กาพย์พระไชยสุริยา

Socail Like & Share

พระไชยสุริยา มีความยาวประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคณางค์ ๒๘ สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๘ ขณะจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีในสมัยรัชกาลที่ ๓ จุดประสงค์ในการแต่งเรื่องนี้ก็เพื่อใช้เทียบสอนอ่านภาษาไทยคือเป็นการสอนอ่านหนังสือไทยให้แก่เด็กๆ

เนื้อเรื่องของนิทานเรื่องพระไชยสุริยามีอยู่ว่า มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่าพระไชยสุริยา ครองเมืองสาวัตถี มีมเหสีทรงพระนามว่าสุมาลีครอบครองบ้านเมืองด้วยความผาสุก ต่อมาพวกข้าราชการ เสนาอำมาตย์ ไม่ประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ทำให้เกิดอาเพศ มีนํ้าป่าไหลท่วมเมือง นอกจากนี้ยังมีผีป่ามาทำให้ชาวเมืองล้มตายเป็นจำนวนมาก พระไชยสุริยาจึงได้พามเหสีและบริวารเสด็จลงเรือสำเภา ทิ้งบ้านเมืองออกสู่ทะเล เรือสำเภาถูกพายุใหญ่จนเรือแตก พระไชยสุริยาพามเหสีหนีขึ้นฝั่งได้ พระอินทร์เสด็จมาสอนธรรมะแต่พระไชยสุริยาและพระมเหสีทั้ง ๒ พระองค์ปฏิบัติธรรมจนได้เสด็จไปสู่สวรรค์
ตอนต้นเรื่องมีบทไหว้ครูสั้นๆ โดยใช้คำในมาตราแม่ ก กา มีเนื้อความไหว้พระรัตนตรัย บิดามารดา (แสดงว่าแต่งในขณะที่บิดาและมารดายังมีชีวิตอยู่) อาจารย์และเทวดาต่างๆ…

สุนทรภู่แต่งแบบเรียน

กาพย์พระไชยสุริยานั้น ใครๆ ก็ทราบดีว่า สุนทรภู่ผู้แต่งกล่าวถึงคอรัปชั่นของพาราสาวัตถีอย่างเห็นจริง แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงนำไปอ้างใน “ปลุกใจเสือป่า” แต่ที่ข้าพเจ้านำมาเสนอนี้มีเจตนาจะแสดงเทคนิคของสุนทรภู่ในการแต่งคำอ่านเทียบมาตรา ก. กา ให้เห็นว่าสุนทรภู่มีปรีชาสามารถมากในการประกอบคำเฉพาะในแม่ ก. กา ให้เป็นเรื่องขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์ แม้นักแต่งแบบเรียนภายหลังท่านคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ก็ไม่ยอมแข่งกับท่าน กลับขอยืมมาใช้ในแบบเรียนหลวง คือ มูลบทบรรพกิจ

สุนทรภู่นั้นตามประวัติว่าเคยเป็นครูของเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว ทั้งสามพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

เมื่อเป็นครูเจ้าฟ้าทั้งสามนั้น สุนทรภู่คงจะได้เริ่มแต่งแบบเรียนสอนภาษาไทยขั้นต้นขึ้น คือ สอนตั้งแต่แม่ ก. กา แม่กนไปจนกระทั่งถึงแม่เกย ท่านนำเอาเรื่องไชยสุริยามาเป็นเนื้อเรื่อง แต่นักวรรณคดีบางท่านว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องพระไชยสุริยาภายหลังคือแต่งในเมื่อท่านบวชอยู่ที่วัดเทพธิดา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าสุนทรภู่คงแต่งแต่ครั้งเป็นครูเจ้านาย อาจมารวบรวมเป็นเรื่องเดียวกันจากหลายๆ ตอน เมื่อครั้งบวชอยู่กระมัง?

ธรรมดาการสอนหนังสือไทย เมื่อผู้เรียนอ่าน ก. ข.ได้แล้วจึงเรียนประสมอักษรครูโบราณ นิยมผูกถ้อยคำเป็นหมวดหมู่ให้นักเรียนอ่าน สุนทรภู่ก็น่าจะทำเช่นเดียวกันคือแต่งกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา สอนศิษย์ของท่าน ปรากฏว่าเรื่องพระไชยสุริยาของสุนทรภู่สอนศิษย์ได้ผลดี ภายหลังคนทั้งหลายก็นำเอากาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ไปสอนศิษย์โดยทั่วกัน ความนิยมแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง จนพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นักอักษรศาสตร์สมัยรัชากาลที่ ๕ ก็ไม่ยอมแต่งใหม่ เมื่อทำหนังสือมูลบทบรรพกิจเป็นแบบเรียนหลวง ท่านขอยืมเรื่องพระไชยสุริยาของสุนทรภู่นั้นเองมาเป็นบทเรียนในตำราที่ท่านแต่งขึ้นใหม่แท้ๆ น่าจะมีของใหม่ทั้งหมด แต่ท่านคงเห็นว่าของสุนทรภู่วิเศษอยู่แล้วจึงไม่คิดแต่งใหม่ขึ้นสู้ ท่านอาศัยภูมิปัญญาของสุนทรภู่ในลักษณะของนักปราชญ์ที่ยอมยกย่องนักปราชญ์ด้วยกัน

จะขอนำความเรื่องพระไชยสุริยาของสุนทรภู่มาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อให้เห็นหลักการแต่งหนังสือสอนเด็กเริ่มเรียน ซึ่งในปัจจุบันมีปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นข้อหนึ่งเกี่ยวกับเด็กเรียนจบ ป. ๔ แต่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ บางทีจะช่วยให้นักการศึกษาปัจจุบันเห็นแนวทางบ้างก็เป็นได้

ในตอนสอนอ่านเทียบในแม่ ก.กา สุนทรภู่เริ่มด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ดังนี้

สะธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา พ่อแม่แลครูบา เทวดาในราศี ข้าเจ้าเอาก. ข.เข้ามาต่อ ก.กามี แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา จะร่ำคำต่อไป พาล่อใจกุมารา ธรณีมีราชา เจ้าพาราสาวถี ชื่อ พระไชยสุริยา มีสุดามเหสี ชื่อว่าสุมาลี อยู่บุรีไม่มีภัย ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มีกิริยาอฌาไสย พ่อค้ามาแต่ ไกล ได้อาไศยในพารา ไพร่ฟ้าประชาชี เชาบุรีก็ปรีดา ทำไร่เขาไถนา ได้ข้าวปลาและสาลี อยู่มาหมู่ข้าเฝ้า ก็หาเยาวนารี ที่หน้าตาดีดี ทำมะโหรีที่เคหา ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ เข้าแต่หอล่อกามา หาได้ให้ภริยา โลโภพาให้บ้าใจ ไม่จำคำพระเจ้า เหไปเข้าภาษาไสย ถือดีมีข้าไทย ฉ้อแต่ไพร่ใส่ขื่อคา คดีที่มีคู่ คือไก่หมูเจ้าสุภา ใครเอาเข้าปลามา ให้สุภาก็ว่าดี ที่แพ้แก้ชนะไม่ถือพระประเวณี ขี้ฉ้อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา ที่ซื่อถือพระเจ้า ว่าโง่เง่าเต่าปูปลา ผู้เฒ่าเหล่าเมธา ว่าใบ้บ้าสาระยำ ภิกษุสมณะ เล่าก็ละพระสธำม์ คาถาว่าลำนำ ไปเร่รำ เฉโก ไม่จำคำผู้ใหญ่ ศีรษะไม้ใจโยโส ที่ดีมีอโข ข้าขอโมทนาไป พาราสาวถี ใครไม่มีปรานีใคร ดุดื้อถือแต่ใจ ที่ใคร่ได้ใส่เอาพอ ผู้ที่มีฝีมือ ทำดุดื้อไม่ซื้อขอ ไล่คว้าผ้าที่คอ อะไรล่อก็เอาไป ข้าเฝ้าเหล่าเสนา มิได้ว่าหมู่ข้าไทย ถือนํ้าร่ำเข้าไป แต่นํ้าใจไม่นำพา หาได้ใครหาเอา ไพร่ฟ้าเศร้า เปล่าอุรา ผู้ที่มีอาญา ไล่ตีด่าไม่ปรานี ผีป่ามากระทำ มรณกรรมเชาบุรี นํ้าป่าเข้าธานี ก็ไม่มีที่อาศัย ข้าเฝ้าเหล่าเสนา หนีไปหาพาราไกล ชีบาล่าลี้ไป ไม่มีใครในธานี

ต่อมาสุนทรภู่เปลี่ยนเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ เดินความอีก

พระไชยสุริยาภูมี พาพระมเหสี มาที่ในลำสำเภา เข้าปลาหาไปไม่เบา นารีที่เยาว์ ก็เอาไปในเภตรา เถ้าแก่เชาแม่แซ่มา เสนีเสนา ก็มาในลำสำเภา ตีม้าล่อฉ้อใบใส่เสา วายุพยุเพลา สำเภาก็ใช้ใบไป เภตรามาในน้ำไหล ค่ำเช้าเปล่าใจ ที่ในมหาวารี พสุธาอาศัยไม่มี ราชานารี อยู่ที่พระแกลแลดู ปลากะโห้โลมาราหู เหราปลาทู มีอยู่ในนํ้าคลํ่าไป ราชาว้าเหว่หฤไทย วายุพาคลาไคล มาในทะเลเอกา แลไปไม่ปะพสุธา เปล่าใจไนยนา โพล้เพล้เวลาราตรี ราชาว่าแก่เสนี ใครรู้คดี วารีนี้เท่าใดนา ข้าเฝ้าเล่าแก่ราชา ว่าพระมหา วารีนี้ไซร้ใหญ่โต ไหลมาแต่ในคอโค แผ่ไปใหญ่โตมโหฬาลํ้านํ้าไหล บาลีมิได้แก้ไข ข้าพระเจ้าเข้าใจ ผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่ามา ว่ามีพระยาสกุณาใหญ่โตมโหฬา กายาเท่าเขาคีรี ชื่อว่าพระยาสำภาที ใคร่รู้คดี วารีนี้โตเท่าใด โยโสโผผาถาไป พอพระสุรีใส จะใกล้โพล้เพล้เวลา แลไปไม่ปะพสุธา ย่อท้อรอรา ชีวาก็จะประลัย พอปลามาในนํ้าไหล สกุณาถาไป อาศัยที่ศีรษะปลา ชะแง้แลไปไกลตา จำของ้อปลา ว่าขอสมาอภัย วารีที่เราจะไป ใกล้ฤาว่าไกล ข้าไหว้จะขอมรคา ปลาว่าข้าเจ้าเยาวภา มิได้ไปมาอาศัยอยู่ต่อธรณี สกุณาอาลัยชีวี ลาปลาจรลี สู่ที่ภูผาอาศัย ข้าเฝ้าเล่าแก่ภูวไนย พระเจ้าเข้าใจ ฤไท้- ว้าเหว่เอกา จำไปในทะเวรา พยุใหญ่มา เภตราก็เหเซไป สมอก็เกาเสาใบ ทะลุปรุไป นํ้าไหลเข้าลำสำเภา ผีนํ้าซํ้าไต่ใบเสา เจ้ากรรมซํ้าเอา สำเภาระยำควํ่าไป ราชาคว้ามืออรไท เอาผ้าสะไบ ต่อไว้ไม่ไกลกายา เฒ่าแก่เชาแม่เสนา นํ้าเข้าหูตา จระเข้เหราคร่าไป ราชานารีร่ำไร มีกรรมจำใจ จำไปพอปะพสุธา มีไม้ไทรใหญ่ใบหนา เข้าไปไสยา เวลาพอค่ำรำไร

สุนทรภู่ผูกคำขึ้นสอนศิษย์เก่งจริงๆ นักการศึกษาสมัยใหม่อาจวิจารณ์ว่าท่านใช้ศัพท์บาลีสันสกฤตมาก เกินสติปัญญาเด็กเยาว์วัย แต่ที่จริงเจตนาของท่านบ่งให้อ่านคล่องปากเป็นสำคัญ ยังไม่มุ่งความหมาย เด็กโบราณจึงอ่านล่อกามาโดยเข้าใจว่ามีอีกาเข้ามาเพราะถูกล่อ เลยทำให้เด็กสนุกไปได้ บางคำท่านก็ใช้แม่ ก. กา ไปพลางแทนแม่เกยซึ่งเด็กยังไม่ได้เรียน เช่น เชา แทนชาว ดังนี้เป็นต้น ท่านผูกเรื่องดีจนคนโบราณจำพระไชยสุริยาได้ตั้งแต่แม่ ก.กา จนแม่เกย กาพย์พระไชยสุริยาเป็นแบบเรียนชั้นต้นที่วิเศษแท้

ตอนที่แล้วข้าพเจ้าได้เสนอวิธีแต่งแบบเรียนสอนเด็กของสุนทรภู่ว่าด้วยการแต่งคำเทียบใน แม่ ก. กา ในตอนนี้จึงขอเสนอตอนต่อไปจากมาตรา กน ถึงมาตรา เกย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อ่าน เรื่องพระไชยสุริยาจนจบ และจะได้สังเกตการแต่งคำเทียบของสุนทรภู่ครบทุกมาตรา

ต่อมาถึงการอ่านแม่ กน สุนทรภู่ใช้กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ ดังนี้

ขึ้นใหม่ในกน ก. กาว่าปน ระคนกันไป เอ็นดูภูธร มานอนในไพร มณฑลต้นไทร แทนไพชยนต์สถาน ส่วนสุมาลี วันทาสามี เทวีอยู่งาน เฝ้าอยู่ดูแล เหมือนแต่ก่อนกาล ให้พระคูบาล สำราญวิญญา พระชวนนวลนอน เข็ญใจไม้ขอน เหมือนหมอนแม่นา ภูธรสอนมนตร์ ให้บ่นภาวนา เย็นค่ำร่ำว่า กันป่าไภยพาน วันนั้นจันทร มีดารากร เป็นบริวาร เห็นสิ้นดินฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน ใบก้านอรชร เย็นฉ่ำน้ำป่า ชื่นชะผกา วายุพาขจร สารพันจันอิน รื่นกลิ่นเกสร แตนต่อคล้อร่อน วาว่อนเวียนระวัน จันทราคลาเคลื่อน กระเวนไพรไก่เถื่อน เตือนเพื่อนขานขัน ปู่เจ้าเขาเขิน กู่เกริ่นหากัน สินธุพุลั่น ครื้นครั่นหวั่นไหว พระฟื้นตื่นนอน ไกลพระนคร สะท้อนถอนฤทัย เช้าตรู่สุริยน ขึ้นพ้นเมรุไกร มีกำม์จำไป ในป่าอารัญ

จะสังเกตได้ว่า มีอักษรสะกดในแม่กนทุกตัวคือ น.ร.ล.ญ.ณ. (ขาด ฬ ตัวเดียว)

ทีนี้มาถึงมาตรา กง สุนทรภู่ว่าใช้ ง สะกดกับนฤคหิตบางคำ ท่านแต่งคำเทียบด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖ ดังนี้

ขึ้นกงจงจำสำคัญ ทั้งกนปนกัน รำพันมิ่งไม้ในดง ไกรกร่างยางยูงสูงระหง ตลิงปิงปริงมะยง คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง มะม่วงพลวงพลองช้องนาง หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง กินพลางเดินพลาง หว่างเนินเห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน เหมือนอย่างนางเชิญ พระแสงสำอางข้างเคียง เขาสูง ฝูงหงส์ลงเรียง เริงร้องซ้องเสียง สำเนียงน่าฟังวังเวง กลางไพรไก่ขันบันเลง ฟังเสียงเพียงเพลง จะเจ้งจำเรียงเวียงวัง ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง แตรสังข์กังสะดาลขานเสียง กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคล้อเคียง แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง ค้อนทองเสียงร้องปองเปง เพลินฟังวังเวง อีเก้งเริงร้องลองเชิง ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง คางแข็งแรงเริง ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง ป่าสูงยูงยางช้างโขลง อึงคะนึงผึงโผง โยงกันเล่นนํ้าคลํ้าไป

เมื่อขึ้นแม่กก สุนทรภู่ใช้ ก. ข. ฆ. เป็นตัวสะกดตามคำเทียบซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ดังนี้

ขึ้นกกตกทุกข์ยาก แสนลำบากจากเวียงไชย มันเผือกเลือกเผาไฟ กินผลไม่ได้เป็นแรง รอนรอนอ่อนอัษฎงค์ พระสุริยงเย็นยอแสง ช่วงดังนํ้าครั่งแดง แฝงเมฆเขาเงาเมรุธร ลิงค่างครางโครกครอก ฝูงจิ้งจอกออกเห่าหอน ชะนีวิเวกวอน นกหกร่อนนอนรังเรียง ลูกนกยกปีกป้อง อ้าปากร้องซ้องแซ่เสียง แม่นกปกปีกเคียง เลี้ยงลูกอ่อนป้อนอาหาร ภูธรนอนเนินเขา เคียงคลึงเคล้าเยาวมาลย์ ตกยากจากศฤงคาร สงสารน้องหมองพักตรา ยากเย็นเห็นหน้าเจ้า สร่างโศกเศร้าเจ้าพี่อา อยู่วังดังจันทรา มาหม่นหมองละอองนวล เพื่อนทุกข์สุขโศกเศร้า จะรักเจ้าเฝ้าสงวน มิ่งขวัญอย่ารัญจวน นวลพักตร์น้องจะหมองศรี ชวนชนกลืนกลํ้ากลิ่น มิรู้สิ้นสุมาลี คลึงเคล้าเย้ายวนยี ที่ทุกข์ร้อนหย่อนเย็นทรวง

เมื่อขึ้นมาตรา กด สุนทรภู่ก็แต่งกาพย์ยานี ๑๑ โดยใช้ตัวสะกดต่างๆ กันดังนี้

ขึ้นกดบทอัศจรรย์ เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง นกหกกกรังรวง สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนงง แดนดินถิ่นมนุษย์ เสียงดังดุจเพลิงโพลง ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนขะเยื้อนโยน บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ บ้างตื่นไฟตกใจโจน ปลุกเพื่อนตื่นตะโกน ลุกโลดโผนโดนกันเอง พิณพาทย์ระนาดฆ้อง ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง ระฆังดังวังเวง โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง ขุนนางต่างลุกวิ่ง ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง พันละวันดันตึงตัง พลั้งพลัดตกหกคะเมน พระสงฆ์ลงจากกุฏิ วิ่งอุดตลุดฉุดมือเณร หลวงชีหนีหลวงเณร ลงโคลนเลน เผ่นผาดโผน พวกวัดพลัดเข้าบ้าน ล้านต่อล้านซานเซโดน ต้นไม้ไกวเอนโอน ลิงค่างโจนโผนหกหัน พวกผีที่ปั้นลูก ติดจมูกลูกตาพลัน ขิกขิกระริกกัน ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ สององค์ ทรงสังวาส โลกธาตุหวาดหวั่นไหว ตื่นนอนอ่อนอกใจ เดินไม่ได้ให้อาดูร

เมื่อถึงแม่กบ สุนทรภู่แต่งคำเทียบด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ว่า

ขึ้นกบจบแม่กด พระดาบสบูชากูณฑ์ ผาสุกรุกขมูล พูนสวัสดิสัตถาวร ระงับหลับเนตรนิ่ง เอนองค์อิงพิงสิงขร เหมือนกับหลับสนิทนอน สังวรศีลอภิญญาณ บำเพ็งเล็งเห็นจบ พื้นพิภพจบจักรวาล สวรรค์ชั้นวิมาน ท่านเห็นแจ้งแหล่งโลกา เข้าฌานนานนับเดือน ไม่ขะเยื้อนเคลื่อนกายา จำศีลกินวาตา เป็นผาสุกทุกเดือนปี วันนั้นครั้นดินไหว เกิดเหตุใหญ่ในปถพี เล็งดูรู้คดี กาลกิณีสี่ประการ ประกอบชอบเป็นผิด กลับจริตผิดโบราณ สามัญอันธพาล ผลาญคนซื่อถือสัตย์ธรรม ลูกศิษย์คิดล้างครู ลูกไม่รู้คุณพ่อมัน ส่อเสียดเบียดเบียนกัน ลอบฆ่าฟันคือตัณหา โลภลาภบาปบคิด โจทก์จับผิดฤษยา อุระพสุธา ป่วนเป็นบ้าฟ้าบดบัง บรรดาสามัญสัตว์ เกิดวิบัติปัตติปาปัง ไตรยุคทุกขตะรัง สังวัจฉระอวสาน

ต่อมาสุนทรภู่จึงแต่งคำเทียบแม่กมด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ความว่า

ขึ้นกมสมเด็จจอมอารย์ เอ็นดูภูบาล ผู้ผ่านพาราสาวัตถี ซื่อตรงหลงเล่ห์เสนี กลอกกลับอัปรีย์ บุรีจึงล่มจมไป ประโยชน์จะโปรดภูวไนย นิ่งนั่งตั้งใจ เลื่อมใสสำเร็จเมตตา เปล่งเสียงเพียงพิณอินทรา บอกข้อมรณา คงมาวันหนึ่งถึงตน เบียนเบียดเสียดส่อฉ้อฉล บาปกรรมนำตน ไปทนทุกข์นับกัปกัลป์ เมตตากรุณาสามัญ จะได้ไปสวรรค์เป็นสุขทุกวันหรรษา สมบัติมนุษย์ครุฑา กลอกกลับอัปรา เทวาสมบัติชัชวาลย์ สุขเกษมเปรมปรีดิ์วิมาน อิ่มหนำสำราญ ศฤงคารห้อมล้อมพร้อมเพรียง กระจับปี่สีซอท่อเสียง ขับรำจำเรียง สำเนียงนางฟ้าน่าฟัง เดชะพระกุศลหนหลัง สิ่งใดใจหวังได้ดังมุ่งมาดปรารถนา จริงนะประสกสีกา สวดมนต์ภาวนา เบื้องหน้าจะได้ไปสวรรค์ จบเทศน์เสร็จคำรำพัน พระองค์ทรงธรรม์ ด้นดั้นเมฆาคลาไคล

ในที่สุดสุนทรภู่ก็แต่งแม่เกยคำเทียบโดยใช้กาพย์ฉบัง ๑๖ ว่า

ขึ้นเกยเลยกล่าวท้าวไทย ฟังธรรมนํ้าใจเลื่อมใสศรัทธากล้าหาญ เห็นภัยในขันธสันดาน ตัดห่วงบ่วงมาร สำราญสำเร็จเมตตา สององค์ทรงหนังพยัคฆา จัดจีบกลีบชฎา รักษาศีลถือฤาษี เช้าค่ำทำกิจพิธี กองกูณฑ์อัคคี เป็นที่บูชาถาวร ปถพีเป็นที่บรรจถรณ์ เอนองค์ลงนอน เหนือขอนเขนยเกยเศียร ค่ำเช้าเอากราดกวาดเตียน เหนื่อยยากพากเพียร เรียนธรรมปาเพ็งเคร่งครัน สำเร็จเสร็จได้ไปสวรรค์ เสวยสุขทุกวัน นานนับกัลป์พุทธันดร

ตอนจบพระไชยสุริยาแล้ว สุนทรภู่ได้บอกเจตนาของท่านและสอนเด็กๆ ว่า

ภุมราการุญสุนทร ไว้หวังสั่งสอน เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน ก.ข.ก.กาว่าเวียน หนูน้อยคอยเพียร อ่านเขียนผสมกมเกย ระวังตัวกลัวครูหนูเอ๋ย ไม้เรียวเจียวเหวย กูเคยเข็ดหลาบขวาบเขวียว หันหวดปวดแสบแปลบเสียว หยิกซ้ำช้ำเขียว อย่าเที่ยวเล่นหลงจงจำ บอกไว้ให้ทราบบาปกรรม เรียงเรียบเทียบคำ แนะนำให้เจ้าเอาบุญ เดชะพระมหาการุญ ใครเห็นเป็นคุณ แบ่งบุญให้เราเจ้าเอย

เรื่องพระไชยสุริยาของสุนทรภู่นั้น มีผลสองสถานคือ ผลทางอักขรวิธี กับผลทางวรรณคดี นับได้ว่าเรื่องกาพย์พระไชยสุริยามค่าลํ้าในวงอักษรศาสตร์ไทยเรื่องหนึ่ง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด