เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

Socail Like & Share

เครื่องตีที่ทำด้วยไม้

เกราะ

เกราะ โดยปกติทำด้วยกระบอกไม้ไผ่  ตัดกระบอกไม้ไผ่มาทั้งปล้องไว้ข้อหัวท้ายแล้วคว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ  และใช้ตีด้วยไม้ตีอีกอันหนึ่ง  ทำด้วยซีกไม้ไผ่หรือไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ  อีกมือหนึ่งถือไม้ตี  ใช้ถือตีเหมือนตีกระบอกหรือเคาะไม้ก็ได้อย่างที่พูดกันว่า “ตีเกราะเคาะไม้”

โกร่ง

โกร่ง ทำด้วยลำไม้ไผ่เหมือนกันจะเรียกว่าเกราะยาวก็ได้  เพราะใช้ลำไม้ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่งหรือสองวา ปาดเป็นรูปยาวไปตามปล้องไม้ไผ่หรือเว้นตรงข้อก็ได้ ปากทั้งสองข้างหรือข้างเดียว แต่สลับปล้องกันก็ได้ เพื่อให้ตีเกิดเสียงดังก้องขึ้น  เวลาตีใช้วางลำราบไปตามพื้น มีไม้รองหัวท้าย ไม้ตีจะใช้ซีกไม้ไผ่เหลาให้เกลี้ยงเกลา  ขนาดยาวราวสัก ๓๐-๔๐ ซม.

กรับคู่

ก.  กรับทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงเกลา รูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่และหนาตามขนาดของเนื้อไม้ เช่น หนาสัก ๑.๕ ซม. กว้างสัก ๓-๔ ซม. และยาวประมาณ ๔๐ ซม. ทำเป็น ๒ อัน หรือคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบน เกิดเสียงได้ยินเป็น “กรับ-กรับ-กรับ”

ข.  กรับพวง กรับอีกชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บาง ๆ หรือด้วยแผ่นทองเหลือง  หรือด้วยงาหลาย ๆ อัน และทำไม้แก่นหรืองา ๒ อัน เจาะรูตอนหัว ร้อยเชือกประกบไว้สองข้างอย่างด้ามพัด  เมื่อตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดอีกข้างหนึ่งลงบนอีกฝ่ามือหนึ่ง  กรับพวงนี้ ที่สร้างขึ้นแต่เดิมด้วยมีความมุ่งหมายมาอย่างไรไม่ปรากฎ  แต่คงใช้เป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกเป็นพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า “รัวกรับ” และต่อมาก็ใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะในการขับร้องเพลงเรือ, ดอกสร้อยสักวา และใช้ในการบรรเลงมีขับร้องและในการแสดงนาฏกรรมด้วย

ค.  กรับเสภา กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น และโดยปกติทำด้วยไม้ชิงชันยาวประมาณ ๒๐ ซม.  หนาประมาณ ๕ ซม. เหลาเป็นรูป ๔ เหลี่ยม แต่ลบเหลี่ยมเสียนิดหน่อยเพื่อให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอกกระทบกันได้สะดวกใช้ประกอบในการขับเสภา  ซึ่งผู้กล่าวขับคนหนึ่ง  จะต้องใช้กรับจำนวน ๔ อัน หรือ ๒ คู่ ถือเรียงไว้ในฝ่ามือของตนข้างละคู่กล่าวขับไปพลางมือทั้งสองแต่ละข้างก็ขยับกรับแต่ละคู่ในมือ  แต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะกับเสียงขับไปพลาง

ระนาด(เอก)

ระนาด เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่งวิวัฒนาการมาจากกรับ คือ ทำอย่างกรับหลาย ๆ อัน  ประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน  และทำรางรองให้อุ้มเสียงได้แล้วใช้เชือกร้อย “ไม้กรับ” ขนาดต่าง ๆ นั้นให้ติดกัน ขึงแขวนไว้บนราง ใช้ไม้ตีเกิดเสียงกังวานลดหลั่นกันตามต้องการ ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงได้  ต่อมาก็ประดิษฐ์แก้ไขตัดแต่งและใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของไม้กรับ ถ่วงเสียงให้เกิดไพเราะยิ่งขึ้น “ไม่กรับ” ที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นขนาดต่าง ๆ เรียกว่า “ลูกระนาด” และเรียกลูกระนาดที่ร้อยเชือกเข้าไว้เป็นแผ่นเดียวกันว่า “ผืน” ลูกระนาดชนิดที่ทำด้วยไผ่บงนั้น นิยมกันมากว่าได้เสียงเพราะดี ทำรางเพื่อให้อุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ทางหัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า “ราง(ระนาด)” เรียกแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางระนาดว่า “โขน” และเรียกรวมทั้งรางและผืนรวมกันเป็นลักษณะนามว่า “ราง”

ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน ๒๑ ลูก ลูกต้น ขนาดยาวราว ๓๙ ซม. กว้างราว ๕ ซม. และหนา ๑.๕ ซม. ลูกต่อมาก็ลดหลั่นกันลงไปจนลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด มีขนาดยาว ๒๙ ซม. ลูกระนาดเหล่านั้นร้อยเชือกแขวนบนรางและรางนั้นวัดจาก “โขน” หัวรางข้างหนึ่งถึง “โขน” อีกข้างหนึ่ง ประมาณ ๑๒๐ ซม. มีเท้ารองรางตรงส่วนโค้งตอนกลางเป็นเท้าเดี่ยวรูปอย่างพานแว่นฟ้า

ระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม  เป็นเครื่องดนตรีที่คิดสร้างกันขึ้นในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์เลียนแบบระนาดเอก  แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้างและยาวกว่า และประดิษฐ์รางให้มีรูปร่างต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้  แต่เว้นกลางเป็นทางโค้งมี “โขน” ปิดทางด้านหัวและด้านท้าย  วัดจากปลายโขนทางหนึ่งไปยังอีกทางหนึ่ง ยาวประมาณ ๑๒๔ ซม. ปากรางกว้างประมาณ ๒๒ ซม. มีเท้าเตี้ย ๆ รอง ๔ มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน ๑๗ หรือ ๑๘ ลูก  ลูกต้นยาวประมาณ ๔๒ ซม. กว้าง ๖ ซม. และลูก ยอดมีขนาดยาว ๓๔ ซม. กว้าง ๕ ซม. ไม้ตีก็ประดิษฐ์แตกต่างออกไปด้วย  เพื่อต้องการให้มีเสียงทุ้มเป็นคนละเสียงกับระนาดเอก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็ก

ระนาดทอง หรือระนาดเอกเหล็กนี้มีตำนานว่า คณาจารย์ทางดุริยางค์ศิลปคิดประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ลูกระนาดแต่เดิมทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันมาว่า ระนาดทอง ต่อมามีผู้ทำลูกระนาดด้วยเหล็กจึงเรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก ทั้งระนาดทองและระนาดเหล็ก  ใช้วางเรียงบนรางไม้มีผ้าพันไม้  หรือใช้ไม้ระกำวางดาดไปตามขอบรางสำหรับรองหัวท้ายลูกระนาด แทนร้อยเชือกผูกแขวนอย่างลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ ระนาด ๒ ชนิดนี้ทั้งที่ทำลูกด้วยทองเหลืองและเหล็ก  มีจำนวน ๒๐ หรือ ๒๑ ลูก ลูกต้นยาวประ ๒๓.๕ ซม. และกว้างประมาณ ๕ ซม. ลูกยอดยาวประมาณ ๑๙ ซม. และกว้างประมาณ ๔ ซม. รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนั้น ทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมแต่ยาวประมาณ ๑ เมตร ปากรางแคบกว่าส่วนยาวของลูกระนาด มีขอบกั้นหัวท้ายลูกระนาด  ถ้านับความกว้างรวมทั้ง ๒ ข้างด้วยก็ราว ๑๘ ซม. เบื้องล่างของรางทำเท้ารอง ๔ เท้า ติดลูกล้อ

ระนาดทุ้มเหล็ก

ระนาดทุ้มเหล็ก  เป็นเครื่องตีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระราชดำริให้สร้างเพิ่มเติมอีกแบบหนึ่ง  โดย “ถ่ายทอดมาจากหีบ เพลงฝรั่งอย่างเป็นเครื่องเขี่ยหวีเหล็ก” ลูกทำเขื่องกว่าระนาดทองหรือระนาดเอกเหล็กเพื่อเป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน ๑๖ หรือ ๑๗ ลูก ลูกต้นยาวประมาณ ๓๕ ซม. กว้างประมาณ ๖ ซม. ลูกอื่นก็ย่อมลงไปตามลำดับ จนถึงถูกยอดยาวประมาณ ๒๙ ซม. กว้างประมาณ ๕.๕ ซม. ตัวรางระนาด ยาวประมาณ ๑ เมตรปากกว้างประมาณ ๒๐ ซม. มีชานยื่นออกไป ๒ ข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชาน ๒ ข้างด้วย ก็ประมาณ ๓๖ ซม. มีเท้ารองติดลูกล้อ ๔ เท้า ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบน (รวมทั้งเท้าด้วย) สูง ๒๖ ซม.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *