องค์ประกอบของเรือนลานนา

Socail Like & Share

องค์ประกอบของเรือนลานนาโดยทั่วไปและคติความเชื่อบางประการ
เรือนลานนาเป็นเรือนใต้ถุนสูงหรือยกพื้นสูง ลักษณะเนื้อที่ใช้สอยทั่วไปของเรือนลานนานั้นประกอบด้วยชานกว้างมีบันไดทอดขึ้นไป หากเป็นเรือนไม้ปั่วบันไดจะหลบอยู่ใต้ชายคาเรือน และทอคสู่ชานเล็กๆ ใต้ชายคา จากชานทั้งประเภทชานโล่งหรือชานใต้ชายคา ตรงริมชานด้านใดด้านหนึ่งจะมีหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่มพร้อมทั้งกระบวย หิ้งสูงจากระดับพื้นชานประมาณ ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร ภาคเหนือเรียกว่า “ฮ้านน้ำ” (ร้านน้ำ) ซึ่งวางอยู่ในระดับสูงพอที่ยืนตักดื่มได้อย่างสบาย หากร้านน้ำอยู่ตรงบริเวณชานโล่ง ชาวบ้านก็จะสร้างเป็นเรือนเล็กๆ มีหลังคาคลุมไว้ ส่วนชานนี้เป็นบริเวณที่เชื่อมส่วนต่างๆ ของเรือน ถัดจากชานเป็นห้องโถงเปิดโล่ง และยกระดับสูงกว่าระดับชานประมาณคืบเศษๆ เป็นส่วนที่อยู่ใต้ชายคา มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ห้อง เสาบริเวณนี้เป็นบริเวณอเนกประสงค์ ชาวลานนาเรียกส่วนนี้ว่า “เติ๋น” กั้นฝาเต็มด้านเดียว ใช้เป็นที่นั่งเล่นรับประทานอาหารรับแขก จัดงานศพ เมื่อมีคนในบ้านถึงแก่กรรมลง บริเวณเติ๋นมีลักษณะกึ่งเปิดโล่ง (semiopen quarter) ในกรณีเรือนชนบทที่เป็นเรือนไม้บัวบริเวณเติ๋น เป็นเนื้อที่ใช้ งานอย่างยืดหยุ่น และแม้จะเป็นเรือนไม้จริงขนาดใหญ่ก็ตาม “เติ๋น” ก็เป็นเนื้อที่มีขนาดพอใช้งานได้ตามความจำเป็นเท่านั้น เพราะต้องการ ให้เป็นบริเวณโล่งโถงจึงเกิดปัญหา เรื่องที่เก็บของใช้ ในกรณีนี้ชาวเหนือได้ใช้ปริมาตรที่ว่างอย่างเต็มที่โดยทำเพดานใต้หลังคาเป็นส่วนเก็บของโดยทำเป็นเพดานโปร่ง เป็นตะแกรงตาสี่เหสี่ยมเหนือบริเวณเติ๋น ใช้เก็บข้าวของเกือบทุกประเภท เช่น โตก หม้อ ถวยชามสำรอง คนโทน้ำ ขนาดของช่องตะแกรงมักถือขนาดของคนโทดินเผาเป็นเกณฑ์ โดยทำช่องตะแกรงไม้ให้แคบกว่าความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลางคนโท โดยที่เมื่อเก็บคนโท โดยการควํ่าคนโทลงเอาคอคนโทเสียบลงในช่องตะแกรง ช่องตะแกรงจะรับเอาตัวคนโทเอาไว้ เพดานตะแกรงโปร่ง นี้ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง ยึดติดกับขื่อและแม่หัวเสาของเรือนมีเคร่าไม้ดึงตะแกรงไว้กับตัวจันทันและแป ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ควั่น” เติ๋นนี้บางทีในช่วงตอนกลางคืนก็ใช้เป็นที่หลับนอนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ เป็นชาย หรือแขกผู้ชายที่มาเยี่ยมเยียน หรือใช้เป็นที่นอนลูกชายวัยแตกเนื้อหนุ่มที่ออกเที่ยวยามค่ำคืน เมื่อกลับมาตอนดึกดื่น จะได้ไม่ต้องปลุกใคร ทางด้านตะวันออกของเติ๋นหรือด้านตัวนอนจะมีหิ้งพระ สำหรับบูชาสักการะ บนหิ้งวางพระพุทธรูป แจกันดอกไม้ และในปัจจุบันนี้ จะมีรูปถ่ายของพระเถระที่มีชื่อเสียง อันเป็นที่เคารพของชาวเมือง เช่น รูปครูบาศรีวิชัย เป็นต้น ติดกับฝาผนังเชิดกับหิ้งพระ สมัยก่อนจะมีภาพเขียนรูปพระธาตุ ที่สำคัญพร้อมด้วย “รูปตัวเบิ้ง” (รูปปีเกิด) แขวนไว้เช่นกัน เนื่องจากชาวเหนือถือว่าคนเกิดปีไหนจะต้องไปสักการะบูชาพระธาตุประจำปีเกิดเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนและให้มีอายุ มั่นขวัญยืน ถือว่าได้อานิสงส์มาก พระธาตุประจำปีเกิดมีดังนี้ เช่น คนเกิดปีชวด (ปีใจ้) พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุจอมทอง คนเกิดปีฉลู (ปีเป้า) พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น หากผู้ใดไม่สามารถจะเดินทางไปสักการะได้ก็จะซื้อภาพเขียนที่มีผู้เขียนไว้เป็นภาพปีนักกษัตร หรือปีเกิด และรูปพระธาตุประจำปีเกิด ซึ่งวางขายตามร้านมาบูชาในสมัยประมาณ ๓๐ ปีก่อนนี้มีกันแทบทุกบ้าน นอกจากนี้บนหิ้งพระยังเป็นที่เก็บหนังสือสมุดข่อย ตำราฤกษ์ยามตลอดจนตำรายาอีกด้วย ในกรณีที่เจ้าบ้านฝ่ายชายเป็นอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรม โหราจารย์ และหมอรักษาโรค ซึ่งบ้านที่มีอาชีพดังกล่าวยังมี “หิ้งครู” เพิ่มขึ้นอีกหิ้งหนึ่ง แต่มีระดับต่ำกว่าหิ้งพระ
ถัดจากเติ๋นเป็นห้องนอน เป็นห้องที่มีฝาปิดทั้ง ๔ ด้าน เป็นลักษณะห้องทึบ (Closed Space) มีประตูเปิดเข้าจากเติ๋นเข้าไปภายในห้อง เหนือประตูนี้มีไม้แกะสลักลวดลายสวยงามไม้แผ่นนี้มิใช่ เป็นของประดับให้สวยงามเพียงอย่างเดียว หากชาวเหนือยังถือว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ติดไว้เพื่อใช้ป้องกันภัยอันตรายที่มองไม่เห็นต่างๆ ที่จะผ่านประตูเรือนเข้าไป ไม้แกะสลักแผ่นนี้เรียกว่า “หำยนต์” ใต้หำยนต์ ลงมาที่ตรงพื้นหรือบริเวณธรณีประตูจะยกขอบธรณีประตูสูงขึ้นกว่าปกติ เรียกว่า “ข่มประตู” ทำหน้าที่นอกจากเป็นกรอบประตูแล้วยังทำหน้าที่เป็นเส้นกั้นอาณาเขตห้องนอนอันเป็นบริเวณหวงห้าม คนภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว ไม่มีสิทธิ์ล่วงล้ำเข้าไปได้หากล้ำเลยข่มประตูไปถือว่า “ผิดผี” หรือผิดจารีตประเพณีของชาวไทยยวน จำต้องทำพิธีเซ่นสรวงผีเรือนเป็นการไถ่โทษ
ส่วนหำยนต์นั้น คำว่า “หำ” เป็นศัพท์ลานนาแปลว่า “อัณฑะ” ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งรวมพลังบุรุษ ส่วนคำว่า “ยน” คงได้มาจากศัพท์สันสกฤตว่า “ยนตร์” แต่ในความหมายของลานนาหมายถึงสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตามตำนานต่างๆ เช่น ตำนานพระธาตุลำปางหลวง มักกล่าวถึงบริเวณที่ฝังของมีค่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณผู้ทรงวิทยาคม (ผู้เข้าใจในทางประดิษฐ์กลไก) จะประดิษฐ์ “หุ่นยน” หรือ “ยนฟัน” ไว้รักษาปากทางเข้า หากผู้ใดบุกรุกเข้าไปภายในก็จะถูก “ยนฟัน” นี้ฟันถึงแก่ความตาย ฉะนั้นคำว่า “หำยน” จึงทำหน้าที่เสมือน “ยันตร” อันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยป้องกันภยันตรายต่างๆ ที่จะเข้ามาจากภายนอกเข้าสู่ภายในห้องนอน ขนาดของหำยนจะกว้างเท่ากับขนาดของช่องประตู ซึ่งจะวัดขนาดจากส่วนยาวของเท้าของ
ชายหัวหน้าครอบครัวนั้นๆ โดยให้กว้าง ๔-๕ ช่วงเท้า บางประตูก็กว้างกว่านี้ ตามประเพณีนั้นเท้าถือว่าเป็นของต่ำที่สุดของร่างกาย ดังนั้นเมื่อสิ่งใดจะเล็ดลอดผ่านประตูได้ “หำยน” เข้าไปภายในตัวเรือน “ความต่ำของเท้าที่วัดขนาดเท่ากับขนาดของหำยนไว้นั้นก็จะช่วย “ขม” ให้สิ่งที่ชั่วร้ายทั้งมวลที่จะลอดผ่านเข้าไปตกอยู่ใต้อานุภาพของการ “ข่ม” นี้ทั้งสิ้น

อนึ่งฝากั้นห้องนอนทั้ง ๔ ด้าน จะมีฝาด้านยาวของห้องนอนฝาตรงข้ามกับฝาด้านหัวนอนยาวเลยเกินออกมากินเนื้อที่ของส่วนเติ๋นที่วางชิดกับ “ฮ่อมชาน” (ช่องระเบียงชาน) ด้านข้างประมาณ ๑ ศอก ภาษาลานนาเรียกฝาที่เกินมานี้ว่า “ฝาลับนาง” มีหน้าที่กำบังหญิงสาวที่ทำงานอยู่ในบริเวณเติ๋นส่วนนี้ยามค่ำคืน หรือเป็นส่วนที่หญิงสาวใช้เป็นบริเวณนั่งคุยกับหนุ่มต่างบ้านที่มาคุยด้วย
ห้องนอนที่วางถัดจากเติ๋นไป จะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าบ้าน ความกว้างของเรือนนอน จะเป็นตัวกำหนดขนาดใหญ่ เล็กของเรือนโดยถือเอาขนาดขื่อ และความยาวของชื่อเป็นเกณฑ์ สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะนอนรวมกันในห้องโถงนอนนี้ หากเป็นเรือนไม้บัวของระดับคนจนในชนบท ห้องนอนจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ใช้งานอื่นในเรือน การนอนนั้นจะแบ่งเนื้อที่นอนตามห้องเสา ห้องเสาสุดภายในจะเป็นส่วนนอนของหัวหน้าครอบครัวและภรรยาสามีจะนอนอยู่ทางทิศเหนือของภรรยา โดยยึดเอาทิศเหนือเป็นสัญลักษณ์ว่าอยู่เหนือหรือสูงกว่าภรรยานั่นเอง ถัดจากนั้นมาก็จะเป็นส่วนนอนของลูกๆ หากลูกคนที่แต่งงานมีคู่แล้วก็จะนอนในส่วนถัดไป การแยกกลุ่มนอนแยกโดยการปูเสื่อปูที่นอนและกางมุ้งเหนือที่นอน การนอนแบบนี้ฝรั่งเห็นไปว่าเป็นการแบ่งที่ว่างภายในของที่นอนออกเป็นส่วนย่อยๆ
(Microspace) ได้อีกโดยไม่ต้องกั้นฝา โถงห้องนอนนี้ เนื่องจากมีขนาดเนื้อที่มากกว่าส่วนอื่นใดภายในตัวเรือน และฝาเรือนก็ผายล้มออก การแบ่งเนื้อที่ใช้สอยจะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ซีกหนึ่งใช้นอน อีกซีกหนึ่งใช้เป็นส่วนเก็บของ โดยเฉพาะเสื้อผ้าและหีบใส่ของมีค่า การแบ่งโถงนอนออกเป็น ๒ ซีกนี้แบ่งโดยมี “ไม้แป้นต้อง” วางแบนเสมอระดับพื้น วางแบ่งกลางตัวเรือนตามแนวยาวขนาดหนาประมาณ ๓-๔ นิ้ว กว้าง ๗-๘ นิ้ว หน้าที่ทางโครงสร้างเพื่อลดความยาวของพื้นกระดานเพราะวางบนเสาต่อม่อกลางเรือน หน้าที่นอกเหนือจากโครงสร้างคือ แบ่งพื้นเรือนให้เป็นสองซีกดังกล่าวแล้วและยังใช้เป็นทางเดินเมื่อออกจากบริเวณนอน ในยามเช้ามืด เพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังและพื้นเรือนไหวอันจะเป็นการรบกวนผู้ที่ยังหลับสนิทอยู่ในยามรุ่งสาง
นอกจากห้องนอนแล้วยังมีเรือนครัว หรือเรือนไฟแยกออกไปอีกหลังหนึ่ง มักวางขนานกับเรือนนอน วางอยู่ด้านตะวันตกโดยมีชานเชื่อมไว้ ด้านหลังครัวจะมีชานเล็กๆ เป็นชานหลัง วางหม้อน้ำขนาดใหญ่ไว้ที่ระดับพื้นชาน ต่างกับหม้อน้ำสำหรับดื่มที่วางบนหิ้ง เป็นน้ำสำหรับล้างถ้วยชาม และใช้ปรุงอาหาร แสดงถึงวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของลานนา ที่แยกประเภทน้ำดื่ม และน้ำใช้ไว้คนละระดับโดยน้ำดื่มจะวางสูงกว่าน้ำใช้ หม้อใส่น้ำใช้เรียกว่า “หม้อน้ำซัวะ” ตรงชานหลังจะมีบันไดอีกเพื่อสะดวกในการตักน้ำ ใต้ถุนชานหลังนี้ มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “พื้นน้ำข้าวหม่า” (เพราะเป็นพื้นที่ๆ อยู่ใต้หม้อแช่ข้าวเหนียวไว้สำหรับนึ่ง) (การนำเอาข้าวเหนียวมาแช่น้ำไว้ก่อนนึ่งเรียกว่า “หม่าข้าว”) นับเป็นบริเวณสำคัญอีกบริเวณหนึ่ง คือ ในกรณีพวกที่นับถือผีบรรพบุรุษประ¬เภท “ผีมดผีเม็ง” ในเทศกาลเซ่นสรวงผีจะมีการ “ฟ้อนผี” ผีบรรพบุรุษจะเข้าสิงร่างพวกลูกหลานโดยเฉพาะพวกผู้หญิง ออกร่ายรำ หากมีผีร้ายอื่นแปลกปลอมเข้าสิงสู่ลูกหลานโดยจะแสดงท่ารำเกรี้ยวกราดดุดันมีอาการแปลกกว่าการฟ้อนรำของบุคคลอื่นๆ พวกลูกหลานจะฉุดผู้ถูกผีอื่นเข้าสิงนี้มาจาก “ผาม” หรือข่วง (ผามปะรำฟ้อนผี) เอามาซุกไว้ใต้พื้นน้ำข้าวหม่านเชื่อกันว่าผีจะออกจากร่างโดยทันที
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *