ราชาศัพท์-นาม

Socail Like & Share

ราชาศัพท์ แปลว่าศัพท์สำหรับพระราชาหรือศัพท์หลวง แต่ในที่นี้ให้หมายความว่าศัพท์ที่ใช้ในราชการ เพราะในตำรานั้นบางคำไม่กล่าว เฉพาะสำหรับกษัตริย์หรือเจ้านายเท่านั้น กล่าวทั่วไปถึงคำที่ใช้สำหรับบุคคลชั้นอื่น เช่น ขุนนางและพระสงฆ์เป็นต้นด้วย เช่น คำว่า ‘ตาย’ เป็นต้น คำราชาศัพท์นี้ เป็นระเบียบของภาษาที่จะต้องใช้ให้ถูกต้อง นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของไวยากรณ์ จึงต้องนำมากล่าวในที่นี้ เฉพาะแต่ข้อที่ควรสังเกตตามลักษณะไวยากรณ์ จักไม่กล่าวให้พิสดารตามตำราราชาศัพท์ ซึ่งมีอีกแผนกหนึ่งต่างหาก

ชั้นของบุคคลที่จะต้องใช้คำราชาศัพท์นี้ ว่าโดยย่อมี ๕ ชั้น คือ:- พระราชา ๑ เจ้านาย ๑ พระสงฆ์ ๑ ขุนนาง ๑ คนสุภาพ ๑ ต่อจากนี้ไปก็เป็นชนสามัญชนที่พูดจากันตามธรรมดา หรือที่เรียกว่าปากตลาด ซึ่งไม่นิยมใช้ในราชการ และชั้นบุคคลทั้ง ๕ นี้เป็นแต่กล่าวโดยย่อที่ใช้ทั่วๆ ไป ยังมีคำ บางคำที่บัญญัติใช้แยกเป็นหลายชั้นยิ่งไปกว่านี้ แต่ที่มีแบบแผนใช้อยู่โดยมาก ก็มีเพียงชั้นพระราชาและเจ้านายเท่านั้น ชนอื่นๆ มีบัญญัติใช้เฉพาะบางคำ จักกล่าวถึงเฉพาะในคำที่มีบัญญัติใช้

คำทั้งหลายที่ต้องเปลี่ยนแปลงใช้ตามระเบียบราชาศัพท์นี้ ก็มี ๔ ชนิดอย่างเดียวกับระเบียบอื่นๆ เหมือนกัน คือ (๑) นาม (๒) สรรพนาม (๓) กริยา (๔) วิเศษณ์ จะยกอธิบายทีละชนิด ดังต่อไปนี้

คำนามที่ใช้เป็นราชาศัพท์ คำนามย่อมเปลี่ยนแปลงใช้เป็น ราชาศัพท์แทบทุกพวก เว้นแต่พวกสมุหนามเท่านั้น เพราะนามพวกนี้เป็นชื่อของหมู่คณะ ไม่เจาะจงเฉพาะตัวบุคคล จึงนิยมใช้เป็นสามัญชนผู้หนึ่ง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงราชาศัพท์ ถึงจะเกี่ยวกับพระราชาหรือเจ้านาย ก็ใช้เช่นเดียวกัน เช่น ‘รัฐบาล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ เป็นต้น

(๑) สามานยนามกับอาการนาม สองพวกนี้มีใช้มากกว่าพวกอื่น และมีวิธีใช้อย่างเดียวกันด้วย จึงนำมากล่าวในที่เดียวกันดังนี้

ก. สำหรับชั้นพระราชา นามราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระราชานั้น ต้องเป็นชื่อสิ่งที่เกี่ยวเนื่องเป็นของแห่งพระราชา เป็นต้น ว่าส่วนของร่างกาย เช่น มือ เท้า แขน ขา ฯลฯ ความประพฤติต่างๆ เช่น การกิน ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ญาติและคนที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น พี่เลี้ยง แม่นม อาจารย์ ฯลฯ ทรัพย์และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว ฯลฯ สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ชะตา ราศี เคราะห์ วันเกิด โรคต่างๆ ฯลฯ คำเหล่านี้ มีวิธีเปลี่ยนแปลงใช้เป็น ๔ วิธี ดังต่อไปนี้ :-

(ก) ใช้คำ ‘พระบรม’ หรือ ‘พระบรมราช’ นำหน้าได้แก่นามที่สำคัญ ควรจะเชิดชูให้เป็นเกียรติยศ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระบรมนามาภิไธย หรือพระปรมาภิไธย พระบรมวงศานุวงศ์ พระบรมเดชานุภาพ พระบรมโพธิสมภาร (บุญบารมี) พระบรมราชโองการ พระบรมราโชบาย พระบรมราชูปถัมภ์ พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุศาสน์ เหล่านี้เป็นต้น

(ข) ใช้คำ ‘พระราช’ นำหน้า ได้แก่คำที่ใช้เฉพาะพระราชา ซึ่งผู้กล่าวตั้งใจจะไม่ให้ปนกับเจ้านายอื่นๆ ทั่วไป แต่ไม่เป็นคำสำคัญอย่างข้อต้น เช่นตัวอย่าง ‘พระบรมมหาราชวัง’ ในข้อต้นนั้น หมายความว่าวังสำคัญที่สุด ที่ควรจะเชิดชู แต่ถ้าวังที่รองๆ ลงมา และไม่สู้สำคัญนัก ก็ใช้ว่า‘พระราชวัง’ เช่น พระราชวังดุสิต พระราชวังบางปะอิน เป็นต้น และนามอื่นๆ เช่น พระราชทรัพย์ พระราชลัญจกร (ตรา) พระราชพาหนะ พระราชยาน พระราชหฤทัย พระราชประวัติ พระราชกุศล เป็นต้น และคำที่เป็นอาการนาม มักใช้เช่นนี้เป็นพื้น เช่น พระราชปรารภ พระราชดำริ พระราชประสงค์ เป็นต้น

(ค) ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้า ได้แก่นามที่เป็นสามัญทั่วไป ซึ่งไม่นับว่าเป็นของสำคัญ เป็นต้นว่าเครื่องใช้สอย เช่น พระแสง พระที่นั่ง พระเก้าอี้ พระสุพรรณราช ฯลฯ ส่วนในร่างกาย เช่น พระหัตถ์ พระบาท พระนาสิก พระศอ พระเจ้า ฯลฯ ของที่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น พระโรค พระบังคนหนัก พระบังคนเบา พระเคราะห์ พระชะตา ฯลฯ สรุปความว่า นอกจากคำที่กล่าวในข้อ(ก) และ(ข) แล้วต้องใช้คำ ‘พระ นำหน้าทั้งสิ้น เว้นไว้แต่คำประสมที่มีคำข้างท้ายเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว คำข้างหน้าจึงไม่ต้องใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าให้ซ้ำกัน เช่น ฉลองพระองศ์ ฉลองพระเนตร ฉลองพระบาท ฉลองพระหัตถ์ บ้วนพระโอษฐ์ รถพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง ธารพระกร พานพระศรี เหล่านี้เป็นต้น

อนึ่ง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระราชา ถ้าเป็นเจ้านายก็ใช้เรียกตามชั้นของ เจ้านายซึ่งจะกล่าวข้างหน้า แต่ถ้าใช้เป็นกลางๆ สำหรับพระราชาอื่นๆ ทั่วไป ก็ใช้คำ ‘พระราช’ นำหน้า เช่น พระราชบิดา พระราชมารดา พระราชภาดา พะราชภคินี เป็นต้น ถ้าไม่ใช่เจ้านาย คือเป็นราชินิกุล หรือสามัญชน มักใช้เพียงคำ ‘พระ’ นำหน้า เช่น พระอัยกา พระอัยยกา พระปิตุลา พระพี่เลี้ยง พระนม พระอาจารย์ พระสหาย เป็นต้น

(ฆ) ใช้คำ ‘หลวง’ หรือ ‘ต้น’ ประกอบข้างท้ายคำที่ใช้ พระบรม พระบรมราช พระราช ‘พระ’ นำหน้านั้นต้องเป็นคำที่มาจากบาลีหรือสันสกฤต นอกจากนั้นก็มีคำเขมรหรือคำโบราณอยู่บ้างเล็กน้อย เช่น พระจุไร พระขนง พระขนอง พระเขนย พระปราง พระยี่ภู่ พระบังคนหนัก พระบังคนเบา เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคำไทยสามัญแล้ว จะใช้คำเหล่านั้นนำหน้าไม่ได้ มักจะใช้ คำ ‘หลวง’ หรือ ‘ต้น’ประกอบข้างท้าย เช่น ลูกหลวง หลานหลวง ม้า¬หลวง ช้างหลวง เรือหลวง ของหลวง สวนหลวง ม้าต้น ช้างต้น เรือต้น เรือนต้น เครื่องต้น ดังนี้เป็นต้น

คำ ‘หลวง’ กับ ‘ต้น’ มีที่ใช้ต่างกันอยู่บ้าง คือคำ ‘หลวง’ ใช้กับคำสามัญทั่วไป ทั้ง คน สัตว์ และสิ่งของ แต่มียกเว้นบางคำซึ่งไม่เกี่ยวกับพระราชา เช่น เมีย หลวง เขา หลวง ทะเล หลวง เป็นต้น คำ “หลวง” ในที่นี้แปลว่า ‘ใหญ่’ หาเกี่ยวข้องเป็นราชาศัพท์ไม่ ส่วนคำ ‘ต้น’ นั้น เนื่อง มาจากตำแหน่งแห่งนามนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานเทียบไว้เป็นชั้นต้น ชั้นที่สอง และชั้นรองต่อๆ ไป ชั้นต้นเป็นของดีสำหรับพระราชา จึงได้ใช้คำ ‘ต้น’ เป็น เครื่องหมายสำหรับพระราชาต่อมา แต่มักจะใช้เฉพาะสัตว์ ที่ทาง และสิ่งของ เท่านั้น หาได้ใช้สำหรับคนไม่

ข. สำหรับชั้นเจ้านาย ชั้นนี้บางคำก็ใช้แยกกันเป็นหลายชั้น คือ พระราชินี พระยุพราช วังหน้า (ครั้งโบราณ) เจ้านายชั้นสูง พระองค์เจ้าหม่อมเจ้า แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่คำที่ใช้สำหรับเจ้านายทั่วไป คำที่แยกใช้นั้นจะยกไว้กล่าวทีหลัง

นามราชาศัพท์สำหรับเจ้านายนั้น ใช้อย่างเดียวกับนามราชาศัพท์ สำหรับพระราชา เว้นแต่ไม่ใช้คำ ‘พระบรม’ หรือ ‘พระบรมราช’ นำหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ก็ใช้สำหรับเจ้านายได้ ดังนี้

(ก) ใช้คำ ‘พระราช’ นำหน้า คำนี้ใช้สำหรับพระราชินี และพระยุพราช เฉพาะคำสำคัญสำหรับพระองค์ท่าน เช่น พระราชหฤทัย พระราชศรัทธา พระราชดำริ พระราชปรารภ พระราชกุศล เป็นต้น

(ข) ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้า นอกจากที่กล่าวแล้วในข้อ (ก) ก็ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าเป็นพื้นทั่วไป เว้นไว้แต่คำที่เป็นราชาศัพท์สำหรับเจ้านายอยู่แล้ว เช่น หม่อม หม่อมห้าม วัง ที่นั่ง (เช่น รถที่นั่ง ม้าที่นั่ง สำหรับ พระราชาใช้ รถพระที่นั่ง ฯลฯ) เครื่อง (อาหาร) และคำประสมที่มีคำราชาศัพท์อยู่ข้างท้ายแล้ว เช่น ฉลองพระองค์ ฉลองพระหัตถ์ เป็นต้นดังกล่าว ในข้อสำหรับพระราชา

อนึ่ง ญาติที่เป็นเจ้านายด้วยกัน มักใช้คำว่า ‘พระเจ้า’ นำหน้า เช่น พระเจ้าลุง พระเจ้าพี่ พระเจ้าอา เป็นต้น ถ้าใช้คำบาลี หรือสันสกฤต ก็ใช้ แต่คำ ‘พระ’ นำหน้า เช่น พระปิตุลา พระภาดา พระเชษฐา เป็นต้น ถึง ญาติที่ไม่ใช่เจ้านายหรือผู้ที่ทรงนับถือ ก็ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าอย่างเดียวกัน

(ค) อนึ่ง คนสัตว์ หรือสิ่งของ ซึ่งเป็นของเจ้านายที่ไม่สำคัญ คือ ไม่ใช่ผู้ที่ทรงนับถือก็ดี สัตว์หรือสิ่งของที่อยู่ห่างไกล ซึ่งไม่ได้ทรงใช้สอยใกล้ ชิดเป็นต้นก็ดี คำเหล่านี้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใช้เป็นราชาศัพท์ ใช้ตามปกติ อย่างคำสามัญ เช่น คนของเจ้านายพระองค์นั้น นาของเจ้านายพระองค์นี้ เป็นต้น

ค. สามานยนามและอาการนาม ที่เป็นราชาศัพท์ สำหรับชั้นบุคคล ต่อ จากเจ้านายลงไปก็ดี หรือที่บัญญัติใช้แยกชั้นละเอียดออกไปจากข้างบนนี้ก็ดี มีเป็นบางคำ จะยกมากล่าวพอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้:-

(ก) คำสั่ง
silapa-0161 - Copy
(ข) จดหมาย
silapa-0162 - Copy
(ค) ภรรยา
silapa-0162 - Copy1
(ฆ) นามเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
silapa-0163 - Copy
หมายเหตุ พระพุทธเจ้า หรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระอินทร์ เป็นต้น ใช้คำนามอย่างเดียวกับพระราชา แต่มีผิดกันอยู่บ้าง คือ สำหรับพระพุทธเจ้า ใช้คำว่า ‘ พระพุทธ ’ หรือ ‘ พุทธ ’ นำหน้า สำหรับเทวดา ใช้คำว่า ‘เทว’ หรือ ‘เทพ’ นำหน้า ในคำบางคำเพื่อจะให้ความเด่น เช่น พระพุทธฎีกา (คำสั่ง) พระพุทธบริขาร พุทธพยากรณ์
เทวโองการ เทพบริวาร เป็นต้น

(๒) วิสามานขนาม นามพวกนี้มีวิธีใช้ต่างกับสามานยนามหรืออาการ นาม คือต้องมีสามานยนามนำหน้าด้วย และวิสามานยนามที่ใช้ในราชการ สำหรับบุคคลทั้ง ๕ ชั้นนั้น มีต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามเดิมอย่างหนึ่ง กับราชทินนามอีกอย่างหนึ่ง

ก. นามเดิม คือนามที่ได้มาแต่กำเนิด จะอธิบายวิธีใช้เป็นชั้นๆ ลงไป ดังต่อไปนี้

(ก) พระราชา การออกพระนามพระราชาทั่วไปในสมัยนี้ มักใช้คำ สามานยนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้า’ บ้าง ‘สมเด็จพระ’ บ้าง ‘พระเจ้า’ บ้าง นำหน้าตามความนับถือมากและน้อย เช่น สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ สมเด็จ พระเจ้ายอช (กรุงอังกฤษ) สมเด็จพระนเรศวร พระเจ้านโปเลียน พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น แต่ครั้งโบราณใช้ต่างๆ กันตามสมัย เช่นตัวอย่าง ‘ขุน พ่อขุน ขุนหลวง พญา’ เป็นต้น ตามที่ว่านี้ใช้เรียกพระราชาอื่นๆ ทั่วไป

แต่ประเพณีของไทย พระราชาธิบดีเมื่อเสวยราชสมบัติต้องถวายพระนามใหม่มีสร้อยพระนามยืดยาว ซึ่งใช้ในราชาศัพท์ว่า ‘พระปรมาภิไธย’ หรือ ‘พระบรมนามาภิไธย’ และใช้เรียกตามพระปรมาภิไธยนี้ หาใช้เรียกพระนามเดิมไม่ จะมีบ้างก็มักเป็นเสียงราษฎรเรียกกันอย่างปากตลาด พอให้เข้าใจง่าย ถ้าใช้ในรัชกาลปรัตยุบัน มักจะใช้คำว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ซึ่งเป็นสามานยนามแทน ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ ก็ใช้คำว่า ‘พระบาทสมเด็จพระ’ นำหน้าพระปรมาภิไธยอีกทีหนึ่ง มีวิธีใช้เป็น ๓ อย่างคือ

(๑) ใช้พระนามเต็มตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ เช่นตัวอย่าง ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ อย่างนี้มักใช้ในหนังสือ เรื่องสำคัญ เช่นประกาศพระราชบัญญัติที่สำคัญ หรือประกาศตั้งเจ้านาย เป็นต้น

(๒) ใช้อย่างกลาง คือละสร้อยพระนามเสีย เช่น ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ’ อย่างนี้มักใช้ในหนังสือที่มีส่วนสำคัญรองลงมา

(๓) ใช้อย่างย่อ คือ ใช้ย่อเอาแต่ส่วนสำคัญของพระปรมาภิไธย เช่น พระบาทสมเด็จพระนเรศวร พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นต้น ถ้ามีพ้องกันก็เติมสังขยาที่๑ ที่ ๒ ฯลฯ ไว้ข้างท้าย เช่น ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่๑’ หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒’ เป็นต้น อย่างนี้ใช้ในหนังสือต่างๆ ที่กล่าวในกาลทั่วไปที่ไม่สำคัญ

(ข) ชั้นเจ้านาย เจ้านายที่จะต้องใช้พระนามเดิมนั้น คือเจ้านายที่ยังมิได้ทรงกรม หรือทรงตำแหน่งอันสูงซึ่งทรงสถาปนาพระราชทินนามใหม่ เช่น ตำแหน่งสมเด็จพระพันปีหลวง เป็นต้น คำสามานยนามที่นำหน้าพระนามเดิม เจ้านายตั้งแต่ชั้นพระองศ์เจ้าขึ้นไป มี ๒ คำ คือ คำต้นบอกเครือญาติ คำที่ ๒ บอกชั้นเจ้านาย

(๑) คำสามานยนามบอกเครือญาติ นั้น เรียกว่าตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์ ตามที่ใช้อยู่ในปรัตยุบันนี้ มีดังนี้:-

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ คือเจ้านายที่เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินก่อนตั้งแต่พระเจ้าอาขึ้นไป ถ้าเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่๑ ใช้ว่า ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑’ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ว่าชั้น ๒ ตามลำดับ ถ้าสำหรับเจ้าฟ้า ใช้ว่า ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ’

ชั้นพระเจ้าพี่และพระเจ้าน้อง ถ้าเป็นฝ่ายหน้าใช้ว่า ‘พระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ’ ถ้าเป็นฝ่ายใน ใช้ว่า ‘พระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ’ สำหรับเจ้าฟ้าใช้คำว่า ‘สมเด็จ’ เติมข้างหน้าอย่างเดียวกัน

(ถ้าเป็นชั้นพระราชโอรส ฝ่ายหน้าใช้ว่า ‘พระเจ้าลูกยาเธอ’ ฝ่ายใน ใช้ว่า ‘พระเจ้าลูกเธอ’ สำหรับเจ้าฟ้าใช้คำว่า ‘สมเด็จ’ เติมข้างหน้าเหมือนกัน)

ชั้นพระโอรสเจ้าฟ้าที่ดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้ามาแต่เดิม หรือหม่อมเจ้า ที่ทรงสถาปนาพระยศเป็นพระองค์เจ้าขึ้นเป็นพิเศษ ใช้ว่า ‘พระเจ้าวรวงค์เธอ’

พระโอรสพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๕ ใช้ว่า ‘พระราชวรวงศ์เธอ’ ถ้าพระโอรสพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๔ ใช้ว่า ‘พระเจ้าราชวรวงค์เธอ’

หม่อมเจ้าที่ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ใช้ว่า ‘พระวรวงค์เธอ’

(๒) คำสามานยนามที่บอกชั้นเจ้านาย นั้นมี ๓ ชั้น คือ
เจ้าฟ้า คือพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินที่พระมารดาเป็นเจ้าด้วยกัน

พระองค์เจ้า คือพระโอรสพระเจ้าแผ่นดินหรือพระราชวังบวรอย่างหนึ่ง พระโอรสของเจ้าฟ้าอย่างหนึ่ง หม่อมเจ้าที่ทรงสถาปนาเลื่อนพระยศขึ้นอย่างหนึ่ง

หม่อมเจ้า คือพระโอรสของพระองค์เจ้าที่ดำรงพระยศมาแต่เดิม
ต่อจากสามานยนามบอกชั้นนี้ไปจนถึงพระนามเดิม ดังนี้
‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า (พระนามเดิม)’
‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (พระนามเดิม)’

แต่ถ้าสำหรับชั้นหม่อมเจ้า ไม่ต้องมีสามานยนามบอกเครือญาติมีแต่คำบอกชั้นเจ้านายเท่านั้น ดังนี้ ‘หม่อมเจ้า (พระนามเดิม)’ แต่มักใช้พระนาม พระบิดาไว้ข้างท้ายด้วย ดังนี้ ‘หม่อมเจ้า (พระนามเดิม) ในพระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้า (พระนามพระบิดา)’ สำหรับหม่อมเจ้าฝ่ายใน ใช้ว่า ‘หม่อมเจ้าหญิง’

(ค) พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่ไม่มีราชทินนาม ต้องใช้นามเดิม ถ้ามีตำแหน่ง บรรดาศักดิ์ เป็น พระครู พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกาหรือมีตำแหน่งเป็นเจ้าอธิการ พระอธิการ เป็นต้น ก็ใช้สามานยนามบอกตำแหน่งนั้นๆ นำหน้า นามเดิม นามสกุล แล้วใส่นามฉายา (นามที่อุปัชฌาย์ให้เป็นภาษาบาลีเมื่อเวลาบวช) วงเล็บไว้ข้างท้าย ดังนี้:-
‘พระครู ทิม ชื่นช้อย (จนฺทาโภ)’
‘พระปลัด สอน ไววุฒิ (เขมิโก)’ เป็นต้น

อนึ่ง พระที่สอบไล่ได้เป็นเปรียญ หรือเป็นนักธรรมชั้นใด ก็ลงคำว่า เปรียญหรือนักธรรมชั้นนั้นๆ เติมเข้าข้างท้าย เช่น ‘พระสอน ไววุฒิ (เขมิโก) เปรียญธรรมชั้นตรี’ หรือ ‘พระสอน  ไววุฒิ (เขมิโก) นักธรรมชั้นโท’ เป็นต้น ถ้าพระอนุจร คือไม่มีตำแหน่งอันใด ก็ใช้แต่คำ ‘พระ’ นำหน้าอย่างเดียว เช่น พระสอน ไววุฒิ (เขมิโก)  ถ้าเป็นสามเณรก็ใช้คำว่า ‘สามเณร’ นำหน้าแทนคำ ‘พระ’

อนึ่ง เจ้านายที่ต้องใช้พระนามเดิมดังกล่าวแล้วข้างต้น ถ้าทรงผนวชก็ต้องใช้อย่างกล่าวแล้วเหมือนกัน เป็นแต่เติมคำ ‘พระ’ หรือ ‘สามเณร’ ลงข้างหน้าพระนามเดิมด้วยเท่านั้น เช่น ‘พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระ หรือ พระองค์เจ้าสามเณร (พระนามเดิม)’ แล้วใส่พระนามฉายาวงเล็บข้างท้าย ถึงผู้เนื่องในราชตระกูลเป็นหม่อมราชวงศ์ หรือหม่อมหลวงที่บวช ก็ใช้ว่า ‘พระ’ หรือ ‘สามเณร’ เติมหน้านามเดิมดุจกัน เช่น หม่อมราชวงศ์ พระ (นามเดิม นามสกุลและนามฉายาในวงเล็บ) หม่อมหลวงสามเณร (นามเดิมนามสกุลและนามฉายาในวงเล็บ) ดังนี้เป็นต้น แต่ถ้าผู้มียศหรือบรรดาศักดิ์บวช ต้องใช้คำ ‘พระ’ หรือ ‘สามเณร’ นำหน้าตำแหน่งยศหรือบรรดาศักดิ์ เช่น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ชิตาวีวํโส) หรือ พระ ร้อยโทเจริญ ไววุฒิ (วฑฺฒโน) เป็นต้น

(ฆ) ขุนนาง นามขุนนางเป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์มีราชทินนามจะกล่าวข้างหน้า ที่ใช้นามเดิมก็มีอยู่แต่ผู้ที่มียศอย่างเดียว หรือผู้ที่เนื่องด้วยราชตระกูล เป็นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง เหล่านี้ต้องใช้คำนามตำแหน่งเหล่านั้นนำหน้าแล้วบอกนามสกุลข้างท้าย เช่น ร้อยเอก ถม ชาญชัย หรือหม่อมราชวงศ์ (นามเดิม นามสกุล) ดังนี้เป็นต้น ถ้าเป็นหญิง ต้องใช้คำ ‘หญิง’ นำหน้านามเดิมด้วย เช่น หม่อมราชวงศ์หญิง (นามเดิม นามสกุล) เป็นต้น

อนึ่ง สตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ที่ไม่มีราชทินนาม เช่น เป็น เจ้าจอม ขรัวยาย หม่อม คุณ เหล่านี้ ก็ต้องใช้นามตำแหน่งเหล่านี้นำหน้านามเดิม แต่นามสกุลนั้น ถ้าเป็นเจ้าจอมหรือหม่อม ไม่ต้องใช้ เพราะใช้นามรัชกาล หรือนามเจ้านายแทน เช่น เจ้าจอม (นามเดิม) ในรัชกาลที่… หรือ หม่อม (นามเดิม) ในพระเจ้าน้องยาเธอ พระองศ์เจ้า… เป็นต้น นอกจากนี้ต้องใช้นามสกุลด้วยเหมือนกัน

(ง) คนสุภาพ ถ้าเป็นชาย ใช้คำ ‘นาย’ นำหน้านามเดิมนามสกุล เช่น นายสิน เจียมตัว เป็นต้น ถ้าเป็นหญิงยังไม่มีสามี ใช้คำว่า ‘นางสาว’ นำหน้า นามเดิม นามสกุล เช่น นางสาวยี่สุ่น เจียมตัว เป็นต้น แต่ถ้ามีสามีแล้วต้องใช้คำ ‘นาง ’ นำหน้านามเดิมและใช้นามสกุลของสามี

ข. ราชทินนาม คือนามที่พระราชทานอย่างหนึ่ง หรือโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้ากระทรวงตั้ง ซึ่งเรียกว่าประทวนอย่างหนึ่ง ราชทินนามนี้มีสามานยนาม ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ เช่น ขุน หลวง พระ เป็นต้น นำหน้า ผู้มีราชทินนามแล้วไม่ต้องใช้นามเดิมอีก ถ้าต้องการไม่ให้ผิดตัวในเวลาข้างหน้า ก็ลงนามเดิมกับนามสกุลไว้ในวงเล็บข้างท้าย

(ก) เจ้านาย เจ้านายที่ดำรงพระเกียรติยศสูง ก็ทรงสถาปนาพระราชทินนามใหม่เหมือนกัน เช่น พระนามสมเด็จพระพันปีหลวงว่า ‘สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง’ ดังนี้เป็นต้น ถึงพระนามกรมแห่งเจ้านายต่างๆ ก็นับว่าเป็นพระราชทินนามได้เหมือนกัน เพราะเป็นพระนามที่พระราชทานใหม่ และพระนามกรมนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนต้นเป็นสามานยนามบอกตำแหน่งชั้นกรม (ซึ่งคล้ายกับตำแหน่งบรรดาศักดิ์) มี ๕ ตำแหน่ง คือ กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมพระยา และส่วนที่ ๒ เป็นวิสามานยนาม บอก นามพระกรมอีกทีหนึ่ง เจ้านายที่ทรงกรมนั้น มี ๒ ชั้น คือ เจ้าฟ้า กับ พระองค์เจ้าเท่านั้น มีวิธีใช้พระนามดังนี้

ชั้นเจ้าฟ้า ใช้พระนามกรมแทนพระนามเดิม คำสามานยนามที่ประกอบข้างหน้านั้นใช้อย่างเดียวกับคำที่ประกอบหน้าพระนามเดิม ตัวอย่างเช่น ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต’ บางทีก็ใช้พระนามเดิมด้วย แล้วเติมพระนามกรมไว้ข้างท้ายเช่นตัวอย่าง ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ‘กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช’ ดังนี้อย่างข้างต้นนั้นใช้มาก แต่อย่างข้างท้ายนี้ เห็นใช้เฉพาะบางพระองศ์

ชั้นพระองค์เจ้า ลดคำสามานยนามบอกชั้นเจ้านาย (คือ ‘พระองค์เจ้า’) กับพระนามเดิมออกเสีย ใช้พระนามกรมแทน ดังตัวอย่าง ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ’ แต่ถ้าดำรงพระยศสูงสุดคือเป็นกรมพระยา ต้องเติมคำว่า ‘สมเด็จ’ เข้าข้างหน้าด้วย เช่นตัวอย่าง ‘สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ’ ดังนี้เป็นต้น

(ข) พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์นั้นมักจะมีราชทินนามเป็นพื้น คำสามานอนามบอกตำแหน่งสมณศักดิ์ที่จะใช้นำหน้าราชทินนามนี้ มีเป็น ๕ ชั้น คือ

ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นที่ใช้คำว่า ‘สมเด็จพระ’ นำหน้า เช่น ‘สมเด็จพระ วันรัต’ เป็นต้น แต่เจ้านายที่ทรงผนวชดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าก็ดี หรือเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าก็ดี ต้องใช้พระนามเจ้าเต็มที่ แล้วเติมนามตำแหน่งสมณศักดิ์ไว้ข้างท้าย ดังตัวอย่างต่อไปนี้:-
‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะเจ้า’

‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พระสังฆราชเจ้า’ ถ้าเป็น พระสังฆราชที่ไม่ใช่เจ้านาย ก็ใช้นามอย่างสมเด็จพระราชาคณะแล้วเติมตำแหน่งไว้ข้างท้ายดังนี้ ‘สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระสังฆราช’

ชั้นพระราชาคณะ ชั้นนี้มีตำแหน่งสมณศักดิ์แยกเป็นหลายชั้นด้วยกัน แต่รวมความว่าใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าราชทินนามด้วยกันทั้งนั้น วิธีสังเกตตำแหน่งสูงต่ำนั้นต้องสังเกตอย่างอื่น ดังนี้
(๑) ชั้นเจ้าคณะรอง มีจำกัดอยู่ ๔ ชื่อ คือ พระสาสนโสภณ พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระพรหมมุนี
(๒) ชั้น ธรรม สังเกต คำ ‘ธรรม’ ขึ้นต้นราชทินนาม เช่น พระธรรมเจดีย์ เป็นต้น
(๓) ชั้นเทพ มีคำ ‘เทพ’ ขึ้นต้น เช่น พระเทพเวที เป็นต้น
(๔) ชั้นราช มีคำ ‘ราช’ เป็นต้น เช่น พระราชเวที เป็นต้น
(๕) ชั้นสามัญไม่มีที่สังเกต เป็นแต่ใช้คำ ‘พระ’ นำหน้าเท่านั้น เช่น พระญาณรักขิต เป็นต้น

ชั้นพระครู (พิเศษ) ชั้นนี้เป็นตำแหน่งรองพระราชาคณะลงมา ใช้คำว่า ‘พระครู’ นำหน้า เช่น พระครูญาณประกาศ เป็นต้น

ชั้นฐานานุกรม ชั้นนี้เห็นมีราชทินนามอยู่ก็แต่พระครูปลัด และพระครู (ที่เป็นฐานา) ๒ ตำแหน่งนี้เท่านั้นย่อมใช้นามตำแหน่งนำหน้าอย่างเดียวกัน เช่น พระครูปลัดสัมพิพัฒน์สุตาจารย์ พระครูสังฆรักษ์ เป็นต้นนอกจากนี้ไม่มีราชทินนาม ใช้ตำแหน่งนำหน้านามเดิมดังอธิบายแล้ว

(ค). ขุนนาง บรรดาผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ย่อมมีราชทินนาม ใหม่ทั้งนั้น ลำดับชั้นสูงต่ำนั้นแล้วแต่สามานยนามบอกตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ที่ประกอบข้างหน้า โดยปรกติสำหรับฝ่ายพลเรือนทั่วไปมี ๖ ตำแหน่ง คือ:-

สมเด็จเจ้าพระยา เช่น ‘สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์’ เป็นต้น ตำแหน่งนี้เป็นขั้นสูงสุด นานๆ จึงจะมี
เจ้าพระยา เช่น เจ้าพระยาภูธราภัย เป็นต้น
พระยา เช่น พระยาราชสมบัติ เป็นต้น
พระ เช่น พระศรีเสนา    เป็นต้น
หลวง เช่น หลวงธรรมเสนา เป็นต้น
ขุน    เช่น ขุนศรีประชานนท์ เป็นต้น

และยังมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์ที่ใช้บางแห่งบางกรมอีก คือ เจ้าหมื่น จมื่น หลวง (นายเวร) นาย (บรรดาศักดิ์) นายรอง นามตำแหน่งเหล่านี้
ใช้ประกอบข้างหน้าราชทินนามเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเจ้าหมื่นศรีสรลักษณ์ จมื่นสุรพลพัลลภ หลวงศักดิ์ นายเวร นายพลพัน นายรองพลพัน เป็นต้น

หมายเหตุ ตำแหน่งบรรดาศักดิ์นี้ในปัจจุบันนี้ไม่มีการแต่งตั้งแล้ว คงมี แต่ท่านที่ได้รับมาแต่เดิม
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งบรรดาศักดิ์พิเศษอีก เช่น ตำแหน่งเจ้าประเทศราช เช่น พระเจ้า เจ้า เป็นต้น ใช้นำหน้าราชทินนาม ซึ่งแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน

อนึ่ง สตรีที่มีบรรดาศักดิ์นำหน้าราชทินนาม ก็ต้องใช้ตำแหน่งบรรดาศักดิ นำหน้าราชทินนามอย่างเดียวกับผู้ชายเหมือนกัน ตัวอย่าง
เจ้าคุณ เช่น ‘เจ้าคุณพระประยูรวงศ์’
ท้าว เช่น ท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นต้น
พระ เช่น พระสุจริตสุดา เป็นต้น

ส่วนสตรีที่เป็นภรรยาผู้มีบรรดาศักดิ์ ใช้เรียกอย่างนี้

ท่านผู้หญิง ได้แก่ภรรยาเจ้าพระยา หรือสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นใช้ คำว่า ‘ท่านผู้หญิง’ นำหน้า ราชทินนามแห่งสามี เช่น ‘ท่านผู้หญิงพระเสด็จสุเรนทราธิบดี’ เป็นต้น

คุณหญิง ได้แก่ภรรยาเอกแห่งเจ้าพระยา หรือสตรีที่ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใช้คำว่า ‘คุณหญิง’ นำหน้าราชทินนามแห่งสามี เช่น ‘ คุณหญิงวิจิตรธรรมปริวัติ ’ เป็นต้น

นาง ภรรยาเอกของขุนนางรองจากนี้ลงไป ใช้คำว่า ‘นาง’ นำหน้า ราชทินนามของสามี เช่น นางญาณภิรมย์ นางอุดมจินดา เป็นต้น จะเป็นภรรยา พระ หลวง หรือ ขุน ก็ใช้อย่างเดียวกัน

ส่วนอนุภรรยาของขุนนางทั้งหมด ใช้คำ ‘นาง’ นำหน้านามสกุลของสามี

ค. ยศ คือตำแหน่งฐานันดรที่สูงกว่าบรรดาศักดิ์ แต่หาได้มีราชทินนาน กำกับอย่างตำแหน่งบรรดาศักดิ์ไม่ นามตำแหน่งยศนี้ ก็นับเป็นสามานยนาม อย่างเดียวกับตำแหน่งบรรดาศักดิ์ เช่น ขุน หลวง พระ พระยา เป็นต้น แต่ที่นำมากล่าวในที่นี้ก็เพราะต้องใช้นำหน้าวิสามานยนามเหมือนกัน ตำแหน่งยศ กล่าวโดยย่อมีเป็น ๓ ฝ่าย คือ (๑) ผ่ายทหาร หรือเสนา (๒) ฝ่าย พลเรือน หรืออำมาตย์ (๓) ฝ่ายราชสำนัก หรือ เสวก ซึ่งมักเรียกรวมกัน ว่า ‘เสนามาตย์ราชเสวก’ ดังนี้ และฝ่ายหนึ่งๆ นั้นยังเรียกต่างกันออกไปอีกตามหน้าที่ ดังจะกล่าวโดยย่อต่อไปนี้ :-

(ก) ฝ่ายทหาร มี ๓ แผนก คือ ทหารบกกับทหารเรือ และทหารอากาศ ทหารบก-จอมพลเป็นชั้นสูงสุด นายพลมี ๔ ชั้น คือ พลเอก พลโท พลตรี พลจัตวา นายพันมี ๓ ชั้น คือ พันเอก-โท-ตรี นายร้อยมี ๓ ชั้น คือ ร้อยเอก-โท-ตรี

ทหารเรือ-จอมพลเรือ เป็นชั้นสูงสุด นายพลเรือมี ๔ ชั้น คือ พลเรือ เอก-โท-ตรี-จัตวา นายนาวามี ๓ ชั้น คือ นาวาเอก-โท-ตรี นายเรือมี ๓ ชั้น คือ เรือเอก-โท-ตรี

ทหารอากาศ มี จอมพลอากาศเป็นชั้นสูงสุด รองลงมาคือพลอากาศ เอก-โท -ตรี-จัตวา นาวาอากาศเอก-โท-ตรี เรืออากาศเอก-โท-ตรี

(ข) ฝ่ายพลเรือน* มหาอำมาตย์นายก เป็นชั้นสูงสุด

มหาอำมาตย์ (มี เอก-โท-ตรี) อำมาตย์ (มีเอก-โท-ตรี) รองอำมาตย์ (มีเอก-โท-ตรี)

ตำแหน่งยศตำรวจพระนครบาล และตำรวจภูธร ก็ขึ้นอยู่ในฝ่ายพลเรือนเหมือนกัน มียศเรียกดังนี้

นายพลตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี-จัตวา) นายพันตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) นายร้อยตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี)

(ค) ฝ่ายราชสำนัก มี ๓ แผนก คือ
มหาดเล็กหลวง- จางวาง (มี เอก-โท-ตรี) หัวหมื่น รองหัวหมื่น จ่าหุ้มแพร รองหุ้มแพร มหาดเล็กวิเศษ

ตำรวจวัง-สมเด็จพระตำรวจ (เป็นชั้นสูงสุด) พระตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) ขุนตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) นายตำรวจ (มี เอก-โท-ตรี) แผนกอื่นๆ-มหาเสวก (มีเอก-โท-ตรี) เสวก (มี เอก-โท- ตรี) รองเสวก (เอก-โท-ตรี)

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งยศชั้นประทวน อีก เช่น ฝ่ายทหารเรียกว่า จ่านายสิบ นายสิบเอก-โท-ตรี เป็นต้น

ผู้มีฐานันดรทั้งยศและบรรดาศักดิ์ต้องใช้ตำแหน่งยศขึ้นต้น และรองจากนี้ไปถึงตำแหน่งบรรดาศักดิ์ก็ถึงนามเดิม นามสกุล ดังตัวอย่างต่อไปนี้:-

จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวง (พระนามกรม)

นายพลเอก สมเด็จพระเจ้านองยาเธอ เจ้าฟ้า (พระนามเดิม)

มหาอำมาตย์นายก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (พระนามกรม)

มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น (พระนามกรม)

มหาเสวกเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้า (พระนามเดิม)

หัวหมื่น หม่อมเจ้า (พระนามเดิม)

มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยา (ราชทินนาม)

ร้อยโท (นามเดิม นามสกุล)

พระสงฆ์ ไม่มีตำแหน่ง ยศ มีแต่ตำแหน่งบรรดาศักดิ์ ดังอธิบายแล้ว

ข้อสังเกต ตามลักษณะเกี่ยวข้องทางไวยากรณ์ นับนามที่ขึ้นต้นเป็นนามหัวหน้า นามที่อยู่ข้างหลัง จัดเป็นนามวิกัติการก ประกอบนามข้างหน้าอีกทีหนึ่ง

๓. ลักษณนาม ที่ต้องใช้ตามราชาศัพท์มีอยู่ ๒ ชั้น คือพระราชาและ เจ้านาย สำหรับพระราชา หรือเจ้านายชั้นสูง ใช้ว่า ‘พระองค์’ เช่น พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ พระราชโอรส ๓ พระองค์ เป็นต้น สำหรับเจ้านายชั้นรองลงมา ใช้ว่า ‘องค์’ เช่น เจ้านาย ๒ องค์ ๓ องค์ เป็นต้น

อนึ่ง ส่วนในร่างกาย เช่น พระหัตถ์ พระทนต์ เส้นพระเกศ ฯลฯ หรือของเสวย เครื่องใช้สอย ของพระราชาและเจ้านายที่สำคัญและใกล้ชิดก็ใช้ ลักษณนามว่า ‘องค์’ เช่น พระทนต์ ๒ องค์ (ซี่) พระศรี ๓ องค์ (คำ) พระที่นั่ง ๒ องค์ (หลัง) เป็นต้น

สำหรับบุคคลชั้นอื่น ใช้ตามปกติ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร