ศิลาจารึกและเอกสารเนื่องในศาสนาพราหมณ์

Socail Like & Share

ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย
ในปัจจุบันนี้ได้ค้นพบจารึกที่มีอายุก่อน พ.ศ. ๑๘๒๖ ในภาคใต้จำนวน ๙ หลักโดยตัวอักษรที่พบในจารึกระยะแรก เป็นตัวอักษรอินเดียใต้ แบบคฤนถ์-ปัลลวะ และทมิฬ-ปัลลวะ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓ จากนั้นอักษรได้เริ่มกลายรูปไปบ้าง จนระยะสุดท้ายพบจารึกอักษรมอญโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ส่วนภาษานั้นในระยะแรก พบภาษาสันสกฤต และทมิฬตามแบบอินเดีย สำหรับภาษาพื้นเมืองที่พบคือ มอญโบราณและเขมรโบราณ
ในบรรดาจารึกเหล่านี้เป็นจารึกที่ค้นพบในนครศรีธรรมราช จำนวน ๖ หลัก (ที่เหลือพบที่ตะกั่วป่า ๑ หลัก และไชยา ๒ หลัก) ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะจารึกที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลทางศาสนาพราหมณ์โดยสังเขปดังนี้
๑. ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย เป็นศิลาจารึกที่เพิ่งค้นพบใหม่เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๒ ณ หุบเขาช่องคอย บ้านคลองท้อน หมู่ที่ ๙ ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์
ศิลาจารึกหลักนี้มีข้อความจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ตัวอักษรเป็นแบบที่ใช้ในอินเดียใต้ และยังพบในชวาอีกด้วย เรียกว่าอักษรคฤนถ์-ปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐
บางท่านเห็นว่าเนื้อหาในศิลาจารึกหลักนี้เป็นเรื่องของ ไศวนิกายกล่าวคือ
ตอนที่ ๑ ประกาศให้ทราบว่า ศิลาจารึกหลักนี้เป็นจารึกอุทิศบูชาพระศิวะ
ตอนที่ ๒ กล่าวนอบน้อมพระศิวะ แล้วเสริมว่าผู้เคารพในพระศิวะมา (ในที่นี้) เพราะจะได้ประโยชน์ที่พระศิวะประทานให้
ตอนที่ ๓ กล่าวสรรเสริญคนดี ไม่ว่าเขาจะอยู่ในที่ไหน ก็จะทำให้เจ้าถิ่นได้รับความสุข
แต่กระนั้นก็ตาม มีบางท่านยังไม่เห็นด้วยกับคำแปลเหล่านี้บางส่วน เพราะในขณะนี้ยังสำรวจไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ ในบริเวณที่ค้นพบศิลาจารึก ที่จะสนับสนุนได้ว่าศิลาจารึกหลักนี้ว่าด้วยเรื่อง ไศวนิกาย
๒. ศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ (จารึกหลักที่ ๒๗) เป็นจารึกภาษาสันสกฤตตัวอักษรที่ใช้คล้ายกับที่พบในเขมรโบราณ (อักษรอินเดียใต้) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่าเนื้อหาของศิลาจารึกหลักนี้ “กล่าวถึงวินัยสงฆ์ในพระพุทธศาสนา” ตามที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ แต่ผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาให้ถ่องแท้เนื้อหาของจารึกหลักนี้ น่าจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากแต่มีอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์อยู่ด้วย ดังคำแปลที่คัดมาจากหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ ดังต่อไปนี้
“….พระระเบียงและห้องอาหารกับอุโบสถาคาร อาหารสำหรับคณะสงฆ์และบุคคลต่างๆ….การนมัสการพระบารมี การเขียนหนังสือ การจำหน่ายน้ำหมึกกับแผ่น (สำหรับเขียน) เครื่องบูชา อาหารเครื่องบำรุงคณะพราหมณ์ ของพระอคัสติมหาตมัน….มีทั้งธรรมกถา ประกอบด้วยธูป ประทีป พวงมาลัย ธงพิดาน จามร ประดับด้วยธงจีน….บุญกุศลอื่นๆ ตามคำสอน คือ การปฏิบัติพระธรรมไม่ขาดสักเวลา การบริบาลประชาราษฎร์ การทนต่ออิฏฐารมณ์และอนิฎฐารมณ์ การชำนะอินทรีย (ให้สงบ)….ผู้ได้ทรัพย์สมบัติโดยความองอาจ….ชื่ออรรณาย…”
เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลาจารึกหลักนี้ชำรุดมาก แต่เนื้อหาเท่าที่มีอยู่ก็นับว่ามีประโยชน์ในการศึกษาอารยธรรมของบรรพบุรุษไม่น้อยเลย ในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่าศิลาจารึกหลักนี้ น่าจะเป็นการสรรเสริญบุคคล อันสังเกตได้จากเนื้อหาโดยรวม ที่กล่าวถึงจริยาวัตรของท่านผู้นี้และโดยเฉพาะข้อความบางตอน เช่น “ผู้ได้ทรัพย์สมบัติโดยความองอาจ” และ “ชื่ออรรณาย” เป็นต้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์นั้นจะเห็นได้ว่า ศิลาจารึกหลักนี้ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ดังความตอนที่ว่า “….อาหารเครื่องบำรุงคณะพราหมณ์ของพระอคัสติมหาตมัน…” ทั้งนี้ เพราะคำว่า “คณะพราหมณ์” และ “พระอคัติมหาตมัน” ปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้ว

คำว่า “พระอคัสติมหาตมัน” หมายถึง พระอดัสยะ ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะที่เสวยพระชาติเป็นพระเทพครู พระอคัสยะนี้เป็นผู้นำศาสนาฮินดูและอารยธรรมต่างๆ ให้แก่อินเดียภาคใต้ในชวานั้นการนับถือบูชาพระอคัสยะ จะกระทำควบคู่ไปกับการบูชาศิวลึงค์ ดังนั้น คณะพราหมณ์ในที่นี้คงจะหมายถึงคณะพราหมณ์ในลัทธิไศวนิกาย
นอกจากนี้ศิลาจารึกหลักนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นลักษณะการผสมผสานกันเป็นอย่างดี ระหว่างพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ในชุมชนเดียวกัน เหมือนกับที่เราพบโบราณวัตถุของศาสนาทั้งสองที่มีอายุช่วงเดียวกันอยู่ในแหล่งโบราณคดีเดียวกัน ณ แหล่งโบราณคดีหลายแห่งในนครศรีธรรมราช และลักษณะการผสมกลมกลืนเช่นนี้ก็ยังคงสืบเนื่องมาจนบัดนี้
๓. ศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (จารึก หลักที่ ๒๙) ศิลาจารึกหลักนี้มี ๒ ด้าน ด้านแรกยังไม่มีการอ่านและแปล ด้านที่ ๒ สลักด้วยอักษรและภาษาทมิฬ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนาพราหมณ์โดยตรง ดังความที่อ่านแปลได้ซึ่งคัดมาจากหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ ดังนี้
“สวัสติ ศรีศก….ร้อยห้าล่วงแล้ว….วันจันทร์ ตรงกับ….
ธรรมเสนาบดี….ดังนี้ คือ พราหมณ์….โดยคำสั่งธรรม
เสนาบดี….หนึ่ง….ธรรม ..ถ้าผู้ใดทำอันตรายแก่ คงคา
….โคสีแดง ถูกฆ่าเสีย….มารดา….บาป….เตลฺลาม….
คำรบแปด…”
นอกจากศิลาจารึกที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีศิลาจารึกหลักอื่นๆ ในนครศรีธรรมราชที่สะท้อนให้เห็นอารยธรรมและอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เช่น ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ (วัดเสมาเมือง) ซึ่งสลักด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ ได้เปรียบเทียบกษัตริย์เหมือนกับเทพบางองค์ของศาสนาพราหมณ์ และเปรียบเทียบอาคารบางแห่ง (ที่ปรากฏในศิลาจารึก) เหมือนวิมานของเทพบางองค์ และในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งพบ ณ วัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดียกลาย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ ก็ได้เปรียบเทียบกษัตริย์จันทรภาณุศรีธรรมราช แห่งตามพรลิงค์กับเทพบางองค์ของศาสนาพราหมณ์เช่นกัน เป็นต้น
๔. ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรธรรมราช ได้มีการค้นพบหนังสือบุด (สมุดข่อย) ว่าด้วยตำนานพราหมณ์ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งกล่าวถึงการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์มาสู่นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเรื่องราวนี้เกิดในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งเสวยราชย์ในกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๑๘๙๓ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการส่งเทวรูปมากรุงศรีอยุธยา แต่เกิดเหตุต้องประดิษฐานไว้ที่นครศรีธรรมราช รายละเอียดในการทำพิธีกรรมต่างๆ สิทธิพิเศษที่พราหมณ์ได้รับจากกษัตริย์ และการออกกฎหมายในรัชกาลต่างๆ เป็นต้น จนหนังสือเขียนจบลงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล พ.ศ. ๒๒๗๖ ในรัชกาลสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
๕. ตำราเกี่ยวกับไสยศาสตร์และพิธีกรรม ในนครศรีธรรมราชได้ค้นพบหนังสือบุดที่ว่าด้วยไสยศาสตร์และพิธีกรรมเป็นจำนวนมาก ตำราเหล่านี้มีหลายประเภท เช่น ฤกษ์ยาม เวทย์มนต์ คาถา ตำราดูลักษณะสัตว์ ยันต์ และตำราโหร เป็นต้น ในบรรดาตำราโหรนั้น เนื้อหาจากมหากาพย์รามายณะ นับเป็นตำราที่สำคัญเล่มหนึ่งที่นำมาใช้ในการทำนายทายทัก โดยเรียกกันว่า “ศาสตรา”
นอกจากนี้ยังค้นพบตำราที่ว่าด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ อีกไม่น้อย เช่น การทำขวัญ การชุมนุมเทวดา การสรรเสริญเทวดา การสะเดาะเคราะห์ การบูชาเทวดา การตั้งศาลพระภูมิ และรายละเอียดในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น
ตำราเหล่านี้มีอยู่โดยทั่วไปตามบ้านและตามวัด เพราะชาวบ้านยังคงใช้กันอยู่ และส่วนหนึ่งได้รับการเก็บมารักษา รวบรวมและศึกษาค้นคว้าวิจัยตามศูนย์วัฒนธรรมของสถาบันการศึกษาต่างๆ
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *