ท้าวสุรนารีวีรสตรีแห่งเมืองนครราชสีมา

Socail Like & Share

เอกราชของชาติที่ดำรงคงอยู่ให้ลูกหลานไทยได้ภาคภูมิใจตราบจนทุกวันนี้นั้นก็เพราะความแกล้วกล้าของบรรพบุรุษไทยหลายยุคหลายสมัยที่อุทิศเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่น มั่นคง ทรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิตลอดมา ท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารีวีรสตรีแห่งเมืองนครราชสีมาคือตัวอย่างอันดีของหญิงไทย ที่มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ทัดเทียมชาย ประกอบวีรกรรมนำครอบครัวชาวนครราชสีมาลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อรักษาเมืองนครราชสีมาให้กลับคืนสู่อิสรภาพ จนสามารถขจัดการคุกคามของอริราชศัตรูมิให้ล่วงลํ้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้ในที่สุด

ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า โม หรือ โม้ เป็นธิดาของนายกีบ นางบุญมา เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ ปีเถาะ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ได้เข้าพิธีแต่งงานกับพระยาสุรยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (ทองคำ) ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา ซึ่งชาวเมืองทั่วไปเรียกกันว่า พระยาปลัด มีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านตรงข้ามวัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) กล่าวกันว่า ภริยา พระยาปลัด หรือคุณหญิงโม เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถช่วยสนับสนุนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่การงานแก่สามี มีใจบุญสุนทานเป็นที่รักใคร่นับถือของชาวนครราชสีมาทั้งปวง

ความเป็นมาของเหตุการณ์อันก่อให้เกิดวีรกรรมของท้าวสุรนารีจนได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์นั้น มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเมื่อจะกราบบังคมทูลลากลับเวียงจันทน์ได้ขอพระราชทานครอบครัวเจ้าเวียงจันทน์ ซึ่งถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี รวมทั้งทูลขอละครในกลับนครเวียงจันทน์ด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดพระราชทานให้ จึงสร้างความอัปยศเคืองแค้นใจแก่เจ้าอนุวงศ์ยิ่งนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๖๙ มีข่าวลือไปถึงนครเวียงจันทน์ว่าไทยกับอังกฤษเกิดการขัดแย้งบาดหมางจนเกือบจะทำสงครามกัน เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาสที่ฝ่ายไทยมิทันระวังตัวจึงส่งกองทัพเข้าสู่หัวเมืองภาคตะวันออกของไทยหลายทาง เจ้าอนุวงศ์เองคุมกำลังส่วนใหญ่สู่เมืองนครราชสีมาอันเป็นเมืองเอก เพื่อใช้เป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงและบัญชาการเข้าตีกรุงเทพมหานครต่อไป ลักษณะการมาอย่างจู่โจมไม่รู้เนื้อรู้ตัวของกองทัพเวียงจันทน์ประกอบกับการหลอกลวงผู้ครองเมืองต่างๆ ว่า ได้รับการขอร้องจากทางกรุงเทพมหานครให้ลงมาช่วยรบอังกฤษ ทำให้กองทัพเวียงจันทน์สามารถเดินทัพได้อย่างสะดวกไม่ได้รับการต่อต้านแต่ประการใด จนลุล่วงถึงเมืองนครราชสีมาในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๖๙ ตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ทะเลหญ้าด้านทิศตะวันออกของเมืองนครราชสีมา ๗ ค่าย ให้กิตติศัพท์เลื่องลือว่าคนถึง ๘๐,๐๐๐ จากนั้นได้ทำการปลดอาวุธพร้อมทั้งกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาเตรียมนำกลับไปนครเวียงจันทน์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบั่นทอนกำลังของผู้คนตามหัวเมืองต่างๆ เสียให้สิ้น

ขณะนั้นเจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์) เจ้าเมืองนครราชสีมา พระยาสุรยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิชัย (พระยาปลัด) รวมทั้งกรมการเมืองหลายคนไม่อยู่ เนื่องด้วยมีท้องตราพระราชสีห์ โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพขึ้นไประงับการพิพาทที่เมืองขุขันธ์ คงเหลือแต่กรมการผู้น้อย อันได้แก่ พระยาพรหมยกกระบัตร พระณรงค์สงคราม อยู่รักษาเมือง เมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็แสร้งทำกิริยาเต็มใจให้การต้อนรับ จัดหาหญิงรูปงามหลายคนมาปรนนิบัติจนเจ้าอนุวงศ์เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจว่าชาวเมืองนครราชสีมามีใจฝักใฝ่แก่ฝ่ายตน ความได้ทราบถึงเจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยาปลัด ซึ่งอยู่ ณ เมืองขุขันธ์ ก็เกิดความวิตกว่าหากทิ้งครอบครัวเสียไม่ไประวังรักษา ลาวจะทำยับเยินเสียหมด จึงปรึกษากันให้พระยาปลัดรีบเดินทางกลับยังเมืองนครราชสีมา ทำกลอุบายต่อเจ้าอนุวงศ์ว่าเจ้าพระยานครราชสีมาหนีไปเมืองเขมรแล้ว ตัวพระยาปลัดเองทิ้งครอบครัวไม่ได้จะขอตามเสด็จไปอยู่เวียงจันทน์ด้วย เจ้าอนุวงศ์จึงมอบหมายให้พระยาปลัด พระยาพรหมยกกระบัตร และพระยาณรงค์สงคราม เป็นนายกอง ควบคุมครัวชาวนครราชสีมาออกเดินทาง ภายใต้การควบคุมของเพี้ยรามพิชัย แม่ทัพเวียงจันทน์ การเดินทางดำเนินไปอย่างเชื่องช้าเพื่อรอกองทัพกรุงเทพมหานครขึ้นไปแก้ไขถ่วงเวลาจนเป็นที่ผิดสังเกตของ ฝ่ายลาว เจ้าอนุวงศ์จึงตัดแยกออกจากกันเป็นหลายกองป้องกันการคิดต่อสู้ ผู้นำชาวไทยทั้งสามรวมทั้งคุณหญิงโมภริยาพระยาปลัดจึงร่วมกันทำกลอุบายวางแผนการรบเพื่ออิสรภาพ โดยแจ้งแก่เจ้าอนุวงศ์ว่า ครอบครัวที่อพยพมีความอดอยากต้องการมีดพร้าอาวุธพอที่จะล่าสัตว์ทำครัวเพื่อประทังชีวิต เจ้าอนุวงศ์ก็อนุโลมให้ จนกระทั่งเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย ชาวไทยแสร้งทำเป็นเจ็บไข้เมื่อยล้า ฝ่ายลาว เกรงว่าจะมีการเจ็บตายจำนวนมากจึงสั่งให้หยุดพักค้างคืนอยู่ ณ ที่นั้น คุณหญิงโมทำอุบายให้หญิงสาวชาวนครราชสีมานำอาหารและสุราไป เลี้ยงทหารลาวอย่างเต็มที่จนเมามายไม่ได้สติ มิได้ระมัดระวังตน ครั้น ตกดึกประมาณยามสามเศษ ครอบครัวชาวนครราชสีมาพร้อมด้วยอาวุธเท่าที่มีอยู่ได้พร้อมใจกันไล่ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเกลื่อนบริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ แล้วเก็บรวบรวมศาสตราวุธ ช้าง ม้า โค กระบือ เสบียงอาหาร พากันตั้งค่ายขึ้นรับการต่อสู้ ณ ที่นั้น เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวจึงส่งเจ้าสุทธิสารคุมกำลังพลมาปราบปราม ชาวนครราชสีมาจึงจัดกำลังพลออกต่อสู้นอกค่าย โดยมีพระณรงค์สงครามเป็นกองหน้า พระยาปลัดเป็นกองกลาง พระยายกกระบัตรคุมกองเกวียนครอบครัว ซึ่งมีเด็กคนชรา ส่วนคุณหญิงโมขี่ม้าถือหอกนำกำลัง หญิงล้วนประมาณ ๓๐๐ คน แต่งกายรัดกุมคล้ายชายเป็นกองหนุน มีเพียงอาวุธประเภทพร้า หลาว กระบอง พร้อมใจกันเข้าจู่โจมกองทัพลาวอย่างรวดเร็ว เกิดการสู้รบถึงขั้นประชิดตัวด้วยความกล้าหาญ บาดเจ็บล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ภาพเหตุการณ์แห่งวีรกรรมชาวนครราชสีมาครั้งนั้น มีบันทึกไว้ในสำเนาหนังสือเจ้าเวียงจันทน์เพี้ยพรหมา ซึ่งถือมากรุงเทพมหานคร เมื่อ จ.ศ. ๑๑๘๘ มีความว่า

“เวลาเช้าตรู่พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการต่างคนต่างยิงปืนคนละนัด พวกครัวก็เข้าฟันแทงทั้งพระสงฆ์เถรเณร ผู้หญิงในครัวหนุนโห่ร้องไล่อ้ายลาวแตกไม่ผินหน้าสู้ พวกครัวซํ้าเติมฆ่าฟันทุบตีแต่เวลาเช้าจนเวลาบ่าย ๕ โมง จนกระทั่งบ้านบัว อ้ายลาวตายประมาณ ๒,๐๐๐ คน ที่เหลือตายไม่เหนเข้าไบ่ทางเมืองนครราชสีมา หนีไปทางเมืองเวียงจันทน์ พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการบอกข้าพเจ้าว่าอ้ายสุทธิสาร ลงจากม้าพวกครัวแทงตาย”

เจ้าอนุวงศ์เมื่อทราบว่ากองทัพเวียงจันทน์พ่ายแพ้แก่ชาวครัวนครราชสีมาแล้ว ก็คิดไปว่าคงจะมีกำลังกองทัพจากเจ้าเมืองนครราชสีมายกมาช่วย เกิดความขลาดหวาดหวั่นไม่คิดที่จะยกทัพลงมายังกรุงเทพมหานคร พอดีมีข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพมหานครกำลังจะเดินทางมาถึง เกรงว่าจะเป็นศึกขนาบ จึงสั่งเผายุ้งฉาง บ้านเมือง เสียสิ้น ก่อนยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมาในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๖๙

ด้วยวีรกรรมความสามารถและกล้าหาญของคุณหญิงโม อันเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองในการมีส่วนเป็นผู้นำชาวนครราชสีมาต่อสู้กองทหารเวียงจันทน์จนแตกพินาศ ไม่สามารถล่วงลํ้าลงมายังพระ มหานครได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จแต่งตั้งคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี

ท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน ๔ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสามีได้ฌาปนกิจและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย อันเป็นวัดซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างขึ้น ต่อมาเจดีย์นั้นได้ชำรุดลง พลตรีพระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) เมื่อครั้งเป็นพระยาประสิทธิศิลปการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

ต่อมากู่นั้นทรุดโทรมลงอีก ทั้งอยู่ในที่คับแคบไม่งามสง่าสมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทรโสฬส) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ ๕ พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีด้วยทองแดง นำอัฐิท่านบรรจุไว้ในฐานรองรับสร้างเสร็จประดิษฐ์ไว้ ณ ประตูชุมพลนี้ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗

ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๐ ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมา มีนายสวัสดิ์ วงศ์ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ร่วมใจกันสร้างฐานอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกิยรติท้าวสุรนารี สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐

วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มาวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัส มีความตอนหนึ่งว่า

“ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน”

ด้วยคุณงามความดีแห่งการประกอบวีรกรรมอันเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง ท่านจึงได้รับการยกย่องสรรเสริญจากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตลอดจนทหารหาญ ดังบทสดุดีท้าวสุรนารีซึ่งประพันธ์โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร ไว้ในหนังสือ นารีเรืองนาม ว่า

“อ้าเพศก็เพศนุชอนงค์ อรองค์ก็บอบบาง
ควรแต่ผดุงอรสอาง ศุภลักษณ์ประโลมใจ

ยามเข็ญก็เข็นสริรช่วย คณะชายผจญภัย
โอ้ควรจะเอื้อนพจนไข คุณะเลิศมโหฬาร

อ้าหัตถ์ก็หัตถ์สุขุมพรร ณ พิสัยอลังการ

ควรแต่จะถือมธุรมาล ยประมูลมโนรม

ยามทุกข์ก็ถือวิวิธอา วุธร่วมสมาคม
โอ้ควรจะเอื้อนพจนชม คุณชั่วนิรันดรกาล

อ้าเสียงก็เสียงนุชอนงค์ เสนาะโสตกระแสหวาน
ควรแต่จะซ้องสรประสาร ดุริยางค์พยุงใจ

ยามแค้นก็แค่นกมลซ้อง สรโห่กระหึ่มไพร
โอ้ควรจะชมนุชไฉน นะจะหนำมโนปอง

อ้าจิตรก็จิตรนุชเสงี่ยม มนะอ่อน ณ ชนผอง
ควรแต่จะเอื้อกมลครอง ฆรชื่นประชาชน

ยามยุทธนาบมิขยาด มนะกล้าผจญรณ
โอ้ควรจะนับคุณะอนน ตอเนกรำพัน

อ้าจงอนงค์คุณกำ จรจบณไกวัล
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระวรธรร มิกราชสยามินทร์

เพื่อเป็นนิทัศนอุทา หรณัคร์มโนถวิล
โอ้สุญนภางคปถพิน คุณจงมลาย เทอญ”

ตราบจนทุกวันนี้อนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี เปรียบเสมือนศูนย์รวมความรัก เสริมสร้างความสามัคคีของชาวไทยทั้งปวง ไม่เฉพาะแต่เพียงชาวนครราชสีมาเท่านั้น ทางราชการได้จัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี เป็นงานใหญ่ระหว่างวันที่ ๒๓ มีนาคม – ๓ เมษายน เป็นประจำทุกปี จัดงานเป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้นามของท่านได้นำมาตั้งเป็นชื่อหน่วยทหารและสถาบันการศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งเกียรติคุณ เช่น ค่ายสุรนารี กองกำลังสุรนารี มหาวิทยาลัยสุรนารี เป็นต้น และจังหวัดนครราชสีมายังได้ก่อสร้างอนุสรณ์สถานวีรกรรมของท้าวสุรนารีและชาวนครราชสีมาขึ้น ณ บริเวณทุ่งสัมฤทธิ์ เพื่อให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฤดีรัตน์ กายราศ