การกลับตัวกลับใจและการรู้จักโทษตัวเอง

Socail Like & Share

คนทั่วไปมักประสบความพลาดหวัง หรือผิดพลาดในชีวิตอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง ด้วยมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม บางคนยอมเสียคนไปเลย เพราะคิดว่า ไหนๆ ก็เสียคนไปแล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ดุจคนตกส้วม นึกว่าไหนก็ตกลงมาแล้วก็ยอมตายคาส้วม อย่าตะกายขึ้นมาจากส้วมเลย การกระทำอย่างนี้เรียกว่า ตอบแทนความผิดด้วยความผิด แต่บางคนคิดกลับตัว โดยถือเอาความผิดพลาดครั้งนั้นๆ เป็นบทเรียน แล้วเริ่มชีวิตใหม่ในทางที่ดี คนอย่างนี้ย่อมประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อประสบความสำเร็จอย่างนี้แล้ว ก็ไม่มีใครเขามาคอยจ้องจับผิดว่าคนนี้เคยเสียคนมาแล้วอย่างนั้นๆ เพราะเขาลืมแล้ว แต่เจ้าตัวกลับนึกอยู่เสมอว่าเขาจะยังนึกรังเกียจอยู่ แต่บางคนกลับชมคนผู้กลับตัวได้เสียอีกว่า เป็นคนมีใจเข้มแข็งกลับตัวได้

ในกรณีอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็เคยทรงประสบความผิดพลาดมาแล้ว ด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานตน เพื่อหาโมกขธรรม เมื่อไม่ทรงประสบความสำเร็จด้วยวิธีนั้น ก็ทรงเลิกวิธีนั้นและกลับมาทรงปฏิบัติด้วยวิธีการใหม่ โดยถือเอาวิธีการเก่าเป็นบทเรียนว่า ไม่เป็นไปเพื่อให้ถึงความพ้นกิเลสได้ เมื่อทรงทราบว่าพลาดแล้วก็กลับปฏิบัติด้วยวิธีการใหม่อีก แล้วในที่สุดก็ทรงประสบความสำเร็จ ในเรื่องอย่างนี้พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญไว้ดังในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า ผู้ใดเคยผิดพลาดประมาทมาก่อน ภายหลังกลับตัวได้ ผู้นั้นย่อมทำชีวิต(โลก) ให้สว่างเหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ดังนั้นผู้ที่เคยประสบความผิดพลาดในชีวิตมาก่อนก็ไม่ควรท้อใจ ควรกลับตัวกลับใจต่อสู้กับชีวิตใหม่ด้วยสุจริตกรรม ก็จะพบความสำเร็จในชีวิต

การรู้จักโทษตัวเอง
คนโดยมากมักคอยโทษผู้อื่น มักเห็นแต่โทษของผู้อื่น มักเข้าข้างตัว อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ดังมีปรากฏในพระธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า โทษของคนอื่นเห็นง่าย โทษของตนเองเห็นยาก

และตรัสว่า อาสวะย่อมเจริญสำหรับคนที่เห็นแต่โทษของผู้อื่น คอยเพ่งโทษเขาเป็นนิตย์ คนอย่างนี้ย่อมห่างไกลจากธรรมที่จะให้สิ้นอาสวะ

พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาตนเอง ท้วงติงตนเองด้วยพุทธภาษิตว่า ควรท้วงติงตนเอง ควรพิจารณาดูความผิดความถูกด้วยตนเอง

แม้เรื่องหลักกรรมก็เป็นเรื่องพิจารณาตัวเอง หรือให้รู้จักตัวเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง แล้วจะได้แก้ไขปรับปรุงความเสียของตนให้ดี และส่งเสริมความดีของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น ทรงสอนไม่ให้ลืมตัว เมื่อตัวมีฐานะสูงขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนอะไร(เมื่อสิ่งนั้นยังไม่เป็นอริยมรรค อริยผล) ดังที่ตรัสไว้ ความไทยว่า คนไม่ควรลืมตน และว่า สักการะ ลาภยศ ย่อมทำลายบุรุษเลว

เมื่อรู้จักโทษตัวเอง เรื่องที่จะยืดยาวก็จะสั้น และทำให้เป็นผลดีแก่ตน ข้อนี้เป็นวิธีหนึ่งสำหรับปรับปรุงตัวเอง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา