การเลี้ยงปลาจีน

Socail Like & Share

ปลาจีนที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายขณะนี้มีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน คือ เฉาฮื้อ ลิ่นฮื้อ และซ่งฮื้อ พันธุ์ปลาจีนทั้ง ๓ ชนิดนี้สามารถเพาะพันธุ์ขึ้นในเมืองไทยได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำพันธุ์ปลามาจากเมืองจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด แต่ก่อนนี้การนำพันธุ์ปลาจีนเข้ามายังเมืองไทย พ่อค้าต้องไปรับซื้อลูกปลาจากชาวประมงที่มีอาชีพปลาจีนจับลูกปลาในแม่น้ำไซกัง เมื่อซื้อแล้วก็นำมาเลี้ยงไว้ในบ่อตามที่ต่างๆ พ่อค้าบางรายก็รวบรวมลูกปลาลำเลียงขนส่งไปยังเมืองท่าฮ่องกง แล้วนำส่งไปขายยังประเทศต่างๆ ในเอเชียซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยโดยทางเรือ ซึ่งนับว่าเป็นภาระมากและกินเวลานาน พันธุ์ปลาที่นำเข้ามาโดยวิธีนี้มักเป็นพันธุ์ปลาที่มีขนาด ๒-๓ นิ้ว ซึ่งได้กักขังเอาไว้ให้มีขนาดคงที่เพื่อสะดวกในการลำเลียง

เมื่อการคมนาคมทางอากาศเจริญขึ้น จึงได้มีการขนส่งพันธุ์ปลาจีนทางอากาศ เพราะสะดวกและรวดเร็ว กับทั้งพันธุ์ปลาที่ส่งเข้ามาก็เป็นปลารุ่นใหม่มีความแข็งแรงดี เหมาะแก่การเลี้ยงอย่างยิ่ง ปรากฏว่าทำความพอใจให้แก่ผู้เลี้ยง เป็นการสนับสนุนให้มีการเลี้ยงปลาเป็นการค้าขึ้น

ฤดูวางไข่ของปลาจีนเหล่านี้เริ่มแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฉะนั้นผู้ที่สั่งซื้อพันธุ์ปลาในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ทางฮ่องกงจะส่งให้ได้เฉพาะปลาซึ่งมีความยาวขนาด ๑/๒-๑ ๑/๒ นิ้ว แต่พันธุ์ปลาขนาดเล็กเช่นนี้ย่อมจะได้รับอันตรายมากเช่นเดียวกับลูกไก่ จะต้องคอยดูแลระมัดระวังอย่างเต็มที่เพื่อมิให้ศัตรูมาทำลายหรือรบกวนได้ และยังต้องระมัดระวังในเรื่องการเลี้ยงดูให้อาหาร เพราะถ้าให้มากหรือน้อยเกินไปและไม่ถูกต้องตามเกณฑ์แล้ว อันตรายย่อมเกิดขึ้นได้ สำหรับลูกปลานั้นศัตรูที่จะทำอันตรายก็มีปลาช่อน ปลาชะโด ปลาไหล งู กบ และนก เป็นต้น แต่ก็สามารถที่จะช่วยเหลือป้องกันได้ ในเรื่องการให้อาหารนั้น ชาวไทยที่นิยมเลี้ยงปลาจีนยังไม่มีความชำนาญพอ เพราะเท่าที่เคยซื้อพันธุ์ปลามาเลี้ยงแต่ก่อนๆ นั้น ส่วนมากมีขนาดตั้งแต่ ๓ นิ้วขึ้นไป ซึ่งสามารถจะกินอาหารเช่นเดียวกับปลาใหญ่ได้แล้ว จึงไม่ค่อยมีเรื่องที่จะต้องวิตกกังวลในการเลี้ยงเท่าไรนัก แต่ถ้าเป็นปลาขนาด ๑/๒ – ๒ ๑/๒ นิ้ว ควรจะต้องพิถีพิถันในการเลี้ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อาหารเหตุนี้จึงเกรงว่าผู้ที่สั่งซื้อพันธุ์ปลาขนาดเล็กไปเลี้ยงจะไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เท่าที่ได้อกไปติดตามดูวิธีการเตรียมบ่อ การเลี้ยงปลา ปรากฏว่าบางรายก็ได้ผลบางรายก็ไม่ได้ผล จึงได้ร่วมกันจัดทำคำแนะนำนี้ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะเลี้ยงปลาจีนแก่ผู้สนใจตามสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะเลี้ยงปลาเพื่อหวังผลกำไรจำเป็นต้องทราบถึงวิธีการป้องกันศัตรู ตลอดจนการเตรียมบ่อ การให้อาหาร และการแบ่งลูกปลาจำหน่ายด้วย เพราะผลกำไรที่ผู้เลี้ยงจะได้รับแบ่งเป็นสองตอนคือ

ก. การเลี้ยงเพื่อจำหน่ายปลาพันธุ์ (ขนาด ๓-๖ นิ้ว) ซึ่งหมายถึงการเลี้ยงปลาขนาด ๑/๒ นิ้ว ถึง ๖ นิ้ว ในระยะเวลาไม่เกิน ๒ เดือนแล้ว จำหน่ายให้ผู้เลี้ยงนำไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ต่อไป

ข. การเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นปลาเนื้อ  ซึ่งหมายถึงการเลี้ยงปลาขนาดตั้งแต่ ๕ นิ้ว ถึง ๖ นิ้วขึ้นไป จนออกสู่ตลาดได้ (น้ำหนักอย่างต่ำ ๑ ก.ก.) ประมาณระยะเวลาเลี้ยงตั้งแต่ ๖ ถึง ๑๐ เดือน ทั้งนี้สุดแล้วแต่ความสมบูรณ์ของอาหารและความสัมพันธ์ของผิวน้ำกับจำนวนปลาที่ปล่อยแต่ละบ่อ

ก. การเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นปลาพันธุ์
๑. การเตรียมบ่อสำหรับปลาเล็ก
สมมติว่าท่านจะสั่งลูกปลาจีนในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นลูกปลาประมาณ ๒,๐๐๐ ตัว (ปลาเฉา ๑,๔๐๐ ตัว ปลาลิ่นและปลาซ่งอย่างละ ๓๐๐ ตัว) ส่วนมากมักเป็นลูกปลาขนาด ๑/๒ – ๑ ๑/๒ นิ้ว ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ คือ

๑. บ่อสำหรับเลี้ยงลูกปลาไม่จำเป็นจะต้องเป็นบ่อใหญ่ เพราะจะต้องมีการดูแลระวังรักษา ตลอดจนการให้อาหารอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นบ่อที่เหมาะแก่การเลี้ยงลูกปลา จึงควรเลือกบ่อขนาดเนื้อที่ ๔๐๐ ตารางเมตร รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อสะดวกในการใช้เครื่องมือจับด้วย ก่อนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาควรระบายน้ำออกจากบ่อ ขุดลอกเอาเลนขึ้น ดายหญ้าตามขอบบ่อให้สะอาด เพื่อมิให้เป็นที่อาศัยของศัตรูของลูกปลา และเพื่อความแน่ใจควรราดน้ำโล่ติ๊นลงในบ่อ เพื่อฆ่าศัตรูที่หลบซ่อนอยู่ในบ่อให้หมด

วิธีทำน้ำโล่ติ๊น ใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้ง ๑ ก.ก. ทุบหรือตำแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ ๓ ชั่วโมง แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำโลติ๊นที่มีสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมราดลงในบ่อ

๒. ระบายน้ำเข้าบ่อให้มีระดับน้ำลึกเพียงครึ่งเมตร และปล่อยน้ำให้ขังอยู่ในบ่อประมาณ ๗-๑๐ วัน พิษของโลติ๊นจะจางหายไป หลังจากนี้ควรใส่กากถั่วลิสงลงไปในบ่อ เพื่อเป็นปุ๋ยช่วยให้เกิดไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ซึ่งเป็นอาหารอย่างดีสำหรับลูกปลา

บ่อที่มีขนาดเดียวกันนี้ วันแรกควรใส่กากถั่วลิสง ๒ กิโลกรัม ต่อมาอีก ๓ วันก็ใส่ลงไปอีก ๒ กิโลกรัม ทิ้งไว้ประมาณ ๗ วัน น้ำก็จะมีสีเขียวเหมาะแก่การเลี้ยงลูกปลา

การใส่กากถั่วลิสงลงในบ่อควรนำมาแช่น้ำไว้ ๑ คืน เพื่อให้ยุ่ยก่อนแล้วจึงนำไปราดให้ทั่วบ่อ หรือเพื่อประหยัดโดยมิต้องสิ้นเปลืองเงินค่าซื้อกากถั่วลิสง ก็สามารถจะหามูลสัตว์มาใส่ในบ่อแทนกากถั่วก็ได้ เช่น มูลไก่ มูลเป็ด มูลวัว มูลหมู และมูลควาย เป็นต้น เพราะมูลสัตว์เหล่านั้นจะทำให้เกิดไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ซึ่งอาจเป็นอาหารลูกปลาได้เช่นเดียวกัน มูลสัตว์เหล่านี้ นอกจากจะไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถจะหาได้สะดวกด้วย

การใส่มูลสัตว์ในบ่อปลา จะเริ่มใส่ภายหลังจากใส่โล่ติ๊นแล้ว ๗ วัน โดยใช้มูลหมู มูลเป็ด มูลวัว และมูลควาย อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะผสมกันหลายอย่างก็ได้สุดแต่จะสะดวก แต่ต้องเป็นมูลแห้งประมาณ ๓๐-๔๐ กก. โรยให้ทั่วก้นบ่อ ซึ่งมีน้ำเพียงเล็กน้อย หรือลึกไม่เกินกว่า ๒๐ ซ.ม. ทิ้งไว้ประมาณ ๗-๑๐ วัน พวกตะไคร่น้ำหรือที่เรียกว่าขี้แดดก็จะเกิดขึ้นในบ่อ หากต้องการจะให้เกิดตะไคร่น้ำเร็วขึ้น ก็ควรผสมรำละเอียดกับมูลสัตว์ดังกล่าว ๕ กก. ด้วย หลังจากนั้นจึงเปิดน้ำเข้าบ่อตามความต้องการ (สำหรับปลาเล็ก น้ำไม่ควรลึกเกินกว่า ๑ เมตร)

ถ้าเป็นบ่อขุดใหม่การใส่โล่ติ๊นก็ไม่จำเป็น เพราะบ่อใหม่ย่อมไม่มีศัตรู แต่ควรใส่ปูนขาวเพื่อแก้ความเป็นกรดของดินให้จืดจางหรือหมดไป โดยใช้ปูนขาวโรยในอัตราส่วน ๑ กก. ต่อเนื้อที่บ่อ ๑๐ ตารางเมตร เมื่อความเป็นกรดของดินหมดประมาณ ๒-๓ วัน จึงเริ่มเพาะตะไคร่น้ำตามวิธีดังกล่าวข้างต้น สำหรับบ่อใหม่การเพาะตะไคร่น้ำควรจะหาเชื้อตะไคร่น้ำจากที่อื่นมาใส่บ้าง เพื่อให้ตะไคร่น้ำเกิดเร็วยิ่งขึ้น เชื้อตะไคร่น้ำจะได้จากน้ำที่มีสีเขียวหรือขี้แดดจากที่อื่นทั่วไป

๒. การปล่อยลูกปลาลงในบ่อ
เมื่อรับลูกปลามาแล้ว ควรถ่ายออกจากภาชนะที่ลำเลียงมาพักในถาดสังกะสี (ขนาด ๑x๒x๐.๓๐ ม.) ซึ่งเตรียมไว้ ไม่ควรปล่อยลงไปในบ่อเลยทีเดียว เพราะปลาบางตัวอาจจะอ่อนเพลียไม่แข็งแรงพอ ทำให้สังเกตอาการกิริยาไม่สะดวก และอีกประการหนึ่งจะเห็นและทราบจำนวนปลาตายเนื่องจากบอบช้ำในเวลาลำเลียงได้แน่ชัด เมื่อขังปลาไว้นานประมาณ ๒ ชั่วโมงแล้ว หากปลาว่ายกระจายกันอยู่ทั่วไปและดูแข็งแรงประเปรียวดีขึ้นจึงค่อยนำไปปล่อยลงบ่อได้

๓. การให้อาหาร
๑. ในวันแรกที่ปล่อยปลา ยังไม่ควรให้อาหารอะไรเลย ต่อมาวันที่ ๒-๓ และ ๔ ตอนเช้าให้ไข่ ๑๕ ฟอง ส่วนตอนบ่ายให้แป้งข้าวสาลีประมาณ ๑/๒ กิโลกรัม กระทำเช่นนี้เหมือนกันทั้ง ๓ วัน

วิธีการให้ไข่ ใช้ไข่เป็ด ๑๕ ฟอง เอามาต้มให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะไข่แดงใส่ในชามแล้วใช้มือบี้ให้ละเอียด เมื่อเห็นว่าละเอียดดีแล้วเติมน้ำพอสมควร คนจนกระทั่งเข้ากันดีและไม่เป็นก้อน ดีดลงบนผิวน้ำพยายามให้ออกไปกลางบ่อ ลูกปลาที่แข็งแรงอยู่ในน้ำเมื่อได้กลิ่นคาวจากไข่จะขึ้นมากินบนผิวน้ำและว่ายตามไข่ที่กำลังจมลงสู่ก้นบ่ออีก ให้ไข่นี้ไปจนหมดชาม

วิธีให้แป้งสาลี การให้จะใช้วิธีโปรย หรือสาดลงบนผิวน้ำกลางๆ บ่อ หรือจะเอาแป้งใส่ลงในตะแกรงหรือแร่งทองเหลืองแล้วเขย่าให้ร่วงลงบนผิวน้ำก็ได้ ลูกปลาก็จะขึ้นมากินแป้งเช่นเดียวกับไข่

ต่อมาวันที่ ๕-๖-๗ และ ๘ ตอนเช้าและบ่ายเวลาเดียวกันเลิกให้ไข่ แต่ให้แป้งสาลีแทน ๑ กิโลกรัมต่อวัน ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ทั้ง ๔ วัน ครั้นถึงวันที่ ๗ หรือในระยะเวลา ๒ สัปดาห์ จะสังเกตเห็นว่าผลของการให้อาหารที่ถูกต้องดังกล่าวนี้ ปลาจะโตขึ้นโดยมีความยาว ๑ ๑/๒ นิ้ว ถึง ๒ ๑/๒ นิ้ว

ต่อจากนี้ไปเมื่อเห็นปลาแข็งแรงดีแล้ว ถ้าในบ่อนั้นมีปลาเฉาจำนวนมาก และมีปลาลิ่นกับปลาซ่งจำนวนน้อย เริ่มหัดให้ปลาเฉากินแหนได้แล้ว ส่วนแป้งสาลีก็เลิกให้ การให้แหนควรให้ครั้งเดียวในตอนเช้า ให้ครั้งละครึ่งปีบ วันต่อๆ ไปก็ให้เพิ่มขึ้นหรือลดปริมาณบ้างตามสมควร ข้อสำคัญอย่าให้มากเกินไป เพราะลูกปลาเฉาเป็นปลาที่กินไม่รู้จักอิ่ม เมื่อกินเข้าไปมากอาจจะทำให้แน่นท้องถึงตายได้ เมื่อปลาอายุได้ ๒-๓ เดือน ก็หัดให้กินสาหร่าย หรือผักกาดและหญ้าหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

ถ้าในบ่อมีเฉพาะปลาลิ่นและปลาซ่ง หรือปลาเฉาปนอยู่บ้างแต่เป็นจำนวนน้อยแทนที่จะให้แหนควรหัดให้กินกากถั่วลิสงแทน โดยให้กินวันละประมาณ ๒ กิโลกรัม ให้เวลาเช้าเพียงครั้งเดียว

วิธีการให้กากถั่วลิสง นำมาแช่น้ำก่อน ๑ คืน เมื่อเห็นว่าเปื่อยยุ่ยดีแล้วจึงเอาไปวางบนแป้นหรือใส่ตะแกรง จะใช้เข่งปลาทูเป็นแป้นชั่วคราวก็ได้ ให้อยู่ใต้น้ำลึกประมาณ ๑ ฟุต การให้กากถั่วลิสงวิธีนี้ ใช้เฉพาะเมื่อเริ่มหัดให้กินใหม่ๆ ประมาณ ๒ สัปดาห์ ต่อจากนั้นไม่จำเป็นต้องใส่กากถั่วบนแป้งหรือตะแกรง เมื่อแช่กากถั่วแล้วตอนเช้านำไปสาดให้กินทั่วๆ บ่อได้เลย การให้อาหารจำพวกกากถั่วลิสงนี้ สุดแต่อาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อจะมากหรือน้อย เมื่อเห็นว่าจุลินทรีย์เกิดขึ้นในบ่อมาก ก็ควรลดจำนวนกากถั่วลงบ้าง ถ้ามีน้อยก็เพิ่มกากถั่วขึ้น การที่จะรู้ได้ว่าในบ่อนั้นมีอาหารธรรมชาติมากหรือน้อยโดยสังเกตจากสีของน้ำ ถ้าน้ำสีเขียวแสดงว่าน้ำดีมีอาหารธรรมชาติมาก ถ้าน้ำสีขาวและมีฝ้าบนผิวน้ำแสดงว่าน้ำไม่ดีจะต้องระบายออกเปลี่ยนน้ำใหม่

๔. การป้องกันศัตรู
นอกจากการใส่โล่ติ๊นเพื่อกำจัดศัตรูดังได้กล่าวมาในขั้นการเตรียมบ่อก่อนปล่อยปลาแล้ว ยังมีศัตรูภายนอกคอยทำอันตรายลูกปลาที่พบอยู่เสมอ เช่น นก งู และกบ เป็นต้น ศัตรูจำพวกนี้จะเกิดมีขึ้นเมื่อได้ปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว ฉะนั้น เพื่อที่จะให้การเลี้ยงปลาได้ผลดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันศัตรูเหล่านี้ไม่ให้ทำอันตรายปลาที่เลี้ยงสำหรับศัตรูจำพวกกบ และงู ควรจะมีลวดตาข่ายถี่หรือสิ่งที่ใช้แทนกันได้ล้อมรอบขอบบ่อให้เรียบร้อย จะช่วยให้ปลารอดตายมากขึ้น

ส่วนการป้องกันนกกินปลานั้น จะป้องกันโดยวิธีง่ายๆ และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากก็คือ การขึงลวดหรือเชือกตามยาวหรือตามขวางบ่อหลายๆ เส้น เพราะเส้นลวดหรือเส้นเชือกที่ขึงอยู่เหนือบ่อเป็นเหตุให้นกกินปลาไม่กล้าบินโฉบจิกกินลูกปลาในบ่อ

๕. การจำหน่ายและการแบ่งเลี้ยง
ภายหลังจากที่ได้เลี้ยงมาเป็นระยะเวลาสองเดือนแล้ว ปลาขนาด ๑/๒ – ๒ ๑/๒ นิ้ว จะเจริญเติบโตขนาดความยาวประมาณ ๓-๔ นิ้ว ซึ่งปลาขนาดนี้มีผู้ต้องการซื้อไปเลี้ยงกันมาก เพราะเป็นขนาดที่ค่อนข้างจะปลอดภัยและราคาพอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงในบ่อที่มีศัตรูน้อยหรือกำจัดศัตรูแล้ว แต่ถ้าเป็นบ่อใหญ่ที่ไม่สามารถจะใส่โล่ติ๊นได้ เพราะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก เช่น บ่อมีเนื้อที่กว่า ๕ ไร่ขึ้นไป จึงจำเป็นต้องปล่อยปลาขนาดยาวตั้งแต่ ๕ นิ้วขึ้นไป ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อเวลาจับส่งตลาดยังปรากฏว่าได้หายไปประมาณร้อยละ ๑๐ ปลาดังกล่าวนี้มีผู้ต้องการน้อย เพราะราคาแพง และผู้ที่มีบ่อตั้งแต่ ๕ ไร่ขึ้นไปก็มีน้อยราย ในจังหวัดพระนครธนบุรี ส่วนมากมีบ่อขนาดเนื้อที่ผิวน้ำตั้งแต่ ๑ ไร ลงมา

การแบ่งปลาจำหน่ายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีทุนน้อย หรือไม่มีบ่อปลาเลี้ยงปลาใหญ่ หรือมีบ่อน้อยบ่อ การแบ่งปลาจำหน่ายในระยะนี้จะให้ประโยชน์แก่ผู้เลี้ยง ๔ ประการ คือ
๑. เพื่อถอนทุน
๒. เพื่อเปิดโอกาสให้ปลาที่เล็กอยู่ หรือแคระแกรนได้เจริญเติบโตขึ้น
๓. เพื่อประหยัดเวลาที่จะหาผลกำไรจากการเลี้ยงปลาให้มากขึ้น เช่นในเวลาหนึ่งปีอาจจะเลี้ยงปลาขนาดดังกล่าวนี้จำหน่ายได้ประมาณ ๔ งวด เป็นอย่างน้อย
๔. แม้ว่าจะมีบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ของตัวเอง ก็ยังช่วยให้ซื้อพันธุ์ปลาในราคาถูกกว่าปกติ

จากการสังเกตของเจ้าหน้าที่ปรากฏว่า ผู้สั่งพันธุ์ปลาจากกรมประมงร้อยละ ๙๐ สั่งพันธุ์ปลามาเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นปลาขนาด ๑-๖ นิ้ว แต่อย่างเดียว ส่วนอีกร้อยละ ๑๐ สั่งมาเลี้ยงเป็นปลาใหญ่โดยจำหน่ายเป็นปลาพันธุ์ หรือจำหน่ายไปบ้างแต่เพียงบางส่วน เหลือไว้พอเลี้ยงในบ่อของตนเอง

๖. การจับและลำเลียงปลาเล็ก
เนื่องจากพันธุ์ปลาจีนเป็นปลาที่มีราคาและเป็นปลาที่ตายง่าย การจับและการลำเลียงจึงเป็นสิ่งสำคัญข้อหนึ่งสำหรับผู้เลี้ยงปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาที่จับเพื่อจำหน่ายให้ผู้อื่นนำไปเลี้ยงอีกต่อหนึ่งนั้น จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังให้มากเพื่อมิให้ปลาบอบช้ำ เหตุที่จะทำให้ปลาบอบช้ำนั้นมีหลายประการด้วยกัน คือ

๑. เครื่องมือจับปลา การจับปลาจำเป็นต้องใช้เครื่องมือจับ จึงต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะเพื่อมิให้ปลาบอบช้ำ เครื่องมือที่จะใช้จับปลานั้นเป็นเครื่องมือจำพวกอวน และควรเลือกช่องตาอวนขนาดที่ปลาไม่ติดช่องตาอวน คือต้องมีช่องตาอวนเล็กกว่าตัวปลา นอกจากนี้อาจใช้ยอและอวนป่านเปลได้เหมือนกัน ส่วนแหนั้นนับว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมในการจับปลาเลย

๒. วิธีตีอวน  แม้ว่าจะได้เครื่องมือที่ดีแล้ว แต่วิธีการตีอวนถ้าคนตีอวน ตีอวนไม่เป็นแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาได้รับความบอบช้ำได้

๓. การตักและการนับปลา เมื่อได้ตีอวนรวมปลาอยู่ในถุงอวนแล้ว ต่อจากนั้นถึงขั้นการจับปลาและนับปลา ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังไม่น้อย เครื่องมือที่ใช้ในการตักปลาและนับปลาควรเป็นกระสอบผ้าหรือจานสังกะสีเคลือบ ไม่ควรใช้มือหรือกระชอนไม้ไผ่เป็นอันขาด

๔. การลำเลียง การจำหน่ายปลาพันธุ์ ซึ่งได้ปฏิบัติอยู่ในเวลานี้ ผู้จำหน่ายเป็นผู้ลำเลียงไปส่งให้ผู้ซื้อเป็นส่วนมาก ฉะนั้นการลำเลียงยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จำหน่าย ผู้เลี้ยงปลาจำหน่ายเป็นปลาพันธุ์จึงต้องมีความชำนาญในการลำเลียงปลาด้วย เช่นก่อนลำเลียงจะต้องตีอวนจับปลาขังไว้ในถุงป่านเปล หรือถังไม้ขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า ๓ ชั่วโมง และงดการให้อาหารไม่น้อยกว่า ๒ วัน ทั้งนี้เพื่อมิให้ปลาอิ่ม ซึ่งอาจจะตกใจตายเวลาจับและลำเลียง การขังพักไว้ก็เพื่อให้ปลาสำรอกอาหารและคุ้นเคยกับที่แคบ

การลำเลียงก็จะต้องจัดหาภาชนะที่เหมาะสมกับขนาดปลาที่จะลำเลียงด้วย หากเป็นปลาเล็กขนาดต่ำกว่า ๒ ๑/๒ นิ้ว ลงมาและต้องลำเลียงในระยะไกลๆ ก็ควรจะบรรจุถุงพลาสติกอัดแก๊สออกซิเจน แล้วบรรจุในกล่องกระดาษอีกทีหนึ่ง ถ้าเป็นปลาขนาด ๓ นิ้วขึ้นไป การลำเลียงไม่ว่าในระยะใกล้หรือไกล ควรลำเลียงด้วยถาดหรือถังลำเลียงซึ่งมีขนาดต่างๆ สุดแล้วแต่ปริมาณปลาที่จะลำเลียงแต่ละครั้ง และควรมีอวนหรือป่านเปลคลุมปากถังหรือถาด กันน้ำกระฉอกหรือปลากระโดดออกนอกถาดด้วย

ข. การเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นปลาเนื้อ
๑. การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาใหญ่
ถ้าเป็นบ่อขุดใหม่ก็ควรจะโรยปูนขาวตามอัตราส่วนที่ได้กล่าวมาแล้วในการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาขนาดเล็ก เพื่อแก้ความเป็นกรดของดิน หลังจากนั้นจึงทำการเพาะตะไคร่น้ำและปล่อยปลาลงเลี้ยงได้

สำหรับบ่อเก่า หากไม่ต้องลอกเลนปรับปรุงบ่อใหม่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปูนขาว ภายหลังเมื่อได้กำจัดวัชพืชต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกหมดสิ้นแล้ว ถ้ามีระดับน้ำลึกไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ก็สามารถจะใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาได้เลยทีเดียว แต่ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยง เพื่อความปลอดภัยและแน่ใจยิ่งขึ้น ควรใช้โล่ติ๊นกำจัดศัตรูต่างๆ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด โดยใช้โลติ๊น ๒ กก. ต่อเนื้อที่น้ำ ๑ ตารางเมตร เมื่อใส่โล่ติ๊นประมาณ ๒๐-๓๐ นาที ปลาที่เป็นศัตรูในบ่อก็เริ่มตายจนกระทั่งหมด หลังจากนั้นทิ้งไว้ประมาณ ๗-๑๐ วัน จึงปล่อยปลาลงเลี้ยงได้

ถ้าจำเป็นต้องลอกเลนเนื่องจากบ่อตื้นเขิน ซึ่งยังไม่เหมาะแก่การเลี้ยงปลาก็จำเป็นต้องสูบน้ำออก ลอกเลนและตกแต่งบ่อให้เรียบร้อย แล้วตากบ่อไว้ให้แห้งประมาณ ๔-๗ วัน เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าและกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ด้วย บ่อซึ่งได้วิดน้ำลอกเลนแล้ว ควรใส่ปุ๋ยเพาะตะไคร่น้ำเสียก่อน แล้วระบายน้ำเข้าปล่อยปลาลงเลี้ยงต่อไป

๒. การใส่ปุ๋ยและการให้อาหาร
การใส่ปุ๋ยในบ่อปลาแบ่งออกได้เป็นสองตอน คือ

๑. การใส่ปุ๋ยในบ่อก่อนปล่อยปลา เพื่อเพาะตะไคร่น้ำและไรน้ำ ดังได้กล่าวมาแล้วในการเตรียมบ่อสำหรับปลาเล็ก

๒. การใส่ปุ๋ยในบ่อภายหลังจากการปล่อยปลาลงเลี้ยง นอกจากจะเป็นอาหารโดยตรงแล้ว เศษที่เหลือในบ่อยังช่วยให้เกิดมีอาหารธรรมชาติ ซึ่งเป็นการทุ่นเวลาไม่ต้องหาอาหารมาให้ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ่อที่มีปลาเฉาจำนวนน้อย ปลาลิ่นและปลาซ่งจำนวนมาก หรือมีแต่ปลาลิ่นและปลาซ่งล้วนๆ แล้ว ยิ่งจำเป็นจะต้องมีการใส่ปุ๋ยบ่อยครั้ง เพราะเป็นที่ทราบกันแล้วว่าปลาลิ่น และปลาซ่งกินแพลงค์ตอน Plankton เป็นอาหาร ส่วนปลาเฉานั้นกินพืชเป็นอาหาร ฉะนั้นถ้าปล่อยปลาเฉาล้วนๆ การใส่ปุ๋ยก็ไม่จำเป็นเนื่องจากอาหารของปลาเฉาหาได้ง่าย

ถ้ามีแต่ปลาเฉาชนิดเดียวหรือมีปลาเฉาจำนวนมาก ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย แต่ควรหากสาหร่ายหรือหญ้า (จำพวกหญ้าขน หญ้านวลน้อย หญ้าอื่นๆ ที่มีใบนิ่ม) มาให้เป็นอาหารประจำทุกวัน ส่วนจำพวกอาหารที่ให้ต่อวันมากน้อยเพียงใดต้องสุดแต่ความต้องการของปลาด้วย โดยการสังเกตอาหารที่ให้พอหรือไม่พอควรจะเพิ่มหรือลดลง เพื่อความสะดวกในการสังเกต การให้อาหารควรมีคอกไม้ไผ่ลอยไว้ด้านใดด้านหนึ่งของบ่อ กากที่เหลือ เช่น ก้านหญ้า หรือเศษเหลือที่ปลาไม่กินแล้ว ให้เก็บทิ้งเสีย การทิ้งไว้จะทำให้น้ำเสียได้

ฤดูกาลเจริญเติบโตของปลาจากการสังเกตจะเห็นว่าในฤดูร้อนปลากินอาหารดีและเจริญเติบโตเร็วกว่าฤดูฝนและฤดูหนาว ในฤดูฝนน้ำในบ่อมักจะเสียได้ง่าย เนื่องจากน้ำฝนชะเอาสิ่งสกปรกไหลลงในบ่อทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และในเวลาเช้าปลามักจะลอยบนผิวน้ำเป็นประจำ ทั้งนี้เนื่องจากอากาศครึ้ม ความกดดันต่ำและอ๊อกซิเจนในน้ำมีน้อยไม่พอกับความต้องการของปลา ส่วนในฤดูร้อนและฤดูหนาวอากาศแจ่มใส และมีแสงแดดพันธุ์ไม้น้ำและสิ่งที่มีสีเขียวสามารถปรุงอาหารได้ และในเวลาเดียวกันก็จะคลายออกซิเจนออกมา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อปลาและสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในน้ำ

๓. ชนิดอัตราส่วนและจำนวนที่ปล่อยปลาลงเลี้ยง
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ปลาเฉาปลาลิ่นและปลาซ่งไม่กินกันเองและกินอาหารไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการปล่อยปลาเลี้ยงรวมกันจึงกระทำได้ แต่การปล่อยควรจะคำนึงถึงอาหารของปลาแต่ละชนิดที่มีอยู่ในบ่อนั้น โดยเฉพาะแพลงค์ตอน ซึ่งเป็นอาหารของปลาลิ่นและปลาซ่ง ถ้าเป็นบ่อขุดใหม่อาหารจำพวกแพลงค์ตอนมีน้อย การปล่อยปลาลิ่นและปลาซ่งควรปล่อยจำนวนน้อย ส่วนปลาเฉาควรปล่อยมากขึ้นเพื่อให้มูลของปลาเฉาทำให้เกิดอาหารของปลาลิ่นและปลาซ่งต่อไป หากเป็นบ่อเก่ามีอาหารจำพวกแพลงค์ตอนมาก การปล่อยปลาลิ่นและปลาซ่งก็เพิ่มขึ้นตามส่วน

อัตราส่วนการปล่อยปลาเลี้ยงรวมกันในมาเลเซียและสิงคโปร์นิยมปล่อยเลี้ยงดังนี้
ปลาเฉา ๕๐ เปอร์เซ็นต์
ปลาลิ่น ๒๐ เปอร์เซ็นต์
ปลาซ่ง ๓๐  เปอร์เซ็นต์

สำหรับในเมืองไทย การปล่อยปลาเลี้ยงรวมกันควรพิจารณาถึงเรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญ และอาจแยกออกตามสภาพของบ่อ ดังนี้คือ

๑. สภาพบ่อขุดใหม่ มีน้ำใสและมีอาหารธรรมชาติน้อย การปล่อยปลาลงเลี้ยง ควรใช้อัตราส่วนดังนี้
ปลาเฉา ๗๐ เปอร์เซ็นต์
ปลาลิ่น ๑๕ เปอร์เซ็นต์
ปลาซ่ง ๑๕ เปอร์เซ็นต์

๒. สภาพบ่อเก่า น้ำมีสีเขียว มีอาหารธรรมชาติมาก การปล่อยปลาลงเลี้ยงควรใช้อัตราส่วนดังนี้
ปลาเฉา ๖๐ เปอร์เซ็นต์
ปลาลิ่น ๒๐ เปอร์เซ็นต์
ปลาซ่ง ๒๐ เปอร์เซ็นต์

นอกจากอัตราส่วนการปล่อยปลามีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของปลาแล้ว จำนวนปลาที่ปล่อยต้องให้ได้สัดส่วนกับเนื้อที่ผิวน้ำอีกด้วย ทั้งนี้หมายความว่าจำนวนปลาที่ปล่อยใบบ่อจะต้องไม่แน่นจนเกินไป เพราะการปล่อยปลาแน่นทำให้เนื้อที่ว่างสำหรับปลาว่ายไปมามีน้อย และจำนวนออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำไม่พอกับความต้องการของปลา ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งทำให้ปลาไม่ค่อยจะกินอาหาร ดังจะสังเกตเห็นปลาลอยหัวบนผิวน้ำเสมอๆ การเจริญเติบโตช้าและตายได้ง่าย

๔. การจับและลำเลียงปลาใหญ่
โดยทั่วๆ ไป การจับและลำเลียงปลาชนิดอื่นๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย เพราะปลาดังกล่าวจำหน่ายเป็นปลาตาย เพียงแต่รักษาเนื้อปลาให้สดก็พอแล้ว ส่วนปลาจีนนั้นหากจำหน่ายเป็นปลาตาย นอกจากประชาชนไม่นิยมแล้ว ราคาก็ถูกมาก คือราคาลดลงถึงร้อยละ ๔๐ จากราคาเดิม ฉะนั้นสถานที่จำหน่ายปลาจีนจึงต้องสร้างที่พักปลา เพื่อมิให้ปลาตายก่อนจำหน่าย การจับปลา การลำเลียงจะต้องพยายามไม่ให้ปลาบอบช้ำและตายได้

ปลาจีนนอกจากจะต้องจำหน่ายเป็นปลาเป็น (ปลามีชีวิต) แล้ว ผู้จำหน่ายจะต้องคำนึงถึงขนาดของปลาอีกด้วย เพราะปลาชนิดนี้ผู้บริโภคนิยมบริโภคปลาตั้งแต่ขนาดน้ำหนัก ๑ ก.ก.ขึ้นไป ถ้าต่ำกว่า ๑ ก.ก. ลงมาจะจำหน่ายได้ยาก และทั้งผู้เลี้ยงก็ไม่ควรจะจำหน่ายด้วย เพราะการจำหน่ายปลาขนาดดังกล่าว ทำให้ผู้เลี้ยงได้ผลกำไรน้อยหรือเกือบจะไม่ได้กำไรเลย โดยเฉพาะผู้เลี้ยงซื้อปลาขนาด ๖ นิ้วมาเลี้ยงและต้องเสียงแรงงานตลอดจนซื้ออาหารขนาดปลาที่จับส่งออกจำหน่ายตลาด ควรเป็นปลาขนาดน้ำหนักประมาณ ๑.๔ กก. ถึง ๓ กก. เป็นขนาดที่จำหน่ายได้และผู้เลี้ยงก็ได้รับผลกำไรมาก

๕. ข้อควรพึงระวังเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาจีน

๑. ศัตรู ผู้เลี้ยงปลาจะประสบความสำเร็จและได้ผลกำไรมากหรือน้อย เรื่องศัตรูเป็นสิ่งสำคัญข้อแรกที่ควรระวังให้มาก เช่น ปลาช่อน ปลาไหล งู และกบ ควรป้องกัน

๒. น้ำเสีย เมื่อสังเกตเห็นปลาลอยบนผิวน้ำติดๆ กันถึง ๓ วัน ในเวลาเช้า แสดงว่าน้ำเสีย มีออกซิเจนไม่เพียงพอกับความต้องการของปลา ควรจัดการถ่ายเปลี่ยนน้ำใหม่ ปลาขนาดส่งออกตลาดได้แล้วควรจัดการส่งตลาด แล้วเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลางวดต่อๆ ไป

๓. อาหาร การให้อาหารควรให้ประจำทุกวันและควรเป็นเวลา เศษเหลือที่ปลาไม่กินแล้ว ควรเอาออกทิ้งเสีย หากปล่อยทิ้งไว้น้ำอาจเสียได้

๔. ขโมย  เนื่องจากเป็นปลาราคาดีและจำหน่ายได้ง่าย ผู้เลี้ยงมักจะถูกแกล้งและถูกขโมย การขโมยมี ๒ วิธี คือการใช้เครื่องมือจับและการวางยาเบื่อ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงขาดทุนได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี