ยาฆ่าหนู

Socail Like & Share

วิธีการป้องกันและกำจัดหนู
๑. โดยการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู เช่น การถางหญ้า วัชพืช ตามคันนา คูน้ำ หรือบริเวณไร่นาให้โล่งเตียนอยู่เสมอ เป็นการลดที่อยู่อาศัยและหลบซ่อนของกำจัดหนูหนู นอกจากนี้ยังทำให้แลเห็นรูหนูได้ง่ายและสะดวกต่อการกำจัด

๒. โดยใช้วิธีกล เช่น ใช้กับดัก ใช้วิธีการขุดรูหนู การล้อมตีหนู วิธีดังกล่าวจะต้องออกไปทำงานเป็นหมู่ๆ หมู่ละหลายๆ คน และทำเป็นประจำ คือ ๒-๓ เดือนทำหนึ่งครั้ง หรือจะทำควบคู่ไปกับการใช้ยาเคมีเบื่อหนูก็ได้ผลดี

๓. โดยใช้ยาเคมีกำจัดหนู ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

๓.๑ กรณีที่พบความเสียหาย หรือร่องรอยของหนูมีน้อยให้จำกัด โดยใช้ยาประเภทออกฤทธิ์ช้า เช่น ราคูมิน หรือวอร์ฟาริน ผสมกับเหยื่อ แล้วใส่ในที่ใส่เหยื่อนำไปวางในไร่นา ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งจะมีผลเป็นการป้องกันไม่ให้หนูขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ป้องกันหนูจากบริเวณอื่นอพยพเข้ามาในไร่นา และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะสามารถรักษาระดับจำนวนหนูในไร่นาให้มีจำนวนน้อยอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ต้นพืชไม่ได้รับความเสียหายในระยะเก็บเกี่ยว

๓.๒ กรณีที่พบความเสียหาย หรือร่องรอยของหนูมีมาก ให้กำจัดหนูโดยใช้ยาประเภทออกฤทธิ์เร็ว เช่น ซิงค์ฟอสไฟต์ หรือไซยาโนแก๊ส ๑ หรือ ๒ ครั้ง ในตอนแรกจะกำจัดหนูได้ทั่วถึงและรวดเร็ว เป็นการลดจำนวนหนูให้น้อยลงชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงตามด้วยการใช้ยาประเภทออกฤทธิ์ช้าตลอดฤดูการเพาะปลูก

ยาประเภทออกฤทธิ์เร็ว
๑. ซิงค์ฟอสไฟด์(ผงสีดำ) ผสมกับเหยื่อปลายข้าวหรือข้าวโพดป่น อัตราส่วนผสมโดยน้ำหนัก ๑ ต่อ ๒๐๐ ส่วน เช่นใช้ซิงค์ฟอสไฟด์ ๑ กิโลกรัม ผสมกับปลายข้าว ๒๐๐ กิโลกรัม แล้วทำเป็นห่อขนาด ๕ กรัม (ประมาณเกือบ ๑ ช้อนแกง) ด้วยใบตองผูกด้วยเชือก นำไปวางตามทางเดินของหนูให้ห่างกันประมาณห่อละ ๕-๑๕ เมตร ทั้งนี้แล้วแต่ประมาณของการระบาดของหนู หนูที่กินยาเบื่อนี้จะตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง

๒. ไซยาโนแก๊ส (ผงสีเทา) เมื่อถูกความชื้นในอากาศจะระเหยเป็นแก๊สพิษ ต้องใช้ยานี้กับเครื่องพ่นยาอัดรูหนูโดยมีสายยางเป็นท่อนำทางอัดเข้าไปในรูหนู ๓-๕ ครั้ง แล้วแต่ความตื้นลึกของรูหนู แล้วเอาดินอุดรูให้แน่น ไม่ควรใช้วิธีการนี้ในพื้นที่ที่ดินแตกระแหง เพราะแก๊สพิษจะระเหยขึ้นมาทำอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงานได้ หนูที่หายใจเอาแก๊สพิษนี้เข้าไปจะตายภายใน ๑๕ นาที

ยาทั้งสองชนิดนี้ที่กล่าวข้างต้น ขอแนะนำให้ใช้กำจัดหนูในหน้าแล้งหรือก่อนเตรียมดินปลูกพืช

ยาประเภทออกฤทธิ์ช้า
คือราคูมิน หรือวอร์ฟาริน ใช้ผสมกับปลายข้าวหรือข้าวโพดป่น อัตราส่วนผสมโดยน้ำหนัก ๑ ต่อ ๑๙ ส่วน เช่น ใช้ยาวอร์ฟาริน ๑ กิโลกรัม ผสมกับปลายข้าว ๑๙ กิโลกรัม เหยื่อพิษซึ่งออกฤทธิ์ช้านี้จะต้องใส่ในที่ใส่เหยื่อ โดยเฉพาะประมาณครั้งละ ๓๐๐ กรัม (ประมาณ ๓ ทัพพี) นำไปวางในไร่นาตลอดฤดูกาลเพาะปลูก โดยเริ่มวางเหยื่อหลังการเตรียมดินเสร็จแล้ว หนูที่กินยาเบื่อนี้จะตายภายใน ๒-๘ วัน

ที่ใส่เหยื่อ
มีลักษณะที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องกันน้ำและฝนได้ มีขนาดใหญ่พอที่จะให้หนูทุกขนาดเข้าไปกินเหยื่อและใหญ่พอที่จะใส่เหยื่อได้ครั้งละ ๓๐๐ กรัม วัสดุที่ใช้ทำที่ใส่เหยื่อควรหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ลำโตๆ กล่องไม้หรือปี๊บสังกะสี หรือจะคิดประดิษฐ์ขึ้นเองตามลักษณะที่ต้องการดังกล่าวก็ใช้ได้

การวางที่ใส่เหยื่อและข้อควรปฏิบัติ
๑. โดยทั่วไปให้วางที่ใส่เหยื่อห่างกันอันละประมาณ ๔๐-๑๐๐ เมตร ในเนื้อที่ ๓ ไร จะต้องใช้ที่ใส่เหยื่อ ๑-๒ อัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของหนูและขนาดของพื้นที่ว่ามีมากน้อยเพียงใด

๒. ตรวจที่ใส่เหยื่อทุก ๑๐-๑๕ วันครั้ง และเติมเหยื่อให้มีอยู่ในที่ใส่เหยื่อประมาณ ๓๐๐ กรัม (๓ ทัพพี) ทุกครั้ง
๓. การใช้ยาประเภทออกฤทธิ์ช้า จะต้องวางเหยื่อติดต่อกันตลอดกาลเพาะปลูก ห้ามหยุดให้เหยื่อโดยเด็ดขาด เพราะหากหนูได้กินยาเบื่อบ้างไม่ได้กินบ้างจะทำให้หนูไม่ตายและมีความต้านทานยาเกิดขึ้น

ข้อควรจำ
๑. ห้ามใช้ยาประเภทออกฤทธิ์เร็วผสมกับประเภทออกฤทธิ์ช้า แล้วผสมกับเหยื่อโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้หนูเข็ดยาทั้งสองชนิดทำให้เกิดปัญหาที่จะต้องหาตัวยาอย่างอื่นมาใช้ภายหลัง

๒. การผสมจะต้องผสมให้ถูกอัตราส่วนที่แนะนำทุกครั้ง เช่นยาประเภทออกฤทธิ์ช้า ถ้าผสมยามากเกินไปจะทำให้หนูเข็ดไม่กินเหยื่อ แต่ถ้าผสมน้อยไปหนูจะไม่ตายและเกิดความต้านทานยาภายหลัง

๓. การใช้ยาประเภทออกฤทธิ์ช้า จะต้องแน่ใจว่ามียามากพอที่จะใช้ได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก

๔. การใช้ยาประเภทออกฤทธิ์ช้า จะต้องวางเหยื่อในที่ใส่เหยื่อ ถ้าวางกับพื้นดินจะทำให้ถูกความชื้นยาเสื่อมคุณภาพ ทำให้เสียเวลาแรงงานและยาโดยไม่ได้อะไรขึ้นมา

๕. ห้ามนำยาประเภทออกฤทธิ์เร็วมาใส่ในที่ใส่เหยื่อ เพราะยาประเภทนี้จะทำให้หนูเข็ดยา และจะทำให้หนูเข็ดที่ใส่เหยื่อด้วย ภายหลังเมื่อใส่ยาเบื่อประเภทออกฤทธิ์ช้าหนูก็จะไม่มากินเหยื่อ

ข้อควรระวัง
๑. เก็บยาเบื่อไว้ในที่มิดชิด ควรมีป้ายติดภาชนะที่ใส่ และบอกด้วยว่าเป็นยาอันตราย

๒. อย่าให้มือ หรือส่วนใดของร่างกายถูกยาเบื่อ

๓. ระหว่างปฏิบัติงาน ห้ามรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่

๔. การใช้แก๊สพิษ ควรระวังอย่าให้ฟุ้งเข้าหาตัว ควรใช้ผ้าปิดปาก จมูก

๕. หลังปฏิบัติงานควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด

๖. เมื่อมีอาการผิดปกติทางร่างกาย จากยาเบื่อประเภทออกฤทธิ์เร็ว ควรเอานิ้วล้วงคอให้อาเจียน หรือดื่มน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น แล้วรีบไปหาหมอ หากเกิดจากยาประเภทออกฤทธิ์ช้า ซึ่งจะทำให้เลือดซึมออกตามผิวหนัง และช่องเปิดอื่นๆ เช่น หู ตา จมูก ปาก ฯลฯ ไหลไม่หยุดควรแก้ด้วยการกินยาวิตามินเค ซึ่งช่วยทำให้เลือดแข็งตัว หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หากผิดปกติมากต้องรีบไปหาหมอเช่นกัน

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี