให้คอยค้ำสายป่าน ถ้าพานว่าวปักเป้าติดเข้ามานั้นได้เอาบาญชีกราบทูลพระกรุณาตามชื่อทุกครั้ง” ดังนี้

ในสมัยกรุงเทพมหานครนี้ ทั้งราษฎรไพร่ฟ้าข้าคนพลเมือง ตลอดถึงเจ้านายก็นิยมเล่นว่าว ทรงว่าวตามฤดูกาล มีเรื่องเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็ทรงโปรดว่าว แม้เสวยราชแล้วก็ยังทรงว่าวอยู่โดยทรงว่าวจุฬา ส่วนกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงว่าวปักเป้า

การเล่นว่าวที่สนุกสนานที่สุดก็คือที่สนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการเล่นว่าวกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งปัจจุบันนี้

การเล่นว่าวเป็นกีฬาที่สนุกสนานของเด็ก และเป็นกีฬาและการพนันของผู้ใหญ่ด้วย ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญขึ้น สนามที่เด็กๆ จะเล่นว่าวในเมืองดูเหมือนจะมีน้อยลงทุกที และเด็กก็ควรจะระวังเมื่อเล่นว่าว อย่าเล่นว่าวใกล้สายไฟฟ้า เพราะป่านจะไปถูกสายไฟตกลงมาเป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี