การเลี้ยงปลาชนิดต่างๆ

Socail Like & Share

การเลี้ยงปลาเป็นอาชีพคู่กันกับการกสิกรรม เพราะปลาเป็นอาหารคู่กันกับข้าว ประเทศเพื่อนบ้านที่ทำการเพาะปลูก เช่น อินโดจีน มลายู อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็เลี้ยงปลาได้ผลดี นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้ว การเลี้ยงปลายังช่วยให้มีปลาเป็นอาหาร เมื่อเหลือกินก็จำหน่ายเป็นการเพิ่มรายได้อีกส่วนหนึ่ง เมื่อเลี้ยงมากๆ ก็เป็นสินค้าทำให้ร่ำรวยได้

วิธีเลี้ยงปลาอาศัยหลักการดังนี้ คือ

๑. เลือกที่ริมทะเล แม่น้ำ ลำคลอง ที่มีน้ำบริบูรณ์ดินดี น้ำไม่ท่วม ใกล้ทางหลวง และชุมนุมชน

๒. ขุดบ่อให้กว้าง ยาวและลึกพอเลี้ยงปลาได้ตามที่ต้องการ บ่อนั้นจะเล็กใหญ่สุดแต่กำลังเงิน

๓. เลือกปลาที่ควรเลี้ยงในบ่อ และที่เหมาะสมกับท้องที่ ปลาที่เลี้ยงควรเป็นพันธุ์ดีชนิดเดียวกัน และมีขนาดไล่เลี่ยกัน

๔. พันธุ์ ปลานอกจากจะจับหรือซื้อมา จะเพาะฟักเอาเองก็ได้

๕. อาหารปลาควรมีเสมอ ด้วยการใส่ปุ๋ย และหาเพิ่มเติมให้มีพอดี ไม่มากเกินไปน้อยเกินไป

๖. เนื้อที่บ่อ ๑ ตารางเมตร ไม่ควรเลี้ยงลูกปลาเกิน ๕๐ ตัว และปลาขนาดใหญ่ไม่เกิน ๕ ตัว นอกจากมีอาหารสมบูรณ์มาก

๗. ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปลาที่เลี้ยงและวิธีเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่

๘. ป้องกันศัตรูของปลา เช่น นก นาก งู และโรคพยาธิถ้ามีก็ช่วยกันทำลายรักษา

ทำเลที่ควรขุดบ่อปลา
ทำเลที่จะเลี้ยงปลาเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่จะทำให้การเลี้ยงปลาได้ผลดี หรือล้มเหลว ดังนั้น เมื่อจะขุดบ่อเลี้ยงปลาควรจะพิจารณาเลือกทำเลที่ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

๑. ใกล้แหล่งน้ำ คือ อยู่ใกล้ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง ที่มีน้ำสะอาด และอาศัยน้ำได้ตลอดปี สะดวกแก่การระบายหรือถ่ายเทน้ำในบ่อ และควรพิจารณาว่าที่นั้นอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ระบายเศษกากวัตถุดิบลงไปในน้ำทำให้น้ำเสียมากถึงบ่อปลาได้

๒. ดิน ควรเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย เพราะสามารถเก็บกักน้ำได้และเป็นดินที่มีปุ๋ย

๓. ระดับพื้นที่ ควรเป็นที่ราบเรียบ ไม่เป็นโขด ดอนเกินไปจะทำให้ต้องใช้แรงงานในการขุดดิน หรือต้องยกคันบ่อสูงเกินควร

๔. พืช เป็นเครื่องชี้บอกว่าดินดีเพียงใด และพืชบางชนิดก็ใช้เป็นอาหารของคนของปลาและปุ๋ยบ่อปลาได้ แต่ถ้ามีพันธุ์ไม้ใหญ่มากนักก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการขุด โค่น ตัด ถอนมาก

๕. น้ำไม่ท่วม ที่นั้นไม่ควรเป็นที่มีระดับน้ำท่วมหรือไหลบ่า จนยากแก่การป้องกันไม่ให้ปลาหนี

๖. ใกล้ตลาด เพื่อเพิ่มพูนรายได้ ที่นั้นควรใกล้ตลาด ร้านค้า ชุมนุมชน จะได้ขายปลาสดได้ทันเวลา และได้ราคาสูง

๗. การขนส่ง ที่บ่อปลาควรอยู่ใกล้ทางคมนาคมที่มียานพาหนะผ่านไปมา ขนส่งติดต่อได้สะดวกรวดเร็ว

๘. แรงงาน ในการสร้างบ่อปลาควรอาศัยคนที่ชำนาญงาน ทำเลนั้นจึงควรเป็นที่ที่จะจ้างเหมาหาแรงงานได้สะดวก

๙. ความปลอดภัย บริเวณนั้นควรเป็นที่ที่สงบสุข ไม่มีโจรผู้ร้ายเบียดเบียน และไม่เป็นแหล่งโรคพยาธิที่จะรบกวนสุขภาพพลานามัย

บ่อปลา
เมื่อเลือกทำเลเลี้ยงปลาแล้ว การสร้างบ่อควรดำเนินตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

๑. วางผังบ่อในเนื้อที่ที่มีอยู่ ควรกำหนดขุดสร้างเป็นขั้นๆ ตามกำลัง ถ้าเลี้ยงปลาเป็นการค้าก็ควรกะให้ขยายได้ในกาลข้างหน้า

๒. กรุยทางสำหรับยกคันบ่อ ตามแนวทางที่วางไว้ในแผนผัง แล้วเก็บเศษไม้กิ่งไม้ออก

๓. ยกคันบ่อให้สูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในรอบปีประมาณ ๓๐ ซม. ก้นบ่อควรมีฐานเชิงลาดกว้างเท่ากับส่วนสูงของคันดิน

๔. เว้นช่องและสร้างประตูระบายน้ำตรงที่ใกล้หรือติดต่อกับแหล่งน้ำ ให้พื้นประตูของทางน้ำเข้าสูงกว่าทางน้ำออก ประตูระบายน้ำประกอบด้วยตะแกรงตาถี่ ๒ ชั้น และไม้อัดตรงกลางยกขึ้นลงได้

๕. สำหรับปลาน้ำจืด บ่อจะเป็นรูปขนาดใดก็ได้ แต่ควรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการจับปลา และให้น้ำขังได้ตลอดปีไม่ต่ำกว่า ๑ เมตร ถ้าเลี้ยงปลาน้ำกร่อย ควรมีบ่อขนาดใหญ่ แต่ละบ่อเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ตารางเมตร ลึก ๕๐ ซม.

๖. สำหรับบ่อเพาะพันธุ์ปลา ควรให้อยู่ในที่ใกล้บ้านผู้เลี้ยงที่สุด และมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยง เพื่อดูแลรักษาได้ใกล้ชิดและป้องกันศัตรูได้สะดวก

๗. พื้นบ่อควรเรียบเตียนสม่ำเสมอกัน แต่ลาดไปทางประตูระบายน้ำออกเพื่อความสะดวกในการล้างบ่อและจับปลา

๘. ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงควรโรยปูนขาวให้ทั่วเพื่อฆ่าเชื้อโรค ตากทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ วัน จึงปล่อยน้ำเข้า อีกประมาณ ๗ วัน ต่อมาจึงถ่ายน้ำออกเพื่อรับน้ำใหม่

๙. ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์เพื่อให้เกิดอาหารพวกพืชและไรน้ำสำหรับปลากินเป็นอาหาร

๑๐. บนคันดินควรปลูกต้นไม้ไว้เป็นร่มแก่ปลาที่เลี้ยงบ้าง ส่วนภายในบ่อก็ควรปลูกผักหญ้าที่จะใช้เป็นอาหารสำหรับคนและปลา

๑๑. เพื่อความสะดวกในการให้อาหารปลาและรักษาความสะอาด ควรทำกะบะไม้ซึ่งรองอาหารไว้ใต้ระดับน้ำในบ่อ

๑๒. ปล่อยปลาที่คัดเลือกแล้วลงในบ่อเลี้ยง ในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น

ปลาที่ควรเลี้ยง
พันธุ์ปลาที่ดีและควรเลี้ยง ได้แก่ ปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว หาพันธุ์ได้ง่าย มีลูกมาก อดทน เนื้อมีรสดีและมีผู้นิยม ปลาที่มีลักษณะดังกล่าวมักเป็นปลากินพืชผักเป็นอาหาร เพื่อให้เข้าใจแจ้งชัดขออธิบายดังนี้

๑. เลี้ยงง่าย ได้แก่ ปลาที่กินอาหารง่าย ไม่เลือก เช่นกินผักหญ้าอาหารที่มีตามธรรมชาติ หรือซื้อหาได้ง่ายและด้วยราคาถูก

๒. โตเร็ว ถ้าเลี้ยงปลาที่โตเร็ว เลี้ยงเพียง ๖ เดือน ๑ ปี ใช้เป็นอาหารหรือมีขนาดโตพอที่จะจำหน่ายได้

๓. หาพันธุ์ได้ง่ายเช่น เพาะพันธุ์ได้ในบ่อหรือหาพันธุ์ปลาได้จากที่ใกล้เคียง เพื่อจะได้มีปลาเลี้ยงอยู่เสมอ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อหาลูกปลามาเลี้ยงด้วยราคาแพงเกินไป

๔. มีลูกมาก ปลาที่มีลูกมากจะช่วยเพิ่มจำนวนให้เลี้ยงได้มากขึ้นและเป็นการเพิ่มอาหารและรายได้ให้ผู้เลี้ยงรวดเร็วขึ้น

๕. อดทน ปลาที่เลี้ยงควรเป็นชนิดที่อดทนต่อสภาพท้องที่ และลมฟ้าอากาศ แม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามฤดูกาล เช่น ขาดแคลนอาหาร อากาศร้อน หนาว น้ำน้อย และเกิดโรคพยาธิก็ไม่ตายง่าย

๖. เนื้อมีรสดี ปลาที่เลี้ยงเนื้อควรมีรสดีด้วย เพื่อช่วยให้มีราคาสูง

๗. มีผู้นิยม ปลาที่มีผู้นิยมย่อมมีราคาดี ฉะนั้น เมื่อขายก็ขายได้ราคาดี

ชนิดปลาที่มีคุณลักษณะดังกล่าวแล้วและเลี้ยงได้ผลดี คือ
๑. ปลาไน
๒. ปลาดุก
๓. ปลาเฉา
๔. ปลาลิ่น
๕. ปลาซ่ง
๖. ปลากระบอก
๗. ปลาสลิด
๘. ปลาสวาย ปลาเทโพ
๙. ปลานวลจันทร์ทะเล
๑๐. ปลาหมอตาล
๑๑. ปลาแรด

อาหารของปลา
ก่อนที่จะเลี้ยงปลา ผู้เลี้ยงควรทราบเสียก่อนว่า ปลาที่เลี้ยงชอบกินอะไรและอาหารนั้นควรหาได้ง่ายและมากพอที่จะเลี้ยงปลาให้เจริญเติบโตด้วย ปลาแต่ละชนิดกินอาหารไม่เหมือนกัน คือ

๑. ปลาไน กินจุลินทรีย์ในน้ำหรือไรน้ำ ลูกน้ำ แหน สาหร่าย ตะไคร่น้ำ รำ รากและใบผักบุ้ง ผักแพงพวย ลูกกุ้ง ลูกหอย แมลงและหนอน

๒. ปลาสลิด กินตะไคร่น้ำ แหน ไรน้ำ รำ ตัวปลวก

๓. ปลาดุก ชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าอาหารจำพวกพืช เช่นแมลง เครื่องในสัตว์ เศษเนื้อ เนื้อหอย เนื้อปู เลือดสัตว์ ไส้เดือน ประเภทพืชก็ได้แก่ รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้ง ข้าวโพด

๔. ปลาสวาย ปลาเทโพ กินพืช ไรน้ำ ลูกกุ้ง ตัวปลวก หนอน รำ เศษเนื้อ เศษอาหาร ผักสด เนื้อปลา หอยต่างๆ กากถั่วเหลือง กากมะพร้าว ปลาป่น

๕. ปลาเฉา กินหญ้าอ่อน แหน สาหร่าย หญ้ากก ผักบุ้ง ผักตบชวา รำ และข้าวสุก

๖. ปลาลิ่น กินจุลินทรีย์ในน้ำ

๗. ปลาซ่ง กินจุลินทรีย์ในน้ำ

๘. ปลานวลจันทร์ทะเล กินจุลินทรีย์ในน้ำและตะไคร่น้ำและสาหร่าย

๙. ปลาแรด กินผักบุ้ง แหน จอก สาหร่าย หญ้า รากผักตบชวา ผักกะเฉด ลูกกุ้ง รำข้าวสุก และกากมะพร้าว

๑๐. ปลาหมอตาล กินตะไคร่น้ำ แหน ไรน้ำ รำ ตัวปลวก

๑๑. ปลากระบอก กินจุลินทรีย์ในน้ำ ตะไคร่น้ำ สาหร่าย

อาหารธรรมชาติและแหล่งของอาหารธรรมชาติ
๑. จุลินทรีย์ หมายถึง พืชและไรน้ำเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติหากต้องการเพิ่มจำนวนก็ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชหมักใส่ลงไปในบ่อ

๒. แหน เป็นพืชชนิดหนึ่ง เกิดบนผิวน้ำในหนองบึงหรือบ่อที่น้ำนิ่ง และในที่ๆ ได้รับแสงแดด เป็นพืชที่งอกงามและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

๓. รำ นอกจากอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติในบ่อ ควรใช้รำเป็นอาหารเพิ่มเติมแก่ปลาเพื่อช่วยให้ปลาโตเร็ว จะต้มปนกับผักบุ้งหรือสาหร่าย ปลาป่น เลือดสัตว์ด้วยก็ได้ วิธีต้มผสมก็คือ หั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ ต้มจนเปื่อย แล้วจึงเอารำเติมลงไป ใช้ผัก ๒ ส่วน ต่อรำ ๑ ส่วน คลุกจนเข้ากันดี ให้เหนียวปั้นก้อนได้ ถ้าต้องการใช้ปลาป่นและเลือดสัตว์ก็เติมลงไปด้วย

๔. ผัก หญ้า ได้แก่ จอก สาหร่าย ผักกะเฉด ผักตบชวา ผักบุ้ง ผักกาด และหญ้าอ่อนๆ เช่น หญ้าแพรก หญ้าขน หญ้านวลน้อยที่ขึ้นอยู่ริมบ่อ รากของผักเหล่านี้ก็ใช้เป็นอาหารของปลาได้

๕. เศษเนื้อ เช่น เนื้อวัว หมู เป็ด ไก่ และกุ้ง ปู ปลา ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ

๖. แมลง เช่น ตัวปลวก หนอนตัวไหม แมลงและไข่ของแมลง เช่น ไข่มดบางชนิด ตัวปลวก ส่วนแมลงคงใช้ตะเกียงจุดล่อให้ตกลงไปในบ่อ

๗. เศษอาหาร เช่น กากมะพร้าว ถั่ว ข้าวสุกและเศษอาหารเหลือผสมกับรำให้กิน

๘. ตะไคร่น้ำ เกิดเองตามธรรมชาติที่งอกงามกลายเป็นสาหร่ายเส้นยาวๆ ก็มี

๙. ปลาป่น ทำจากเศษปลาตากแห้งแล้วบด หรือปลาป่นจำหน่ายเป็นอาหารไก่ ใช้ปนกับรำหรือผัก

อาหารควรให้เป็นเวลาเพื่อหัดปลาให้ชิน ถ้าได้ทำสัญญาณ เช่น ดีดน้ำหรือสาดน้ำก่อนให้ทุกครั้ง และอย่าทำให้ปลาตื่นตกใจ

การใส่ปุ๋ย
ดินดีและน้ำดี มีส่วนช่วยให้ปลาโตเร็ว เช่นเดียวกับดินดีน้ำดีทำให้พืชผลงอกงาม ดังนั้น บ่อปลาจึงต้องการปุ๋ยเช่นเดียวกับที่นาที่สวน ปุ๋ยที่จะใส่บำรุงบ่อปลาใช้ได้ทั้งมูลสัตว์หรือฟางหมัก ปุ๋ยเหล่านี้ทำให้เกิดจุลินทรีย์ พืชและไรน้ำเล็กๆ ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่ดีของปลาและลูกปลาที่เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นปลาสลิด ปลาสวาย ปลาเทโพ หรือปลาไน ปลาจีน นับว่าเป็นการเพิ่มอาหารให้ปลา ทำให้ปลาเจริญเติบโตและเป็นการสะสมอาหารให้มีอยู่ในบ่อปลา แต่ปุ๋ยมีหลายชนิดและวิธีใช้มีต่างๆ กัน ชนิดปุ๋ยและอัตราส่วนเท่าที่ได้ทดลองแล้วได้ผล มีดังนี้

๑. ปุ๋ยคอกได้จากมูลสัตว์ เช่น โค กระบือ เป็ด ไก่ หมูและแพะ ควรตากให้แห้งก่อน ใช้ปุ๋ยนี้ ๑ ก.ก. ต่อเนื้อที่ ๓ ตารางเมตร

๒. กากถั่ว ได้จากถั่วเหลือง ถั่วลิสงที่คั้นเอาน้ำมันหรือเหลือจากทำขนม อัดเก็บเป็นแผ่นๆ ใช้ปุ๋ยนี้ ๑ ก.ก. ต่อเนื้อที่ ๒๐ ตารางเมตร

๓. ฟางหมัก  ได้จากฟางข้าวที่หมักทับถมไว้จนเปื่อยยุ่ย ถ้าไม่มีฟางข้าวจะใช้วัชพืชที่ถากถางเก็บหมักไว้ก็ได้ ใช้ ๖ ก.ก. ในเนื้อที่ ๑๐ ตารางเมตร

๔. ปูนขาว ได้จากเปลือกหอยหรือหินบด ใช้ผสมกับปุ๋ยอื่นๆ ช่วยให้การใช้ปุ๋ยได้ผลรวดเร็วขึ้น ใช้ปูนขาว ๑ ก.ก. ต่อเนื้อที่ ๕๐ ตารางเมตร หากดินค่อนข้างเป็นกรด (ดินเปรี้ยว)

ปุ๋ยแต่ละชนิดใช้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบ่อใหม่หรือบ่อเก่า แต่ควรใส่เดือนละครั้งสาดและโรยปุ๋ยให้ทั่วพื้นบ่อ หลังจากนั้นประมาณ ๕ วันน้ำในบ่อจะเปลี่ยนสี ถ้าเป็นปุ๋ยคอกน้ำจะเป็นสีน้ำตาล ถ้าใช้กากถั่วและฟางหมัก น้ำจะเป็นสีเขียว ซึ่งแสดงว่าเกิดอาหารธรรมชาติในบ่อเลี้ยงปลาแล้ว

วิธีเลี้ยงปลา
ปลาแต่ละชนิดก็มีลักษณะและการอยู่กินต่างกับอีกชนิดหนึ่งไม่มากก็น้อย ฉะนั้นก่อนที่จะเลี้ยงปลาไม่ว่าชนิดใด ผู้เลี้ยงควรจะได้ทราบลักษณะและนิสัยของปลานั้นๆ ก่อน การเลี้ยงปลาก็ย่อมจะได้ผลดียิ่งขึ้น

ปลาที่ได้แนะนำให้เลี้ยงมีธรรมชาติและวิธีเลี้ยงดังนี้

ปลาไน
ปลาไนมีกำเนิดในประเทศจีน มีผู้นำไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว สืบพันธุ์ในบ่อเลี้ยง และมีไข่เป็นจำนวนมาก ส่วนเนื้อก็มีรสดีมีผู้นิยม

รูปร่างคล้ายปลาตะเพียน มีเกล็ดใหญ่ มีหนวด ๔ เส้น มีครีบหางยาวถึงโคนหาง หางเว้า สีต่างๆ กัน โดยมากเป็นสีดำแกมเขียวที่เป็นสีเหลืองก็มี

ปลาไนต้องการบ่อกว้าง ถ้าเป็นบ่อเล็กควรถ่ายเทน้ำได้สะดวก ถ้ามีน้ำไหลอยู่เสมอแม้จะตื้นเพียง ๕๐ ซ.ม. ปลาก็อยู่ได้ดี

อาหารเป็นจำพวกพืชผัก แต่ถ้าให้รำและหนอน แมลงเพิ่มเติมจะโตเร็ว

ศัตรูของปลาไนมีมาก ควรล้างบ่อและป้องกันอย่างแข็งแรง

ปลาไนอายุได้ ๑ ปี จะมีน้ำหนักครึ่ง ก.ก. ขึ้นไป ซึ่งสามารถใช้เป็นอาหารหรือขายได้แล้ว

ปลาสลิดปลาสลิด
รูปร่างคล้ายปลากระดี่ แต่มีขนาดโตกว่า ลำตัวมีสีพื้นที่ค่อนข้างดำและมีลายดำเป็นริ้วๆ พาดขวางลำตัวตัดกับลายดำเป็นแถวยาวจากหัวถึงโคนหาง ขนาดใหญ่ยาวประมาณ ๒๐ ซ.ม.

ปลาสลิดชอบอยู่ในน้ำนิ่งที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผัก และสาหร่ายอันเป็นที่พักอาศัยกำบัง และก่อหวอดวางไข่ แหล่งของปลาสลิดมีอยู่ในที่ลุ่มภาคกลาง

ปลาสลิดกินไรน้ำและพืชผักเป็นอาหาร แต่เมื่อเลี้ยงในบ่อควรให้รำต้มกับผักบุ้งเพิ่มเติม จะช่วยให้ปลาโตเร็วยิ่งขึ้น เมื่อปลามีอายุได้ ๘ เดือน มีขนาด ๑๕ ซ.ม. ก็เป็นอาหารหรือจับขายได้

เนื้อที่บ่อ ๑ ตารางเมตร เลี้ยงปลาสลิดขนาดเล็กได้ ๒๐-๓๐ ตัว ขนาดใหญ่ ๓-๕ ตัว

ปลาดุก
ปลาดุก เป็นปลาน้ำจืดที่ชาวไทยนิยมรับประทานเป็นปลาดุกอาหารประจำวัน เนื้อมีรสดีมีขายอยู่ตามตลาดทั่วไป มีราคาดี เลี้ยงง่ายโตเร็วและอดทนต่อสิ่งแวดล้อม พันธุ์ปลาหาได้โดยการเพาะหรือรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลาดุกมีรูปร่างยาวเรียว ไม่มีเกล็ด ครีบหลังยาวไม่มีกระโดง ครีบก้นยาวเกือบถึงโคนครีบหาง มีหนวด ๔ คู่ และมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ทำให้ปลาดุกอดทนสามารถอยู่ด้นน้ำได้นาน ปลาดุกมีสองชนิด คือปลาดุกด้านและปลาดุกอุย แตกต่างกันที่กระดูกท้ายทอย ด้านหลังของปลาดุกด้านมีลักษณะแหลมกว่าของปลาดุกอุย

ปลาดุกมีนิสัยชอบหนีจากบ่อเลี้ยง ฉะนั้น บ่อเลี้ยงปลาดุกจึงต้องล้อมรั้วไม้รวกเฝือก ไม้กระดาน สังกะสีแผ่นหรือต้นหมากวางขวาง รั้วสูงประมาณ ๕๐ ซ.ม. ถ้าบ่อเลี้ยงอยู่ใกล้คูคลองธรรมชาติ ควรจะกรุภายในบ่อด้วยไม้เพื่อป้องกันการหนี

ปลาขนาด ๗-๑๐ ซ.ม. ควรปล่อยลงเลี้ยงตารางเมตรละประมาณ ๔๐ ตัว ถ้าปลาขนาดเล็กกว่านี้ก็ปล่อยตารางเมตรละประมาณ ๘๐ ตัว

อาหารปลาดุกกินได้ทั้งเนื้อและผัก แต่ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ๓๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งสองประเภทจะทำให้ปลาเจริญเติบโต และมีน้ำหนักดีกว่าเลี้ยงด้วยอาหารเพียงประเภทเดียว เนื้อสัตว์ควรเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ดี เช่น เครื่องในสัตว์ เศษเนื้อ กากมัน เลือดสัตว์ แมลง ไส้เดือน อาหารประเภทพืชและแป้งที่ควรผสมกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ คือ รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้ง ข้าวโพด

ศัตรูของปลาดุกมีไม่มากนัก แต่ปลามักทิ่มแทงกันเอง ฉะนั้นในการเลี้ยงควรคัดขนาดอยู่เสมอ และระบายล้างบ่อบ่อยๆ เพราะอาหารจะทำให้น้ำเสียเร็วกว่าปกติ

ปลาดุกใช้เวลาเลี้ยง ๖-๑๒ เดือน ได้น้ำหนักตัวละประมาณ ๒๐๐-๕๐๐ กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่จำหน่ายในท้องตลาด

ปลาสวาย ปลาเทโพ
ปลาสวายกับปลาเทโพรูปร่างคล้ายคลึงกันคือตัวยาวเรียว ไม่มีเกล็ดมีครีบหลังสองอันหลังเป็นฉาก เป็นปลาปลาสวายน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ เลี้ยงรวมกันได้ รสดี ราคาสูง เลี้ยงง่ายและโตเร็ว ไม่วางไข่ในบ่อ ผู้เลี้ยงจึงต้องหาซื้อพันธุ์ปลาจากที่อื่นมาเลี้ยงเป็นรุ่นๆ ไป

ลักษณะของปลาทั้ง ๒ ชนิดนี้ เมื่อยังเล็กอยู่ไม่แตกต่างกันนัก แต่เมื่อโตได้ประมาณ ๕ ซ.ม. จะเห็นว่าปลาสวายไม่มีจุดดำที่หู ส่วนปลาเทโพมีจุดดำที่หูข้างละจุด ปากมนและกว้างกว่า

ปลาสวายและปลาเทโพอยู่ในแม่น้ำลำคลองที่น้ำไหล มีมากในภาคกลาง จับลูกปลาได้มากในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม วิธีจับใช้แห อวน เครื่องมือกางกั้น เช่น รั้วไซมาน

บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาสวาย ปลาเทโพ ควรมีน้ำไหลถ่ายเทได้เสมอ ศัตรูของปลาก็มีมากจึงควรป้องกันโดยแข็งแรง และเนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดโต จึงไม่ควรเลี้ยงอย่างแออัดนัก

ปลาสวาย ปลาเทโพ กินอาหารทุกชนิด นอกจากพืชผักรำ และเศษอาหารในครัวแล้ว จะใช้ใบแคสับให้กินก็ได้ เลี้ยง ๑ ปีอาจโตถึง ๗๐ ซ.ม. หนัก ๕ ก.ก. แต่ปกติจะได้น้ำหนัก ๑.๕ ก.ก.

ปลาจีน
ปลาจีน หมายถึง ปลาที่มีกำเนิดมาจากประเทศจีนนอกจากปลาไน คือ ปลาเฉา ลิ่น หรือเล่ง และซ่ง ปลาทั้งสามชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ชาวจีน เป็นปลามีรสดีเป็นที่นิยมมาก มีราคาสูง แต่โดยปกติปลาเหล่านี้สืบพันธุ์ วางไข่ในบ่อ

ปลาทั้งสามชนิดเป็นปลาจำพวกเดียวกับปลาตะเพียน เลี้ยงรวมกันได้ มีลักษณะแตกต่างกันดังนี้

ปลาเฉาลำตัวกลมยาว คล้ายปลากระบอก เกล็ดใหญ่ สีค่อนข้างเขียว หากินบนผิวน้ำปลาเฉา

ปลาลิ่น (หรือเล่ง) ตัวแบน เกล็ดเล็กละเอียด สีเงิน ท้องเป็นสันตั้งแต่คอหอยจรดครีบก้น กระโดดเก่ง หากินตามระดับกลางๆ น้ำ

ปลาซ่งคล้ายปลาลิ่น แต่หัวโตกว่า หลังสีดำตัวสีม่วง ท้องเป็นสันตั้งแต่ครีบท้องถึงครีบก้น ไม่กระโดด หากกินตามพื้นบ่อ

บ่อปลาจีนก็เช่นเดียวกับปลาไน คือ ต้องการที่กว้างไม่แออัด ยิ่งมีน้ำถ่ายเทได้เสมอยิ่งดี จำนวนปลาที่จะเลี้ยงในบ่อควรเป็นปลา ๑ ตัว ต่อเนื้อที่ ๕ ตารางเมตร

อาหารของปลาจีนเป็นจำพวกผัก หญ้า รำ ข้าวสุก และไรน้ำ เฉพาะปลาเฉาต้องการผักหญ้ามากกว่าปลาชนิดอื่น มูลของปลาเฉาเป็นปุ๋ยและอาหารของปลาจีนอีก ๒ ชนิด ดังนั้น จึงเลี้ยงรวมกันได้ดี ในอัตราผสมคือ ปลาเฉา ๗ ตัว ปลาลิ่น ๒ ตัว และปลาซ่ง ๑ ตัว

ศัตรูของปลาเหล่านี้มีมาก บ่อจึงควรได้รับความเอาใจใส่ป้องกันและกำจัดศัตรูอยู่เสมอ

ถ้าอาหารบริบูรณ์ ปลาที่เลี้ยงตั้งแต่ขนาด ๒๐ ซ.ม. จะมีน้ำหนัก ๑.๕ ก.ก. ในเวลา ๖ เดือน

ปลานวลจันทร์ทะเล
เป็นปลาทะเลที่เลี้ยงได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีรูปร่างคล้ายปลากระบอก แต่เปรียวและดูงามกว่า เกล็ดเล็กๆ ปลานวลจันทร์เป็นสีเงิน มีครีบหลัง ๑ อันหางเว้าเป็นแฉกแหลม มีขนาดโตถึง ๑.๕ เมตร เลี้ยงในบ่อได้ผลดีในประเทศใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ปลาชนิดนี้ไม่วางไข่ในบ่อ แต่ลูกปลามาจากทะเล เข้าหากินเลี้ยงตัวบริเวณปากน้ำชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดทรายและตามลำรางในป่าแสม โกงกาง จับได้มากทั้งสองฝั่งของอ่าวไทยเช่น ที่ประจวบคีรีขันธ์และจันทบุรี ผู้เลี้ยงจึงต้องรวบรวมลูกปลาจากแหล่งดังกล่าวมาเลี้ยง

วิธีรวบรวมลูกปลา ใช้อวนตาถี่หรือที่เรียกว่าผ้าเจียดและสวิงตักลูกปลาจากแหล่งและขังเลี้ยงไว้ในหม้อดิน เมื่อได้จนวนมากแล้วจึงลำเลียงส่งไปเลี้ยงในบ่อด้วยหม้อดินหรือครุขนาดใหญ่

บ่อปลานวลจันทร์ทะเลต้องการที่กว้าง แต่ลึกเพียง ๕๕ ซ.ม. ก็พอ ที่บ่อปลาควรเป็นที่ลุ่มชายแดน บริเวณป่าแสม โกงกาง ที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า เมื่อขุดบ่อยกคันดินให้สูงพอกักน้ำได้และท่วมก็ใช้เลี้ยงปลาได้

ปลานวลจันทร์ทะเลกินพืช ไรน้ำ ตะไคร่น้ำหรือสาหร่ายทะเลที่เพาะปลูกขึ้นได้ในบ่อ ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงไม่มีภาระอันใดมากนัก เพียงแต่ให้น้ำถ่ายเทเข้าออกได้บ้างก็พอ

ลูกปลานวลจันทร์ทะเล เมื่อแรกเลี้ยงขนาด ๑.๕ ซ.ม. จะโตเป็น ๓๐ ซ.ม. เป็นอาหารหรือขายได้ในเวลา ๖ เดือน เมื่อจะจับก็ให้ลดระดับน้ำในบ่อแล้วใช้เฝือกล้อม หรือให้แห

ปลาแรด
ปลาแรดเป็นปลาจำพวกเดียวกับปลากระดี่ ปลาสลิด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ในชวาเลี้ยงปลาแรดในบ่อได้ผลดี ปลาแรดมีเนื้อแน่น สีเหลืองอ่อนและรสดี จึงเป็นที่นิยมทั่วไปปลาแรด

ปลาแรดมีรูปร่างแบน กว้าง ทำให้สั้นและป้อง ปากเล็ก เมื่อยังเล็กอยู่คล้ายกระดี่หม้อ ต่างกันที่มีจุดที่โคนหางเพียง ๑ จุด มีสีดำจางเป็นแถบข้างตัว เมื่อโตมีนอที่หัว ส่วนกระดี่หม้อมีจุดข้างละ ๒ จุด เมื่อโตขึ้นจุดของปลาแรดจะเลือนหายไป

ปลาแรดกินอาหารทุกชนิด ให้กินอาหารจำพวกผักบุ้ง แหน จอก สาหร่าย หญ้าอ่อน หนอน ลูกกุ้งและแมลง จะให้รำ ข้าวสุก กากมะพร้าวเป็นครั้งคราวก็ได้ผลดี

บ่อปลาแรดก็สร้างเช่นเดียวกับปลาสลิด แต่รังปลาแรดคล้ายกับรังนก จำนวนปลาที่จะใส่ในบ่อเมื่อยังเล็กก็ใส่จำนวนเท่ากับปลาสลิด แต่เมื่อปลาโตขึ้นควรลดจำนวนลงให้เหลือ ๓ ตัวต่อเนื้อที่ ๑ ตารางเมตร

ปลาแรดอายุได้ ๑ ปี ก็ใช้เป็นอาหารหรือขายได้

ปลาหมอตาล
ปลาหมอตาลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีเนื้อแน่น รสดีประกอบกับเลี้ยงง่ายและสืบพันธุ์ในบ่อ ทำให้เพิ่มจำนวนปลาได้รวดเร็ว จึงเป็นปลาที่เหมาะสำหรับจะใช้เลี้ยงในบ่อปลาหมอตาล

ปลาหมอตาลเป็นปลาพวกเดียวกับปลาหมอไทย แต่ปลาหมอตาลตัวแบนและกว้างกว่าสีค่อนข้างขาว ครีบมีก้านแข็งปากยืดหดได้

แหล่งของปลาหมอตาลอยู่ในบึง บ่อ ที่น้ำนิ่งหรือไหลไม่แรง ในภาคกลาง เช่น ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มีปลาหมอตาลอยู่ทั่วไป

ปลาหมอตาลเลี้ยงรวมกับปลาสลิด และปลาสวาย ปลาเทโพได้เพราะกินพืช และไรน้ำเป็นอาหาร รำ ผักบุ้ง และเศษอาหารในครัวที่เหลือกิน ก็เป็นอาหารรวมให้กินได้

ปลาหมอตาลโตถึง ๓๒ ซ.ม. หนัก ๑ ก.ก. แต่เมื่อเลี้ยงได้ ๑ ปี ตัวยาว ๒๐ ซ.ม. ก็เป็นขนาดขายได้แล้ว

ปลากระบอก
ปลากระบอกมีหลายชนิด เป็นปลาทะเลที่ควรเลี้ยงในบ่อ เพราะเป็นปลาที่หาพันธุ์ได้ง่าย และรสดี มีราคา สามารถเลี้ยงในน้ำจืดและน้ำกร่อยได้ดีปลากระบอก

ปลากระบอกขนาดเล็กคล้ายกับปลานวลจันทร์ทะเล ไม่ประเปรียวเท่ากับปลานวลจันทร์ทะเล มีหัวป้าน และมีครีบหลัง ๒ อัน

ลูกปลากระบอกหากินอยู่ตามลำรางที่ติดต่อกับทะเลและบริเวณแอ่งน้ำในป่าแสม โกงกาง ตามจังหวัดชายทะเลยทั่วไปทั้งสองฝั่งอ่าวไทย

ปลากระบอกอยู่รวมกันเป็นฝูงๆ กินพืช ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ และสาหร่ายทะเลเลี้ยงรวมกับปลานวลจันทร์ทะเลก็ได้

บ่อปลากระบอกควรสร้างแบบเดียวกับบ่อปลานวลจันทร์ทะเล คือใช้บ่อกว้างและบังคับน้ำเข้าออกได้สะดวก

เมื่อเลี้ยงได้ ๖ เดือนก็มีขนาดใหญ่ขายได้ วิธีจับปลากระบอกใช้เฝือกล้อมหรือทอดจับด้วยแห

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี