การอบรมเด็กของชาวยุโรป

Socail Like & Share

การจะอบรมคนให้เป็นคนที่ดีตามที่สังคมเราต้องการนั้นไม่ใช่เรื่องของง่ายเลย ท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่าคนเราจะดีหรือชั่วอยู่ที่ชีวิตในระยะ ๕ ปีแรก ถ้าอบรมในตอนนี้ให้ดีแล้วตอนต่อไปก็จะดีเอง นักปราชญ์ทางยุโรปจึงวางหลักการอบรมเด็กในระยะ ๕ ปีแรกไว้ ๔ ประการคือเด็กยุโรป

๑. หว่านความคิดให้เกิดผลคือการกระทำ
๒. หว่านการกระทำให้เกิดผลคือความเคยชิน
๓. หวานความเคยชินให้เกิดผลคืออุปนิสัย
๔. หว่านอุปนิสัยให้เกิดผลคือความเป็นคนดีชั่วนิรันดร์

ท่านจะหว่านสิ่งเหล่านี้ลงไปในจิตใจเด็กได้อย่างไร โบราณว่าลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น หมายความว่า ถ้าท่านต้องการให้เด็กหรือลูกของท่านเป็นเช่นไร ท่านก็จะประพฤติเช่นนั้น เพราะเด็กมีนิสัยเลียนแบบ ถ้าพ่อแม่พูดจากันกระโชกโฮกฮาก ท่านจะหวังให้ลูกของท่านพูดจาไพเราะเสนาะโสตย่อมไม่ได้อยู่เอง ผู้รู้ท่านจึงวางหลักในการอบรมเด็กให้ผู้ปกครองปฏิบัติดังนี้

๑. จงพยายามทำตนเหมือนดังที่ท่านปรารถนาให้เด็กของท่านทำอย่างนั้น
๒. สนับสนุนให้เด็กกระทำความดี และสรรเสริญเยินยอหรือให้รางวัลเมื่อเขาทำความดีใดๆ
๓. จงรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่เด็กเสมอ
๔. ไม่ทำกิริยาสะดุ้งหวาดกลัวเมื่ออยู่ต่อหน้าเด็ก หรือเตือนให้เด็กมีความรู้สึกเช่นนั้น
๕. เมื่อเด็กทำความผิด ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอนด้วยความโมโหฉุนเฉียว ๖. ไม่อุ้มชูหรือพะเน้าพะนอเด็กจนเกินไป
๗. จงสอนให้เขาช่วยตัวเอง และมีความเชื่อมั่นในตนเอง คนที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองพะเน้าพะนอไม่สอนให้รู้จักช่วยตัวเองนั้น โตขึ้นจะไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรด้วยตนของตนเอง ไม่รู้จักริเริ่มทำอะไรที่ไม่เคยทำ เรียกว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดีมากนัก

๘. จงสังเกตความต้องการของเด็ก แต่ไม่ควรหยิบยื่นให้ทุกสิ่งที่เด็กขอเสมอ

อนึ่ง นิสัยที่ดีที่ควรอบรมให้เกิดขึ้นในเด็กนั้นคือ

๑. ฝึกฝนให้เด็กกินอาหารเป็นเวลา และพอใจในอาหารทุกสิ่งที่ได้รับ ๒. ให้มีนิสัยเป็นผู้เชื่อฟังและทำตาม
๓. ให้มีนิสัยกล้าหาญไม่กลัวใคร แต่ไม่ใช่ให้ไประรานใคร
๔. ให้รู้จักอาบน้ำและถ่ายเป็นเวลาเสมอ
๕. ให้มีความมานะอดทน
๖. ให้มีนิสัยรักความสะอาด
๗. ให้รู้จักบังคับใจตนเอง

นิสัยที่ไม่ดี ควรขจัดให้หมดไปจากตัวเด็กคือ

๑. การจู้จี้เเละเลือกอาหารแต่ที่ชอบ
๒. ความโมโหจัด เช่นฟาดเนื้อฟาดตัวและกระทืบเท้าเป็นต้น
๓. พูดปดและหลอกลวง
๔. ความดื้อด้าน
๕. ความอิจฉาริษยา
๖. ขี้ขลาดและหวาดกลัว
๗. ถ่ายปัสสาวะรดที่นอน

นิสัยบางอย่างพ่อแม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าขัดข้องแก้ไม่หายก็ควรจะปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล

ได้เขียนถึงการอบรมเด็กวัยแรกเกิดจนอายุ ๕ ขวบมาแล้ว จะได้พูดถึงเด็กวัย ๖ ถึง ๘ ขวบต่อไป เด็กวัยนี้คือวัยของการเริ่มการศึกษา เพราะเด็กโตพอและช่วยตัวเองได้มากแล้ว เริ่มมีการแยกเพศ แสดงความเป็นหญิงชาย คือ เด็กชายชอบต่อสู้ ชกต่อย ปลํ้า เด็กหญิงชอบเล่นในทางเป็นแม่บ้านแม่เรือน และเด็กวัยนี้ชอบเล่นเป็นหมู่ มีความอยากรู้อยากเห็นมาก ชอบซักไซ้ไล่เลียง ผู้ใหญ่บางคนเมื่อถูกเด็กถามก็มักจะดุด่าว่าถามไม่เข้าเรื่องเข้าราว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องกัน ความจริงแล้ว ท่านควรจะตอบเด็กไปตามที่รู้และตอบได้ ถ้าตอบไม่ได้ก็บอกว่าไม่ได้หรือไม่รู้แล้วจะถามคนที่รู้มาให้ บางที่เด็กอาจจะไม่ถามเรื่องนั้นอีกก็ได้ แต่ถ้าท่านดุเด็ก เด็กอาจจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และไม่ถามท่านอีกต่อไปแล้ว เด็กจะไปแสวงหาความรู้เอาเอง ท่านจะลำบากใจทีหลัง

ผู้รู้กล่าวว่าเด็กวัยนี้ควรจะอบรมในเรื่องต่อไปนี้คือ
๑. ให้เด็กมีใจเข้มแข็ง กล้าหาญ พึ่งตนเองและขยันขันแข็ง
๒. ให้มีวัฒนธรรมและรักธรรมชาติ เช่นหัดไม่ให้เด็กเปลือยกาย ไม่ให้กล่าวคำหยาบ และให้ช่วยทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆ
๓. ให้มีศีลธรรม ซื่อตรง รู้จักหน้าที่และวินัย เช่นไม่ให้รังแกหรือทำลายสัตว์ หัดให้ช่วยเหลือเพื่อนหรือผู้ที่อ่อนแอกว่า หรือให้เลี้ยงน้อง หัดให้พูดแต่ความจริง เป็นต้น
๔. หัดให้ทำตนเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย คือให้รู้จักมารยาทของสังคม ให้รู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้จักระวังคำพูด รู้จักทำงานเป็นหมู่คณะ ไม่นิ่งดูดาย หรือเป็นคนเก็บตัว

สำหรับเด็กวัย ๙-๑๒ปีนั้น ลักษณะจิตใจของเด็กวัยนี้ เป็นตอนซึ่งรับความรู้สึกนึกคิด จากระยะที่แล้วมาปฏิบัติ และเป็นตอนที่เด็กเริ่มแสดงทุกอย่าง เช่นการพูดและการกระทำ เป็นต้น เด็กในวัยนี้พอจะเป็นเค้าให้เราเห็นว่า ต่อไปเขาจะดีหรือชั่วอย่างไร เด็กในวัยนี้ ชอบทำสกปรก หยิบอะไรแล้วมักจะไม่เก็บเข้าที่ เพราะมัวจะเล่นสนุกจนลืม นอกจากนี้มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ มีความคิดคำนึงหรือฝันมาก และชอบสร้างความจริงและความไม่จริงปนกันไป ชอบการเลียนแบบ ชอบหัดสูบบุหรี่อย่างผู้ใหญ่ ชอบเล่น เอาอย่างผู้อื่น และสมมุติตัวเองเป็นคนเก่ง ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเช่นหน้ากากเสือ และกาโม่ จึงเป็นที่โปรดปรานของเด็กวัยนี้ นอกจากนี้เด็กยังชอบเล่นชนิดทำลาย เช่นเอากระป๋องผูกหางสุนัข ให้มันตกใจวิ่งสุดฤทธิ์เป็นต้น เมื่อเราเข้าใจนิสัยเด็กดีแล้ว ก็ควรจะช่วยกล่อมเกลา อย่าให้เด็กทำสิ่งที่จะเกิดเสียหายขึ้นชี้แจงให้เขาเห็นผิดและชอบ เพราะเด็กวัยนี้ก็มีเหตุผลพอจะพูดกันได้แล้ว

เด็กวัย ๑๓-๑๖ ปี เรียกว่าวัยแตกหนุ่มสาว เพราะร่างกายทั้งของเด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชายจะเปลี่ยนแปลงแสดงถึงความแตกต่างระหว่างเพศมากขึ้น ในทางจิตใจนั้นเมื่อมาถึงระยะนี้ นับว่าเป็นระยะสำคัญของชีวิตระยะหนึ่ง ที่จะมีการเปลี่ยนไปอย่างแรง จิตใจจะปกติแค่ไหนหรือจะเริ่มผิดปกติมากน้อย ก็มักจะแสดงให้เห็นในระยะนี้เป็นส่วนมาก ตามประเพณีโบราณเด็กวัยนี้เราจะมีการตัดจุกหรือตัดเปีย และคนโบราณนั้นคงจะสังเกตเห็นความผิดปกติของเด็กวัยนี้ จึงต้องหาฤกษ์หายามในการทำพิธีตัดจุกหรือตัดเปียเด็ก เพราะเข้าใจกันว่าที่เด็กเสียไปเพราะฤกษ์ยามไม่ดีนั่นเอง แต่ความจริงแล้ว เด็กในระยะนี้จะทำอะไรก็มักจะขาดการเหนี่ยวรั้งเป็นอย่างมาก จนถึงกับกล่าวกันว่า จะหาการลดราวาศอกกับพวกหนุ่มๆ สาว ๆ ได้ยาก และระยะนี้เขาจะมีความคึกคะนองมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ปี ๒๕๑๖ เป็นเครื่องยืนยันข้อนี้เป็นอย่างดี

ข้อที่ควรระวังอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนในวัยนี้คือ เรื่องกามารมณ์ ตามสถิติบ่งบอกว่า ผู้หญิงมีความเสื่อมเสียในทางนั้น ได้กลายมาเป็นโสเภณีในระยะนี้เป็นส่วนมาก ดังนั้นผู้ปกครองหรือพ่อแม่ ควรจะอบรมดูแลบุตรหลานในวัยนี้ให้ดี สำหรับเด็กผู้ชายจะเสียคน หรือจะเป็นคนดีก็อยู่ที่การอบรมดูแลในระยะนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะเด็กวัยนี้มักจะ
ตามเพื่อนฝูงไปประพฤติเสื่อมเสียได้ง่ายมากกว่าในวัยอื่น

เด็กที่วัยสูงกว่านี้ก็มีลักษณะนิสัยคล้ายคลึงกัน และการอบรมก็ทำนองเดียวกัน  การอบรมนั้น ถ้าท่านไม่ปล่อยปละละเลยเด็กของท่านแล้ว ท่านไม่ต้องกลัวว่าเด็กของท่านจะเสีย เพราะอย่างน้อยคนเราก็ย่อมมีนิสัยรักดีกันอยู่ทุกคน ขอแต่เพียงให้เราเข้าใจเด็กและดูแลแกอย่างใกล้ชิดก็พอแล้ว

บางคนสะสมเงินทองไว้ให้ลูกหลาน โดยการทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่กลับไม่เหลียวแลสะสมคุณธรรมความดีให้เกิดมีในจิตใจของเด็กลูกหลานของตนเลย ผลก็คือต้องมานั่งเสียใจตอนเราแก่ตัวลง ถูกลูกหลานเผาผลาญทรัพย์สมบัติเสียจนหมด นอกจากนั้นบางราย
ยังทำลายชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของตนให้พินาศย่อยยับไปด้วย เพราะเขามีแต่ทรัพย์ภายนอก หาได้มีทรัพย์ภายในคือคุณธรรมความดีเยี่ยงคนที่ได้รับการอบรมมาดีไม่ เราจึงไม่ควรลืมสะสมความดีให้เขาด้วย เพราะมีความจำเป็นยิ่งกว่าทรัพย์ภายนอกเสียอีก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี