หนังตะลุง:ช่างแกะตัวหนังตะลุงเมืองนครฯ

Socail Like & Share

ช่างแกะตัวหนังตะลุงเมืองนครฯ

วิบูลย์  ลี้สุวรรณ

หนังตะลุงเป็นมหรสพที่เล่นโดยการอาศัยเงาของตัวหนัง ซึ่งแกะสลักขึ้นจากหนังโคและหนังกระบือเป็นรูปร่างต่าง ๆตามลักษณะของตัวละคอนในเนื้อเรื่องที่จะเล่น แต่เดิมนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์มากที่สุด

การเล่นหนังตะลุงจะต้องมีผู้เชิดให้ตัวหนังโลดเต้นไปตามบทพากย์และเสียงดนตรี  ให้เงาของตัวหนังไปปรากฎบนจอโดยอาศัยแสงไฟที่ส่องผ่านตัวหนัง  การเล่นหนังตะลุงจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปหลายแขนงเข้าด้วยกันคือ เล่นตามเรื่องราวของวรรณคดีการเชิดต้องใช้ศิลปทางนาฏศิลปและดนตรีเป็นเครื่องประกอบการพากย์จะต้องอาศัยศิลปทางด้านวรรณศิลป์ตลอดไปจนถึงการสร้างตัวหนังซึ่งจะต้องใช้ศิลปด้านทัศนศิลป์เข้าช่วย  จึงเห็นได้ว่าหนังตะลุงเป็นมหรสพที่ผสมผสานกันของศิลปแขนงต่าง ๆ และหนังตะลุงที่ดีจึงจำเป็นจะต้องมีความประสานกลมกลืนกันระหว่างศิลปแขนงต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเป็นอย่างดี

ส่วนรูปแบบในการแสดงและการถ่ายทอดศิลปต่าง ๆ ออกไปสู่ประชาชนผู้ชมนั้น  อาจจะมีรูปแบบที่ต่างกันไปบ้างตามความนิยมของผู้คนแต่ละท้องถิ่นและความสามารถของผู้เล่นหนังตะลุงแต่ละคณะ  ที่จะมีลักษณะวิธีการเฉพาะคนที่แตกต่างกันไปบ้างตามความถนัดของแต่ละคณะ  แต่โดยหลักการใหญ่ ๆแล้ว จะมีขบวนการเล่นที่คล้ายคลึงกัน

หนังตะลุงเป็นมหรสพเก่าแก่อย่างหนึ่งของภาคใต้ (อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ  มรดกไทย ของ วิบูลย์  ลี้สุวรรณ สำนักพิมพ์ปาณยา  พ.ศ. 2521 หน้า 179-197) ที่ได้รับความนิยมสืบต่อกันมาเป็นเวลานานนับร้อยปี  และจากการเล่นหนังตะลุงกันเป็นจำนวนมากในภาคใต้นี้เองทำให้เกิดหัตถกรรมที่ควบคู่กันไปกับการเล่นหนังตะลุงอย่างหนึ่งคือ  การแกะตัวหนัง หรือ การทำตัวหนังตะลุง

การแกะตัวหนัง

หัตถกรรมเมืองนครฯ

การแกะตัวหนังตะลุงขึ้นใช้ในการเล่นหนังตะลุงนั้นมีทำกันในหลายจังหวัดในภาคใต้  ซึ่งบางครั้งคณะหนังตะลุงอาจจะมีช่างแกะตัวหนังของตัวเอง  หรือบางคณะอาจจะซื้อตัวหนังมาจากช่างแกะหนังต่างถิ่น

ปัจจุบันนี้การทำตัวหนังตะลุงได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  มีช่างแกะหนังหลายแห่งได้แกะตัวหนังตะลุงในลักษณะของการประยุกต์  สำหรับใช้เป็นของที่ระลึกบ้าง  สำหรับใช้แขวนผนังเป็นเครื่องประดับบ้านบ้าง  หรือบางแห่งอาจจะประยุกต์ทำเป็นพัดก็มี

การนำตัวหนังตะลุงไปประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือไปจากการใช้เล่นหนังตะลุงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวหนังที่ผลิตขึ้นมาขาดความประณีตและขาดลักษณะที่เป็นแบบแผนโบราณที่ยึดถือกันมา  เพราะเป็นการผลิตขึ้นเพื่อต้องการปริมาณมาก ๆ ในการจำหน่ายมากกว่าคุณค่าในด้านความงาม

ดังนั้นแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้แกะตัวหนังจำหน่ายกันมาก  แต่จะหาช่างที่มีคุณภาพและมีฝีมือดีค่อนข้างยาก

นายวิโรจน์  รอดเอียด  บ้านเลขที่ 110/3 ถนนศรีธรรมโศก  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นช่างแกะหนังฝีมือดีคนหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช  ที่ยังคงทำตัวหนังตะลุงตามแบบแผนดั้งเดิมโบราณอยู่บ้างประกอบกันไปกับการทำตัวหนังตามแบบประยุกต์

การทำตัวหนังของนายวิโรจน์  รอดเอียด  ยังคงเป็นการทำตามแบบฉบับของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านพื้นเมืองตามลักษณะของการจดจำถ่ายทอดสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ  มิได้เล่าเรียนอย่างจริง ๆ  แต่อาศัยความชำนาญเป็นสำคัญ

นายวิโรจน์  เป็นช่างแกะหนังที่มีความสามารถผู้หนึ่งที่สามารถเขียนแบบร่างของตัวหนังชนิดต่าง ๆ ขึ้นเอง  และแกะลวดลายส่วนละเอียดตลอดจนสร้างส่วนประกอบของตัวหนังได้เองจนเสร็จเรียบร้อย

การสร้างตัวหนังขึ้นใหม่โดยมิได้ลอกเลียนแบบจากของโบราณนี้  ผู้เขียนจะต้องมีความชำนิชำนาญและมีความสามารถในการร่างรูปให้ถูกสัดส่วนตามลักษณะของตัวหนังแต่ละตัวเป็นอย่างดี  จึงจะได้ตัวหนังที่มีความประณีตสวยงาม

การทำตัวหนังของนายวิโรจน์ ช่างแกะหนังพื้นบ้านฝีมือดีของเมืองนคร ฯ นี้  นับว่าเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความงดงาม ตามแบบฉบับของศิลปพื้นบ้านที่น่าสนใจไม่น้อย  ซึ่งในปัจจุบันนี้จะหาช่างพื้นบ้านฝีมือดีอย่างนี้ไม่ได้ง่ายนัก  แม้ว่าการทำตัวหนังหรือการแกะตัวหนังจะเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีวิธีการและขั้นตอนธรรมดา ๆ ก็ตาม แต่การจะทำได้ดีนั้นผู้ทำจะต้องมีใจรักในการทำด้วยจึงจะได้งานที่ดี

ขั้นตอนของการทำตัวหนังตะลุง จะเริ่มจากการหาหนังก่อน  หนังที่จะนำมาแกะเป็นตัวหนังในสมัยก่อนนั้น  จะต้องพิถีพถันมาก  เพราะการเล่นหนังตะลุงหรือ การเชิดหนังตะลุง  ผู้เชิดจะต้องอาศัยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก  ดังนั้นการทำตัวหนังจึงต้องเชื่อถือตามคติโชคลางด้วย เช่น หนังบางตัวซึ่งถือว่าเป็นตัวสำคัญ เช่น หนังฤาษี พระอิศวร ซึ่งเป็นตัวหนังศักดิ์สิทธิ์ประจำคณะ บางคณะถึงกับใช้หนังฝ่าเท้าของครูบาอาจารย์ หรือบิดามารดาของนายหนังเข้ามาประกอบในตัวหนังก็มี

ถ้าไม่ใช้หนังดังกล่าว  จะใช้หนังวัวหนังควายก็มักจะใช้หนังวัวหนังควายที่ตายผิดปกติ เช่น ฟ้าผ่าตาย ออกลูกตาย หรือบางครั้งอาจจะพิสดารออกไปอีกคือ เอาหนังอวัยวะเพศของผู้ชายที่ตายแล้วมาติดไว้ที่ริมฝีปากล่างของตัวหนังเพื่อให้หนังตลกถูกใจคนดูก็มี  สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์  ซึ่งในปัจจุบันนี้ดูจะลดความเชื่อถือลงไปมากแล้ว

ส่วนตัวหนังธรรมดาที่ทำกันอยู่ทั่วไปนั้น จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ หนังธรรมดา และ หนังแก้ว

หนังธรรมดา  คือ ตัวหนังที่ทำจากหนังวัวหนังควายธรรมดาโดยไม่ผ่านการฟอก  แต่จะต้องนำหนังมาขูดด้วยกะลามะพร้าวเพื่อเอาเนื้อ  พังผืดและสิ่งสกปรกออกจากหนัง  แล้วจึงนำไปแช่น้ำส้มสายชูอ่อน ๆ เพื่อล้างให้หนังสะอาด  แล้วจึงตากไว้ให้หนังแห้งสนิทจึงลงมือแกะเป็นตัวหนัง

หนังแก้ว นั้นเป็นหนังที่ผ่านการฟอกแล้ว  ซึ่งอาจจะเป็นหนังวัวตัวเมียหรือหนังลูกวัว  ซึ่งมีหนังบางกว่าหนังวัวตัวผู้และหนังควาย  แต่ถ้าเป็นหนังที่มีความหนาจะต้องแล่เป็นแผ่นบาง ๆ ด้วยเครื่อง  จนดูเป็นแผ่นบางใสคล้ายแผ่นพลาสติค  หนังชนิดนี้นิยมใช้ทำตัวหนังกันมากเพราะสามารถระบายสีได้สวยงามกว่าหนังธรรมดา

การแกะตัวหนังขั้นแรกจะต้องร่างรูปตัวหนังลงบนกระดาษเพื่อเป็นแม่แบบก่อน  หรืออาจจะร่างลงบนหนังโดยตรงเลยก็ได้ถ้าช่างผู้ร่างมีความชำนาญพอตัวหนังตะลุงทั่วไปจะมีขนาดไม่ค่อยใหญ่สูงประมาณ 1 ฟุต  จะมีเล็กหรือใหญ่ไปบ้างก็ไม่มากนัก

เมื่อได้แบบของตัวหนังลงบนแผ่นหนังแล้ว  ขั้นต่อไปก็จะต้องแกะให้เป็นลวดลาย  โดยการใช้มีดขูดหรือมีดแกะซึ่งทำจากใบเลื่อยตัดเหล็ก  ปลายแหลมมีคมแกะหรือตัดเป็นรูปตัวหนังพร้อมทั้งใช้ตุ๊ดตู่ชนิดต่าง ๆ แกะเป็นลวดลายไปพร้อม ๆ กัน

การแกะลวดลายของตัวหนังส่วนมากจะใช้ตุ๊ดตู่ มีด สิ่ง และกรรไกร ประกอบกันไป

การแกะตัวหนังอาจแกะทีละตัวหรือวางซ้อนกันครั้งละ 2 ตัว หรือมากกว่าก็ได้ แล้วแต่ความหนาบางของหนัง  เมื่อแกะเสร็จเรียบร้อยแล้ว   ถ้าต้องการจะให้ตัวหนังมีสีสันก็สามารถใช้สีชนิดต่าง ๆ ระบายลงไปได้  สีที่ใช้ระบายตัวหนังแต่โบราณมักจะใช้สีผสมขมิ้นระบาย  แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สีวิทยาศาสตร์ เช่น สีน้ำมัน สีหมึก ระบาย ซึ่งสะดวกกว่าสีแบบโบราณ

นอกเหนือจากการตกแต่งระบานสีแล้ว  จะต้องต่อเติมแขนขาและอวัยวะส่วนที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้  โดยใช้ไม้ไผ่ชิ้นเล็ก ๆ เป็นก้านเชิด  ตัวหนังที่สามารถชักให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้มากมักเป็นพวกตัวตลก  แต่ถ้าเป็นตัวเอกมักจะมีเพียงไม้ขนาบกลางตัวสำหรับให้ผู้เชิดจับอันหนึ่ง  กับอีกอันหนึ่งเป็นไม้สำหรับชักให้แขนขาตัวหนังเคลื่อนไหวเท่านั้น

ตัวหนังตะลุงที่ทำเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นรูปโปร่งแสง  และตัวหนังโบราณมักจะมีตัวหนังตามตัวละคอนในเรื่องรามเกียรติ์เป็นส่วนมาก หรืออาจจะมีตัวตลกเพิ่มเข้ามาอีกตัวหรือสองตัวเป็นตัวชูโรง  แต่ปัจจุบันการทำตัวหนังตะลุงได้พัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม  เพื่อให้เข้ากับความนิยมของชาวบ้านจึงมีตัวหนังใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น เจ้าเมือง มนุษย์ โจร ต้นไม้  และสัตว์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

การทำตัวหนังในปัจจุบันได้พัฒนาวิธีการไปจากโบราณ  เพื่อต้องการให้สามารถทำได้รวดเร็วขึ้น เช่น การใช้วิธีการทาบตัวหนังที่แกะเสร็จแล้วลงบนแผ่นหนัง  แล้วพ่นสีให้เกิดเป็นรอยตัวหนังลงบนแผ่นหนัง  แทนการลอกด้วยกระดาษ ซึ่งวิธีพ่นสีนี้ทำได้รวดเร็วกว่า และการแกะลวดลายของตัวหนังก็เช่นกัน มักจะใช้แผ่นหนังวางซ้อน 2-3 แผ่น  ซึ่งจะช่วยให้แกะเพียงครั้งเดียวได้หนังถึง 2 หรือ 3 ตัว  ทำให้สามารถผลิตตัวหนังได้รวดเร็วขึ้น

การทำตัวหนังตะลุงในภาคใต้ในปัจจุบันนี้มีทำกันหลายแห่งในหลายจังหวัด แต่การทำตัวหนังที่ประณีต  สวยงามถูกต้องตามลักษณะของตัวหนังตะลุงโบราณนั้นมีอยู่ไม่มาก  และแม้แต่ในเมืองนครศรีธรรมราช  จะมีการทำตัวหนังเป็นอุตสาหกรรมย่อย ๆ อยู่หลายแห่งก็ตาม  แต่ที่มีฝีมือดีนั้นจะหายาก

และในจำนวนช่างแกะตัวหนังฝีมือดีซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก  นายวิโรจน์  รอดเอียด  ก็เป็นคนหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นช่างแกะตัวหนังตะลุงตามแบบพื้นบ้านของเมืองนครศรีธรรมราชที่น่าสนใจ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *