“ชนวัว” กีฬาของชาวไทยภาคใต้

Socail Like & Share

ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

“การชนวัว” หรือ “การชนโค” เป็นกีฬาประเภทการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้นสนุกสนานและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมที่รักการต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง กีฬาชนวัวได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะชาวภาคใต้ถือเป็นกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาประจำถิ่นอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน นับได้หลายศตวรรษทีเดียว กีฬาชนวัวหาได้นิยมเฉพาะแต่ในภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้นไม่ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศโคลัมเบียในทวีปอเมริกากลางก็นิยมกีฬาประเภทนี้เป็นอย่างมากเช่นกัน

กีฬาชนวัวเริ่มมีในสมัยใด มีความเป็นมาอย่างไร และทำไมจึงนิยมกันมากในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่มีท่านผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่า ชาวไทยภาคใต้น่าจะได้กีฬาประเภทนี้มาจากพวกโปรตุเกส คือในสมัยพระเจ้าเอมมานูแอลแห่งโปรตุเกส ได้แต่งฑูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับไทย ในปี พ.ศ.๒๐๖๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้นได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขาย กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์นั้น ได้ทรงอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสเข้ามาทำการค้าขายในเมืองไทย อันนับเป็นฝรั่งชาติแรกที่ได้เข้ามาค้าขายกับไทยโดยทางเรือและทำการค้าขายใน ๕ เมือง คือ ที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และเมืองมะริด นอกจากการค้าขายแล้ว ชาวโปรตุเกสบางพวกยังได้เผยแพร่ขนบธรรมเนียมของเขาไว้หลายอย่าง เช่น การคิดตลาดนัด การทำเครื่องถม และการชนวัวรวมอยู่ด้วย

ในระยะแรกของการชนวัวนั้น เชื่อว่าคงเอาวัวมาชนกันเล่น เพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาได้มีการพนันขันต่อกันด้วยตามวิสัยของมนุษยชาติ กีฬาชนวัวจึงได้กลายมาเป็นการพนันประเภทหนึ่งขึ้นด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นกีฬาที่มีการพนันแทรกเข้ามาโดยมีการได้เสียกันเป็นเงินเรือนหมื่นเรือนแสนทางราชการก็จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมการเล่นประเภทนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมืองเพื่อป้องกันมิให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใด ๆ ขึ้น โดยจัดให้มีบ่อนชนวัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกว่า “สนามชนโค” (โดยทางราชการได้กำหนดให้ขออนุญาตในการตั้งบ่อน และขออนุญาตทุกครั้งที่จะจัดให้มีการชนวัว) หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า “บ่อนชนวัว” หรือ “บ่อนวัวชน” และเพื่อขจัดความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่จะ เกิดขึ้นกับกีฬาชนโคดังกล่าว ทางสนามชนโคจึงได้จัดทำกติกาสำหรับกีฬานี้โดยตรงขึ้น  โดยให้ใช้เหมือน ๆ กันเกือบทุกแห่งในเวลาต่อมา

การชนวัว มักจัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานเทศกาลสารทเดือนสิบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช งานฉลองรัฐธรรมนูญเดิม หรืองานเฉลิมพระชนมพรรษาในปัจจุบันที่จังหวัดตรัง เป็นต้น ในช่วงปกติจะชนได้เดือนละ ๑ ครั้งเท่านั้น โดยกำหนดให้ชนได้ในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์หนึ่งใดของเดือน แต่ถ้าวันเสาร์ใด วันอาทิตย์ใดตรงกับวันธรรมสวนะหรือวันพระก็ต้องเลื่อนไปชนกันในวันเสาร์อื่นอาทิตย์อื่น ในปัจจุบันจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ที่นิยมกีฬาประเภทนี้กันมาก คือ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส ในบางอำเภอของจังหวัดกระบี่และที่อำเภอบ้านนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะนี้กีฬาชนวัวยังได้แพร่หลายขึ้นไปทางจังหวัดภาคเหนือบางจังหวัด คือ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก แต่ก็ไม่นิยมกันจริงจังเหมือนในจังหวัดภาคใต้

การชนวัวในจังหวัดภาคใต้นั้นส่วนมากจะไม่จัดให้ตรงกัน คือหมุนเวียนกันชนในจังหวัด หรืออำเภอที่ใกล้ ๆ กัน เช่น บ่อนหนึ่งชนวันเสาร์ อีกบ่อนหนึ่งชนวันอาทิตย์หรืออาจจะทำการชนกันคนละสัปดาห์ของเดือนหนึ่ง ๆ ก็มี ทั้งนี้เพื่อให้นักเลงชนวัวได้มีโอกาสได้เล่นพนันกันอย่างทั่วถึง อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเลงชนวัวในจังหวัดภาคใต้ได้รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นส่วนมาก

วัวที่ใช้ชนหรือทำเป็นวัวชนนั้นต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะถึงจะดี วัวใช้งานธรรมดาหรือวัวเนื้อไม่ค่อยจะนิยมใช้เป็นวัวชนกันนัก วัวชนต้องเป็นวัวตัวผู้ อายุระหว่าง ๔-๖ ปี ซึ่งเรียกว่า “ถึก” อันเป็นระยะเวลาของอายุที่ทำการชนได้ ถ้าไม่แพ้หลายครั้งหรือเสียวัวเสียก่อนก็อาจจะชนได้ถึงอายุ ๑๔-๑๕ ปี แต่ในระยะอายุ ๑๔-๑๕ ปี ดังกล่าววัวจะเริ่มแก่แล้วก็ต้องเลิกชนไปในที่สุด

วัวชนที่ดีต้องมีคุณสมบัติบางอย่างในการต่อสู้ คือ ต้องมีน้ำใจทรหดอดทน มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์หลายอย่างตามความเชื่อ เท่าที่มีผู้กล่าวไว้ในอดีต ถ้าจะประมวลมากล่าวเฉพาะที่สำคัญได้ดังนี้

ตาม “ตำราดูลักษณะโค” ซึ่งนายพร้อม  รัตโนภาศ เป็นผู้รวบรวมจากหนังสือบุด หรือสมุดข่อย ที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ลงพิมพ์ในหนังสืองานประจำปีนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ กล่าวถึงลักษณะของวัวทั่วไปและลักษณะของวัวชนไว้ว่า วัวหรือโคจะดีจะชั่วจะเป็นโภคทรัพย์ สิริมงคลหรืออัปรีย์จัญไร ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า มีลักษณะที่จะพึงสังเกตได้อยู่ ๓ ประการคือ

๑.  ขวัญ

๒.  สีหรือชาติพันธุ์

๓.  เขา

ขวัญ

ลักษณะของขวัญที่เป็นอยู่ตามตัววัวนั้นท่านบรรยายไว้ดังนี้ คือ

๑)  ขวัญที่เรียกว่า “ขวัญเดิม” คือเป็นอยู่ตรงหน้าผาก ขวัญนี้ไม่ดีไม่ชั่ว

๒)  ขวัญที่เรียกว่า “สูบสมุทร” นั้นอยู่เบื้องบนและตรงกับจมูก (แต่ไม่ถึงหน้าผาก) ขวัญนี้ท่านว่าร้ายนัก วัวตัวใดมีขวัญชนิดนี้ท่านห้ามมิให้เลี้ยงรักษา จะนำความเดือดร้อนมาให้

๓)  ขวัญที่อยู่ตรงขากรรไกรนั้นดีควรเลี้ยงไว้

นอกจากนี้ยังมีวัวสีอื่น ๆ อีกที่จัดอยู่ในจำพวกสีดำได้แก่

“สีหมอก” หรือ “สีขี้เมฆ” คือ สีเทาที่ค่อนไปทางขาว

“สีเขียว”หรือ “กะเลียว” เป็นสีเขียวอมดำ เช่น วัวเขียวไฟแห่งอำเภอปากพนังในอดีตเป็นสีวัวที่หายากอย่างหนึ่ง

ชาติวัวโหนดหัวแดง เป็นวัวที่มีสีตัวดังนี้คือ มีสีแดง (น้ำตาลปนแดงหรือสีเหลือง) ที่หน้าผากหรือที่เรียกว่า “หน้าหัว” คอสีดำ กลางตัวแดงเหมือนสีที่หน้าผาก ส่วนที่ท่อนท้ายของลำตัวเป็นสีดำ

วัวโหนดหัวแดงนี้ตามตำรากล่าวไว้ว่าชนะวัวบิณฑ์น้ำข้าว

วัวโหนดที่นิยมเป็นวัวชน ได้แก่

“โหนดร่องมด” คือร่องกลางหลังมีสีแดงหรือเหลืองดังทางเดินหรือแถวของมดคันไฟ

“โหนดคอหม้อ” บางทีเรียกว่า “คอหม้อ” หรือ “คอดำ” คือหัวดำ คอดำ กลางตัวสีน้ำตาลไหม้ ส่วนท้ายของลำตัวสีดำ ที่เรียกว่า  “คอหม้อ” เพราะที่คอสีดำเหมือนดินหม้อนั่นเอง

“โหนดหัวดำ” สีตัวส่วนอื่น ๆ เหมือนโหนดหัวแดง เว้นเฉพาะที่หน้าผากเป็นสีดำ

สีโหนด เป็นสีของวัวสีหนึ่งที่มีในภาคใต้ โดยเรียกสีชนิดนี้จากการเทียบกับสีของลูกตาลโหนดคลุกนั่นเอง

อนึ่ง  วัวสีโหนดตัวใดที่มีข้อเท้าขาวทั้งสี่เท้าบางคนก็จะเรียกว่า “สีลางสาด” อีกสีหนึ่งก็เรียก

ชาติวัวบิณฑ์น้ำข้าว เป็นวัวสีขาวดุจสีน้ำข้าวหรือสีสังข์

วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวนี้ท่านว่าชนะวัวสีแดง

วัวสีขาวมีหลายชนิด แต่ที่นิยมเป็นวัวชนได้แก่ วัวสีบิณฑ์น้ำข้าวดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นก็มีสีขาวชนิดอื่น ๆ เช่น

“ขาวลางสาด” คือสีขาวที่เหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว หรืออาจจะมีสีขาวเฉพาะตรงกลางแล้ว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายสีดำก็เรียก “ลางสาด” เช่นกัน

ฉะนั้น “วัวสีลางสาด” หรือ “วัวลางสาด” มี ๓ จำพวก คือ

(๑)  มีสีขาวเหมือนสีเปลือกผลลางสาดทั้งตัว

(๒)  มีสีขาวเหมือนสีเปลือกผลลางสาดเฉพาะกลางตัว ส่วนที่หัว คอ และส่วนท้ายดำหมด

(๓)  วัวสีโหนดทุกชนิดที่มีสีตรงข้อเท้าลงมาเป็นสีขาวหมดทั้งสี่เท้า ส่วนวัวสีขาวบางชนิดที่ตำราห้ามมิให้ใช้เป็นวัวชน คือ “ขาวชี” หรือ “ขาวเผือก” คือวัวที่มีสีตัวเป็นสีขาวใส

ชาติวัวแดงหงส์ เป็นวัวสีแดงสะอาด คือแดงไม่เข้มหรือไม่จางจนเกินไป วัวตัวนี้จึงสีแดงตลอดทั้งตัว แม้แต่สีเขาและเล็บก็เป็นสีแดง

วัวสีแดงชนิดอื่น ๆ ที่นิยมรองลงมา ได้แก่

“แดงไฟ” คือสีแดงเหมือนเปลวเพลิง แดงเข้มกว่าแดงหงส์เล็กน้อย

“แดงพังพอน” คือสีแดงอย่างสีพังพอน

“แดงลั่นดา” คือสีแดง เหมือนสีกุ้งแห้งหรือสีออกแดงจัดจนเป็นกำมะหยี่ แต่จมูกขาวหรือลาย

กล่าวกันว่า วัวสีแดงลั่นดา ชนเดิมพันมากแล้วมักจะไม่ชนะคู่ต่อสู้ แต่ถ้าชนเดิมพันน้อยก็แพ้ยาก ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวในหมู่นักเลงชนวัวเป็นทำนองเตือนใจเอาไว้ว่า “วัวลั่นดา ปลาโดงแดง อย่าแทงมาก” แต่ถ้าเป็นวัวสีแดงลั่นตาหางดอก (ขนหางสีขาวหรือสีขาวแซมสีอื่น) ที่เรียกตามภาษานักเลงชนวัวว่า “ผ้าร้ายห่อทอง” กลับเป็นวัวที่มีลักษณะดีอย่างหนึ่งเสียด้วยซ้ำไป

อนึ่ง วัวชนที่มีลักษณะไม่ดี เช่น หางสั้นมากจนผิดปกติ หรือหางยาวมากจนเกินไป ๑ เขากางมาก ๑ เป็นวัวหลังโกง ๑ เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะที่ไม่ดีทั้งสิ้น แต่ถ้าทั้ง ๓ ลักษณะดังกล่าวมารวมอยู่ในวัวตัวเดียวกัน คือ “เขากาง หางเกิน และหลังโกง” ก็กลับถือว่าเป็นลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งไป เช่น วัวแดงไพรวัลย์ วัวชนที่มีชื่อเสียงลือนามในอดีตก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน ในภาษาถิ่นใต้ที่ออกชื่อว่า “ลั่นดา” หรือ ลันดา” มีอยู่ ๓ ชื่อคือ

–         ของใช้คือเลื่อยชนิดหนึ่งเรียกว่า “เลื่อยลั่นตา”

–         พืชคือกล้วยชนิดหนึ่งเรียกว่า “กล้วยลั่นดา” บางท้องถิ่นเรียกว่า “กล้วยกุ้ง” ก็เรียก

–         สัตว์คือวัวที่สีแดงดังกล่าวเรียกว่า “วัวลั่นดา”

สำหรับข้อแรกคนปักษ์ใต้เข้าใจเอาว่า เลื่อยชนิดนี้คงเป็นของชาติวิลันดาหรือฮอลันดามาก่อน ส่วยอย่างหลังทั้งสองชื่อเข้าใจว่าคงจะเรียกชื่อตามสีผิวของคนฝรั่งชาติวิลันดาที่คนปักษ์ใต้พบเห็นมาแต่ก่อนก็ได้

สำหรับ “วัวลาย” แม้ในตำราห้าม แต่ถ้ามีลักษณะอื่น ๆ ดีก็อาจจะเป็นวัวชนที่ดีได้เหมือนกัน ฉะนั้นปัจจุบันจึงมีวัวลายที่ใช้เป็นวัวชนอยู่เหมือนกัน สีลาย หรือ ลาย หมายถึงสีที่ตามลำตัวหรือส่วนอื่น ๆ จะเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ต้องมีสีขาวปน จึงจะเรียกว่า “ลาย”

นอกจากนั้นก็มีลักษณะสีพิเศษอย่างอื่นอีก เช่น “หน้าโพธิ์” “หน้าจุด” (บางทีเรียกว่า “หัวกัว” คือ หัวมีจุดคล้ายหัวปลาหัวตะกั่ว) “หน้าปิ้ง” (คือหน้าโพธิ์นั่นเอง แต่เป็นหน้าโพธิ์ที่ไม่อยู่ในความนิยม คือ เป็นรูปสามเหลี่ยมฐานขึ้นหรือเอายอดลงล่างคล้ายจะปิ้ง) ส่วนหน้าโพธิ์ที่อยู่ในความนิยมนั้นมักจะเอายอดเหลี่ยมขึ้นข้างบน ซึ่งเป็นลักษณะสีที่หายากมาก และเป็นส่วนหนึ่งของลักษณะของวัวชาติศุภราช ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

“แซม” หมายถึง มีขนสีขาวแซมขนสีอื่น ๆ ที่เป็นพื้นสี ส่วนมากพื้นสีมักจะเป็นสีดำหรือนิล เรียกว่า นิลแซม เช่น วัวนิลแซมใจสิงห์ ของนายอรุณ  สุไหง-โกลก

“ดาว”  หมายถึงมีขนสีขาวเป็นจุด ๆ ประอยู่ตามตัว ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งตัวของวัวที่มีพื้นสีขนเป็นสีอื่น แต่ส่วนมากมักเป็นสีแดง เช่น วัวดาวประกายของนายบ่าว บ้านทานพอ เป็นต้น

“ดอก” หมายถึงวัวหางดอก คือวัวที่มีสีขนหางขาวหรือสีขนหางขาวแซมสีอื่น ส่วนสีตัววัวนั้นจะเป็นสีอะไรก็ได้ บางทีเป็นสีนิล สีโหนด ฯลฯ เช่น วัวโหนดดอกอาฆาต ของนายวิศิษฐ์  ฉวาง เป็นต้น

“เขาวง” มีลักษณะโค้งเข้าหากันเป็นวง

“เขาโนรา” มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่เขายกขึ้นสูงจากหัวตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขาเหมือนแขนของมโนราห์เมื่อยามรำท่าเขาควาย

“เขากุบ”  มีลักษณะคล้ายเขารอมแต่ปลายเขาหุบงอเข้าหากันมากกว่าเขารอม

“เขาพรก”  มีลักษณะคล้ายเขากุบแต่เขาสั้นกว่าเขากุบ ปลายเขาหรือยอดหุบเข้าหากันมากกว่าเขากุบ

“เขากาง”  มีลักษณะเขาถ่างออกจากกัน

“เขาแบะ”  มีลักษณะเขาถ่างออกจากกันมากจนปลายเขาอยู่กันคนละด้าน

“เขาตรง” หรือ “เขาแทง”  มีลักษณะพุ่งตรงไปข้างหน้า

“เขาบิด”  มีลักษณะคล้ายเขาวงแต่ปลายเขาข้างใดข้างหนึ่งบิดเบี้ยวขึ้นบนหรือลงต่ำเล็กน้อย

“เขาแจ๊ง”  มีลักษณะเขาเล็ก สั้น แต่ปลายเขาแหลม

“เขาหลั้ว”  มีลักษณะโคนเขาใหญ่แต่สั้น และปลายไม่แหลม วัวที่มีเขาชนิดนี้ บางท้องถิ่น เรียกว่า “วัวหัวหลั้ว” ก็เรียก

“เขาหลุบ”  มีลักษณะเขาสั้นมากคล้าย ๆ เขาหลั้ว คือยาวไม่เกินนิ้วชี้

“เขาแห็ก”  คือมีลักษณะเขางามข้างหนึ่งอีกข้างหนึ่งจะเป็นเขาแบะหรือเขาห้อยลงมา

ลักษณะของเขาวัวนี้สามารถบ่งบอกถึงวิธีการชนของวัวแต่ละตัวได้ เว้นแต่วัวตัวนั้นจะไม่ใช้ยอดหรือเขา ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง เรียกว่า “ชนไม่สมยอด” คืออาจจะเลวหรือดีกว่าที่คาดหมายไว้ก็ได้ เช่น วัวที่มีลักษณะเขาเป็น “เขาตรง” หรือ “เขาแทง” แต่ไม่แทง “เขาบิด” แต่ไม่บิด “เขาวง” หรือ “เขารอม” แต่ไม่จับ อย่างนี้เรียกว่าชนไม่สมยอด เป็นต้น

วัวที่มีเขายาวแลดูสวยงามและน่ากลัวหรือน่าหวาดเสียวในขณะเดียวกัน ได้แก่ เขาวง เขารอม เขากุบ หรือเขาแทง เหล่านี้ บางทีเรียกว่า “เขารก” ก็เรียก โดยเฉพาะ “เขาวง” นั้นสามารถใช้ปลายเขาแทงเข้าตา เข้าหูคู่ต่อสู้ได้ง่าย หรือเพียงแต่ตั้งรับเฉย ๆ คุ่ต่อสู้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนที่ว่าวัวเขาชนิดไหน ควรจะใช้ชนกับวัวที่มีเขาชนิดไหน หรือวัวที่มีชั้นเชิงอย่างไรนั้น เจ้าของวัวและนักเลงวัวชนจะต้องศึกษาวิธีการชนให้จงดี และจะต้องเคยเห็นวิธีการชนของวัวแต่ละตัวมาแล้ว เช่น วัวเขาวง หรือเขารอม มักจะได้เปรียบคู่ต่อสู้ที่มีชั้นเชิงการชนเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น วัวแทง วัวทุบ วัวดอก หรือวัวฟัน แต่จะเสียเปรียบ วัวขี่ หรือ “วัวเหง” อย่างเดียวเท่านั้น

ลักษณะทั่ว ๆ ไปของวัวชน

วัวชนที่ดีต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

๑)  คร่อมอกใหญ่ ให้หาคร่อมอกใหญ่ ๆ อย่างคร่อมอกเสือถึงจะดีมีดำลังมาก

๒)  ท้องใหญ่ มีกำลังมากชนได้นานกว่าวัวท้องเล็ก

๓)  กระดูกใหญ่ เช่น กระดูกเท้าใหญ่เหมือนควายจะดีมาก

๔)  คอยาวใหญ่ จะเป็นวัวที่แข็งแรงและแก้เพลียงได้ดีกว่าและเร็วกว่าวัวคอสั้น แต่คอยาวเหมือนคอกวางก็ไม่ดี

๕)  หนอก  หรือโหนก รูปก้อนเส้าถึงจะดี ถ้าแบนเป็นใบพัดไม่ดี

๖)  เขา  ให้หาเขาใหญ่ ๆ ถึงจะดีและถ้ามีขนงอกปิดโคนเขาก็จะดีมาก

๗)  หน้าหัวแคบ คือระหว่างเขาแคบถึงจะดี เพราะถ้าหน้าหัวแถบส่วนมากจะเขาใหญ่

๘)  คิ้ว  ให้หาคิ้วหนานัยน์ตาไม่ถลนถึงจะดี

๙)  ตาเล็ก ดี

๑๐) ใบหูเล็ก ให้หาที่ใบหูเล็กเหมือนหูม้าถึงจะดีและถ้ามีขนในหูมากก็ยิ่งดี

๑๑) หน้าตาคมคายเกลี้ยงเกลา ถึงจะดี

๑๒) หน้าผาก หรือหน้าหัวถ้ามีขนมาก หรือขนรกถึงจะดี

๑๓) ข้อเท้า ให้เลือกหาข้อเท้าสั้น ๆ จะดีมาก ถ้าข้อเท้ายาวไม่ดี

๑๔) เล็บ ให้เลือกหาเล็บใหญ่ที่เรียกว่า “เล็บพรก” (เล็บคล้ายกะลามะพร้าวคว่ำ) ถึงจะดี เล็บยาว หรือเล็บตรงไม่ดี

๑๕) ให้เอาที่หางเล็กเรียวจะดีมาก ถ้าหางใหญ่ไม่ดี แต่โคนหางใหญ่ดี

๑๖) ขนหาง ให้หาขนหางเล็ก ๆ เหมือนเส้นด้าย เส้นไหมและถ้าขนหางบิดนิด ๆ จะดีมาก ขนหางยาวถึงน่องไม่ดี ขนหางหยาบ หรือขนหางเป็นพวงหงิกงอที่เรียกว่า “หางโพ่ย”ไม่ดี

๑๗) อัณฑะ  ให้หาที่มีลูกอัณฑะเล็ก และปลายอัณฑะบิดนิด ๆ หรือยานตวัดไปข้างหน้าจะดีเลิศ ยิ่งถ้ามีลูกอัณฑะเพียงลูกเดียวก็ยิ่งดีเลิศ เรียกว่า “อ้ายหน่วย” หรือ “ทองแดง” เป็นวัวที่หายาก

๑๘) ลึงค์ ให้หาที่ลึงค์ยาว ๆ ใหญ่ ๆ ถึงจะดี ถ้าลำลึงค์ยาวตั้งแต่ลูกอัณฑะ จนถึงกลางท้องแสดงถึงการมีพลังมาก ถ้ามีขนที่ปากลำลึงค์ดกมาก แสดงถึงความมีใจสู้ไม่ค่อยยอมแพ้คู่ต่อสู้ง่าย ๆ

๑๙) ขน  ให้หาที่ขนละเอียด เลี่ยน จึงจะดี ถ้าขนแห้ง คือไม่เป็นมันก็จะดีมาก (สำหรับข้อนี้ยกเว้นเฉพาะวัวนิลเพชรเท่านั้น เพราะวัวนิลเพชรจะมีขนดำเป็นมันหรือขนเปียก)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *