การเลี้ยงปลากะพงขาว

Socail Like & Share

ชีวประวัติปลากะพงขาว
ปลากะพงขาวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Lates calcarifer (Bloch) จัด ว่าเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปลากะพงทุกชนิด จนได้ชื่อสามัญเรียก “Giant Perch” ในประเทศไทยมีชื่อเรียก “ปลากะพง” “ปลากะพงขาว” และ “ปลากะพงน้ำจืด” ตามสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยปลากะพงขาว

ลักษณะภายนอกเป็นปลาที่มีลำตัวป้องแต่แบนด้านข้างเล็กน้อย จึงมีส่วนลึกตัวพอประมาณ แนวขอบหลังโค้งและมีส่วนลาดที่บริเวณหัวตั้งแต่ไหล่ถึงปลายปาก ขอบปากบนเป็นแผ่นใหญ่แยกแนวเป็นตอนต้นและตอนท้ายชัดเจน ร่องปากเฉียงลงเล็กน้อย และมุมปากยาวเลยแนวขอบหลังของลูกตา ปลายปากล่างยื่นเลยปากบนเล็กน้อย มีฟันเล็กละเอียดบนขากรรไกรบน และล่าง และที่เพดานปาก แผ่นแก้มขนาดใหญ่มีขอบหลังเป็นหนามแหลมคม ตามีขนาดใหญ่อยู่ชิดกันบนหัว มีครีบหลัง ๒ อันเชื่อมต่อกันที่ฐานครีบ ครีบหลังอันที่หนึ่งมีก้านแหลมแข็ง ๗-๘ ก้าน ครีบหลังอันที่สองมีแต่ก้านอ่อน ครีบหูแลครีบอกยาว ไม่ถึงรูก้น ครีบก้นมีก้านแหลมแข็ง ๓ อัน ข้อหางสั้น ครีบหางกลม เกล็ดบนลำตัวขนาดปานกลางและสากมือ เส้นข้างต้นโค้งไปตามแนวสันหลัง มีจำนวนเกล็ดบนเส้นทั้งตัว จำนวน ๕๒-๖๑ เกล็ด ปลากะพงขาวไม่มีอวัยวะเพศภายนอก

นิสัยและการกินอาหารตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติเป็นปลาที่ปราดเปรียวว่องไว ว่ายน้ำเร็วในระยะสั้นๆ สามารถกระโดดพ้นน้ำได้สูงขณะตกใจหรือไล่เหยื่อ แต่ตามปรกติมักจะอืดอาดเชื่องชา และชอบสังเกตอันเป็นลักษณะของปลา มีนิสัยดุ ชอบนอนพักตามซุ้มและเคล้าคลอหลักหรือกองหินใต้น้ำ ชาวประมงที่รู้นิสัยปลาชนิดนี้ดีจะทำการใช้เครื่องมืออวนล้อม แห และตกเบ็ดในบริเวณดังกล่าว ปลากะพงขาวจะเริ่มออกหากินขณะที่กระแสน้ำอ่อน ปลาขนาดใหญ่มักไม่รวมฝูง นอกจากในฤดูผสมพันธุ์วางไข่จึงจะรวมเป็นกลุ่มเล็กๆ

การเลี้ยงปลากะพงขาวในประเทศไทย
ตามสถิติปริมาณปลากะพงขาวที่นำขึ้นจำหน่ายยังตลาดกลางกรุงเทพฯ เฉลี่ยประมาณปีละ ๒๐๐ ตัน ส่วนใหญ่เป็นปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามแม่น้ำลำคลองในจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย รวมทั้งบางส่วนจากผลผลิตพลอยได้จากการทำนากุ้ง หรือการทำนาปลา การเลี้ยงปลากะพงขาวมีความคล้ายคลึงกับอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยชนิดอื่นๆ เช่น การทำนากุ้ง การเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล และการเลี้ยงปลากระบอก ฯลฯ ซึ่งได้เริ่มทำเป็นอาชีพตามแหล่งน้ำกร่อยมานานไม่น้อยกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มกิจการอย่างจริงจัง เพียงแต่ถือเป็นผลพลอยได้ส่วนหนึ่ง เพราะลูกปลากะพงขาวมักเล็ดลอดเข้าไปอาศัยหากินเติบโตได้ดี ทำให้ชาวประมงสามารถจับขายทำรายได้ให้อีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อความต้องการมีมากขึ้นจึงได้คิดการเลี้ยงปลาชนิดนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันขึ้น แต่หลักการและวิธีการเลี้ยงยังเป็นไปในแบบดั้งเดิม รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนลูกปลาที่ใช้เลี้ยง จะต้องหาเอาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงพอตามความต้องการ ทำให้การเลี้ยงปลาชนิดนี้ไม่ขยายออกเท่าที่ควร ต่อมาได้มีการนำปลากะพงขาวมาเลี้ยงในแหล่งน้ำจืดได้ดี สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว เช่น ปลาหมอเทศ ฉะนั้นการเลี้ยงปลากะพงระยะหลังๆ นี้ มักเป็นในรูปเลี้ยงรวมกับปลาอื่น เพื่อให้เป็นอาหารตามธรรมชาติของปลากะพงขาว นอกจากนี้ได้ทดลองเลี้ยงด้วยอาหารสมทบอื่นๆ รวมทั้งการเลี้ยงด้วยเศษปลา หรือปลาเป็ดซึ่งไม่มีราคาค่างวดสูงนัก แต่ให้ผลการเลี้ยงอยู่ในขั้นน่าพอใจ จึงทำให้เป็นชนิดปลาที่ผู้ประกอบการเลี้ยงนิยมเลี้ยงชนิดหนึ่ง

การเลือกทำเลเลี้ยงปลากะพงขาว
ในการเลือกทำเลสำหรับเลี้ยงปลากะพงขาว ถือหลักเช่นเดียวกับการเลือกที่ทำนากุ้ง เพราะอยู่ในประเภทการเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยเช่นเดียวกัน คือมุ่งใช้พื้นที่ชายเลน หรือทะเลชายฝั่งบริเวณน้ำตื้น เพื่อดัดแปลงเป็นบ่อเลี้ยงประเภทน้ำกร่อยที่ล้อมขังหรือคอกเลี้ยงปลา อย่างไรก็ดีสามารถเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อน้ำจืดก็ได้

การรวบรวมและการลำเลียงพันธุ์ปลากะพงขาว
สำหรับผู้เลี้ยงปลากะพงขาวที่จะต้องออกรวบรวมลูกปลาเอาเองจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเลี้ยงในบ่อของตน และเป็นหลักประกันว่า จะมีลูกปลาพอเพียงกับความต้องการ ตลอดจนผู้มีอาชีพรวมลูกปลาเพื่อจำหน่าย จำเป็นต้องรู้รูปลักษณะและแหล่งลูกปลา วิธีรวบรวมพันธุ์ปลาเป็นอย่างดี

ลักษณะของลูกปลากะพงขาว เมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กมีความยาว ๕-๑๐ มิลลิเมตร จะมีลำตัวสีน้ำตาลไหม้ มีลายจางๆ สีเหลืองเป็นจุดๆ ทั่วไป แต่สำหรับลูกปลาขนาดใหญ่กว่านี้บริเวณที่สังเกตเห็นเด่นชัด คือบนหัวตั้งแต่จะงอยปากจรดครีบหลังจะมีแถบสีน้ำตาลพาดอยู่หนึ่งแถบ และที่ด้านข้างลำตัวมีสีน้ำตาลเหลืองเป็นพื้นประกอบด้วยแถบสีน้ำตาลไหม้ จำนวน ๔-๕ แถบ แถบและลายบนลำตัวจะปรากฏชัดในลูกปลาขนาด ๒-๑๐ เซนติเมตร และจะค่อยๆจางหายไปเมื่อลูกปลามีขนาดใหญ่ขึ้น

ทำเลของพันธุ์ปลากะพงขาว ปรากฏทั่วไปตามแหล่งน้ำกร่อยหรือค่อนข้างจืด มีความเค็มตั้งแต่ ๑.๐-๒๐.๐ ส่วนในพัน บริเวณดังกล่าวได้แก่ที่ราบลุ่มฝั่งทะเล แหล่งน้ำลำธาร คูคลองที่ต่อถึงทะเล รวมทั้งนากุ้งและนาข้าว ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลแต่น้ำท่วมถึงในฤดูฝนทั่วทุกจังหวัดชายทะเล

๑. ฝั่งอ่าวไทย ปริมาณความชุกชุมมากในท้องที่ฝั่งตะวันออกในจังหวัดจันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ ท้องที่อ่าวไทยฝั่งตะวันตกในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และมีอยู่ทั่วไปทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

๒. ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ปริมาณความชุกชุมในท้องที่จังหวัดระนอง กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล

ระยะเวลาการรวบรวมพันธุ์ปลากะพงขาว ตรงกับช่วงฤดูฝน ถ้าการเก็บรวบรวมลูกปลาในตอนต้นฤดูมักจะได้ลูกปลาขนาดใหญ่มีความยาว ๑๐-๒๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นลูกปลาค้างจากฤดูที่แล้วมา ถ้าการรวบรวมลูกปลาหลังจากฝนตกไปแล้ว จะได้ลูกปลาคละขนาด แต่ลูกปลาขนาดเล็กมีความยาว ๒-๕ เซนติเมตร มีปริมาณมากกว่า

วิธีการเก็บรวบรวมลูกปลากะพงขาว ใช้อวนขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ตีในแหล่งน้ำ หรือตามคู คลอง ที่มีขนาดกว้างใหญ่ แต่ถ้าเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็กๆ ใช้อวนขนาดเล็กก็พอ การตีอวนแต่ละครั้งใช้คน ๔ คนจึงจะสะดวก โดยจับเชือกคร่าวบน ๒ คน ข้างละหูและจับคร่าวล่างข้างละคน คนจับคร่าวล่างต้องกดชายล่างของอวนให้ครูดไปกับพื้นดินมากที่สุด ส่วนผู้ถือเชือกคร่าวบนต้องคอยระวังยกเนื้ออวนให้สูงไว้ และให้ส่วนหลังเนื้ออวนเป็นถุงเพื่อให้ลูกปลาตกเข้ามาอยู่เพื่อสะดวกในการใช้สวิงช้อน เมื่อลากอวนจนทั่วแอ่งน้ำแล้วจึงยกอวนโดยค่อยๆ รวบตีอวนขึ้นมาก่อนแล้วจึงรวบลูกปลาที่ได้เข้ามา โดยยังคงให้ลูกปลาแช่อยู่ในน้ำ เพื่อลูกปลาจะได้ไม่ตาย แล้วใช้สวิงขนาดเล็กที่เตรียมไว้ค่อยๆ ช้อนเก็บลูกปลาใส่ถังพลาสติกเล็กๆ ลำเลียงไปใส่ถังพักลูกปลาต่อไป

ที่ถังพักลูกปลาต้องพยายามคัดแยกลูกปลากะพงตามขนาดแยกไว้ต่างๆ กัน ถ้าสามารถแยกลูกปลาให้ได้ขนาดเสมอกันแล้ว โอกาสที่ปลาจะรอดตายย่อมมีมาก เพราะปลาต่างขนาดจะกินกันเองแม้อยู่ในถังพัก ตลอดระยะการเก็บรวบรวมลูกปลาต้องถ่ายเทน้ำตลอดเวลา โดยจะต้องตักน้ำเก่าในถังออกทิ้ง และเติมน้ำใหม่เข้าไปเพื่อปลาจะได้แข็งแรงดี การใช้เครื่องเป่าอากาศช่วยขณะพักปลาจะช่วยให้ลูกปลาเหลือรอดมากยิ่งขึ้น การรวบรวมลูกปลาแต่ละครั้งอาจใช้เวลา ๒-๔ ชั่วโมงจะแล้วเสร็จ ในฤดูร้อนลูกปลาจะแสดงอาการลอยหัว จึงคอยใช้น้ำแข็งก้อนใส่ลงช่วยลดความร้อนจะทำให้ลูกปลาที่จับได้เหลือรอดได้มากขึ้น

ในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานใช้เวลาหลายๆ วัน โดยไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว จะต้องทำการรวบรวมลูกปลากะพงที่จับได้ในแต่ละวันพักไว้ก่อน กรณีนี้จะต้องใช้อวนเปลกางขึงไว้ในแหล่งน้ำ ลำคลองที่น้ำไหลถ่ายเทได้เมื่อมีที่พักใกล้ริมน้ำ ส่วนที่พักที่อยู่ไกลน้ำจะต้องใช้ถังขนาดใหญ่จุน้ำขนาด ๕๐๐-๑,๐๐๐ ลิตร จำนวน ๒-๓ ใบ ไว้ใส่ลูกปลาที่รวบรวมได้ในแต่ละวัน การใช้ถังใหญ่นี้จะต้องมีเครื่องเป่าอากาศใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ ขนาดเครื่องเป่าอากาศต้องมีขนาดโตพอสมควร และทำการให้อากาศอยู่ตลอดเวลา ลูกปลาที่รวบรวมไว้ในแต่ละวันเมื่อได้มากพอจึงทำการลำเลียงเดินทางกลับสู่บ่อปลาได้

วิธีลำเลียงลูกปลา นับเป็นปัญหาสำคัญสำหรับนักเลี้ยงปลาอย่างยิ่ง วิธีปฏิบัติที่ได้ผลที่สุดคือการลำเลียงในถุงพลาสติกบรรจุด้วยอ๊อกซิเจนจะสามารถขนส่งลูกปลาจากแหล่งไปยังบ่อเลี้ยงได้สะดวก และมีการเหลือรอดได้มาก สามารถลำเลียงลูกปลาไปยังที่ไกลๆ นานนับสิบชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดปลาและจำนวนความหนาแน่นการบรรจุ รวมทั้งความอดทนด้วย ในการลำเลียงพันธุ์ปลากะพงขาว ควรใช้ถุงพลาสติกขนาดความจุ ๑๕-๒๐ ลิตร เติมน้ำ ๓-๔ ลิตร อัดอ๊อกซิเจนให้เต็มผูกให้แน่นหนา เพื่อป้องกันการฉีกขาดและเพื่อสะดวกในการขนส่ง ควรบรรจุถุงในภาชนะหรือกล่องกระดาษ จำนวนความหนาแน่นลูกปลากะพงขาว ในการลำเลียงโดยวิธีดังกล่าวควรเป็นดังนี้

ขนาดลูกปลา (ซ.ม.) จำนวนลูกปลาในน้ำ ๑ ลิตร
๑-๒ ๕๐
๓-๕ ๒๕
๖-๘ ๑๕
๙-๑๒ ๕-๑๐
๑๓-๑๕ ๒-๓

ในการลำเลียงที่ใช้เวลาเดินทางเกิน ๒๐ ชั่วโมง ควรลำเลียงแต่ลูกปลาขนาดเล็ก และลดปริมาณความหนาแน่นลงอีกจะช่วยเพิ่มการรอดตายได้มาก สำหรับแหล่งลูกปลาที่อยู่ใกล้หรือในกรณีต้องเดินทางโดยทางเรือ สามารถลำเลียงพันธุ์ปลาด้วยถังลำเลียงทำการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ และขณะเดินทางถ้ามีเครื่องเป่าอากาศ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กเป่าอากาศให้ตลอดก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนเหลือรอดยิ่งขึ้น

วิธีอนุบาลลูกปลากะพงขาว
การเลี้ยงปลาในบ่อเลี้ยงปลาหรือการเลี้ยงปลาในกระชัง ให้เป็นอาชีพถาวรอย่างสม่ำเสมอนั้น ผู้เลี้ยงปลาจะต้องมีลูกปลาเป็นจำนวนเพียงพอกับขนาดของธุรกิจนั้น การรวบรวมลูกปลาไว้เป็นจำนวนมากๆ มักมีปัญหาเรื่องถังหรือบ่อที่ใช้ในการอนุบาล ลูกปลาขนาดเล็กมักจะอ่อนแอไม่มีความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมมากนัก ได้แก่การเปลี่ยนในระดับความเค็มของน้ำทะเลกระแสน้ำ และอุณหภูมิของน้ำได้เท่ากับปลาขนาดใหญ่ นอกจากนั้นการอนุบาลลูกปลาจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นจึงต้องทราบถึงวิธีการอนุบาลลูกปลากะพงขาวได้ดังนี้

การอนุบาลลูกปลากะพงขาวในบ่อซีเมนต์หรือในภาชนะ
ลูกปลากะพงขาวขนาดเล็กมีความยาว ๑.๐-๒.๐ เซนติเมตร ลูกปลาขนาดนี้จะต้องอนุบาลไว้ในตู้กระจก หรือภายในโอ่งหรืออ่างดินก็ใช้ได้ดี โดยใส่น้ำให้ลึกประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ปริมาตรน้ำ ๕๐ ลิตร สามารถอนุบาลได้ถึง ๓๐๐ ตัว ลูกปลากะพงขาวขนาดดังกล่าวนี้ควรอนุบาลในน้ำกร่อยมีค่าความเค็ม ๑๐-๑๕ ส่วนในพัน (การอนุบาลในน้ำจืดลูกปลามักเป็นโรคได้ง่าย) การอนุบาลลูกปลาจำนวนมากและในที่แคบๆ ควรให้อากาศด้วยเครื่องเป่าอากาศ อาหารที่ให้ระยะแรกควรเป็นไรแดง ไรขาว และลูกน้ำชนิดใช้เลี้ยงปลากัด ต่อจากนั้นจึงหัดให้กินกุ้งฝอย กุ้งเคย หรือปลาสับละเอียดซึ่งจะกินได้ดีลูกปลากะพงขาวระยะนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะการอนุบาล ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะมีขนาดตัว ๓-๕ เซนติเมตร มีความหนาแน่นมาก จึงต้องถ่ายเทออกไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ต่อไป

ขนาดบ่อนุบาลที่ใช้ ขนาด ๒-๓ ตารางเมตรและมีความลึก ๓๐-๕๐ เซนติเมตร คุณภาพน้ำที่เลี้ยงมักค่อนข้างกร่อย คือมีความเค็ม ๑๕-๒๐ ส่วนในพัน ความหนาแน่นในการอนุบาล ๑๕๐-๒๐๐ ตัว/ตารางเมตร สภาพบ่ออนุบาลควรจะมีร่มเงากันแดดจัดตอนเที่ยงและบ่าย ลูกปลากะพงขาวในระยะนี้มักจะเชื่องขึ้นและกินอาหารได้ดี ควรจะได้เปลี่ยนน้ำทุกๆ ๒-๓ วัน และจะต้องทำความสะอาดดูดเอามูลและเศษอาหารเหลือออกทิ้งทุกวัน อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นพวกปลาสับเป็นชิ้นเล็กๆ โยนให้กินระยะห่างๆ จนปลาหายกลัวจึงให้กินใกล้ๆ ได้ ให้อาหารวันละ ๒-๓ ครั้งหรือเวลาหิว ลูกปลาจะโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบางตัวที่โตมากๆ จะกินตัวอื่นเป็นอาหาร จึงต้องแยกตัวโตออกตลอดระยะอนุบาลและลดจำนวนปลาให้มีความหนาแน่นน้อยลงจะทำให้ลูกปลาที่อนุบาลเหลือรอดเป็นจำนวนมากได้

การอนุบาลลูกปลากะพงขาวในบ่อดิน
เป็นการอนุบาลลูกปลากะพงขาวขนาดเชื่องกว่าแบบแรก แต่ยังไม่ถึงขั้นจะนำไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยงหรือภายในกระชังได้ วิธีนี้สามารถอนุบาลได้เป็นจำนวนมาก เพราะขนาดบ่อใหญ่กว่าและมีการถ่ายเทน้ำภายในบ่อได้อย่างสม่ำเสมอ ที่พื้นก้นบ่อจะต้องไม่เป็นโคลนเหลวหรือเป็นตมมากนัก และควรมีร่มเงาให้ด้วยเพื่อกันแดดขนาดของบ่อที่ใช้มีพื้นที่ ๒๕-๕๐ ตารางเมตร และมีความลึก ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร บ่อควรมีประตูระบายทั้งสองด้าน บ่อชนิดนี้ควรตั้งอยู่ริมทะเลมีร่องน้ำติดต่อได้ถึงภายในบ่อ ความหนาแน่นของลูกปลาสามารถอนุบาลลูกปลาได้เป็นจำนวน ๒๐๐-๔๐๐ ตัว/บ่อ อาหารที่ให้คือ เศษปลาเป็ดที่หาได้ตามท้องที่ นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกปลากะพงขาวหิวอาหารบ่อยจึงควรให้อาหารวันละ ๒-๓ ครั้ง ในการให้อาหารต้องประจำที่และควรเป็นเวลาน้ำขึ้น จะทำให้ปลากะพงขาวที่เลี้ยงกินอาหารได้ดี ปลากะพงขาวขนาดเล็กยังอยู่ในขั้นอนุบาล สามารถกินอาหารได้ประมาณ ๘-๑๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ฉะนั้นควรเตรียมอาหารให้มากเกินพอไว้ในวันแรก เมื่อโยนให้ปลากินอย่างถี่ถ้วนและลองชั่งน้ำหนักดูว่า ปลากินอาหารจนอิ่มสิ้นอาหารไปเท่าไร ทำให้เราทราบน้ำหนักอาหารที่จะเตรียมไว้ได้ในวันต่อไป แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน ตามความเติบโตของปลาที่อนุบาล

การอนุบาลลูกปลากะพงขาวในกระชังไนล่อน
เป็นอีกวิธีหนึ่งในการอนุบาลลูกปลากะพงขาวที่ทำได้ผลดีและสะดวกมาก สามารถอนุบาลลูกปลาได้เป็นจำนวนมาก และการสูญหายมีน้อย เนื่องจากการตรวจตราสามารถทำได้ง่าย และไม่มีปัญหาในเรื่องการถ่ายเทน้ำ เพราะเรากางกระชังในคลองหรือคูส่งน้ำเลยทีเดียว ขนาดกระชังที่ใช้ ๒๐-๒๕ ตารางเมตร มีความลึก ๒.๐ เมตร เนื้ออวนเป็นชนิดไม่มีปม ขนาดตาราง ๕.๐ มิลลิเมตร สามารถใช้อนุบาลลูกปลาได้จำนวน ๓๐๐-๕๐๐ ตัวต่อกระชัง ๑ ใบ การปักกางกระชังประจำที่ ใช้เสาหลักยึดคงรูปภายในคลองคูส่งน้ำ หรือภายในนากุ้ง ซึ่งมีกำบังคลื่นลมได้ดี น้ำหนักอาหารที่ให้ ๘-๑๐%ของน้ำหนักตัว และการให้อาหาร ชนิดอาหารก็เช่นเดียวกับการอนุบาลในบ่อดิน การให้อาหารควรให้ในระยะน้ำขึ้น เพราะเมื่อปลาแย่งกันกินอาหารน้ำมักขุ่นและมีเศษอาหาร การให้อาหารในระยะน้ำขึ้นจะทำให้การถ่ายเทของเสียได้เร็วขึ้น

วิธีการเลี้ยงปลากะพงขาว
ปลากะพงขาวสามารถเลี้ยงได้ ๔ วิธี คือการเลี้ยงในนาปลาน้ำกร่อย ในบ่อเลี้ยงปลา ในกระชัง หรือในที่ล้อมขัง และแหล่งน้ำดัดแปลง มีรายละเอียด คือ

๑. การเลี้ยงปลากะพงขาวในนาปลาน้ำกร่อย ส่วนมากเลี้ยงกันในนากุ้ง ซึ่งพ้นฤดูการเลี้ยงกุ้งแล้ว ปัจจุบันจังหวัดทำการเลี้ยงได้แก่จังหวัดจันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นต้น ซึ่งขนาดแต่ละแปลงมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๒ ไร่ จนหลายสิบไร่ขึ้นไป พันธุ์ปลากะพงขาวที่ใส่เลี้ยงมักเป็นปลาขนาดเล็ก ๑-๒ เซนติเมตร และจำนวนปลาที่เลี้ยงไม่แน่นอนแล้วแต่ปริมาณปลาที่หาได้ตามธรรมชาติ แต่ไม่เกินไร่ละ ๑,๖๐๐ ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นลูกกุ้งลูกปลาขนาดเล็กที่ปนมากับน้ำขณะสูบน้ำทะเล การเลี้ยงโดยวิธีนี้นับเป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่งจากนากุ้ง ในระยะเวลาการเลี้ยงสั้นๆ ๔-๖ เดือน

๒. การเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อน้ำกร่อย  เป็นการเลี้ยงปลาภายในบ่อน้ำกร่อย ซึ่งนิยมเลี้ยงกันไปตามจังหวัดชายทะเล โดยสร้างบ่อใกล้ๆ กันกับทะเลและทางน้ำติดต่อถึงบ่อเลี้ยง คันดินบ่อต้องสูงพอที่จะกันน้ำท่วม รูปร่างบ่อจะเป็นรูปใดก็ได้ แต่ควรสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพื่อสะดวกในการเลี้ยง การจับปลา และความสวยงาม ขนาดของบ่อขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ จำนวนปลา และขนาดของปลาที่เลี้ยง ที่หัวและท้ายบ่อมีประตูน้ำทำด้วยไม้หรือคอนกรีต ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ นอกจากนั้นยังมีแผ่นกรองเป็นตะแกรงกันปลาออกติดตั้งไว้ประจำดังนี้คือ

ก. บ่อเลี้ยงปลาขนาดเล็ก ใช้สำหรับเลี้ยงปลากะพงขนาดเล็กหรือมีขนาดความยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ขนาดพื้นที่บ่อ ๑/๒ – ๑ ไร่ มีระดับความลึกน้ำ ๑๐๐ เซนติเมตร ปริมาณปลาที่ใส่ลงเลี้ยงจำนวน ๘๐๐-๑,๖๐๐ ตัว ขนาดบ่อ ๑ ไร่ ใช้ระยะการเลี้ยง ๔-๖ เดือน ในกรณีน้ำในบ่อถ่ายเทไม่สะดวก และไม่หมุนเวียน จะต้องลดจำนวนปลาใส่เลี้ยงลงครึ่งหนึ่งของจำนวนเดิม จำนวนอาหารที่ให้กินต่อวัน น้ำหนัก ๓๐๐ กรัม ต่อจำนวนปลาที่เลี้ยง ๑๐๐ ตัว

ข. บ่อเลี้ยงขนาดใหญ่  ใช้สำหรับเลี้ยงปลากะพงขาวขนาดค่อนข้างใหญ่ หรือมีขนาดความยาว ๒๐-๓๐ เซนติเมตร หรือเป็นปลาที่ย้ายมาจากบ่อเลี้ยงขนาดเล็กที่ต้องการขุนให้เป็นปลาใหญ่ส่งตลาดต่อไป ขนาดของบ่อมีเนื้อที่ตั้งแต่ ๒ ไร่ขึ้นไป และมีระดับความลึกน้ำ ๑๐๐-๒๐๐ เซนติเมตร ปริมาณปลาที่ใส่ลงเลี้ยงจำนวน ๔๐๐-๘๐๐ ตัว/ไร่ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง ๘-๑๐ เดือน จำนวนอาหารที่ให้กินต่อวันน้ำหนัก ๑-๕ กิโลกรัม ต่อจำนวนปลาที่เลี้ยง ๑๐๐ ตัว

การเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อน้ำจืดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเลี้ยงในบ่อน้ำกร่อย ถ้าสภาพการถ่ายเทน้ำภายในบ่อกระทำได้อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ปลาที่เลี้ยงเติบโตตามปรกติ

๓. การเลี้ยงปลากะพงขาวในแหล่งน้ำดัดแปลง ในแหล่งน้ำบางแห่งที่มีรูปร่างและคุณสมบัติเหมาะที่จะดัดแปลงเป็นที่เลี้ยงปลากะพงขาวได้คือ
ก. นาเกลือ
ข. ขุมเหมือง
ค. อ่าวปิดหรือแอ่งน้ำ
ง. แม่น้ำ คลอง ที่ไม่ขัดขวางการสัญจร
จ. คู คลองส่งน้ำ
ฯลฯ

แหล่งน้ำดังกล่าวเมื่อไม่มีคุณค่าอย่างอื่นแล้ว เราสามารถดัดแปลงให้เป็นแหล่งปลากะพงขาวได้ โดยทำการกั้นด้วย เฝือก รั้ว หรือแนวคันดิน แต่ให้สภาพน้ำภายในไหลเข้าออกได้ตามปรกติ สามารถใช้เลี้ยงปลากะพงขาวได้ดี เนื่องจากสภาพบริเวณเลี้ยงใกล้เคียงกับการเลี้ยงประเภทอวนและที่ล้อมขัง จึงอนุโลมวิธีการเลี้ยงเช่นเดียวกัน

ปริมาณอาหารเลี้ยงปลากะพงขาว
ปลากะพงขาวเป็นปลาประเภทกินเนื้อปลาอื่น หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น กุ้ง และปู อาจกินกันเองเมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็กหรือหิวจัด อาหารที่ใช้เลี้ยงปลากะพงขาวได้ดีและเหมาะสมคือ ปลาเบ็ดเตล็ด เศษปลา ซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อย และมีอยู่มากตามแหล่งชายทะเล โดยผู้เลี้ยงอาจเก็บรวบรวมเอาจากแหล่งโดยการใช้เครื่องมือประจำบ้าน หรือหาซื้อในราคาถูก เป็นการเปลี่ยนแปลงคุณค่าอาหารให้เป็นเนื้อปลาราคาแพงขึ้นได้ นอกจากนั้นยังสามารถหาอาหารชนิดสำเร็จรูปหรือดัดแปลงให้เหมาะสมก็ได้ แต่ขณะนี้การเลี้ยงยังคงมุ่งไปในด้านการให้อาหารตามรูปแบบการเลี้ยงดังนี้

ก. อาหารธรรมชาติ เหมาะกับวิธีการเลี้ยงในนาปลาน้ำกร่อยในแหล่งน้ำดัดแปลง เช่น นาเกลือ ขุมเหมือง นากุ้ง หรือการเลี้ยงในบ่อ ซึ่งจะต้องมีการถ่ายเทน้ำเข้ามาในแหล่งเลี้ยงเสมอๆ จะได้อาหารของปลาเข้ามาด้วย เช่น ลูกกุ้ง ปลาน้ำกร่อยขนาดเล็ก ซึ่งปลากะพงเลี้ยงจะได้อาศัยเป็นอาหารตามธรรมชาติ วิธีนี้รวมถึงการใส่ปุ๋ยลงในนา เพื่อเร่งให้สัตว์เล็กๆ เกิดอุดมสมบูรณ์ขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งปลากะพงใช้เป็นอาหารได้ วิธีการให้อาหารแบบนี้เหมาะกับการเลี้ยงปลากะพงขาวขนาดเล็กในช่วงระยะการเลี้ยงไม่นานนัก

ข. การเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ซึ่งมีคุณสมบัติแพร่พันธุ์ได้เร็ว เช่น ปลาหมอเทศ สามารถแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำกร่อยได้ดี ให้ลูกปลาขนาดเล็ก ซึ่งตกเป็นอาหารของปลากะพงที่เลี้ยงรวมได้เป็นอย่างดี วิธีการนี้เหมาะกับการเลี้ยงในบ่อน้ำกร่อยหรือบ่อน้ำจืด การให้อาหารแบบนี้ผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นสังเกต และตรวจสอบปริมาณปลาหมอเทศขนาดเล็กให้ได้สัดส่วนกับปลากะพงจึงจะให้ผลิตผลสูงและได้ปลากะพงขนาดใหญ่ที่ตลาดต้องการ วิธีนี้อาจเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ ปลาหมอเทศแล้วจับลูกปลาขนาดเล็กมาใส่ให้เป็นอาหารเป็นครั้งคราวจะได้ผลที่แน่นอนขึ้น

ค. อาหารสมทบ เป็นการให้อาหารแก่ปลากะพงที่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ชนิดอาหารได้แก่ เศษปลา หรือปลาเป็ด วิธีการให้อาหารแบบนี้เหมาะกับการเลี้ยงทุกแบบ เพราะปลาได้กินอาหารสม่ำเสมอทั่วถึง และในปริมาณที่ร่างกายต้องการ จำนวนอาหารที่ให้วันละตามตารางที่กำหนดให้

วิธีการให้อาหารสมทบ ควรปฏิบัติดังนี้
ก. ทำการให้อาหารที่เดิมทุกครั้งเพื่อปลาเกิดความจดจำ และจุดที่โยนอาหารตรงบริเวณต้นน้ำที่เริ่มไหลเข้าในกระชังหรือในบ่อ

ข. โยนอาหารให้คราวละน้อยๆ สังเกตการณ์กินอาหารให้ทั่วถึง และเร่งให้กินเมื่อปลาแย่งอาหาร โยนอาหารให้กระจาย ถ้าปลาในฝูงแย่งกันกินมาก และโยนอาหารให้เป็นกลุ่มถ้าปลาแสดงอาการไม่สนใจ

ค. ให้อาหารวันละครั้งตอนขณะน้ำขึ้น และมีกระแสน้ำไหลพอประมาณ

ง. หยุดการให้อาหารถ้าปลาไม่กินอาหาร หรือเมื่อมีอาการอิ่ม มิฉะนั้นเศษอาหารจะตกลงไปที่ก้นบ่อ ทำให้เกิดการเน่าเสียของน้ำ

จ. หยุดทำการให้อาหารในวันที่มีกระแสน้ำไหลแรงจัด เปลี่ยนความเค็มโดยกะทันหัน น้ำขุ่น น้ำเขียว และแดดร้อนจัด ปลาจะกินอาหารน้อยต้องปล่อยทิ้งไว้ ๒-๓ วัน จึงจะเริ่มกินอาหารดีเหมือนเดิม

การดูแลรักษา
ในการเลี้ยงปลากะพงขาวจะต้องคอยดูแลดังต่อไปนี้

๑. น้ำ  ภายในบ่อเลี้ยงจะต้องไม่เปลี่ยนความเค็มโดยกะทันหันจะทำให้เกิดการเสียหาย เช่นปลาเจ็บป่วย และไม่กินอาหารเกิดขึ้น น้ำในบ่อจะต้องถ่ายเทตามระยะเวลา ต้องไม่ขุ่นหรือบูดเน่าเสียเป็นฟอง เกิดจากอาหารเน่าหมักหมม ต้องลอกทำความสะอาดตามระยะเวลา

๒. คันดิน จะต้องไม่รั่วทำลาย ทำให้เก็บกักน้ำไม่อยู่ และทำให้ปลาสูญหายไปได้

๓. กระแสน้ำ  ในกรณีเลี้ยงในกระชังหรือที่ล้อมขัง หรือแหล่งน้ำดัดแปลงจะต้องหาทางป้องกันกระแสน้ำไม่ให้ทำลายบริเวณเลี้ยงปลา

๔. ศัตรู  ต้องคอยกำจัดศัตรู เช่น นก งู และนากมักเข้ากัดกินปลาในที่เลี้ยง ปูทะเลนอกจากจะขุดรูทำให้บ่อรั่วแล้ว มักคีบตัดกระชังให้ขาดปลาหนีหายได้ ต้องรีบหาทางกำจัด โดยเฉพาะปลากะพงขนาดเล็กมักถูกปูทะเลหนีบตายเป็นจำนวนมาก

โรคและศัตรูของการเลี้ยงปลากะพงขาว
ปลากะพงขาวที่เลี้ยงรวมกันในบ่อหรือกระชังในอัตราหนาแน่นเกินไป เป็นสาเหตุให้ปลาที่เลี้ยงตายได้ ดังนี้

๑. การตายเกิดจากคอหัก มักพบเสมอในปลากะพงขาว มีอาการทรงตัวไม่ได้ จะลอยน้ำหงายท้องและตายในที่สุด เกิดจากการที่ทำให้ปลาตกใจวิ่งชนขอบบ่อ หัวปักก้นบ่อ หรือชนข้างกระชัง ทำให้กระดูกบริเวณคอหักได้ ทางแก้ไขคืออย่าทำให้ปลาตกใจ

๒. อวัยวะใต้คางหลุดจากกระดูกขากรรไกรล่าง ทำให้ส่วนใต้คางเปิดอ้ากินอาหารไม่ได้และตาย สาเหตุเกิดจากปลาวิ่งชนตาอวนติดทำให้ปากล่างฉีกขาด และเกิดจากการตักปลาด้วยสวิง ปลาชนทำให้ปากขาด จึงควรจับปลาด้วยความระมัดระวัง

๓. การตายเนื่องจากบาดแผล มีสาเหตุจากการจับปลา บาดแผลจากการแทงกันเอง การหลีกเลี่ยงการจับบ่อยครั้งจะทำให้เหลือปลามากขึ้น

๔. การตายเนื่องจากพยาธิ เช่น เห็บน้ำ และเหาน้ำ หรือปลาติด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปลากะพงขาวที่เลี้ยงดิ้นทุรนทุรายและตายในที่สุด เห็บน้ำและปลาติดมักเป็นตอนระยะน้ำทะเลขึ้นมีความเค็มมาก โดยเฉพาะปลาติดจะก่อกวนและเกาะหลัง ทำให้เกิดแผลไหม้และเนื้อเสีย ปลาที่เลี้ยงจะดิ้นทุรนทุรายจนตาย ส่วนเหาน้ำมักเป็นตอนน้ำจืดหลาก มักเข้าเกาะเหงือกปลาที่เลี้ยงและอาจกัดทำลายได้ ในช่องคอและเข้าไปในอวัยวะทางเดินอาหาร ทำให้ปลาที่เลี้ยงตาย ทางแก้ไขคือ คอยสังเกตเมื่อพบพยาธิก็จับออกทิ้งทำลายไป

ผลผลิตของการเลี้ยงปลากะพงขาว
ในการเลี้ยงปลากะพงขาวด้วยวิธีต่างๆ ในอัตราส่วนความหนาแน่นพอเหมาะสม ปลากะพงขาวจะให้ผลผลิตสูงชนิดหนึ่ง จากการเริ่มต้นเลี้ยงปลาขนาดน้ำหนัก ๕๐-๑๐๐ กรัม ใช้เลี้ยงในนาปลาหรือในบ่อน้ำกร่อย จะให้ผลผลิตประมาณ ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ต่อระยะการเลี้ยงนาน ๖ เดือน สำหรับการเลี้ยงในกระชังหรือในที่ล้อมขัง โดยเริ่มต้นเลี้ยงปลาขนาด ๑๐๐-๒๐๐ กรัม จะให้ผลผลิต ๓๐๐-๕๐๐ กิโลกรัมต่อพื้นที่กระชัง ๑๐๐ ตารางเมตร ในระยะการเลี้ยง ๑๒ เดือน โดยมีอัตราการรอดภายในนาปลาหรือบ่อน้ำกร่อยประมาณ ๖๐% ส่วนในที่ล้อมขังหรือเลี้ยงในกระชังจะให้อัตรารอดภาย ๔๐% และในการเลี้ยงปลากะพงขาว เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ใช้เลี้ยงกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อของปลา จะได้เนื้อ ๑ กิโลกรัมต่ออาหารที่ให้ ๗-๑๐ กิโลกรัม

การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง
ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อนขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำที่ติดต่อถึงทะเล และยังสามารรถแพร่เข้าไปอยู่ได้ในแม่น้ำลำคลองแหล่งน้ำจืด ฉะนั้นในท้องที่บางแห่งจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า “กะพงน้ำจืด” ปลากะพงขาวมีลักษณะตัวยาวและแบนข้าง ปากกว้างมีฟันเล็กละเอียด ริมฝีปากล่างยื่นยาวกว่าริมฝีปากบนเล็กน้อย กระดูกแก้มที่ขอบเป็นหยักละเอียด และที่มุมเป็นหนามแหลม ลำตัวตอนบนเป็นสีฟ้าอมเขียว ด้านข้างและส่วนท้องสีขาวเงิน ครีบหางสีเหลืองดำ

การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง มีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ตามแหล่งน้ำตื้น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แหล่งน้ำกร่อยในทะเลสาบ และทะเลชายฝั่ง ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นที่เลี้ยงปลาได้สะดวกและลงทุนน้อย แต่สามารถเลี้ยงปลาได้หนาแน่นเป็นจำนวนมาก และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ จากการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังปรากฏว่าเป็นปลาที่มีความอดทน สามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม สามารถฝึกให้เชื่องและเลี้ยงรวมฝูงได้ดี เติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูง จึงเป็นปลามีราคาแพง สามารถทำรายได้แก่ผู้เลี้ยงพอสมควร ดังนั้นการเลี้ยงปลากะพงขาวสามารถประกอบเป็นอาชีพได้เป็นอย่างดี

การรวบรวมลูกปลากะพงขาว
ลูกปลากะพงขาวขนาดเล็กมักเข้ามาอาศัยตามแหล่งน้ำตื้นตามบริเวณชายฝั่ง และเข้าไปอาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง หนองบึง หรือแม้กระทั่งในนาข้าวที่มีสายน้ำติดต่อเมื่อน้ำทะเลท่วมถึงตามจังหวัดชายทะเลทั่วไป ทั้งในท้องที่ทางฝั่งอ่าวไทยและท้องที่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ระยะเวลาที่ปรากฏมีความชุกชุมลูกปลาเป็นจำนวนมากคือ ระยะตอนต้นฤดูฝน ซึ่งทางฝั่งอ่าวไทยสามารถรวบรวมได้จำนวนมากในระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม และทางฝั่งมหาสมุทรอินเดียในระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

ลักษณะเด่นของลูกปลากะพงขาวขนาดเล็ก จะมีแถบสีน้ำตาลอ่อนหนึ่งแถบพาดตามแนวสันหลังจากปลายปากบนถึงตอนต้นของครีบหลังอันแรก ลูกปลาขนาดเล็กความยาวไม่เกิน ๓ เซนติเมตร ที่ด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลอ่อนจะมีลายสีดำพาดขวาง ในลูกปลาที่มีขนาดเล็กมากๆ ลำตัวจะเป็นสีดำล้วนๆ

การรวบรวมลูกปลาใช้อวนตาถี่ขนาดตา ๕ มิลลิเมตร ลากจับลูกปลาตามแอ่งน้ำขนาดความยาวของอวนขึ้นกับขนาดพื้นที่จับลูกปลา ส่วนมากใช้อวนยาว ๒-๓ เมตร ลึก ๑.๕ เมตรก็พอ ลูกปลาที่รวบรวมได้มักคละขนาดกันคือ มีความยาว ๑-๑๕ เซนติเมตร แต่ถ้าทำการรวบรวมตอนต้นๆ ฤดู ส่วนใหญ่จะได้ลูกปลาขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ ๖ เซนติเมตร

สำหรับการจัดหาพันธุ์ปลาก็สามารถสั่งจองพันธุ์ปลาได้จากกรมประมงได้อีกทางหนึ่ง

การอนุบาลลูกปลา
๑. บ่ออนุบาล  ควรเป็นบ่อซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๓-๕ ตารางเมตร มีความลึก ๕๐ เซนติเมตรใช้อนุบาลปลาขนาดยาว ๓ เซนติเมตร ได้จำนวน ๓๐๐-๕๐๐ ตัว สำหรับลูกปลาที่มีขนาดเล็กหรือโตกว่านี้ จำนวนลูกปลาที่อนุบาลจะต้องมากขึ้นหรือลดลงได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามการอนุบาลลูกปลาในบ่อดินจะได้รับผลดี

๒. น้ำที่ใช้อนุบาลลูกปลาควรใสสะอาด มีความเค็มใกล้เคียงน้ำในแหล่งที่จับปลา ไม่ควรอนุบาลลูกปลากะพงในน้ำจืดล้วนๆ แต่ควรใส่เกลือแกงลง ๑ ช้อนโต๊ะในน้ำจืด ๑ ลิตร (ความเค็ม ๑๐-๑๒ ส่วนในพัน) การใช้เครื่องปั้มอากาศจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุบาลปลาจำนวนมากในบ่อซีเมนต์ เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้เพียงพอความต้องการหายใจของลูกปลา การเปลี่ยนน้ำให้บ่อยๆ หรือจะใช้ระบบน้ำหมุนเวียนกรองจนสะอาดนำกลับมาใช้รวมทั้งการขจัดเศษอาหารและสิ่งขับถ่ายออกจากบ่อจะทำให้ลูกปลาเติบโตเร็วขึ้น

๓. อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกปลา สำหรับลูกปลาที่มีขนาดเล็กกว่า ๑.๕๐ เซนติเมตร ให้กินไรแดงหรือกุ้งเคยขนาดเล็ก แต่ถ้าลูกปลาที่มีความยาวกว่านี้ ใช้เนื้อปลาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้กินวันละ ๒-๓ ครั้ง โดยแต่ละครั้งให้กินอย่างเพียงพอ แต่ก็ไม่ควรให้จนอาหารเหลือตกค้างอยู่ในบ่อ ซึ่งจะเป็นเหตุให้น้ำเสียและเป็นช่องทางให้เกิดโรคกับลูกปลาได้

๔. การกินกันเองจะพบบ่อยๆ ในระยะแรกที่ลูกปลายังไม่เคยชินกับอาหารที่เราฝึกให้กิน เพราะโดยนิสัยตามธรรมชาติ ปลากะพงขาวจะกินเหยื่อที่มีชีวิต ดังนั้นเวลาหิวลูกปลาตัวโตกว่าก็จะกินตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร จึงจำเป็นต้องคอยแยกปลาขนาดเล็กที่โตช้าหรือขนาดใหญ่ที่โตเร็วไปรวบรวมไว้กับลูกปลาที่มีขนาดเดียวกัน มิฉะนั้นแล้วลูกปลาจะเหลือรอดน้อย เมื่ออนุบาลลูกปลาจนได้ขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ก็สามารถปล่อยลงเลี้ยงในกระชังต่อไปได้

อุปกรณ์ในการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง

๑. การเลือกทำเลในการติดตั้งกระชังเลี้ยงปลา
-เป็นแหล่งที่มีระดับความลึกของน้ำอย่างน้อย ๑ เมตร มีกระแสน้ำไหลผ่านสะดวก
-เป็นแหล่งที่มีเครื่องกำบังคลื่นลมตามธรรมชาติได้ดีเพื่อให้กระชังปลอดภัยจากการถูกทำลายของคลื่นลม เช่น บริเวณที่ลึกเข้าไปในทะเลสาบ ปากแม่น้ำ ลำคลอง และอ่าวปิดบางแห่ง
-เป็นแหล่งที่อยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม อันจะเป็นเหตุให้เกิดน้ำเสีย ซึ่งจะเป็นพิษเป็นภัยต่อปลาที่เลี้ยงและผู้บริโภคเนื้อปลา
-แหล่งที่วางกระชังควรอยู่ห่างจากเส้นทางสัญจรทางน้ำ เพื่อให้กระชังปลอดภัยจากการถูกเรือชน อันจะเป็นเหตุให้กระชังเสียหาย ปลาหนีออกจากกระชังได้ ปราศจากเสียงรบกวน

๒. วัสดุที่ใช้ในการเลี้ยงปลา
-กระชังไนล่อนขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร ลึก ๒.๕๐ เมตร ประกอบด้วยเนื้ออวนเบอร์ ๑๕ มีขนาดตาเหยียด ๒.๐-๒.๕ เซนติเมตร สามารถปล่อยปลาลงเลี้ยงได้ ๓๐๐ ตัว ต้นทุนของกระชังขนาดดังกล่าวคิดเป็นเงินกระชังละ ๑,๖๐๐ บาท ใช้ได้นาน ๓-๔ ปี
-อาหารที่ใช้เลี้ยง เป็นพวกเศษปลาเบ็ดเตล็ดราคาถูกประมาณกิโลกรัมละ ๑.๕๐ บาท โดยสับเป็นชิ้นพอเหมาะกับขนาดปลาที่เลี้ยง

๓. การดูแลรักษา
-เมื่ออนุบาลลูกปลาได้ขนาดประมาณ ๑๐ เซนติเมตร จึงนำปลาปล่อยลงเลี้ยงในกระชังที่วางเตรียมไว้ โดยให้อาหารในเวลาที่น้ำขึ้นเต็มที่ โยนให้กินคราวละน้อยๆ ให้กินอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงจนกว่าปลาจะหยุดกิน ไม่ควรให้อาหารมากเกินความจำเป็น เพราะอาหารจะเหลือตกค้างอยู่ในกระชังกลับเป็นเหยื่อล่อปูและสัตว์น้ำอื่นๆ เข้ามาทำลายกระชัง อันเป็นเหตุให้ปลาหนีออกจากกระชังไปได้ ผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นลงตรวจกระชัง เพื่อป้องกันการสูญหายของปลาในกระชัง

๔. ผลผลิตการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง
-จากผลการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังของสถานีประมงสงขลา พบว่าเมื่อเลี้ยงปลาในกระชังครบ ๑ ปี จะให้ผลผลิต ๓๐๐-๕๐๐ กิโลกรัม ต่อพื้นที่กระชัง ๑๐๐ ต.ร.ม. โดยมีอัตรารอดตาย ๙๐% และในการเลี้ยงปลากะพงขาว เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ใช้เลี้ยงกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อของปลาจะได้เนื้อ ๑ กิโลกรัม ต่ออาหารที่ให้ ๗-๑๐ กิโลกรัม

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี