การผลิตน้ำหวานของผึ้ง

Socail Like & Share

ภายหลังจากที่เราได้นำผึ้งมาเลี้ยงไว้ จนเริ่มมีความคุ้นเคยกับสถานที่เลี้ยงแล้วผึ้งก็จะเริ่มออกหาอาหารและสร้างรวงรังให้ขยายเพิ่มขึ้นได้ กล่าวคือ เมื่อผึ้งใช้งวงดูดเอาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้แล้วจะกลืนเข้าไปเก็บไว้ในกระเพาะพิเศษ ซึ่งมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งทำการย่อยน้ำการผลิตน้ำหวานของผึ้งหวานจากดอกไม้ จนกลายรูปเป็นน้ำผึ้ง นำไปถ่ายเก็บไว้ในหลอดรังเสร็จแล้วก็จะออกไปเก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ต่อไปอีก ส่วนน้ำผึ้งที่ถูกเก็บไว้ในหลอดรัง อาจจะยังมีความชื้นอยู่มาก ก็จะมีผึ้งงานอีกพวกหนึ่งมาช่วยกระพือปีกไล่ ให้ความชื้นระเหยออกไปจนกระทั่งมีความเข้มข้นพอเหมาะพอดีตามความต้องการของมัน เมื่อน้ำผึ้งเต็มหลอดรังแล้ว จะปิดหลอดรังด้วยขี้ผึ้งบางๆ น้ำผึ้งจะถูกเก็บอยู่ในลักษณะนี้จนกว่าจะถูกนำมาใช้เป็นอาหารคาร์โบไฮเดรทของผึ้ง

นอกจากการหาน้ำหวานจากดอกไม้แล้ว ผึ้งยังเก็บสะสมเรณูเกสรจากดอกไม้อีกด้วย ผึ้งงานที่ลงไปเคล้าบนเรณูเกสรดอกไม้จะเก็บไว้ที่กระชุบนขาหลังของมัน เมื่อเก็บได้พอแก่ความต้องการแล้วจะบินกลับรัง และนำไปเก็บยังหลอดรังเก็บเรณูเกสรดอกไม้ ไม่ปนกับน้ำผึ้ง แต่บางครั้งผึ้งจะบรรจุน้ำผึ้งเป็นชั้นทับลงบนเรณูเกสรอีกทีด้วย ลักษณะการเก็บเช่นนี้จะทำให้เรณูเกสรมีความสดอยู่เสมอ และเก็บได้นานเป็นปีโดยไม่เน่าเสีย หรือเสื่อคุณภาพแต่อย่างใด เพื่อใช้เป็นอาหารโปรตรีเช่นเดียวกัน

การตัดน้ำผึ้งจากคอน
หลังจากนำผึ้งเข้าเลี้ยงในหีบแล้วประมาณ ๑-๓ เดือน ก็จะมีน้ำผึ้งพอเก็บได้ อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่สถานที่เลี้ยงและฤดูกาลออกดอกของต้นไม้ ยิ่งบริเวณที่เลี้ยงมีน้ำหวานอย่างสมบูรณ์ จะสามารถได้น้ำผึ้งเร็ว และมีปริมาณมาก การตรวจดูน้ำผึ้งให้ยกคอนขึ้นดู สังเกตหัวน้ำผึ้งที่อยู่ส่วนบนสุดของกลีบจะมีฝาปิดมิดชิดทุกช่อง ซึ่งบริเวณนี้จะชุ่มไปด้วยน้ำผึ้ง เราเพียงตัดออกเพียงครึ่งเดียวของจำนวนคอนที่มีอยู่ (สมมุติมี ๘ คอน เราควรตัดออกเพียง ๔ คอน) โดยการยกคอนที่มีน้ำผึ้งขึ้นจากหีบ ให้แปรงค่อยๆ ปัดตัวผึ้งที่ติดออกมาให้หมด วางลงบนถาด ใช้มีดบางปลายแหลมคมๆ กรีดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยเว้นด้านข้างไว้บ้าง ระมัดระวังอย่าให้มีตัวหนอนปนได้เป็นอันขาด หากใช้คอนที่มีลวดขึงยึดรวงผึ้งก็อาจตัดให้ตลอดแผ่นได้ หรือจะตัดโดยตลอดแล้วเอากลีบรวงส่วนล่างกลับผูกติดกับคอนไว้อย่างเดิมด้วยฟิวส์ แล้วยกคอนบรรจุลงในหีบเลี้ยงตามเดิม กลีบผึ้งที่ถูกตัดเอาเฉพาะส่วนของน้ำผึ้งไปแล้ว ผึ้งงานก็จะได้ไปสร้างเพิ่มเติมจนอยู่ในสภาพเดิม และจะหาน้ำหวานมาใส่ไว้ใหม่อีก

การคั้นน้ำผึ้ง
หลังจากตัดกลีบรังมาแล้ว ควรจะแคะตัวอ่อนหรือส่าที่ติดมาออกให้หมด นำใส่ตะแกรงลวดหรือกระชอนที่เตรียมไว้ไปวางบนปากภาชนะสำหรับรองรับน้ำผึ้ง แล้วใช้มีดบางคมๆ ปาดฝาหลอดรังวางปล่อยทิ้งไว้ให้น้ำผึ้งไหลออกมาเอง วิธีนี้จะได้น้ำผึ้งที่บริสุทธิ์ แต่เสียเวลา บางรายจึงใช้วิธีทำกลีบรังที่แคะเอาตัวอ่อนและส่าออกหมดแล้วมาใส่รวมในถุงผ้าขาวบางคั้นน้ำผึ้งออกมา

อนึ่ง การเลี้ยงผึ้งตามฟาร์มใหญ่ๆ อาจจะไม่ต้องใช้วิธีตัดกลีบรังแต่ใช้วิธียกทั้งคอนมาใส่เครื่องเหวี่ยงๆ เอาน้ำผึ้งออกมา แล้วสามารถยกคอนดังกล่าวไปใส่ไว้ตามเดิมได้อีก วิธีนี้จะช่วยทำให้ผึ้งไม่ต้องเสียเวลาไปสร้างรังเพิ่มเติม แต่ต้องเลี้ยงโดยวิธีช้อนหีบ และมีอุปกรณ์กันนางพญาขึ้นไปไข่ และมีเครื่องเหวี่ยงเอาน้ำผึ้งออก

การบรรจุน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งไทยส่วนใหญ่บรรจุในขวดใส ก่อนบรรจุต้องทำความสะอาดขวดอย่างดี คว่ำขวดให้แห้ง ทางที่ดีควรเอาขวดไปนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อก่อน เมื่อนำออกมาในขณะที่ขวดยังอุ่นๆ อยู่ ก็บรรจุน้ำผึ้งทันที แล้วปิดด้วยฝาสะอาด จะไม่เสียและไม่เกิดฟอง แต่เพื่อความแน่นอนควรนำขวดน้ำผึ้งที่บรรจุเรียบร้อยแล้วนี้ ไปผ่านน้ำร้อนประมาณ ๖๐ องศาเซลเซียสเสียก่อน

การทำไขผึ้ง
หลังจากจัดการเอาน้ำผึ้งออกเรียบร้อยแล้ว ให้นำเอาไขผึ้งมาใส่รวมกันในปี๊บหรือหม้อใหญ่ๆ ใส่น้ำลงไปพอประมาณ ตั้งไฟให้น้ำเดือดสักครู่ไขผึ้งจะละลายหมด ให้เทน้ำที่มีไขผึ้งละลายอยู่บนผ้าขาวบาง เพื่อกรองเอาเศษต่างๆ ออกมา โดยใช้ภาชนะรองรับน้ำนั้นไว้ทิ้งไว้จนเย็น ก็จะมีไขผึ้งบริสุทธิ์จับกันเป็นแผ่นลอยอยู่บนผิวน้ำในภาชนะ นำมาเก็บรวบรวมไว้จำหน่ายหรือใช้ทาหีบล่อผึ้งต่อไปก็ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี