เรื่องเล่าเกี่ยวกับกามเทพ

Socail Like & Share

กามเทพ

กามเทพ, พระ
กามเทพรูปกายชายหนุ่ม     ชวยชุมชุ่มชิดสนิทสนม
รูปงามทรามรักนิยม        น่าชมสมศักดิ์ลักขณา
พาหนะนกแก้วแพรวขน    ขี่ขับสับสนในหล้า
คอยชุมหนุ่มสาวคราวครา    สมรสเสน่หาปรานี
มั่นมือถือธนูต้นอ้อย        อร่อยรสหวานซ่านศรี
ตัวผึ้งขึงต่อพอตดี        ยิงใครได้มีโอชา
ศรนั้นดอกไม้แทนคม        ยิงใครได้สมปรารถนา
ถูกศรกามเทพเทวา        ปลาบปลื้มลืมสารทุกข์พลัน
อัปสรร้อยหนึ่งเป็นบริวาร    ตามเสด็จขนานขมีขมัน
ธงแดงรูปมังกรพลัน        ตามเสด็จเทวัญกามทัย

(จากเรื่องนางกุนตี ของขุนสุนทรภาษิต “ถนอม เกยานันท์”)

กามเทพ ดูๆ จะเป็นเทวดาที่เรารู้จักกันดี แต่ทว่าเทวประวัติซิครับออกจะสับสนเอาการ ก็เป็นธรรมเนียมของเทวดาละครับ แม้แต่เรื่องของคนธรรมดายังยุ่งเหยิงนี่ครับ

เอาเฉพาะเป็นลูกของใคร ก็ชวนปวดหมองแล้วละ บ้างก็ว่าเป็นโอรสของพระธรรมราช (พระยม) กับนางศรัทธาผู้เป็นชายา บ้างก็ว่าเป็นลูกของพระลักษมี ผู้เป็นมเหสีของพระนารายณ์ บ้างก็ว่าเกิดจากพระหทัยของพระพรหม (พระผู้สร้าง) บ้างก็ว่าเกิดมาจากน้ำ บ้างก็ว่าเป็น อาตมภู (คือเป็นขึ้นเอง) จึงมีนามว่า อชะ (ไม่มีกำเนิด) บ้าง อนันยชะ (มิได้เกิดแต่ใคร) บ้าง

ในตำนานปุราณะ กล่าวว่า กามเทพ มีชายาชื่อ รติ หรือ เรวา และมีเพื่อนสนิทชื่อ วสันต์ (วสันต์แปลว่าฤดูดอกไม้ผลิ)

คำว่า “กาม” แปลตามศัพท์ว่า “ความใคร่” คือใคร่ในกิจทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะแต่ใคร่ในการเสพเมถุนเท่านั้น หรือกล่าวกว้างๆ ก็คืออะไรก็ตามที่ทำให้ใจเพลิดเพลินยินดี ลุ่มหลง จัดว่าเป็น “กาม” ทั้งสิ้น รูปที่สวยงาม เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมชื่นใจ รสที่อร่อย เครื่องสัมผัสที่อ่อน ทั้ง ๕ ประการนี้เรียกว่า เบญจกามารมณ์

อาวุธของกามเทพก็คือธนู คันธนูทำด้วยต้นอ้อย สายธนูใช้ตัวผึ้งขึง ลูกธนูใช้ดอกไม้ คิดๆ ดูแล้วก็เป็นอาวุธที่หวานซึ้งนัก สมกับเป็นเทพแห่งความรัก โดยเฉพาะอ้อยเปรียบได้สมจริงแฮะ เพราะอ้อยได้รับรสหวานก็จริง แต่ก็จืดชืดได้ เหมือนความรักก็มีโอกาสจางได้เหมือนกันแหละ อย่างที่กวีเขาว่า

“เหมือนเขาเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก    แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ถึงยามฝืดจืดกร่อยทั้งอ้อยตาล            เคยโปรดปรานเปรี้ยวเค็มรู้เต็มใจ”
(อิเหนา-ร.๒)

“เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน        แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”
(พระอภัยมณี-สุนทรภู่)

กวีแขกก็กล่าวไว้ว่า
“กานฺโตสิ นิตฺยมธุโรสิ รสากุโลสิ
กิญฺจาสิ ปญฺจศรการฺมกมทฺวีตียมฺ
อิกฺโษ ตวาสฺติ สกลํ ปรเมกมูนํ
ยตฺ เสวิโต ราชสิ นีรสตำ กฺเรมณ”

“ดูกรอ้อย ตัวเจ้าเป็นของที่เขารักใคร่ เต็มไปด้วยรสหวานอยู่เสมอ อนึ่งก็เป็นธนูของพระกามเทพไม่มีอะไรเสมอ อะไรๆ ของเจ้าดีทุกสิ่ง ขาดอย่างเดียวแต่เคี้ยวๆ ไปก็จืด”

ส่วนลูกธนูนั้นทำด้วยดอกไม้ เรียกว่า บุษปศร ดอกไม้ที่ใช้นี้มี ๕ ชนิด คือ ดอกบัวหลวง นีลุบล ดอกมะม่วง ดอกมะลิวัลย์ ดอกอโศก

ที่ใช้ดอกบัวเป็นลูกศรนั้น กล่าวกันว่า ชาวอินเดียแต่ก่อนนานมาแล้วถือกันว่า ดอกบัวเป็นพันธุ์ไม้กอแรกที่เกิดขึ้นในโลก และนิยมกันว่าดอกบัวเป็นเครื่องหมายแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีกลิ่นหอมเย็น เกสรเป็นกลุ่ม กลีบอ่อนละมุนละไม สีสดใส ไม่ฉูดแด เทพเจ้าที่สำคัญของพราหมณ์มักเกิดในดอกบัวบ้าง มีที่ประทับเป็นดอกบัวบ้าง เช่นเรียกพระพรหมว่า กมลาสน์ (มีดอกบัวเป็นที่นั่ง) พระลักษณมีที่ถือกันว่าเป็นเทพนารีผู้อำนวยโชค เป็นเทวนารีที่งดงาม มีวาจาอันไพเราะ ก็นั่งหรือยืนอยู่บนดอกบัว ส่วนมือก็ถือดอกบัวด้วย ส่วนดอกมะม่วงและใบมะม่วง ชาวอินเดียถือว่าเป็นไม้มงคล ในพิธีแต่งงาน ถึงคราวรดน้ำ นิยมใช้ใบหรือดอกมะม่วงซึ่งถือกันว่าเป็นไม้ของกามเทพ จุ่มน้ำมนตร์ประพรมคู่บ่าวสาว บางที่ก็ใช้ดอกอโศกหรือใบอโศกแทน เพราะต้นอโศกเป็นเครื่องหมายของความรักอย่างหนึ่ง ที่นี้หนุ่มสาวนิยมพลอดรักกันที่ใต้ต้นอโศก ในเรื่องกามนิต กามนิตกับวาสิฏฐีก็พลอดรักให้สัญญากันที่ใต้ต้นอโศกไงละ ส่วนดอกมะลิวัลย์ชาวภารตะเรียกกันว่า กามลดา หรือ มาฮวีลดา ก็เป็นเครื่องหมายของความรักเหมือนกันแหละ ก็อย่างบทละคร เรื่องรัตนาวดี ของ พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ตอนที่นาง สาคริกา สิ้นหวังในความรักที่มีต่อพระเจ้าอุทัยน์ ได้พยายามฆ่าตัวตาย ก็ใช้เถามะลิวัลย์ผูกคอกับกิ่งอโศก ก็ไม้เหล่านี้เป็นเครื่องแสดงความรักไงละครับ

อ้อย้อยไปต้นนิด เรื่องกามเทพเป็นลูกของใครนะ บางปุราณะ ว่าเป็นโอรสของพระพรหมที่เกิดจากนางมนะ พระพรหมรักบุตรองค์นี้มาก ถึงกับให้พรว่า “ลูกรักเอย ข้าจะให้เจ้าเป็นเครื่องเชื่อมความชื่นฉ่ำระหว่างหญิงกับชายด้วยกฤดาภินิหารแห่งทิพยมนตร์นี้ เจ้าจงเข้าไปสิงสถิตอยู่ในดวงใจของคนทุกคน ข้าจะมอบธนูให้เจ้า ๕ เล่ม คือ ตปานี ทพาณี วิสวโมหินี วิสุวมารทินี และ มาทินี เจ้าจงใช้ธนูวิเศษเหล่านี้เป็นเครื่องยั่วยวนชวนให้หญิงชายเคลิบเคลิ้มหลงใหลไฝ่ฝันถึงกันและกัน พรของพ่อนี้หามีใครบังอาจลบล้างหรือขัดขืนได้ไม่” นี่แหละครับที่เป็นอำนาจทำให้คนรักกันละครับ

กล่าวกันอีกว่า เมื่อครั้งพระอิศวรไม่กินเส้นกับพระทักษะพ่อตา จนเป็นเหตุให้พระสตีฆ่าตัวตาย และพระอิศวรต้องออกบำเพ็ญตบะกิจนั้น (ดูเรื่องพระอิศวรและพระอุมาประกอบ) ไม่เอาใจใส่โลก ในที่สุดบรรดาเทวดาก็เดือดร้อน สัมมนากัน ได้ผลว่า พระสตีได้มีกำเนิดใหม่เป็นบุตรีท้าวหิมาลัย มีนามว่า อุมาเหมวดี หรือ บรรพตี เทวดาเห็นว่าพระอุมาควรเป็นมเหสีของพระอิศวร จึงตกลงกันให้กามเทพเป็นผู้ดำเนินการ กามเทพจึงให้วสันต์ผู้เป็นเพื่อนเนรมิตสวนดอกไม้นานาพันธุ์ ก็เป็นธรรมดาครับ ไม่ว่าคนหรือเทวดา ความรักจะเกิดความชุ่มฉ่ำต้องอาศัยบรรยากาศอยู่เหมือนกัน แล้วกามเทพก็เชิญพระอุมาไปคอยอยู่ ณ ที่อันควร กามเทพก็ยิงพระอิศวรด้วยบุษปศร พระอิศวรคงจะเกิดความสยิว ลืมองค์ลืมตาที่สามขึ้น ทำให้เกิดเป็นเพลิงไหม้กามเทพให้สลายไป กามเทพจึงได้นามว่า อนงค์ หรือ อนังค์ (ไม่มีตัวตน) แต่ต่อมาคำว่า อนงค์ หมายถึงสตรี นัยว่าพระกามเทพนั้นเป็นผู้ครองความงามเป็นเจ้าของความสวยงามทั้งสิ้น ไม่มีใครเทียบเสมอ แต่เรายกความงามให้สตรีเป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงนำคำว่าอนงค์ อันเป็นชื่อของผู้ชายคือกามเทพ มาเรียกสตรี หรือหมายถึงผู้หญิง แต่ต่อมาพระอิศวรเกิดความรัก เลิกประพฤติเป็น สันยาสี (ในมานวธรรมศาสตร์ จัดพราหมณ์เป็น 4 ชั้น คือ พรหมจารี=นักเรีย คฤหัสถ์=ผู้ครองเรือน วานปรัสถ์=ผู้อยู่ป่า สันยาสี=เที่ยวภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน) จึงหายโกรธกามเทพโปรดให้กามเทพได้เกิดใหม่เป็น พระประทยุมน์ โอรสของพระกฤษณะกับนางรุกมินีหรือมายา และประทยุมน์นี้เป็นพระบิดาของพระอนิรุทธิ์ (อุณรุท)

มีเกร็ดต่างไปนิด เรื่องมีอยู่ว่าพระสตี ซึ่งเป็นพระธิดาของพระทักษะ ได้เลือกพระอิศวรเป็นคู่ครองตามที่พระทักษะจัดพิธีสยุมพรให้ แต่พระทักษะรังเกียจลูกเขยคราวหนึ่งจัดงานพิธีอัศวเมธ ได้เชิญทวยเทพต่างๆ ไปในพิธีพลีกรรมนี้ แต่ไม่เชิญพระอิศวร พระสตีเสียใจ ได้ขออนุญาตพระอิศวรไปในงานนี้ พระอิศวรก็อนุญาต เธอไปในงานนี้ แต่ไม่ได้รับการต้อนรับด้วยดี ทั้งยังถูกพ่อดูถูกสามีอีก เป็นเหตุให้นางสตีฆ่าตนเองตาย พระนารถฤาษีได้นำเหตุการณ์ไปเล่าให้พระอิศวรฟัง พระอิศวรโกรธมาก ทิ้งผมมาปอยหนึ่งแล้วขว้างลงยังพื้นดิน ในบัดดลก็บังเกิดเป็นอสูรร้ายชื่อว่า วีรภัทร มีร่างกายสูงใหญ่ยันฟากฟ้า สีกายดำมะเมื่อม มีแขนพันแขน มีสามตา เส้นผมสีแดงดังเปลวไฟ ที่คอคล้องพวงมาลาอันทำด้วยหัวคน อสูรตนนี้ก้มลงกราบ พระอิศวรตรัสว่า “เจ้าจงคุมทัพคณะเทพของข้าไปยังสำนักพระทักษะ และทำลายพิธีกรรมให้สิ้นซาก อย่าได้ประหวั่นต่อพวกพราหมณ์ เพราะเจ้าเป็นภาคหนึ่งของข้า” อสูรตนนั้นตรงไปทำลายพิธี และได้ตัดคอพระทักษะขาดกระเด็น เหยียบพระอินทร์เสียงอม กระหน่ำคณะของพระยมจนป่นปี้ และขับไล่ทวยเทพกระเจิงไป เสร็จแล้วก็กลับไปยังเขาไกรลาศ ณ ที่นั้น พระศิวะกำลังประทับสำรวมอิริยาบถ มั่นอยู่ในฌานอันอุกฤษฎ์ ลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยสิ้นเชิง

ส่วนพวกเทวดาที่พ่ายแพ้พากันไปเฝ้าพระพรหมขอให้ช่วย พระพรหมกับพระนารายณ์นะมิได้เสด็จไปในงานพิธีด้วย เพราะรู้เรื่องว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระพรหมแนะนำให้เป็นมิตรกับพระศิวะไว้ เพราะพระศิวะเป็นผู้ทำลายโลกได้เมื่อต้องการ แล้วพระพรหมก็ไปยังเขาไกลลาศพร้อมกับพวกเทวดาเหล่านั้น พระอิศวรเข้าฌานอยู่ในสวนกินนร ณ เขาคันธมาทน์ ใต้ต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งสูงถึง ๑๐๐ โยชน์ มีกิ่งก้านแผ่ออกไปด้านละ ๔๐ โยชน์ พระพรหมวิงวอนให้ยกโทษแก่พระทักษะ และช่วยบำบัดแขนขาของเทวดาฤาษีที่หักเดาะไป แล้วทูลว่า “อันพลีกรรมทั้งนั้นจะเป็นของพระองค์ ขอจงรับไว้และโปรดให้การพิธีได้ดำเนินไปจนสำเร็จเถิด” พระศิวะตรัสตอบว่า “พระทักษะเป็นเพียงเด็กเล็ก ข้าพระองค์มิได้ถือเธอเยี่ยงผู้ได้ทำบาปเลย แต่เศียรของเธอนั้นไม่มีทางแก้ไข เพราะได้เผามอดไปเสียแล้ว ข้าพระองค์จะเอาหัวแพะมาต่อให้แทนที่ ส่วนแขนขาของเทวดา และฤาษีต่างๆ ที่ได้รับอันตราย ก็จะจัดการบำบัดให้ทั้งสิ้น”

ทวยเทพและฤาษีต่างพาชื่นชมยินดีในความเมตตาของพระศิวะ และอัญเชิญพระองค์ให้เสด็จไปสู่สถานพิธี ณ ที่นั้น พระทักษะก็ต้อนรับด้วยความเคารพ แล้วเริ่มทำพิธีต่อไป พระนารายณ์ได้ทรงครุฑเสด็จมา ณ ที่ประชุมนั้นด้วย และตรัสกะพระทักษะว่า “ผู้ที่มิได้รับการศึกษาเท่านั้น ซึ่งถือว่าเรากับพระศิวะแยกกันเป็นคนละองค์ที่แท้นั้น พระศิวะ พระพรหม และเราคือมหาเทพองค์เดียวกัน แต่แยกออกทรงนามต่างกัน ในฐานะเป็นผู้สร้าง ผู้บริหาร และผู้ทำลาย เราทั้งสามคือพระเป็นเจ้า ๓ ภาค สถิตย์อยู่ในสรรพสัตว์ทั่วไป ดังนั้น ผู้ฉลาดจึงนับถือสิ่งใดๆ อื่นเสมอด้วยตนเอง” บรรดาทวยเทพและฤาษีต่างกระทำคารวะ แด่พระศิวะ พระพรหม แล้วพากันกลับไปยังที่อยู่ของตน พระศิวะก็เสด็จกลับไปยังเขาไกรลาศเข้าฌานสงบสืบไป

ฝ่ายพระสตี เมื่อทำลายตนสิ้นชีพแล้ว ก็ไปอุบัติเป็นธิดาของพระมหาบรรพตหิมาลัย มีนามว่า พระอุมา หรือ ไหมวดี หรือ ปารวดี เป็นกนิษฐภคินีของพระคงคา ตั้งแต่เด็กๆ พระอุมาก็มีความจงรักภักดีเฉพาะแต่องค์พระศิวะเท่านั้น ในเวลาราตรีเธอมักจะลอบหลบไปบูชาพระศิวลึงค์ด้วยดอกไม้ ผลไม้ และอัคนีโหมอยู่เสมอ วันหนึ่งมีเทพเจ้าองค์หนึ่งได้ทำนายไว้ว่า เธอจะได้เป็นชายาของพระศิวะ ซึ่งทำให้บิดาภูมิใจยิ่ง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพระศิวะกำลังบำเพ็ญฌานขั้นสูงอยู่ สงบสำรวมโดยให้จิตแน่วไม่ให้พัวพันในสรรพสิ่งใดๆ ทั้งหมด แม้พระอุมาจะปฏิบัติพระศิวะด้วยประการต่างๆ แต่พระมหาเทพก็หาได้ละทิ้งฌานหรือหันเหมารักเธอไม่

อยู่ๆ มามีอสูรตนหนึ่งชื่อว่า ตารกะ มาทำความเดือดร้อนให้แก่ทวยเทพและมนุษย์ เช่นแผลงฤทธิ์ให้ฤดูกาลปรวนแปรไป เพียรทำลายยัญพิธีพลีบูชาต่างๆ ไม่มีใครสามารถจะปราบได้ เพราะอสูรตนนี้บำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระพรหม ทวยเทพจึงพากันไปหาพระพรหมขอร้องให้ช่วย พระพรหมตรัสว่า การที่จะให้พระองค์ไปปราบอสูรตนนั้นย่อมไม่เหมาะ เพราะเป็นผู้ประทานพรให้เอง แต่ทรงสัญญาว่าจะให้บังเกิดโอรสแก่พระศิวะกับนางอุมาองค์หนึ่ง ซึ่งจะเป็นผู้ปราบตารกะอสูรได้ พระอินทร์และทวยเทพพากันไปขอร้องพระกามเทพให้ช่วย กามเทพได้โอกาสเหมาะ ขณะที่พระศิวะพักผ่อนการเข้าฌาน และนางอุมากำลังบูชาพระศิวะอยู่ จึงยิงศรรักไปยังพระศิวะ แต่พระศิวะเหลือบเห็นเข้า ก็เบิกพระเนตรดวงที่สาม ทำให้กามเทพไหม้เป็นจุลแล้วพระองค์ก็เสด็จไปทันที นางตรีชายากามเทพสลบไป ครั้นฟื้นขึ้นก็ร้องไห้แล้วก็มีเสียงจากฟ้าว่า “อันชู้รักของนางมิได้สูญสิ้นไปหรอก เมื่อใดพระศิวะได้อภิเษกสมรสกับพระอุมา เมื่อนั้นแหละพระองค์จะทรงชุบร่างของเธอให้มีวิญญาณขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อเป็นของขวัญแก่เจ้าสาวของพระองค์”

ฝ่ายพระอุมา ตั้งแต่นั้นก็ไม่สนใจในเรื่องความสวยงาม เพราะความสวยงามไม่ช่วยให้พระศิวะรักได้ นางหันไปถือพรต ละทิ้งบรรดาเครื่องอาภรณ์ เพชรนิลจินดาทั้งสิ้น ปล่อยผมให้รุงรังไม่หวีสาง นุ่งแต่เปลือกไม้อย่างฤาษีชีไพร เข้าไปตั้งสำนักอยู่ในแดนภูเขาแห่งหนึ่งในที่เปลี่ยวแต่ผู้เดียว บำเพ็ญชีวิตแต่ในการเข้าฌาณสมาบัติถวายเฉพาะพระศิวะ

วันหนึ่ง มีพราหมณ์วัยหนุ่มคนหนึ่งมาหานาง แสดงความชื่นชมในความพากเพียรที่ได้กระทำมา แล้วถามถึงต้นเหตุว่าทำไมถึงสละความสุข นางก็เล่าให้ฟังตลอดและว่าเมื่อพระกามเทพสูญสิ้นไปเสียแล้ว นางก็ไม่มีทางใดที่จะให้พระศิวะโปรดปรานได้ พราหมณ์หนุ่มชักนำจะให้นางเกลียดพระศิวะด้วยประการต่างๆ โดยกล่าวเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวอันเป็นการกระทำที่ไม่น่านับถือ เช่น ใช้งูพิษเป็นเครื่องประดับ ใช้หนังสดเลอะด้วยเลือดต่างภูษา เพียรสัญจรไปตามป่าช้า นางอุมาได้ฟังก็โกรธ กล่าวแก้แทนพระศิวะ ในที่สุดกล่าวย้ำว่าความรักของนางจะไม่เปลี่ยนแปรไปได้เลย พราหมณ์หนุ่มผู้นั้นจึงสำแดงกายจริง ซึ่งก็คือพระศิวะ แล้วมอบความรักให้แก่นาง นางก็กลับคืนยังที่อยู่เดิมของนางเล่าให้บิดาฟัง แล้วเริ่มเตรียมการอภิเษกไว้ ครั้นถึงกำหนดวันวิวะหะ พระศิวะเสด็จมาพร้อมด้วยพระพรหม พระวิษณุ แวดล้อมด้วยกระบวนแห่อย่างมโหฬาร เข้าไปยังนครหิมาลัย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พระศิวะก็พานางอุมาไปยังเขาไกรลาศ หลังจากนั้นได้ชุบกามเทพคืนให้แก่นางรตี

พระศิวะกับพระอุมาอยู่ด้วยกันนานปี แต่หามีโอรสไม่ ในที่สุดพระอัคนีก็เป็นทูตของทวยเทพไปเฝ้า และทูลว่าพระองค์ยังหาได้ประทานโอรสอันจะช่วยความทุกข์เดือดร้อนของทวยเทพได้ พระศิวะจึงประทานเชื้อกำเนิดให้แก่พระอัคนี พระอัคนีนำไปฝากพระคงคา ให้เป็นผู้ประคบประหงมไว้ จนกระทั่งเวลารุ่งสาง ขณะที่หมู่ดาวจระเข้ลับฟ้า สัปตฤาษีลงมาอาบน้ำในแม่น้ำ ก็เอาหญ้าคามาทำเป็นรังแล้วเอาเชื้อกำเนิดของพระศิวะใส่ไว้ มินานก็เกิดเป็นโอรสมีนามว่า สกันทกุมาร ผู้เป็นเทพสงครามในอนาคต ครั้นแล้วพระศิวะกับพระอุมาก็เสด็จมานำกุมารไปสู่เขาไกรลาศ ทรงเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ และในที่สุดก็ปราบตารกาสูรได้

กามเทพเป็นอธิบดีในหมู่นางอัปสร นางอัปสรนี้แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระดิกในน้ำ” เกิดขึ้นคราวเทวดาและยักษ์ช่วยกันกวนน้ำอมฤต ครั้งนั้นเกิดสิ่งต่างๆ หลายชนิด คือเกิด ๑) โค ชื่อ สุรภี หรือ กามะเธนุ โคนี้เทวดาพร้อมใจกันมอบให้พระวสิษฐมุนี ๒) เหล้า คือ วารุณี เทวีแห่งเหล้า ๓) ต้นปาริชาติ มีกลิ่นหอมทั้งสามโลก เทวดายกให้พระอินทร์เอาไปปลูกไว้ในสวนนันทนอุทยาน ๔) นางอัปสร ๕) พระจันทร์ พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม ๖) พิษ ฝูงนาคดูดพิษไว้ งูจึงมีพิษตราบทุกวันนี้ ๗) พระศรี หรือ พระลักษมี พระนารายณ์รับไปเป็นมเหสี ๘) ธันวันตรี แพทย์แห่งสวรรค์ผุดขึ้นชูผอบน้ำอมฤตไว้เหนือหัว ว่าแต่เฉพาะนางอัปสรนั้นผุดขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสนล้วนเป็นหญิงรูปงามๆ แต่เทวดาและอสูรไม่รับเป็นคู่ครองโดยเฉพาะ ดังนั้นพวกอัปสรจึงตกเป็นของกลาง และได้นามว่า สุรางคนา (เมียเทวดาทั่วๆ ไป) และสมุทาตมชา (สตรีผู้เต็มไปด้วยความมัวเมาหรือในความเพลิดเพลิน) รวมความว่า นางอัปสรเป็นนางฟ้าจำพวกหนึ่ง มีรูปงามน่าพึงใจและช่างยั่วยวน แต่ความประพฤติไม่ดีนัก ช่างมารยา แปลงตัวได้หลายอย่าง ไม่รักใคร่ยั่งยืน มีเสน่ห์ทำให้ชายหลง ภายหลังต่อมาต้องมีมนตร์ไว้กันแก้เสน่ห์นางอัปสร

เรื่องกามเทพปรากฎในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่นในเรื่อง ศกุนตลา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

“โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด        งามหมดหาที่ติมิได้

ฤทธิ์รักจู่จอดยอดใจ            คือไฟเผาดวงหัทยา
กามเทพทะนงองอาจ            ผาดแผลงศรแกมบุปผา
ศรศักดิ์ปักอยู่แทบอุรา            หอมชื่นนาสาน่ายินดี”

กามเทพเป็นเรื่องของความรัก นักปราชญ์อินเดียท่านว่าบุรุษเมื่อมีความรักในสตรี มีการเปลี่ยนแปลงเป็น ๑๐ ขั้น กล่าวกว้างๆ ว่าผลที่เกิดจากความรัก เรียกว่า สมรทศ ย่อมเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ดังนี้
๑. เมื่อผู้รักมีความปั่นป่วนใจ สิ้นปัญญาไม่ทราบว่าจะทำอะไร นอกจากจะได้เห็นหน้าหญิงที่ตนรักเท่านั้น (ยินดีด้วยตา)
๒. เมื่อจิตใจเผลอ ดูเหมือนว่าจะเสียสติ (รันทด)
๓. เมื่อคิดแล้วคิดเล่าว่าทำไฉน จึงจะได้หญิงที่ตนรักมา แต่ก็คิดอะไรไม่ออก (ปรารถนา)
๔. เมื่อนอนกระสับกระส่ายไม่หลับอยู่ตลอดคืน (นอนไม่หลับ)
๕. เมื่อหน้าตาซูบซีด ร่างกายเหี่ยวแห้ง (ตรอมใจ)
๖. เมื่อรู้สึกตนว่า หน้าด้านเข้าทุกที ไม่สามารถจะข่มความรู้สึกของตน (ไม่มีแก่ใจนึกถึงอารมณ์อื่นๆ )
๗. เมื่อตกลงใจยอมสละเงินทอง ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายให้หมดไปเสีย(หมดละอาย)
๘. เมื่อจิตใจฟุ้งซ่านจวนจะเป็นบ้า (ลุ่มหลง)
๙. เมื่อเกิดเป็นลมวิงเวียนหน้ามืด (สยบ)
๑๐. เมื่อรู้สึกว่าตนอยู่ใกล้ประตูมฤตยูแล้ว (ตายเลย)

ทีนี้หันมาดูคำคมของนักปราชญ์อินเดียสักหน่อยเป็นไรไป
เจโตภุวศฺจาหลาตาปฺรสงฺเค
กา วา กถา มานุษโลกภาชามฺ
ยทฺทาหศีลสฺย ปุโร วิเชตุสฺ
ตถาวิธํ กามวิเจษฺฐิตํ โภ

“พระอิศวรมีตาที่ ๓ เป็นไฟ พระกามเทพยังกล้วไปแผลงศรได้ นับประสาอะไรกับมนุษย์เดินดิน ซึ่งพระกามเทพจะไม่แผลงศร”

เอโก ราคิษุ ราชเต ปฺริยตมาเทหารฺธหารี หโร
นีราเคษุ ชโน วิมุกฺตลลนาสํโค น ยสฺมาตฺปร:
ทุรวารสฺมรพาณปนฺนควิษวฺยาวิทฺธมฺคฺโธ ชน:
เศษ: กามวิฑํพิตานฺน วิษยานฺ โภกฺตํ น โมกฺตํ กฺษม:
“บรรดาผู้มีราคะด้วยกัน พระหรเจ้า(ศิวะ) ผู้มีกึ่งแห่งพระองค์เป็นพระชายาย่อมบันเทิงแต่องค์เดียว บรรดาผู้ปราศจากราคะด้วยกัน ชนผู้ไม่กอดสตรีแล้วก็ไม่ดีไปกว่าท่าน ชนนอกนี้ ผู้ถูกกามารมณ์ดุจศรงูแห่งพระกามเทพซึ่งไม่มีใครป้องกันได้ ทิ่มแทงทำให้เป็นบ้าเลย ไม่อาจมีแก่ใจเสพ ทั้งไม่ล่วงเสียซึ่งวิสัย (กามารมณ์) ที่พระกามเทพแสดงออกมา”

ตฺฤษา ศุษฺยตฺยาสฺเย ปิพติ สลิลํ ศีตมธุรํ
กฺษธารฺต: ศาลฺยนฺนํ กวลยติ มำสาทิกลิตมฺ
ปฺรการํ วฺยาเธ: สุขมิติ วิปรฺยสฺยติ ชน:
เมื่อปากแห้งผาก เพราะกระหาย คนก็ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำหวานแก้เสีย เมื่อหิวโหยก็กินข้าวกับเนื้อหรือผักอื่นๆ แก้เสีย เมื่อไฟแห่งพระกามเทพโชติช่วง ก็กอดนางสาวอย่างเต็มเครียดแก้เสีย คนเรามักวิปลาสไปว่าทุกข์ที่เกิดจากหิวกระหายและกำหนัด แก้เสียได้ย่อมเป็นสุข”

อาปูรฺยมาณมจลา-ปฺรติษฐํ
สมุทรมาป : ปฺรวิศนฺติ ยทฺวตฺ
ตทฺวตฺกามา ยํ ปฺรวิศนฺติ สรฺเว
ส ศานฺติมาปโนติ น กามกามี
“การทั้งหลายไหลเข้าไปยังท่านผู้รู้ แต่ท่านย่อมได้รับศานติเหมือนน้ำที่ไหลเข้าสู่ทะเล แต่ทะเลคงเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ และไม่หวั่นไหวอยู่นั่นเอง ส่วนผู้ใคร่ต่อกามย่อมไม่ได้รับศานติ”

ตรงนี้ท่านผู้รู้เปรียบกามเทพของศาสนาพรหมณ์ เหมือนกับมารในศาสนาพุทธ มารทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสภาพผู้ล้าง มีบ่วง คือ ราคะ โทษะ โมหะ สำหรับคล้องสัตว์ให้อยู่ในอำนาจแห่งตน ศาสนาพรหมณ์นั้นมีกามเทพซึ่งมีศรบุษปมาลย์ (ศรดอกไม้) ยิงผู้ใด ผู้นั้นเกิดราคะคือความรัก เอาความก็ได้ว่า ทางพราหมณ์มีศรบุษปมาลย์เป็นราคะ มารทางพุทธมีบ่วงเป็นราคะเหมือนกัน จึงกล่าวกันว่าคัมภีร์ศาสนาพุทธมีมารชื่อ เทวบุตตมาร ส่วนพระพุทธองค์นั้นทรงพ้นจากบ่วงแขนของมารด้วยอำนาจตบะและทรงยังเวไนยสัตว์ให้พ้นจากบ่วงมารด้วย ดังนั้นในสทุทโฆษคำฉันท์จึงกล่าวว่า

“พระศรีศรีสรศาสดา        มีพระมหิมา
นุภาพพ้นตยาคี
เนื่องนาคอสูรกษัตริย์            โอ่อ่อนเมาลี
บำบวงในบาทโกมล

ตยาคี มาจาก ติ+ อัคคี คือไฟสามกอง ได้แก่ ราคะ โทษะ และโมหะ พระอิศวรผู้ครองไตรโลก ยังถูกมารคือกามเทพยิงด้วยศรทำให้ตบะแตก แต่พระพุทธองค์เสด็จข้ามดลกพ้นอำนาจมาร พ้นจากอำนาจของไฟสามกอง

นามกามเทพมีมาก เช่น อิษม กันชนะ มัทรรมณื มีฉายาว่า ภวัช และมาโนช (เกิดแต่ใจหรือมโน) ในส่วนที่เป็นพระประทยุมน์นั้น มีฉายาว่า กรรษณี (เกิดแต่กฤษณะ) กรรษณสุต (ลูกกฤษณะ) (นามนี้เลือนๆ กันจนกลายเป็น “ไกรสุต” ในเรื่องอุณรุท) ส่วนที่เป็นลูกของนางมายา ได้ฉายาว่า มายี หรือ มายาสุต และส่วนที่เป็นลูกพระลักษมี มีฉายาว่า ศรีนันท์ (เป็นที่โปรดปรานของพระศรีหรือพระลักษมี) นอกจากนี้ยังมีนามแฝงอีกมาก เช่น อภิรูป (งาม) ทรรปกะ การะ ทีปกะ (ผู้จุดไฟ) คัทยิตนุ คฤธุ และ คฤตส (มักมากหรือแหลมคมป กามน และขรุ (กำหนัด) กันตุ (สบาย) กลาเกลี (สนุกและวุ่นมาก) มาร (ผู้ผลาญ) มายี (ผู้ลวง) มธุทีป (ตะเกียงน้ำผึ้ง หรือตะเกียงวสันต์) มหิระ (ผู้ทำให้ฉงน) มูรมูร (ไฟลั่นเปรี้ยะๆ ) ราคาพฤนต์ (ก้านแห่งราคะ) รูปัสตร์ (เครื่องประหารของความงาม) รัตนารีจ (มักมากในราคะ) ศะมานตก (ผู้ล้างความสงบ) สังสารคุรุ (ผู้เป็นครูของโลก) สมร (ความจำได้) ศฤงคารโยนี (บ่อเกิดแห่งความรัก) ติถ (ไฟ) วาม (งาม) และโดยเหตุที่ถือศรเป็นดอกไม้ จึงได้นามว่า กุสุมาวุธ ปูษยธนู (ธนูดอกไม้) ปุษปศร (ศรดอกไม้) มีธงเป็นมังกร จึงได้นามว่า มกรเกตุ และเพราะที่มักถือดอกไม้อยู่ในมือ จึงได้ชื่อว่า ปุษปเกตน์

รูปกามเทพเขียนเป็นชายหนุ่มรูปงาม ขี่นกแก้ว มีธงพื้นแดงลายรูปมังกร และถือธนูดอกไม้ มีนางอัปษรเป็นบริวาร (กามเทพกรีกโรมัน เรียกว่า Cupid มีความหมายว่า ความอยาก ความปรารถนา เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก เป็นบุตรของเทพ ชื่อ มาร์ส มักเขียนเป็นรูปเด็กเปลือยกาย มีปีก มือถือศร มีหน้าที่ให้ชายหญิงรักกัน)

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร