การนับถือปลาของชนชาติจีน

Socail Like & Share

นอกจากพวกพราหมณ์จะเห็นความสำคัญของปลาดังกล่าวแล้ว ชนชาติจีนก็ยังนับถือปลาเหมือนกัน ท่านจะเห็นตามร้านค้าของคนจีนหรือบ้านเรือนของเขาจะทำรูปปลากลับหัวกลับหางกันสองตัวไว้ในที่บูชา นั่นคือเครื่องหมายแสดงความเป็นสิริมงคล ประเทศเกาหลีทำรูปปลาปลาคู่มงคลอมหางกันสองตัวเป็นเครื่องหมายหรือตราแผ่นดิน ก็เห็นจะเป็นความเชื่อทำนองเดียวกับของจีน ไทยเราเองก็นิยมทำเป็นรูปปลาตะเพียนทองแขวนไว้บนแปลของเด็กอ่อนก็น่าจะเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่เด็กเหมือนกัน

ปลาในแง่ที่เป็นอาหารนั้น นอกจากจะใช้ปลาสดเป็นอาหารแล้ว เรายังมีวิธีการเก็บปลาไว้เป็นอาหารได้นานๆ อีกหลายอย่างเช่น ทำเป็นปลาเค็ม ทำเป็นปลาตากแห้ง ทำเป็นปลาส้ม ปลาเจ่า ปลาร้า ปลาจ่อม นอกจากนี้เรายังทำเป็นน้ำปลาสำหรับปรุงรสอาหารให้อร่อยอีกด้วย เรียกว่าคนไทยเรารู้จักทำอาหารจากปลามานานทีเดียว จึงรู้วิธีการเก็บรักษาปลาไว้ทำเป็นอาหารได้นานๆ อย่างทุกวันนี้

ปลาคงเป็นอาหารที่ทุกชาติชอบกันมาก ทุกวันนี้แม้ว่าปลาจะหาได้ไม่ยาก แต่เราก็กลัวกันว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าปลาในทะเลหรือมหาสมุทรก็จะไม่พอเลี้ยงพลโลกได้ เพราะเรามีเครื่องมือจับปลาที่ทันสมัยจับปลาได้ทีละมากๆ เป็นเหตุให้ปลาสูญพันธุ์ หรือขยายพันธุ์ไม่ทัน มีผู้เล่าว่าในเมืองไทยเราสมัยก่อนนี้ แถวอยุธยาซึ่งนับเป็นเมืองปลา ถึงหน้าฤดูปลาสร้อยพายเรือเหวี่ยงแหลงไปครั้งเดียว ก็จะได้ปลาสร้อยมาเต็มเรือมากทีเดียว แต่เดี๋ยวนี้เหวี่ยงแหเกือบทั้งวันก็แทบไม่เต็มลำเรือ ทั้งนี้ก็เพราะคนเกิดมากขึ้นนั่นเอง ปลาจึงไม่พอให้คนกิน สมัยก่อนเราอาศัยปลาที่เกิดเองโดยธรรมชาติ แต่สมัยนี้ถ้าเราอาศัยแต่ธรรมชาติอย่างเดียวก็เห็นจะต้องอดปลาเป็นแน่ เราจึงต้องช่วยธรรมชาติด้วย คือเลี้ยงปลาเอง ไม่ต้องให้ธรรมชาติเลี้ยงเพียงอย่างเดียว ปลาเลี้ยงนั้นตัวโตเร็วกว่าปลาที่เกิดเอง เพราะอาหารอุดมสมบูรณ์กว่า และปลาที่เป็นอาหารของเรา ถ้าเป็นปลาน้ำจืดแล้ว เราเลี้ยงเองได้แทบทุกชนิด ส่วนปลาทะเลนั้นเรายังหาทำเลที่จะเลี้ยงไม่สะดวกนักแต่ก็มีคนคิดเลี้ยงปลาทะเลบางชนิดเหมือนกัน รวมทั้งกุ้งทะเลด้วย

พูดถึงการเลี้ยงปลาแล้ว สมัยก่อนนี้ คนไทยเราถึงไม่รู้จักเลี้ยงปลา แต่ก็รู้จักสงวนพันธุ์ปลากันแล้ว เช่นห้ามตกปลาหรือจับปลาที่หน้าวัด ว่าเป็นบาป และมีกฎหมายห้ามไว้ด้วย นอกจากนี้เวลาถึงฤดูแล้งคือตอนมีงานสงกรานต์เรามีประเพณีที่ดีอย่างหนึ่ง คือ การปล่อยนก ปล่อยปลา การปล่อยปลาของชาวไทยโบราณนั้นไม่ใช่ไปซื้อปลาที่เขาจับมาขายไปปล่อยหามิได้ แต่เขาไปจับปลาซึ่งอยู่ในที่น้ำจะแห้ง แล้วนำไปปล่อยในแม่น้ำลำคลอง ว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และต่ออายุให้ยืนนาน แต่นักคิดบางท่านให้เหตุผลไว้ว่า นั่นเป็นวิธีการช่วยกันสงวนพันธุ์สัตว์น้ำหรือปลาอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคนโบราณแฝงไว้ในรูปของประเพณี สิ่งใดก็ตามเมื่อทำเป็นประเพณีเสียแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับ คนทำด้วยความสมัครใจ

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี