เจดีย์ยุทธหัตถีพ่อขุนรามฯที่เมืองตาก

Socail Like & Share

ศรีศักร  วัลลิโภดม

ทุกวันนี้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และโบราณคดีเวลาไปเที่ยวเมืองตากก็จะนึกถึงเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงก่อนอย่างอื่น ๆ เพราะเป็นเจดีย์ที่เป็นอนุสรณ์สงครามเก่าแก่และความสำคัญของเมืองตากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เป็นการนึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นพระอดีตมหาราชที่สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่คนไทยในแหลมทองนี้

ข้าพเจ้าเคยดูพระเจดีย์องค์นี้บ่อย ๆ บางครั้งก็นำเพื่อนฝูงหรือนักวิชาการไปชม แต่เวลาจะบอกกับเขาว่าเป็นพระเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออนุสรณ์ในการที่ทรงชนช้างได้ชัยชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดแล้ว รู้สึกตะขิดตะขวงใจพิกล เลยต้องแก้เกี้ยวไปว่าเป็นพระเจดีย์แบบสุโขทัย ที่นักวิชาการสมัยก่อนสันนิษฐานว่า เป็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหงและเป็นที่เชื่อถือของชาวบ้านชาวเมืองมาทุกวันนี้

การที่ต้องอธิบายไปเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้ามีความเห็นว่าความรู้และความเชื่อเรื่องราวในอดีตของคนเรานั้น มีที่มาอยู่สองทางด้วยกัน ทางหนึ่งคือจากหลักฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง อีกทางหนึ่งคือการสันนิษฐานและการบอกเล่าของผู้ที่เป็นที่เชื่อถือว่าเป็นผู้มีความรู้และไว้ใจได้ ซึ่งเป็นเหตุให้มีการเชื่อถือกันต่อ ๆ มาว่าเป็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ความรู้ที่มาจากทางที่สองนี้ มักจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงที่พิสูจน์ไม่ได้ และมีอยู่ในทุก ๆ สังคมของมนุษย์ซึ่งภาษาฝรั่งเรียกว่า myth อย่างเช่นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกในคัมภีร์ทางคริสตศาสนา และเรื่องราวเกี่ยวกับการไปโปรดสัตว์และการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าในดินแดนประเทศไทยดังปรากฎในตำนานพงศาวดาร เป็นต้น

เรื่องราวที่เกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถี ของพ่อขุนรามคำแหงฯนั้นมีที่มาดังนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าคือ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยได้ทรงวินิจฉัยว่าพระเจดีย์องค์นี้เป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นรูปแบบของพระเจดีย์ในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะตั้งอยู่อย่างโดด ๆ ในลักษณะที่ไม่เป็นวัด คงจะสร้างขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

พอดีกับมีข้อความที่กล่าวถึงเมืองตากในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งของกรุงสุโขทัยว่า ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกกองทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพออกไปขับไล่ ได้ชนช้างกับขุนสามชน เกิดเสียทีแก่ขุนสามชน ถูกขุนสามชนไล่เอา พ่อขุนรามคำแหงตอนนั้นทรงมีประชนม์ได้ ๑๙ พรรษาเสด็จไปในกองทัพด้วยก็ไสช้างทรงเข้าขัดขวางช่วยพระราชบิดาได้ และขณะเดียวกันก็เอาชนะขุนสามชนได้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามให้แก่พระโอรสว่า “รามคำแหง”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงสันนิษฐานว่าพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่สร้างอยู่โดด ๆ ที่เมืองตากนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่พ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่แสดงชัยชนะของพระองค์ที่มีต่อขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด

จากคำสันนิษฐานนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยนั้นสร้างใหญ่เห็นชอบด้วยเลยแพร่หลายกลายเป็นความเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ของทุกวันนี้

ข้าพเจ้ายังไม่แลเห็นคล้อยตาม และยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงในทางประวัติศาสตร์ได้ เพราะมีหลักฐานและความคิดเห็นขัดแย้งหลาย ๆ อย่าง ประการแรกพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น คือเจดีย์ทรงดอกบัวที่พบในเขตแคว้นสุโขทัยจริง แต่ว่าไม่มีหลักฐานอันใดยืนยันได้ว่าเป็นเจดีย์ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ในทำนองตรงข้าม ลักษณะรูปแบบและหลักฐานที่สัมพันธ์กับอายุของพระเจดีย์แบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นของที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นชั้นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงลงมา ประการที่สอง พระเจดีย์องค์นี้ไม่ได้ตั้งอยู่โดด ๆ ดังคำสันนิษฐานของสมเด็จพระยากรมดำรงราชานุภาพ แต่มีฐานของพระวิหารอยู่เบื้องหน้า มีลักษณะเป็นวัดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำปิง

และที่สำคัญก็คือตั้งอยู่บนเนินเขาติดอยู่กับตัวเมืองตากทางด้านตะวันออก ด้านเหนือและด้านใต้ของเนินเขาลูกนี้เป็นบึงใหญ่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหากมีการชนช้างกันจริง ๆ แล้วในบริเวณนี้ ทั้งช้างของขุนสามชน พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนรามคำแหงคงหล่นลงไปในบึงเป็นแน่

ประการสุดท้าย ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแนวความคิดในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไป ที่คนไทยมีการสร้างพระเจดีย์โดด ๆ ในลักษณะที่เป็นอนุสาวรีย์แบบที่ฝรั่งเขาทำกัน มีแต่การสร้างวัด ซึ่งเป็นศาสนสถานแม้แต่การสร้างสถูป บรรจะอัฐิของคนตาย เขาก็มักทำกันในเขตวัด

อย่างไรก็ตามที่เขียนขัดแย้งขึ้นมานี้ก็ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะลบล้างความเข้าใจในเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี อันแสดงพระเกียรติคุณของพระมหากษัตราธิราชเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้ายินยอมรับในความเป็นจริงที่ว่า ในการเป็นมนุษย์ของเรานั้นความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้หรือที่เรียกว่า myth นั้นยังมีความสำคัญในการจรรโลงสังคมให้มีความเป็นปึกแผ่น และดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่น

ข้าพเจ้ามุ่งหวังเพียงแต่ให้มีการทบทวนในแง่ของความจริงทางประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เป็นวิทยาการเท่านั้น

จาก สยามใหม่ รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๒๒๗ : ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๔

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *