สิงหไกรภพ

Socail Like & Share

นิทานคำกลอนที่ขึ้นชื่อลือชาอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ที่เด็กๆ สมัยนี้ต่างนิยมชมชอบ เนื่องจากได้มีผู้นำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง สิงหไกรภพ ออกแพร่ภาพจนเด็กๆ ติดกันงอมแงม นับว่าสุนทรภู่สามารถผูกนิทานได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

สิงหไกรภพ เป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวรองลงมาจากเรื่องพระอภัยมณี คือมีความ ยาว ๑๕ เล่มสมุดไทย บางคนกล่าวว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เพื่อประชันกับเรื่องไกรทองพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗) เพื่อถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (ขณะนั้นยังทำหน้าที่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์อยู่) แล้วมาแต่งต่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เรื่องค้างอยู่ แต่งไม่จบ

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า ท้าวอินณุมาศครองเมืองโกญจา มีนางจันทรเป็นมเหสี ไม่มีโอรสหรือธิดา ต่อมาเอาลูกโจรมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่าคงคาประลัย คงคาประลัยชิงราชสมบัติของท้าวอินณุมาศ พระอินทร์ช่วยอุ้มท้าวอินณุมาศและนางจันทรมาอยู่ป่า สองกษัตริย์ปลอมพระองค์เป็นคนสามัญ ไปอาศัยอยู่กับพรานป่าชื่อเพิก จนกระทั่งนางจันทรคลอดโอรส แล้วโอรสองค์นี้ถูกพราหมณ์เทพจินดาขโมยไปเลี้ยงไว้ ยักษ์พินทุมารจับพราหมณ์เทพจินดาและพระโอรสนั้นได้เอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อพระโอรสว่าสิงหไกรภพ เมื่อโตขึ้นพราหมณ์เทพจินดาและสิงหไกรภพขโมยยาวิเศษของยักษ์ แล้วพากันหนีจากไปพราหมณ์เทพจินดาพาสิงหไกรภพไปอยู่ที่บ้านตน สิงหไกรภพทราบว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ก็หนีพราหมณ์เทพจินดาออกตามหาบิดามารดา ได้นางสร้อยสุดาธิดาของท้าวจตุรพักตร์ กษัตริย์แห่งเมืองมารันเป็นชายา จนนางตั้งครรภ์แล้วพากันหนีมา ท้าวจตุรพักตร์ตามมาชิงนางสร้อยสุดาคืนไป พราหมณ์เทพจินดาตามสิงหไกรภพกลับไปครองเมืองโกญจา ท้าวจตุรพักตร์ยกทัพมาตีเมือง โกญจา ถูกสิงหไกรภพฆ่าตาย สิงหไกรภพรับนางสร้อยสุดามาอยู่ด้วยกันที่เมืองโกญจนา แล้วให้พราหมณ์เทพจินดาครองเมืองมารันต่อมารามวงศ์โอรสของสิงหไกรภพซึ่งอยู่กับยายที่เมืองมารันเติบโตขึ้นได้ลายายมาเยี่ยมสิงหไกรภพ แต่หลงทางเข้าไปในเมืองยักษ์ ได้นางแก้วกินรีแล้วพลัดพรากจากกัน สิงหไกรภพออกติดตามรามวงศ์ ได้นางเทพกินราเป็นชายา ต่อมานางเทพกินราทำเสน่ห์เพื่อให้สิงหไกรภพหลงใหลตน พราหมณ์เทพจินดาแก้เสน่ห์ให้ ต่อจากนี้รามวงศ์ได้ติดตามหาสิงหไกรภพ แต่ไม่ทันได้พบกัน และเรื่องก็จบเพียงเท่านั้น
สุนทรภู่เริ่มต้นนิทานเรื่องนี้ว่า

ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง
แต่ปางหลังยังมีบุรีเรือง    ชื่อว่าเมืองโกญจาสถาวร
นามพระองค์ซึ่งดำรงอาณาราษฎร์    อินณุมาศบพิตรอดิศร
พระนามนางเกศสุรางคนิกร        ชื่อจันทรแก้วกัลยาณี
แสนสนมหมื่นประนมประณตน้อม    ดังดาวล้อมจันทราในราศี
ทั้งเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวี    อัญชุลีเพียงพื้นพระโรงเรียง
สำราญรอบขอบคันนิคมเขต        ทั่วประเทศพิณพาทย์ไม่ขาดเสียง
สองพระองค์ทรงธรรมไม่ต่ำเอียง    ไร้แต่เพียงบุตราธิดาดวง
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙)

ตอนโหรทำนายฝันของนางจันทร แล้วกล่าวว่าท้าวอินณุมาศและนางจันทรจะสูญเสียราช¬สมบัติ ท้าวอินณุมาศปลงตก คิดได้ว่า

เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา    อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย
สุขกับโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง    รำพึงพลางหักให้พระทัยหาย
กลับคนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย        ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์
สงวนครรภ์ขวัญเนตรเถิดน้องรัก        โหราทักทุกข์แทบจะผุยผง
เรายึดยุดพุทธคุณให้มั่นคง            เป็นทางตรงตราบสิ้นชีวาลา
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๕)

สุนทรภู่บรรยายความทุกข์ยากลำบากของนางจันทรขณะอยู่กับพรานเพิกว่า

น่าสงสารทรามวัยพระทัยหาย
ภูษาทรงโจงกระหวัดรัดพระกาย    ฉวยกระบายโกยเข้าลงใส่ครก
ไม่เคยตำก็ถลำถลากพลาด        ออกพรุดพราดเรี่ยรายกระจายหก
ไม่ทันแตกเอาขึ้นหัตถ์ฝัดกระทก    แล้วใส่ครกกลับตำนั้นร่ำไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๔)

ตอนนางจันทรคลอดพระโอรส สุนทรภู่บรรยายให้เห็นความเศร้าโศกของท้าวอินณุมาศ และนางจันทรที่โอรสมาคลอดกลางป่าว่า

ดูลูกรักวรพักตร์เพียงเพ็ญจันทร์    พระทรงธรรม์กอดลูกแล้วโศกา
นฤบาลว่าสงสารพระลูกแก้ว    เกิดมาแล้วเมื่อพ่อขาดวาสนา
นางจันทรว่าแม้นก่นพ่อเกิดมา    พระวงศาก็จะล้อมอยู่พร้อมเพรียง
พระบิดาว่าแม้นเมื่อได้ฤกษ์        จะเอิกเกริกแตรสังข์ประดังเสียง
พระชนนีว่าจะมีแม่นมเคียง        พระพี่เลี้ยงเฒ่าแก่จะแจจัน
พระปิตุเรศว่าประเทศทุกไทท้าว    ถ้ารู้ข่าวก็จะรีบมาทำขวัญ
พระมารดาว่าพ่อนอนเมื่อกลางวัน    ฝูงกำนัลก็จะเห่ดังเรไร
พระบิดาว่าโอ้มาคลอดเจ้า    กระท่อมเท่ารังกาได้อาศัย
พระมารดาว่าสงสารสายสุดใจ    อู่ก็ไม่มีรองพระองค์เลย
พระทรงฤทธิ์ว่าคิดแล้วใจหาย    เอาหนังควายต่างฟูกเถิดลูกเอ๋ย
พระมารดาว่าขวัญเข้าเจ้าทรามเชย    มาเสวยถันเต้าแม่เต็มทรวง
สองกษัตริย์โทมนัสด้วยลูกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยคิดคะนึงถึงวังหลวง
แล้วแข็งขืนกลืนโศกไว้ในทรวง    อาทิตย์ล่วงเลยลัดอัสดงค์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๗)

สิงหไกรภพให้คำมั่นสัญญาแก่นางสร้อยสุดาว่า“ถึงม้วยดินสินฟ้าสุราลัย ไม่จากไกลกลอยสวาทแล้วชาตินี้” (พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ,, นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๘)

ตอนสิงหไกรภพอุ้มนางสร้อยสุดาหนียักษ์ผู้เป็นบิดา สุนทรภู่บรรยายถึงความว้าเหว่ของสิงหไกรภพขณะที่เหาะไปในท้องฟ้าว่า

จะแลซ้ายสายเมฆวิเวกจิต                ให้หวาดหวิดว้าเหว่ในเวหา
จะเหลียวกลับลับปราสาทหวาดวิญญา        จะแลขวาขวัญหายไม่วายครวญ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๗๗)

พราหมณ์เทพจินดาเตือนสิงหไกรภพให้รีบไปหาบิดามารดาก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาชิงนางสร้อยสุดาคืน โดยให้เหตุผลว่า

พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง        ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย        ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก        กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย
นางไปอยู่บุรีไม่มีภัย        มาเมื่อไรคงพบประสบกัน
ขอเชิญพ่อหน่อเนื้อในเชื้อแถว    ไปกรุงแก้วโกญจามหาสวรรย์
พระบิตุราชมาตุรงค์เผ่าพงศ์พันธุ์    จะนับวันคอยหาด้วยอาวรณ์

(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๓)
ตอนสิงหไกรภพชมธรรมชาติแล้วระลึกถึงนางสร้อยสุดา สุนทรภู่เล่นคำได้ดี คือบรรยายว่า

เห็นธารน้ำรำลึกเมื่อเล่นธาร        เริงสำราญหรือรกร้างให้ห่างกัน
เห็นกวางทองย่องเยื้องชำเลืองหลบ    เหมือนแลพบพักตร์ยุพินเมื่อผินผัน
หอมลูกอินกลิ่นระคนปนลูกจันทน์        เหมือนกลิ่นขวัญเนตรรื่นชื่นอารมณ์
นางแย้มงามยามเยื้อนเหมือนเบือนยิ้ม    ให้เชยชิมชื่นชิดสนิทสนม
ดอกเล็บนางอย่างเล็บพระเก็บชม    แต่ไม่คมข่วนเจ็บเหมือนเล็บนาง
รสสุคนธ์เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด    มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง
อบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนที่ร้างมาห่างกัน    ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนพี่ร้างมาห่างกัน        ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนเมื่อเคยเชยกลิ่นอบ    หอมตระหลบอบกลิ่นไม่สิ้นหอม
พยอมเอ๋ยเคยใจมิใคร่ยอม    ให้ต้องออมอกช้ำทุกค่ำเช้า
เห็นโศกออกดอกอร่ามเมื่อยามโศก    แสนวิโยคโศกทรวงให้ง่วงเหงา
ถึงดอกงามยามโศกเหมือนโรคเรา        มีแต่เศร้าโศกซ้ำนั้นร่ำไป
เห็นยมโดยโดยดิ้นถวิลโหย        เหมือนดิ้นโดยดังจะพาน้ำตาไหล
โอ้ระกำเหมือนกรรมในน้ำใจ    ด้วยมาไกลกลืนช้ำระกำตรม
เห็นกลอยออกดอกดวงเป็นพวงห้อย    เหมือนกลิ่นกลอยใจคิดสนิทสนม
เสน่หาอาวรณ์ร้อนอารมณ์        จะแลชมอื่นๆ ไม่ชื่นใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๗)

เมื่อสิงหไกรภพมีสารมาถึงนางสร้อยสุดา ก็ยํ้าถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของพระองค์ที่มีต่อนางว่า

จนม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดเสน่หาจนอาสัญ
ถึงตัวไปใจคิดเป็นนิรันดร์    ที่รับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาย
(พ. ณประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๑๓)

เมื่อสิงหไกรภพฆ่าท้าวจตุรพักตร์ มเหสีและนางสร้อยสุดาผู้เป็นธิดารวมทั้งญาติอื่นๆ ได้คร่ำครวญอาลัยรักดังนี้

มเหสีตีทรวงเสียงฮักฮัก    โอ้ปิ่นปักปัถพินมาสิ้นสูญ
จะเสียวงศ์พงศ์ยักษ์ศักดิ์ตระกูล    จะตามทูนกระหม่อมม้วยเสียด้วยกัน
พระธิดาว่าโอ้พระปิตุเรศ    เคยปกเกศชุบย้อมถนอมขวัญ
ให้ผาสุกทุกเวลาทิวาวัน    ยังไม่ทันแทนพระคุณมาสูญลับ
พระวงศาว่าทูนกระหม่อมแก้ว    นิพานแล้วมืดเหมือนดังเดือนดับ
นางห้ามแหนแสนอาลัยว่าไปทัพ    เคยคอยรับหรือมาร้างถึงวางวาย
นางพระยาว่าพระคุณมาสูญเสีย    เหมือนศอเมียขาดกระเด็นไม่เห็นหาย
จะโศกช้ำร่ำรับแต่อับอาย    จะสู้ตายให้พ้นทนทรมาน
พระธิดาว่าพระคุณทูนกระหม่อม    เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน
แต่ครั้งนี้มีโทษไม่โปรดปราน        ไปรอนราญจนสวรรคครรไล
พระวงศาว่าแต่นี้ไม่มีสุข    จะรับทุกข์ทุกเวลาน้ำตาไหล
สนมนางต่างว่านับจะลับไป        จะมิได้เฝ้าองค์พระทรงยศ
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร    ให้สงสารวิโยคโศกสลด
แต่สองนางอย่างจะม้วยระทวยทด    ทรงกำสรดโศกาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๒๓-๑๒๔)

บรรดาสาวสนมกำนัลของสิงหไกรภพ    เมื่อรู้ว่าสิงหไกรภพไม่สนใจพวกตนก็พากันเล่นเพื่อน ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

เห็นโฉมสร้อยสุดามารศรี
ดังเดือนเพ็งเปล่งฟ้าไม่ราคี    ถึงทั้งมีลูกเต้ายังเพราพริ้ง
ประไพพักตรลักษณะพระวิลาศ    ดูผุดผาดล้ำเลิศประเสริฐหญิง
ที่เหิมฮึกนึกไว้อายใจจริง    เหลือจะชิงชมชิดทำบิดเบือน
แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง    ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน    เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๓๓-๑๓๔)

เรื่องสิงหไกรภพค้างอยู่เพียงท้าวกาลเนตรตายเท่านั้น เข้าใจว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งไว้จนจบเรื่อง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด