ใบมะตูม:ทำไมต้องมีใบมะตูม

Socail Like & Share

ทำไมต้องมีใบมะตูม

มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์

มณีปิ่น  พรหมสุทธิรักษ์  หลังจากได้ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแล้ว ก็ได้รับประราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาขั้นปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน  ได้รับปริญญาเอกทางภาษาสันสกฤตจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย  คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ทับแก้ว) และเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ภาควิชาภาษาตะวันออกของคณะโบราณคดี

เมื่อข้าพเจ้าจะแต่งงานได้ไปกราบเรียนเชิญอาจารย์ที่ข้าพเจ้าเคารพรักนับถือมากท่านหนึ่ง  มาเป็นผู้ประกอบพิธีสวมมงคลและถอดมงคลให้ ท่านอาจารย์รับปากด้วยความเต็มใจ  แล้วยังได้กรุณาแนะนำข้าพเจ้าด้วยว่า  ข้าพเจ้าควรเตรียมสิ่งใดบ้างที่จะต้องใช้ในการประกอบพิธีครั้งนี้

สิ่งของที่ท่านอาจารย์บอกให้ข้าพเจ้าเตรียมนั้นมีใบมะตูมอยู่สิ่งหนึ่งด้วย  เพื่อให้ไว้ทัดหูเจ้าสาว

ข้าพเจ้าเก็บความสงสัยไว้ไม่ได้ ต้องเรียนถามท่านว่า “ทำไมต้องใช้ใบมะตูมด้วย”

ท่านอาจารย์ตอบว่า  คงเป็นเพราะชื่อของใบไม้ชนิดนี้มีคำแสดงเสียงคือ “ตูม” อยู่ด้วย ท่านว่าคงจะหมายถึงมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วเหมือนเสียงดัง “ตูม” กระมัง

ความเห็นของอาจารย์ข้าพเจ้าก็น่าฟังอยู่ เพราะไทยเรานั้นชอบเล่นเสียงเล่นคำอยู่แล้ว  ดังมีตัวอย่างปรากฎอยู่ทั้งในประเพณีและในวรรณคดีไทยไม่น้อย เช่นดอกไม้ในงานแต่งงาน ก็มักเป็นดอกรักกับบานไม่รู้โรย  เพื่อเป็นเคล็ดว่าความรักของบ่าวสาวจะไม่รู้โรยไม่รู้จืดจาง หรือชื่อเมืองของทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรติ์ก็ว่าชื่อลังกา  เพราะมีรังของกาอยู่บนยอดเขาที่ตั้งเมืองลงกา เป็นต้น

ปัญหาว่า “ทำไมต้องใช้ใบมะตูมด้วย” ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะไทยเราไม่ได้ใช้ใบมะตูมแต่เฉพาะในงานแต่งงานเท่านั้น  หากแต่ใช้ในงานพระราชพิธี และงานมงคลทั่วไปที่มีพิธีพราหมณ์เกือบทุกงาน เช่น ในพระราชพิธีโสกันต์  ในวันโสกันต์ เจ้านายที่จะโสกันต์จะถูกแบ่งเกศาจุกออกเป็นสามปอยด้วยการใช้พายเงินพายทอง พายนาค แบ่งแล้วเอาลวดเงิน ลวดทอง ลวดนาค สายสิญจน์ ผูกปลายเกศาแต่ละปอยกับแหวนนพเก้าและใบมะตูมทั้งสามปอย

ในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เราจะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจิมและทรงทัดใบมะตูม พระราชทานพระยาแรกนา และเทพีคู่หาบทั้งสี่ เป็นต้น  ดังนั้นการที่ไทยใช้ใบมะตูมในงานพิธีต่าง ๆ  อาจจะไม่ใช่เป็นเพราะชอบเสียง “ตูม” ของใบไม้ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นก็ได้  น่าจะมีสาเหตุอื่น ๆ อีก

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล  ประทานความเห็นว่าใบมะตูมที่มีสามแฉกนั้น หมายถึงตรีมูรติ หรือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะของฮินดู ความเห็นนี้ใกล้เคียงกับความเชื่อของฮินดูมาก  ตามลัทธิฮินดูนั้น มะตูม ที่มีชื่อเป็นภาษาสันสกฤตว่า “พิลฺ ว” หรือที่เป็นภาษาฮินดูว่า “เพล” นั้น เป็นไม้ “ศรีผล” หรือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์  กล่าวคือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะ  หรือพระอิศวรนั่นเอง  เหตุนี้พระศิวะจึงมีสมญานาม “พิล วฑณ ฑ” หรือ “ผู้มีไม้มะตูมเป็นคทา”

นอกจากนั้นไม้มะตูมยังเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพวกลัทธิศากตะด้วย ชาวฮินดูเชื่อว่าใบมะตูมที่มีรูปเป็นสามแฉกคล้ายตรีศูล  นั้นเป็นสัญญลักษณ์ของหน้าที่ ๓ อย่างของพระศิวะ คือ การสร้าง การพิทักษ์ และการทำลาย  นอกจากนั้นยังเป็นสัญญลักษณ์ของตาทั้งสามของพระศิวะด้วย

แม้ไม้มะตูมจะเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะ  แต่กำเนิดของไม้ชนิดนี้ หาได้มาจากพระศิวะโดยตรงไม่ ตำนานเรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้กลับไปเกี่ยวกับพระลักษมีชายาของพระวิษณุหรือพระนารายณ์  ซึ่งเป็นเทพเจ้าสำคัญพอ ๆ กับพระศิวะ  จนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเทพคู่แข่งของพระศิวะทีเดียว

เรื่องกำเนิดของต้นมะตูมของฮินดูนั้นหวาดเสียวพอสมควร เรื่องมีว่า

พระลักษมีชายาของพระวิษณุนั้นบูชาพระศิวะด้วยดอกบัวจำนวนพันดอกเป็นกิจวัตรทุกวัน วันหนึ่งพระนางพบว่า ดอกบัวที่ใช้บูชาพระศิวะหายไปสองดอก พระลักษมีเป็นกังวลและว้าวุ่นใจมาก  และพยายามคิดหาสิ่งทดแทน  แล้วนางก็ระลึกขึ้นได้ว่าพระวิษณุสวามีของนางเคยให้ข้อสังเกตว่า อุระของนางนั้นสวยเหมือนดอกบัวที่กำลังจะบาน  เมื่อระลึกได้ดังนั้นนางก็ตัดสินใจใช้อุระของนางแทนดอกบัว  ขณะที่นางกำลังจะตัดอุระของนางด้วยดาบคมกริบนั้น พระศิวะก็ปรากฎองค์ขึ้น พระศิวะพอใจมากที่พระลักษมีภักดีต่อพระองค์แน่นแฟ้น  พระศิวะจึงห้ามไม่ให้พระลักษมีตัดอุระนาง แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะพระลักษมีได้ตัดอุระนางไปข้างหนึ่งแล้ว  เพื่อตอบแทนความภักดีของนาง พระศิวะจึงสัญญาว่า พระองค์จะเอาอุระของนางไปปลูกมันจะกลายเป็นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก  ต้นมะตูมจึงเกิดขึ้นในโลกแต่นั้นมา

อาจกล่าวได้ว่าผู้แต่งตำนานเรื่องนี้ขึ้นคงเห็นว่าลูกมะตูมมีรูปร่างคล้ายอกสาว ก็เลยผูกเรื่องว่าต้นมะตูมนั้นมีกำเนิดจากอกสาว และที่กะเกณฑ์ให้เกิดจากอุระของพระลักษมีก็คงเป็นพวกผู้แต่งเป็นพวกไศวะ หรือพวกที่นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุดนั่นเอง  พวกนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า พระศิวะนั้นสำคัญกว่า ยิ่งใหญ่กว่าพระวิษณุเพราะแม้แต่พระลักษมีชายาของพระวิษณุเองก็ยังต้องบูชากราบไหว้พระศิวะ

การที่เรื่องกำเนิดต้นมะตูมของฮินดูเกี่ยวกับพระลักษมีนี้อาจเป็นเหตุให้ เรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้ในวรรณคดีไทยกลายไปเป็นเรื่องของพระวิษณุสวามีของพระลักษมีก็เป็นเรื่องของไทยไม่หวาดเสียวเท่ากับเรื่องของฮินดู  แต่กลับไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจับช้าง คล้องช้าง หนังสือนายรายณ์สิบปางเล่าว่า

ครั้งหนึ่งช้างเอกทันต์อาละวาดรุกรานไปทั่วตรีโลก  พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์มาปราบ  พระนารายณ์จึงเอาไม้เจ็ดประการมาร่ายวิษณุมนต์สามคาบ  ฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์นั้นสามครั้ง  เดชุอำนาจวิษณุมนต์บันดาลให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวดังจะแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง  ไม่อาจทนอยู่ได้ ก็วิ่งมาด้วยความโกรธเข้าต่อสู้กับพระเป็นเจ้า พระนารายณ์ก็เข้าต่อยุทธ์ด้วยช้างเอกทันต์เป็นสามารถ  ช้างเอกทันต์สิ้นกำลังเห็นจะต้านทานพระนารายณ์ไม่ได้ก็บ่ายหน้าจะหนี  พระนารายณ์จึงเอาบ่วงบาศพญานาคซัดถูกเท้าขวาช้างเอกทันต์แล้วเอาตรี ซึ่งเป็นอาวุธของพระองค์ปักลงกับพื้นธรณีอธิษฐานให้เป็นไม้มะตูม แล้วเอาหางช้างเอกทันต์พันไว้กับต้นมะตูมนั้น  ช้างเอกทันต์ก็ไม่อาจหนีไปได้

จะเห็นได้ว่าในเรื่องของไทยนั้นต้นมะตูมเกิดจากตรี-อาวุธของพระวิษณุ ไม่ได้เกิดจากอุระพระลักษมีอย่างเรื่องของฮินดู และการที่ใบมะตูมมีสามแฉกคล้ายตรี อาจทำให้ผู้แต่งเรื่องนี้แต่งให้ต้นมะตูมเกิดจากตรีก็เป็นได้

นอกจากนั้นยังกล่าวได้อีกว่าการที่เรื่องกำเนิดไม้มะตูมของไทย ไม่เหมือนของฮินดูนั้น  อาจเป็นเพราะว่า ไทยเราไม่เคยรู้เรื่องกำเนิดไม้มะตูมของฮินดูเลย แต่คิดเรื่องของเราขึ้นเอง  สาเหตุที่ทำให้คิดเรื่องขึ้นก็เพราะว่าในเวลาที่เกิดนินานเรื่องนี้นั้น ไทยรับนับถือไม้มะตูมเป็นไม้มงคล เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพิธีต่าง ๆ อยู่แล้ว  และไม้มะตูมนี้คงได้ใช้ในพิธีคล้องช้างด้วย  จึงมีผู้ผูกเรื่องกำเนิดไม้มะตูมให้เกี่ยวข้องกับพิธีนี้ขึ้น

ไทยคงได้ธรรมเนียมการใช้ใบมะตูมในงานพิธีจากพราหมณ์  โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ไศวะพราหมณ์ในอินเดีย  เมื่อจะบูชาเทพเจ้าประจำบ้านเป็นกิจวัตรประจำวันนั้นจะถวายใบมะตูม พร้อมกับท่องมนต์จาก “พรหมกรรมะ” ว่า

“ข้าแต่พระศิวะ ข้าขอถวายใบมะตูมที่มีสามแฉกนี้แก่พระองค์ ใบมะตูมที่มีสามแฉกนี้ เปรียบเหมือนคุณลักษณะสามประการของพระองค์  คือดี ไม่ดี และเพิกเฉย แฉกทั้งสามของพระองค์ยังเปรียบเสมือนเนตรทั้งสามของพระองค์  และเปรียบเหมือนอาวุธศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามของพระองค์ด้วย ใบมะตูมนั้นทำลายบาปแห่งสสาร ผู้ใดได้แม้เพียงเห็นหรือสัมผัสใบมะตูมก็จะหลุดพ้นจากบาปทั้งปวง  ใบมะตูมแม้เพียงใบเดียวที่ได้ถวายพระศิวะแล้วสามารถล้างบาปหนักที่สุดได้”

เมื่อพราหมณ์ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นพวกที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้ เป็นพราหมณ์ที่สำหรับใช้ในการพระราชพิธีในกรุงสยามทั่วไป ตั้งแต่การบรมราชาภิเษก เป็นต้น พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้นับถือพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์  นับถือพระอิศวรคล้ายพระยโฮวาหรือพระอ้าหล่าที่ฝรั่งและแขกนับถือกัน” นั้นก็คงจะได้นำแบบการใช้ใบมะตูมในพิธีต่าง ๆ มาใช้ในเมืองไทยด้วย  และไทยก็คงยอมรับนับถือไม้มะตูมว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ตามแบบพราหมณ์ไศวะ และยอมรับใช้ใบมะตูมตามแบบพราหมณ์มาจนทุกวันนี้

อาจารย์กรุณา และอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต และภาษาฮินดู และผู้คุ้นเคยกับขนมธรรมเนียมของชาวฮินดูอย่างดี ได้กรุณาให้รายละเอียดเพิ่มเติมแก่ข้าพเจ้าว่า แม้จนปัจจุบันนี้ ชาวฮินดูนิกายไศวะก็ยังนับถือมะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระศิวะอยู่ และไม่ได้ใช้แต่เฉพาะใบอย่างเดียวเท่านั้นในการพิธีต่าง ๆ หากยังใช้ส่วนอื่น ๆ ของไม้มะตูมด้วย เช่นในการประกอบยัญพิธี โหมกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมต่าง ๆของชาวฮินดู พราหมณ์จะใช้ทั้งกิ่งและใบมะตูมประดับทางเข้าหรือทวารทั้งสี่ทิศของบริเวณพิธี นอกจากนั้นชาวฮินดูยังใช้ใบมะตูมทำอรตีหรือทำการบูชากราบไหว้เทพเจ้าทุกวันเหมือนไทยเราจุดธูปเทียนถวายดอกไม้บูชาพระนั่นเอง

นอกจากจะใช้ไม้มะตูมในพิธีกรรมต่าง ๆ แล้ว ชาวฮินดูยังใช้ไม้มะตูมเป็นสมุนไพรแก้โรคต่าง ๆ ด้วย เช่นใช้แก้ จฺ รมโรค หรือโรคผิวหนัง เขาจะเอาเยื่อมะตูม ผิวมะตูม มาบดแล้วละลายน้ำใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน หรือใช้ทาแก้โรคก็ได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากที่อาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไร  กุศลาสัยได้กรุณาชี้แจงแก่ข้าพเจ้าก็คือ นอกจากชาวฮินดูจะนับถือไม้มะตูมว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ประจำพระศิวะแล้ว ปัจจุบันนี้ชาวฮินดูยังให้ไม้มะตูมเป็นไม้ประจำพระลักษมีด้วย ชาวฮินดูจะใช้ไม้มะตูมนี้ทั้งต้นทั้งกิ่งทั้งใบในการบูชาพระลักษมี กล่าวได้ว่าธรรมเนียมนี้อาจเกิดจากตำนานเรื่องกำเนิดของไม้ชนิดนี้จากอุระของพระลักษมี ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วข้างต้นก็เป็นได้

ที่น่าสนใจ คือพระลักษมีหรือพระศรีนี้เป็นเทวีแห่งโชคลาภ และความเจริญทั้งปวง พระศรีหรือพระลักษมีมีความสำคัญเรื่องโชคมากจนกวีสันสกฤตมักนำมาใช้ในความเปรียบว่า “พระราชาองค์ใดมีพระศรีเคียงข้าง พระราชาองค์นั้นเป็นใหญ่กว่าพระราชาทั้งปวง” หรือว่า “พระจักรพรรดิ์องค์นี้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติดีเลิศทั้งปวง เพราะมีพระศรีอยู่ด้วย” เป็นต้น

ไทยอาจได้ธรรมเนียมการใช้ไม้มะตูมในงานพิธีต่าง ๆ จากคตินี้ด้วยก็ได้กล่าวคือ เดิมอาจจะใช้ตามพราหมณ์นิกายไศวะ และต่อมาเมื่อธรรมเนียมการใช้ไม้มะตูมของชาวฮินดูในการบูชาพระลัษมี เพื่อแสวงโชคลาภแพร่หลายขึ้น ไทยก็อาจจะรับคตินี้มาด้วยก็เป็นได้ จึงได้นิยมใช้ใบมะตูมในงานพิธี  โดยเฉพาะงานมงคลต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

หนังสืออ้างอิง

๑.  นารายณ์สิบปาง และพงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ประพันธ์  สุคนธะชาติ รวบรวมและเรียบเรียง พระนคร ๒๕๑๑

๒.  พระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนคร ๒๕๐๖

๓.  พระราชพิธีโสกันต์ ณัฏฐภัทร นาวิกโยธิน เรียบเรียง พระนคร ๒๕๑๘

๔.  Chulakantamangala  The tonsure Ceremony as performed in Siam G.E. Gerini Bankok 1893

๕.  Visnuism and Sivaism J. Londa London 1970

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *