การนับถือหนูของชาวญี่ปุ่น

Socail Like & Share

หนูเป็นสัตว์สี่เท้าตัวเล็กๆ จำพวกกัดแทะ มีอยู่หลายชนิด เช่นหนูพุก ซึ่งชอบอยู่ตามท้องนา หนูท้องขาว เห็นจะเป็นพวกหนูที่อยู่ตามบ้านเรือนเป็นหนูตัวเล็กกว่าหนูพุก

หนูนั้นในสายตาของพวกเราส่วนมากทุกวันนี้ เป็นสัตว์ที่ไม่มีดี เป็นสัตว์ที่ไม่พึงปรารถนาควรแก่การถูกกำจัดให้สูญไปจากโลก เพราะหนูทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารของกสิกรเสียปีหนึ่งๆ มากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะหนูข้าวกล้านั้น พอพวกเราปักดำจนข้าวตั้งท้อง พวกหนูนาทั้งหลายต่างพากันมากัดข้าวลอยเป็นแพ เจ้าของไปดูตอนเช้าแทบลมจับ กว่าจะหาข้ากล้ามาปักดำเพิ่มเติมก็เสียเวลาหรือบางทีก็ไม่มีข้าวกล้ามาปักดำอีก นอกจากนี้ไม่ข้าวของหรืออาหาร พวกหนูทั้งหลายมักจะกัดหรือกินเสียหมด โดยเฉพาะเสื้อผ้าหรือหนังสือ หนูชอบกัดไปทำรวงรังเสียหมด คนโบราณหรือคนสมัยนี้ก็เถอะ บางคนยังถือว่า หนูกัดเสื้อผ้านั้นเป็นอุบาทว์ชนิดหนึ่ง ไม่ควรจะใช้เสื้อผ้านั้นอีกต่อไป สมัยแรกทีเดียวเสื้อผ้าที่ถูกหนูกัดต้องนำไปทิ้งไม่ให้ผู้ใดใช้อีก ต่อมากลายเป็นเพียงสละให้คนอื่นไป ก็หมดความอุบาทว์แล้ว เห็นจะเอาไปทิ้งก็เสียดาย สู้ให้คนไปใช้ดีกว่า ต่อมาถ้าเสื้อผ้าถูกหนูกัด ถ้าพอปะชุนได้ ก็ใช้วิธีปะชุนเอา ก็คงจะหมดอุบาทว์เหมือนกัน แต่เสื้อผ้าที่ถูกหนูกัดแล้ว ถ้าเป็นชุดที่มีราคาแพงก็เห็นจะเป็นอุบาทว์จริงๆ เพราะไม่สามารถที่จะซ่อมแซมเอาไปใช้ออกสังคมได้อีกต้องเสียเงินตัดใหม่เป็นแน่

บางท่านว่าหนูนั้นไม่ดี สาเหตุที่ดีหนูไม่มี มีเรื่องเล่าว่า เพราะหนูไปกัดจีวรของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง จะเป็นองค์ไหนผู้เล่าก็ไม่ได้บอกไว้ เลยถูกพระพุทธเจ้าสาปไม่ให้หนูมีดีอีกต่อไป แต่หนูจะมีดีหรือไม่ก็ไม่ได้ผ่าดูสักที แต่เรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าสาปหนูนั้น เห็นจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นหวังจะให้คนช่วยกำจัดหนูเสียมากกว่า เพราะพระพุทธองค์นั้นทรง
การุณยภาพในสรรพสัตว์ทั่วไป เหตุที่สาปแช่งสัตว์คงจะเป็นไปไม่ได้ ท่านอย่าถือเป็นจริงจังเลย ที่นำมาเล่าก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าหนูนั้น คนส่วนใหญ่ว่าเป็นสัตว์ไม่มีประโยชน์มีแต่โทษโดยส่วนเดียว ควรแก่การกำจัดจริงๆ

ความจริงแล้ว หนูนั้นใช่ว่าจะมีคนเกลียดเสียทั้งหมดก็หาไม่ คนบางเผ่ายิ่งยกย่องหนูอยู่ก็มี อย่างศาสนาพราหมณ์บางลัทธิ ก็ยังยกย่องหนู ข้อนี้ผมไม่ได้ว่าเอาเอง ถ้าท่านเคยดูปฏิมากรรมเทพเจ้าของพราหมณ์ จะเห็นว่าพระพิฆเนศร์ ซึ่งเป็นเทพองค์หนึ่ง ทรงหนูเป็นพาหนะ ก็แสดงว่าพราหมณ์บางจำพวกยังยกย่องหนู ถ้าไม่ยกย่องจะให้พระพิฆเนศร์ทรงหนูทำไม

ว่ากันว่าชาวญี่ปุ่น นับถือหนูว่าเป็นสัตว์ที่นำโชคลาภมาให้ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าที่ใดมีหนูที่นั่นมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะจะไม่อดอาหาร ก็แน่ละ ถ้าที่ไหนไม่มีอาหาร พวกหนูก็คงจะพากันอพยพไปหากินที่อื่นต่อไป จะอยู่ให้อดอยากทำไม

หนูนั้นนอกจากจะทำลายสิ่งของและพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้ว ยังเป็นพาหะของโรคที่มาสู่มนุษย์เราอีก โรคร้ายที่หนูเป็นสัตว์นำมาสู่มนุษย์ก็คือกาฬโรค ซึ่งสมัยก่อนนี้ได้คร่าชีวิตของมนุษย์เราไปเสียมากต่อมาก

อย่างไรก็ตาม ของหรือสรรพสัตว์ในโลกนี้ที่จะมีโทษส่วนเดียวนั้นเห็นจะไม่มี ผิดกันอยู่ว่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ หรือประโยชน์มากกว่าโทษเท่านั้นเอง ถึงหนูก็เหมือนกันย่อมมีประโยชน์อยู่บ้าง ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์ของหนูก็คือเนื้อหนูใช้ทำเป็นอาหารได้ ท่านที่เกลียดหนูหรือรังเกียจหนู ถ้าได้ลิ้มรสเนื้อหนูสักครั้งหนึ่ง ว่ากันว่าจะติดใจเมืองไทย เป็นนักหนา เพราะเนื้อหนูนั้นอร่อยมีรสชาติกว่าเนื้อไก่หรือเนื้อหมู ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกอยู่ทุกวันนี้เสียอีก วิธีทำเป็นอาหารก็ไม่ยากเพียงแต่ถลกหนังผ่าท้องตัดหัวหางตัดเท้าออก เอาพริกเกลือกระเทียมพริกไทยทาแล้วย่างหรือทอดให้เหลืองก็เป็นอาหารอันโอชะทีเดียว ถ้าท่านท่าน รังเกียจว่าสกปรก ก็เอาหนูนาอย่างที่ชาวจังหวัดนครปฐมเรียกว่ากระต่ายนานั่นแหละมาเป็นอาหาร เพราะหนูนาสะอาด กินแต่ข้าวเป็นอาหาร ถ้าใครทำเป็นอุตสาหกรรมเนื้อหนูกระป๋องขายได้ ก็นับว่าได้ช่วยกำจัดศัตรูพืชตัวสำคัญของเราไปได้ประการหนึ่ง ทั้งนี้เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ประเทศชาติอย่างหนึ่งอีกด้วย นับว่าน่าคิดอยู่เหมือนกัน

นอกจากนี้ หนูนั้นยังบอกลางดีร้ายให้เราทราบอีกด้วย อย่างตำราฟังเสียงหนูร้องของเรากล่าวไว้ด้วย

สิทธิการะยะ-จะกล่าวตำรา มูสิกพาลา และร้องระเริงอลวน

กลางวันกลางคืนเป็นกล ในสถานตำบล ผู้ใดจะบอกร้ายดี
จงฟังกลเสียงกลี ทายตามคัมภีร์ ถ้าร้องเสียงจกๆ คง
จะได้ลาภแท้เที่ยงตรง ชอบจิตประสงค์ ข้าวของอันสิ่งสบใจ
หนึ่งร้องซิกๆ เรือนใด ให้เกรงความภัย หนึ่งร้องขุดๆ มิดี
อันตรายแก่เราจักมี ระมัดอินทรีย์ หนึ่งร้องจี๊ดๆ เล่านา
จะได้กินอาหารโอชา กินมัจฉมังสา หนึ่งร้องเสียงสุดๆ จะฟัง
ท่านจะกล่าวโทษโดยหวัง หนึ่งร้องเสียงดัง เขียดๆ ให้เกรงความพาล
ข้อใหญ่บำบัดอย่าหาญ ทายตามเหตุการณ์ ตามที่ตำรามามี
(จากตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์ ของอาจารย์หรีด เรืองฤทธิ์)

นี้เป็นเรื่องของผู้ที่ถือโชคลาง ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่เถิด ที่นำมาเล่าไว้ก็เพื่อประกอบเรื่องหนูให้สมบูรณ์เท่านั้นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี