การจับผึ้งมาเลี้ยง

Socail Like & Share

การจับผึ้งมาเลี้ยงในหีบที่เราเตรียมไว้ มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ คือ

๑. โดยวิธีล่อหรือต่อผึ้ง  อาจจะหาปี๊บที่ปราศจากกลิ่น ท่อนไม้ที่เป็นโพรงหรือท่อปูนซีเมนต์ ด้านบนภายในทาด้วยไขผึ้งบริสุทธิ์ ปิดหัวท้ายโดยเจาะรูด้านเดียวให้ผึ้งเข้าออกได้ หรืออาจจะทำเป็น “หีบบ่อ” แบบเดียวกับหีบเลี้ยง ทาด้านบนภายในด้วยไขผึ้งบริสุทธิ์ เช่นเดียวกัน การจับผึ้งมาเลี้ยงแล้วนำไปตั้งไว้ในที่ที่เราเห็นว่า ผึ้งน่าจะมาทำรังอาศัยอยู่ หรือเป็นบริเวณที่ผึ้งบินผ่านไปมาอยู่เสมอ โดยจะแขวนตั้งไว้บนต้นไม้ หรือปักเสาวางตั้งไว้ก็ได้แล้วแต่สะดวก โดยให้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑-๓ เมตร เมื่อนำไปตั้งไว้แล้วต้องหมั่นตรวจดูภายในหีบเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เพื่อคอยไล่ศัตรูที่อาจจะมาอาศัยก่อนที่ผึ้งจะเข้ามาทำรัง หากมีผึ้งเข้ามาอาศัยแล้ว ก็ต้องหมั่นตรวจดูเช่นกัน ปล่อยทิ้งไว้ที่เดิมสักพักหนึ่ง แล้วนำมาเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติ เมื่อเห็นว่าผึ้งสร้างกลีบรังและมีน้ำหวานมากพอแล้วจึงค่อยตัดเอาน้ำหวาน ส่วนกลีบรังค่อยตัดลงใส่คานในหีบเลี้ยงต่อไป

บางรายใช้วิธีสังเกตผึ้งที่บินมาสำรวจหาที่ทำรังใหม่ โดยผึ้งจะบินมาตัวเดียว จะไม่ยอมตอมดอกไม้ และบินสำรวจเรื่อยไปตามป่า ตามซอกมุม ตามฝา หน้าจั่ว ที่มืดๆ ให้พยายามใช้ถุงพลาสติกจับเอาไปปล่อยขังไว้ในหีบล่ออุดรูให้หมด ให้ผึ้งบินอยู่ในนั้นประมาณ ๑ ชั่วโมงจึงค่อยปล่อยให้ผึ้งบินออก เมื่อผึ้งบินออกไปแล้ว จะบินกลับรังและจะไปรายงานพรรคพวกให้บินมาดูหลายๆ ตัว เพื่อสำรวจความเหมาะสมของที่อยู่ใหม่ แล้วบินกลับรัง ประชุมบรรดาผึ้งทั้งหมดเพื่อขอคะแนนเสียง เมื่อในที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ก็จะพากันบินมาทำรังยังหีบล่ออันนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าลองดู และไม่เสียหายอะไรเลย อาจฟลุ๊กก็ได้ แต่มีผู้ทดลองทำสำเร็จแล้ว

๒. การจับผึ้งที่ทำรังอยู่แล้วมาเลี้ยง  ควรมีลูกมือช่วยในการนี้ด้วย ประมาณ ๑-๒ คน รวมทั้งตัวเราเองด้วยเป็น ๓ คน กำลังเหมาะ หลังจากได้จัดเตรียมเครื่องมือในการไปจับพร้อมแล้ว แล้วเดินทางไปยังแหล่งหรือจุดที่จะจับผึ้ง แต่งกายให้พร้อมแล้วลงมือปฏิบัติดังนี้ ใช้ควันรมเพื่อให้ผึ้งได้เมาสัก ๑-๒ นาที หรือจะใช้เครื่องพ่นน้ำหวาน พ่นใส่กลีบรังเพื่อให้ผึ้งเพลิดเพลินต่อการทำความสะอาดตัวเอง ไม่สนใจว่ามีศัตรูหรือเกิดแตกตื่นแล้วใช้มือค่อยจับกลีบริมนอกก่อน ใช้มีดคมปาดเบาๆ และช้าๆ บนกลีบตรงส่วนที่กลีบจับติดวัสดุอยู่ เช่น หลังคาบ้าน โพรงไม้ ฯลฯ และนำมาวางลงในถาดให้ผู้ช่วยนำมาตัดแต่ง เพื่อบรรจุลงในคอน (เฟรม) แล้วมัดด้วยฟิวส์ไฟฟ้า ในระหว่างที่ตัดกลีบรังให้พยายามหานางพญาไปด้วย และตัดกลีบรังจนหมดหากว่าตัดจนหมดยังหานางพญาไม่พบ ให้ใช้ถุงผ้าโปร่งพยายามกวาดรวบตัวผึ้งทั้งหมดหรือเท่าที่ได้นำมาขังไว้ในมุ้ง เพื่อสะดวกในการค้นหานางพญา ในกรณีที่จับในที่สูงๆ เช่น หน้าจั่วบ้าน หรือโพรงไม้ เมื่อหานางพญาไม่พบให้ใช้ควันรม เพื่อให้ผึ้งหนีออกไปจับตามกิ่งไม้ ในขณะที่ใช้ควันรมอยู่นี้ ผู้ช่วยจะต้องคอยติดตามสังเกตการณ์บินหนีออกจากที่เดิมไปจับที่แห่งใหม่ด้วย เมื่อผึ้งบินไปจับที่แห่งใดก็ตามต้องรีบติดตามเพื่อค้นหานางพญาให้พบ ซึ่งขณะนั้นผึ้งจะเกาะรวมกลุ่มกันอยู่อย่างเหนียวแน่น หากพบนางพญาให้ใช้สวิงเล็กครอบตัวนางพญาไว้ หรือจะใช้ถุงตาข่ายจับรวมมาทั้งหมด แล้วค้นหาก็ได้ สุดแล้วแต่ความสะดวก เมื่อได้นางพญามาแล้ว ให้ขังไว้ในกลักนางพญา แล้วนำไปผูกติดไว้กับคอนเปล่า ต่อจากนั้นนำคอนที่ผูกติดนางพญาไปล่อให้ผึ้งมาตอม เมื่อมีผึ้งงานมาตอมพอสมควร จึงยกคอนมาใส่แทรกไว้ตรงกลางระหว่างคอนที่บรรจุลงในหีบแล้ว และปล่อยผึ้งที่ขังไว้ในมุ้งและในถุงตาข่ายออก เพื่อให้ผึ้งมาตอมนางพญา แล้วยกหีบไปตั้งไว้ในที่แจ้งๆ และไม่ควรห่างจากที่ตัดรังมากนัก ตั้งไว้เช่นนั้นคอยจนกว่าจะพลบค่ำ เพื่อรอให้ผึ้งที่ยังไปหากินกลับมารวมกัน แล้วยกรังไปตั้งยังสถานที่เลี้ยงต่อไป หากการเคลื่อนย้ายหีบที่ผึ้งรวมตัวหมดแล้วไปยังสถานที่เลี้ยงที่ไกลมาก คอนที่ผูกรัดด้วยฟิวส์ควรมีเส้นลวดขึงร้อยที่ตัวคอนด้วย เพื่อกันมิให้กลีบรังแกว่งไปมาในขณะเดินทางขนย้ายซึ่งอาจทำให้หลุดได้ง่าย

ในบางกรณีการจับผึ้งบางรัง อาจพบนางพญา ๒-๓ ตัว แต่เหตุการณ์เช่นนี้มีน้อยครั้งมาก ตามปกตินางพญาจะมีเพียงตัวเดียว หากพบ ๒ ตัว ให้สังเกตผึ้งงานว่ารักนางพญาตัวใด ถ้าผึ้งงานรักตัวเดียวอีกตัวที่เหลือเราอาจปล่อยไปก็ได้ หรือนำไปให้อีกรังหนึ่งที่ยังไม่มีนางพญา (ซึ่งอาจตายหรือหายไป) ก็ได้ หากผึ้งงานรักนางพญาทั้ง ๒ ตัว อาจปล่อยให้อยู่รวมกันก็ได้ หรือจะแยกแบ่งครึ่งคอนและแบ่งครึ่งผึ้งให้เป็น ๒ หีบก็ได้ แต่ควรยกหีบที่แยกออกจากกันนี้ไปตั้งไว้ให้ห่างๆ ไม่ต่ำกว่า ๕ เส้น เพื่อป้องกันการรวมตัวจาก ๒ รัง เป็นรังเดียวในภายหลัง เมื่อนำหีบมาถึงยังที่เลี้ยงแล้ว ควรปล่อยหีบเหล่านั้นไว้สักระยะหนึ่ง ประมาณ ๓-๕ วัน จึงค่อยปล่อยนางพญาออกจากกลักที่ขังไว้ แต่ควรปล่อยในเวลากลางคืน หากปล่อยกลางวัน นางพญาอาจบินหนีไปก็ได้ บางแห่งใช้วิธีตัดปีกนางพญาออกนิดหนึ่งเพื่อกันบินหนี ซึ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง และเป็นการทรมานสัตว์ด้วย และหลังจากปล่อยนางพญาแล้วหมั่นเปิดฝาหีบดู ทุก ๗ วัน ในระยะแรกที่นำผึ้งมาเลี้ยงอาจจะต้องหาน้ำเชื่อมมาให้ผึ้งได้กินบ้างระยะหนึ่ง

๓. การจับผึ้งที่อพยพจากที่อื่นรอการรวมตัวไปยังที่อยู่แห่งใหม่ เมื่อพบว่ามีผึ้งรวมกลุ่มจับกันเป็นก้อนตามคาคบไม้ เพื่อรวมตัวรอพรรคพวกที่ยังบินตามมาไม่ทัน โดยมิได้สร้างกลีบรังแต่ประการใด อาจจะจับอยู่เช่นนั้นประมาณ ๑-๓ วัน แล้วก็จะพากันบินไป เรามีวิธีเอามาเลี้ยงได้ โดยค้นหานางพญาเช่นเดียวกับวิธีก่อน แล้วขังในกลักผูกไว้กับคอนล่อให้ผึ้งเข้าหีบ แล้วปลดปล่อยนางพญาเช่นเดียวกันกับวิธีที่ได้กล่าวมาแล้ว การจับผึ้งที่กล่าวมา ไม่จำกัดเวลาว่าจะปฏิบัติกลางวันหรือกลางคืน ได้ทั้งนั้นแล้วแต่ความสะดวก

การเลือกทำเลที่เลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงจะเลี้ยงที่ใดก็ได้ แต่ถ้าต้องการจะเลี้ยงให้ได้ผลดี ต้องมีความพิถีพิถันในการเลือกสถานที่เลี้ยงพอสมควร คือ ต้องคำนึงว่าสถานที่เลี้ยงของเรามีน้ำสะอาดและอาหารธรรมชาติของผึ้งเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีอาหารธรรมชาติไม่เพียงพอ จะประสบปัญหาในภายหลัง และจะขยายการเลี้ยงให้มากขึ้นไม่ได้ ควรเลือกสถานที่ที่มีต้นไม้ที่ออกดอกให้น้ำหวานอย่างสมบูรณ์ตลอดปี และจะต้องคำนวณปริมาณของผึ้งที่จะเลี้ยงให้พอเหมาะกับพืชผลที่เป็นอาหารด้วย โดยปกติทั่วๆ ไป ผึ้งรังหนึ่งควรมีเนื้อที่หากินไม่น้อยกว่ากว่า ๔-๕ ไร่ แต่ทั้งนี้แล้วแต่คุณภาพและชนิดของต้นไม้ดอกไม้ ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น บริเวณที่ควรเลี้ยงได้แก่ ป่าตาล ป่าจาก สวนมะพร้าว หรือสวนผลไม้ สวนดอกไม้ใหญ่ๆ หรือตามป่าไม้ที่มีดอกมากๆ เช่น  ป่าแสม ป่าโกงกาง เป็นต้น

บริเวณที่ไม่ควรเลี้ยงผึ้ง ได้แก่บริเวณที่มีความแห้งแล้งมากๆ หรือมีการทำนามากๆ จะมีอาหารไม่เพียงพอ ผึ้งจะอพยพหนีไปหมด บริเวณในตัวเมืองที่มีแสงไฟฟ้า การเลี้ยงผึ้งจะไม่ได้ผล เพราะเนื่องจากผึ้งเป็นสัตว์ที่ขยัน เมื่อเห็นแสงไฟในเวลากลางคืนก็จะออกจากรังบินออกมา เพราะคิดว่าเป็นเวลารุ่งอรุณแล้ว ผึ้งที่ออกจากรังมาเล่นไฟจะตายหมดถูกสัตว์อื่นกิน หรือบินทั้งวันทั้งคืนจะหมดแรงและตายไปในที่สุด อนึ่ง สำหรับบริเวณที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากๆ ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงผึ้งเช่นกัน บางทีพืชพันธุ์ที่ปลูกอยู่ออกดอก ผึ้งจะไปดูดกินน้ำหวานก็อาจจะได้รับอันตรายจากยาฆ่าแมลงเช่นกัน และหากจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงใกล้เคียงกับสถานที่เลี้ยงผึ้ง ควรจะได้มีการอพยพรังผึ้งออกไปจากบริเวณนั้นเสียก่อนชั่วคราวจะเป็นการช่วยรักษาประชากรของผึ้งให้มีอยู่มากที่สุด

สถานที่ที่เหมาะต่อการตั้งหีบเลี้ยงผึ้ง ก็ควรพิจารณาด้วยเช่นกัน ควรเลือกที่เป็นเนินหรือที่สูงๆ ซึ่งน้ำไม่ขังแฉะ มีทางระบายน้ำได้ง่าย เมื่อฝนตกชุก มีแสงแดดส่องได้ทั่วถึง แต่ควรมีร่มเงาจากต้นไม้ หรืออาจจะช่วยสร้างโรงเรือนให้ และควรมีต้นไม้ปลูกเป็นฉากกำบังลมไว้บ้าง อย่าตั้งหีบเลี้ยงให้อยู่ในทิศทางที่ลมพัดจัดมากนัก ถ้าไม่มีต้นไม้หรือป่าธรรมชาติ ควรปลูกต้นไม้ที่โตเร็วและขึ้นง่าย เช่น ต้นแค ทองหลาง กล้วยฯ ปลูกหลายๆ แถวสลับกันให้แลดูสง่างาม เพียงปีเดียวก็สามารถใช้กำลังลมได้ และผึ้งยังจะได้อาศัยอาหารจากเกสรดอกไม้นั้นๆ ได้อีกด้วย อนึ่ง สำหรับผู้เลี้ยงที่มีโครงการจะขยายการเลี้ยงในอนาคต ควรมีบริเวณสำหรับการปลูกต้นไม้ที่มีดอกให้ผึ้งเป็นการเพิ่มเติมด้วย

พื้นที่ดินบริเวณตั้งหีบเลี้ยง จะต้องคอยรักษาความสะอาดให้เรียบร้อย หญ้าจะต้องตัดให้เตียน อย่าปล่อยทิ้งให้รกมากเป็นอันขาด เพื่อศัตรูผึ้งจะได้ไม่มาอยู่อาศัย และสะดวกต่อการดูแลรักษาด้วย บริเวณที่เลี้ยงไม่ควรตั้งใกล้ทางคนเดินผ่านไปมาพลุกพล่าน ผึ้งอาจจะตื่นกลัวทำร้ายเอาโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าต้องการให้ผึ้งเมื่อบินออกจากรังแล้วบินขึ้นสูงเราก็อาจจะทำสิ่งกีดขวางไว้ ผึ้งจะบินสูงข้ามไปทันที ไม่เป็นการรบกวนผู้คนหรือสัตว์เลี้ยงที่ผ่านไปมาทางนี้ได้ด้วย

เมื่อมีการเลี้ยงผึ้ง ณ ที่ใดแล้ว ไม่ควรทำการเคลื่อนย้ายหีบเลี้ยงไปยังแหล่งอื่น หรือเปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ เพราะเกี่ยวกับความจำ และความเคยชินของผึ้ง อาจจะเปลี่ยนตามผู้เลี้ยงไม่ทัน จะเกิดความเสียหายได้ ควรหันหน้าหีบเลี้ยงไปทางทิศที่ผึ้งสามารถบินออกไปหากินได้สะดวก เช่น ทางทิศตะวันออก ผึ้งชอบมาก เพราะมีแสงสว่างให้เห็น เตือนให้ออกทำงานแต่เช้าตรู่ แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีรังผึ้งมากๆ อาจจะวางโดยหันหลังให้กัน แต่อย่าให้ใกล้กันมากนัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผึ้งบินสวนกลับ และเกิดหลงรัง หากมีการเลี้ยงผึ้งหลายรัง ควรจะมีการติดกระดาษสีตางๆ กันไว้ที่ปากหีบเลี้ยงเพื่อช่วยความจำของผึ้งได้ดีขึ้น

การเคลื่อนย้ายหีบเลี้ยงผึ้งไปตั้งที่ใหม่ ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ควรกระทำในระยะเวลาที่ผึ้งอยู่ในหีบทั้งหมด เช่น ในเวลากลางคืน ถ้าเป็นในต่างประเทศเขาจะย้ายหีบเลี้ยงผึ้งในฤดูหนาว ซึ่งเป็นระยะที่ผึ้งพักตัวอยู่แต่ในรัง ทำการย้ายได้สะดวกดี การย้ายควรระมัดระวังอย่าให้ผึ้งรู้สึกตัว และถ้าหากเป็นการย้ายไปไกลๆ เกินกว่า ๑๐ เส้นไปแล้วผึ้งรังนั้นจะไม่กลับไปอยู่ที่เก่า จะไม่มีการหลงรังและจะหาแหล่งอาหารใหม่

การเลี้ยงดูผึ้ง
การนำผึ้งไปเลี้ยงในที่ที่เราเตรียมไว้ เป็นการบังคับสถานที่อยู่ เราจึงควรดูแลเป็นพิเศษถ้าหากมีการเลี้ยงผึ้งอยู่บ้างแล้ว ควรจะนำหีบเลี้ยงใหม่ไปวางให้ห่างจากหีบเลี้ยงที่อยู่เดิมสักหน่อย เพราะเมื่อแรกนำไปวางผึ้งงานจะบินออกชุลมุนอยู่เสมอ ผึ้งงานจะบินเข้าผิดมันก็จะกัดกัน มากๆ เข้าผึ้งรังเก่าจะบินหนีไปหมด และในระยะแรกของการนำผึ้งมาเลี้ยงอาจจะต้องหาน้ำเชื่อมมาให้ผึ้งได้กินสักระยะหนึ่ง เนื่องจากผึ้งในรังต้องใช้น้ำหวานมาเลี้ยงตัวอ่อน และซ่อมแซมรัง จึงไม่มีเวลาออกไปหาเกสรดอกไม้ น้ำหวานที่เราจะให้เป็นอาหารเสริมแก่ตัวผึ้ง ให้ใช้น้ำตาล ๒ ส่วน ผสมกับน้ำสะอาด ๑ ส่วน นำไปตั้งไฟให้เดือด แล้วปล่อยไว้ให้เย็น น้ำเชื่อมที่ได้จะมีความเข้มข้นพอเหมาะกับความต้องการของผึ้ง

วิธีการให้น้ำหวานแก่ผึ้ง ให้หาถ้วยแก้วธรรมดา หรือใช้ถ้วยพลาสติกก็ได้ เอาน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ใส่ลงในถ้วยแก้วนั้น แล้วหาจานเล็กๆ ซึ่งมีขนาดโตกว่าปากถ้วยแก้วเล็กน้อยนำมาคว่ำปิดที่ปากถ้วยแก้วค่อยๆ ประคองแล้วคว่ำถ้วยแก้วลง จานเล็กก็จะหงายขึ้นจะมีน้ำเชื่อมซึมออกมารอบๆ เล็กน้อย นำเอาไปตั้งไว้ใกล้ๆ กับที่เลี้ยง ถ้าหากมีการเลี้ยงผึ้งมากรังจะต้องมีการเตรียมน้ำหวานให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นผึ้งที่ต่างรังจะมีการแย่งน้ำหวานกันขึ้น จนทำร้ายล้มตายลงไปเกิดความเสียหายได้ และข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ที่ที่วางน้ำหวานจะต้องมีการป้องกันมดขึ้นไปกินน้ำหวานด้วย

นอกจากน้ำหวานแล้ว ผู้เลี้ยงควรจะได้มีการจัดหาน้ำสะอาด และน้ำเกลือ (สำหรับผึ้งนำไปเลี้ยงลูกอ่อน) ให้เพียงพอด้วย

เมื่อนำหีบเลี้ยงผึ้งไปตั้งวางไว้ยังที่เลี้ยงถาวรแล้ว ประมาณ ๒-๓ วัน ให้คอยสังเกตดู ถ้าเห็นว่าผึ้งอยู่กันเป็นปกติและเริ่มทำงาน โดยสังเกตได้จากเกสรดอกไม้ที่ติดขาผึ้งงานเมื่อเวลาบินกลับรัง จึงค่อยแกะกล่องขังนางพญาออกในเวลากลางคืน หลังจากนั้นปล่อยให้มันอยู่ตามปกติ สำหรับที่ตัดเอากลีบรังมาเลี้ยงในหีบแบบมีคอน เมื่อสังเกตดูว่าผึ้งงานได้ทำการซ่อมแซมรัง (บัดกรี) ติดกับขอนไม้ดีแล้ว ให้แก้ฟิวส์ที่มัดไว้ออก หากยังซ่อมแซมไม่ติดดี ควรปล่อยไว้อีกสักชั่วระยะหนึ่งก่อนจึงค่อยดึงออก

ยาฆ่าแมลงกับผึ้ง
ผึ้งชอบดอกไม้ที่มีน้ำหวานและเกสร  ทั้งชนิดที่มีกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่น ดอกไม้บางชนิดที่มนุษย์ปลูกจะเป็นผลไม้หรือไม้ดอก บางครั้งจำเป็นต้องฉีดยาเพื่อป้องกันศัตรูพืชรบกวน ยาฆ่าแมลงบางชนิดมีทั้งกลิ่นและไม่มีกลิ่น บางชนิดเป็นสารจำพวกดูดซึม ฤทธิ์ยาอยู่ได้หลายวัน ผึ้งอาจไปตอมและดูดเอาน้ำหวานและละอองเกสรจากดอกไม้นั้นๆ บางตัวอาจถูกฉีดโดยตรงและบินกลับรัง ระหว่างทางที่บินกลับรังผึ้งอาจจะตายก่อนถึงรังก็ได้ บางตัวถึงรังแต่ยังไม่ตายผึ้งงานที่อยู่ในรังทราบเข้าจะรุมกัดผึ้งตัวที่ถูกยาฆ่าแมลงให้ตาย แล้วช่วยกันคาบไปทิ้งที่ไกลห่างจากรังทันที  ถึงแม้ว่าสารพิษที่ตกค้างถูกเล็ดลอดเข้าไปปะปนอยู่ในน้ำผึ้งในกลีบรัง โอกาสเสื่อมคุณภาพของตัวยาอาจเจือจางหายไปได้ เช่น ผัก ผลไม้ ที่มนุษย์ฉีดยาฆ่าแมลงไว้แล้ว สามารถเก็บมาบริโภคได้ภายหลัง ๗ วันไปแล้ว จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าหลังจากตัดน้ำผึ้งของรวงผึ้งที่ปิดฝามาแล้ว จะเป็นน้ำผึ้งที่ปลอดภัยสำรับบริโภค

จากการวิเคราะห์และตรวจสอบผลทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ยาฆ่าแมลงที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีพิษมีภัยต่อผึ้งมากน้อยแตกต่างกันดังนี้

๑. ท็อกซาฟิน เมธอซีคลอร์ และกำมะถัน สามารถใช้ได้ปลอดภัย
๒. ดีดีที คลอร์เดน ยังเป็นปัญหา เพราะบางแห่งใช้แล้วผึ้งปลอดภัย แต่บางแห่งใช้แล้วผึ้งตาย
๓. บีเล็ชซี ลินเดน อัลดริน ไม่ปลอดภัย
๔. พาราไธลอน ดีลดริน มาลาไธลอน กูซาไธลอน และยาฆ่าแมลงที่มีสารหนูผสมอยู่ด้วยทุกชนิด เป็นยาฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพ ในการทำลายสูงมาก และไม่ปลอดภัยต่อผึ้งในทุกกรณี

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี