พิธีศพ

Socail Like & Share

มีพิธีต่างๆ เกี่ยวกับศพดังต่อไปนี้
บอกหนทาง
ผู้ที่นอนป่วยหนักกำลังจะสิ้นใจ แต่หูตายังไม่ดับหรือมีอาการดิ้นทุรนทุราย บุตรธิดาหรือญาติผู้ใหญ่จะจัดดอกไม้ธูปเทียนบรรจุในกรวยใบตองให้ผู้ป่วยหนักถือประนมมือไว้ บางทานก็รีบนิมนต์พระ
สงฆ์มาสวดหรือนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ใกล้ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยหนักระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย จะได้ตายอย่างสงบ ทั้งนี้ก็ด้วยมีเรื่องเล่ากันมาว่า มีนายพรานผู้หนึ่งได้ประกอบปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาตลอด ครั้นป่วยหนักใกล้จะสิ้นใจ หลับตาลงก็เห็นแต่สัตว์นานาชนิดที่เคยฆ่ามาหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา จึงบอกบุตรชายซึ่งบวชเป็นพระภิกษุและกำลังพยาบาลอยู่ใกล้ๆ ขอให้ช่วย พระภิกษุบุตรชาย ซึ่งบอกว่าโยมได้ประกอบกรรมไว้มาก จึงจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือบิดา แล้วบอกว่า “โยมจงดูดอกไม้ ธูปเทียนเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัยเถิด” นายพรานผู้บิดาก็ทำตาม ก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธามีจิตเป็นกุศล ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้ยึดถือสืบต่อกันมา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งครั้งสุดท้าย บางท่านแนะนำให้ผู้ป่วยหนักกล่าวคำว่า “พระอรหัง ๆ” หรือ “พุทโธๆ” ถ้าผู้ป่วยหนักกล่าวไม่ได้ ผู้พยาบาลหรือญาติผู้ใหญ่ก็จะกล่าวดังๆ ให้ผู้ป่วยได้ยิน เพื่อจะได้ภาวนาและยึดพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เป็นการบรรเทาทุกขเวทนาให้ทุเลาลง หากผู้ที่ป่วยหนักตายในขณะนั้นก็ถือว่าได้ไปเกิดในสวรรค์ ดังนั้น เวลาที่จะมัดศพ เขาจึงจัดกรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือเพื่อที่จะได้ไปไหว้พระจุฬามณีในสวรรค์อีกด้วยพิธีศพ

ในสมัยโบราณ เมื่อผู้ป่วยหนักสิ้นลมหายใจลงแล้ว ถือกันว่าจิตหยั่งลงสู่ภวังค์ยังไม่ตายสนิท ทุกคนต้องอยู่ไนความเงียบ เพราะเกรงดวงจิตจะไม่แน่วแน่ นอกจากนั้นเขาจะใช้เทียนขี้ผึ้งหนักบาทหนึ่ง มีไส้ ๗ อัน จุดตามไว้จนเทียนไหม้หมดเล่ม จึงจะถือว่าตายแน่

อาบน้ำศพ
การอาบนํ้าศพเป็นเรื่องที่ลูกหลานควรทำกันเองเพื่อไม่ให้เป็นที่บัดสีแกศพ เมื่อสนมหรือสปเหร่อมา ก็เพียงแต่ตราสังและห่อศพเท่านั้น ถ้าเป็นการตายชนิดตายโหง เช่น ฆ่าตัวตาย ตกต้นไม้ตาย หรือตกนํ้าตาย ฯลฯ ไม่มีการอาบนํ้าศพผู้ตาย ไม่ตราสัง ถ้าป่วยเจ็บเป็นโรคตายตามปกติจึงมีการอาบน้ำศพ

การอาบน้ำศพนี้ ลัทธิพราหมณ์ถือว่าเพื่อล้างบาปให้ผู้ตาย และน้ำในแม่น้ำอจิรวดีล้างบาปได้ จึงไปตักเอามาล้างบาปให้แก่ผู้ที่ป่วยหนักใกล้จะตายหรือเมื่อตายแล้ว ทางแขกถือว่าการอาบน้ำทาแป้งแต่งตัวให้ศพอย่างหมดจดนั้น เมื่อไปเกิดในชาติใด จะได้มีรูปร่างสวยสดงดงาม เพราะฉะนั้นเวลาอาบน้ำศพ เขาจึงขัดสี รีดท้อง ชำระสิ่งโสโครกออกให้หมด ส่วนชาวไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาก็มีการอาบนํ้าและชำระศพให้สะอาดเช่นกัน การอาบนํ้าศพต้องอาบด้วยนํ้าร้อน (ซึ่งต้มด้วยหม้อ) เสียก่อน แล้วจึงอาบด้วยนํ้าเย็นชะล้างให้สะอาดหมดจด แล้วเอาขมิ้นสด มะกรูดคั้น เอานํ้าทาทั่วไปตามร่างกาย ตลอดฝ่าเท้า บางรายทานํ้าหอม กระแจะและเครื่องหอมอื่นๆ ตามแต่จะหาได้ด้วย บางทีลูกหลานของผู้ตายจะเอาผ้าขาวสี่เหลี่ยมโตขนาดผ้าเช็ดหน้าซับที่หน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า พิมพ์รูปหน้าและรอยเท้าของผู้ตายเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นของขลังต่อไป

ในการอาบนํ้าศพนั้น ตามคติโบราณของพุทธศาสนิกชนให้ระลึกด้วยคำอันเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทยว่า อิทัง มะตะกะสะรีรัง อุทะกัง วิยะ สิญจิตัง อะโหสิ กัมมัง แปลความว่า ขอให้เวรกรรมที่ผู้ตายกับเราที่ได้ก่อกรรมทำกันไว้นี้ จงเป็นอโหสิกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรมเหมือนนํ้าที่รดลงตรงศพนี้เถิด

รดน้ำศพ
หลังจากที่อาบนํ้าและแต่งตัวศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยกศพขึ้นนอนบนเตียงที่จัดเตรียมไว้ ควรคลุมศพด้วยผ้าแพรแล้วหาผ้าสวยๆ มาคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อกันอุจาดตา แบมือขวาศพยื่นออกไปนอกเตียง หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้าสถานที่ไม่อำนวยจะหันศีรษะไปทางทิศอื่นที่เหมาะสมกับสถานที่ก็ได้ หาหมอนเล็กๆ สำหรับรองมือศพหนึ่งใบ และจัดภาชนะสำหรับรองนํ้าที่รดด้วยนํ้ารดศพใช้นํ้าหอมไทย หลังจากแขกผู้มีเกียรติและญาติมิตรรดนํ้าเสร็จแล้ว ก็เตรียมศพใส่โลงเพื่อสวด
พระอภิธรรมในเวลากลางคืนต่อไป ผู้ที่รดนํ้าศพนั้นควรจะกล่าวคำอันเป็นคตินิยมของพุทธศาสนิกชน จะว่าเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย หรือจะกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ว่า

“อิทัง มะตะกะสะรีรัง อุทะกัง วิยะ สิญจิตัง อะโหสิ กัมมัง” คำแปล “ขอให้เวรกรรมที่ผู้ตายกับเรา ที่ได้ก่อกรรมทำกันไว้นี้ จงเป็นอโหสิกรรม สิ้นเวรสิ้นกรรมกัน เหมือนนํ้าที่รดลงตรงศพนี้เถิด”

อนึ่ง เวลาไหว้ศพ ตามคติโบราณท่านให้กล่าวว่า “เอวัง มะยา มะริตัพพัง” แปลว่า “ไม่ใช่ตายแต่เขา แม้แต่เราก็ต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน”

แต่งตัวศพ    
ก. หวีผมศพ
การหวีผมศพ ต้องหวีไม่ให้เหมือนกับคนธรรมดาสามัญ ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติกันมา มักไม่เหมือนกัน บางท่านว่า ต้องหวี ๓ หนเท่านั้น บางท่านก็ว่า ต้องหวีผมกลับไปข้างหน้าซีกหนึ่ง หวีไปข้างหลังอีกซีกหนึ่ง การที่หวีไปข้างหน้าและข้างหลังนี้ อธิบายว่า หวีสำหรับคนตายครึ่งหนึ่ง และหวีสำหรับคนที่เกิดครึ่งหนึ่ง เมื่อหวีผมศพเสร็จแล้วต้องหักหวีออกเป็น ๒ ท่อน แล้วขว้างทิ้งไป บางท้องที่หักหวีออกเป็น ๓ ท่อน แล้วกล่าวคำว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหวีลงอย่างเดียว ห้ามหวีขึ้นอย่างเด็ดขาด เมื่อหวีแล้วหักหวีออกเป็น ๒ ท่อนแล้วทิ้งเลย

อนึ่ง การหวีผมศพนี้ บางท่านว่าควรให้ลูกชายคนโตเป็นผู้หวี แต่ถ้าไม่มีก็ให้ทายาทของผู้ตายเป็นผู้หวีก็ได้

ข. นุ่งผ้าและสวมเสื้อศพ
การนุ่งผ้าและสวมเสื้อศพนั้น ต้องนุ่งห่มเป็นพิเศษมิให้เหมือนกับคนธรรมดาสามัญ ใช้ผ้าขาวนุ่งชั้นแรก เอาชายพกไปไว้ข้างหลัง แล้วเอาเสื้อสวมทับอีกขั้นหนึ่ง เอาทางด้านหน้าที่มีดุมไว้ข้างหน้าแบบคนธรรมดา แล้วใช้เข็มเย็บเนาเป็นตะเข็บตั้งแต่แขนไปหาเอวทั้งสองข้าง การที่ต้องแต่งตัวศพไม่ให้เหมือนกับคนธรรมดานั้นกล่าวกันว่า สำหรับแต่งตัวให้คนที่ตายแล้ว เสร็จแล้วใช้เสื้อผ้านุ่งทับอีกขั้นหนึ่ง นุ่งผ้าและสวมเสื้อตามปกติแบบคนเป็น คือ เอาด้านดุมไว้ข้างหน้า ถ้าใช้ผ้านุ่งก็เอาชายพกไว้ข้างหน้า หมายความว่า เเต่งตัวสำหรับไปเกิดใหม่ การที่นุ่งผ้าและสวมเสื้อแก่ศพกลับกันกับคนธรรมดาสามัญ นั้นบางท่านอธิบายว่า ที่ทำเช่นนั้นเพื่อให้เป็นข้อพิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาย่อมเกิดทิฐิและตายด้วยทิฐิ มีอวิชชาปิดหน้าปิดหลัง มีตัณหาเกี่ยวพันกันประดุจดังเรียวไม้ไผ่

อนึ่ง การนุ่งผ้าและสวมเสื้อแก่ศพนั้น บางทีก็ใช้ผ้าธรรมดาที่นุ่งห่มกัน ไม่ใช้ผ้าขาวแบบแต่ก่อน ในปัจจุบัน หลังจากที่อาบนํ้าและชำระศพจนสะอาดแล้ว ก็แต่งตัวนุ่งผ้าและสวมเสื้ออย่างปกติเพียงชั้นเดียว แล้วนำศพไปวางนอนบนเตียง เพื่อเตรียมรดนํ้าต่อไป

ค. เงินใส่ปากศพ
การนำเงินใส่ปากศพ แต่ก่อนใช้เงินพดด้วงหรือเงินเหรียญบาท ถ้าเป็นคนมั่งมีอาจใช้ของมีค่า เช่น แหวนทอง ก็ได้ ห่อผ้าขาวผูกเชือกให้หางเชือกยาวออกมานอกปาก เพราะเวลาเผาจะได้ดึงออกได้ แล้วเก็บไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นเครื่องรางแล้วแต่จะยึดถือกัน การใส่จะใช้เงินหรือทองก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ราคาทองแพงมากคงไม่มีใครใส่

กล่าวกันว่า เงินที่ใส่ปากศพ เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำศพไปเผา ผู้เขียนเข้าใจว่าใส่ไว้ให้สัปเหร่อเพื่อเป็นสินน้ำใจนอกเหนือจากค่าจ้าง เพราะศพที่เก็บไว้ในสมัยก่อนบางทีเมื่อจะเผา เขาไม่ได้เคลื่อนศพมาเผาได้เลย เขาจะรูดเนื้อออก เหลือแต่กระดูกห่อไปเผา เพราะฉะนั้นควรมีรางวัลที่สัปเหร่อจัดการกับศพให้ และในสมัยก่อน เงิน ๑ บาทก็มีค่ามาก อีกประการหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ตายจะได้เอาทรัพย์นั้นติดตัวไปใช้สอยในเมืองผี

โดยนัยแล้ว การเอาเงินใส่ปากให้ เพื่อเป็นทางพิจารณาว่า บรรดาทรัพย์สมบัติที่ผู้ตายสะสมไว้ แม้จะมากสักเพียงไร ครั้นตายแล้วก็ทิ้งหมด เขาใส่ปากไปให้แต่เพียงบาทเดียวยังเอาไปไม่ได้ ต้องตกเป็นของผู้อื่นไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่อย่าลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ยอมตนเป็นทาสของเงิน จนกระทั่งขวนขวายหาทรัพย์มาในทางไม่สุจริตแล้วก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น สิ่งที่จะติดตัวไปได้มีแต่กรรมที่ตนทำไว้ คือ บุญกับบาปที่ติดตัวไปประดุจเงา อันจะส่งผลให้ได้รับสุขหรือทุกข์ตามกำลังที่ตนได้กระทำไว้

ง. หมากใส่ปากศพ
หมากใส่ปากศพ ผู้ตายที่กินหมาก เมื่อใส่เงินบาทลงไปแล้ว ถ้าผู้ตายมีฟันพอเคี้ยวได้ก็ใส่หมากเจียนคำหนึ่งกับพลูจีบหนึ่ง หักใส่ลงไปด้วยกัน ถ้าคนแก่ที่ตายมีฟันไม่สมบูรณ์ ก็ใช้หมากตำละเอียดคำหนึ่งใส่ปากไว้ ทั้งนี้ก็เพราะผู้ตายเคยชอบอย่างไรก็ใส่ปากให้พอเป็นธรรมเนียมเท่านั้น

จ. ปิดหน้าศพ หรือปิดปากปิดตาศพ
เมื่อตราสังศพเสร็จแล้ว สมัยก่อนสัปเหร่อจะนำขี้ผึ้งชนิดขี้ผึ้งแข็งมาแผ่ออกเป็นแผ่นกว้างยาวขนาดใบหน้าของศพ แผ่ปิดหน้าดังปิดด้วยหน้ากาก บางทีก็ปิดเฉพาะที่ตาและปาก ถ้าเป็นคนมั่งมี บางคนใช้ทองคำแผ่เป็นหน้ากากปิดหน้า เมื่อเผาแล้วก็เอาทองนี้สร้างพระเป็นการกุศล บางทีใช้ปิดด้วยทองคำเปลวปนขี้ผึ้ง คงจะย่อมาจากการปิดด้วยแผ่นทองคำตามฐานะของเจ้าภาพ พิธีนี้ทำกันแต่บางราย ไม่ได้ทำกันทั่วไป การที่ใช้ขี้ผึ้งหรือทองคำปิดหน้าศพนี้ กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันความอุจาด เพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลง อ้าปากลิ้นแลบออกมา จึงได้มีทองและขี้ผึ้งปิดไว้

ถ้ากล่าวเป็นปัญหาธรรมแสดงว่า ตากับปากนี้เป็นช่องทางให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ตาเห็นรูป  ทำให้เกิดกำหนัด หลงรัก หลงชัง เป็นเหตุให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ส่วนปากนั้นพูดปด ล่อลวง ส่อเสียดยุยง พูดคำหยาบ ด่าแช่ง และคำเพ้อเจ้อ จึงปิดมันเสีย อย่าให้อศุลกรรมเหล่านี้เข้ามา ทางตาทางปากได้ ใช่จะสังวรแต่ตาแต่ปากเท่านี้ แม้อายตนะทั้ง ๖ ก็ควรสังวรเช่นเดียวกัน

ฉ.กรวยดอกไม้ธูปเทียน
กรวยดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้ธูปเทียนนี้ ประกอบด้วย ธูป ๑ ดอก เทียน ๑ ดอก ดอกไม้ ๑ ช่อ หรือจะใช้ดอกบัว ๑ ดอกก็ได้ ใส่ในกรวยใบตองให้ศพประนมมือถือไว้ การที่ให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนนี้ก็เพื่อจะได้ถือไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตราสัง
เป็นวิธีการมัดศพคนตายแล้ว ซึ่งลูกหลานและผู้ใกล้ชิดมักจะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจดเสียก่อน ต่อจากนั้นก็มัดและห่อศพ การมัดศพนั้นใช้ด้ายดิบเส้นโตขนาดนิ้วก้อยมัดเป็น ๓ เปลาะหรือ ๓ บ่วง เปลาะแรกเอาเชือกทำบ่วงสวมคอ บ่วงที่ ๒ รัดรอบหัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้างให้ประนมไว้ที่หน้าอก บ่วงที่ ๓ รัดรอบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้งสองข้างให้ติดกันซึ่งเรียกกันว่า “ตราสัง” การที่มัดเช่นนี้เพื่อกันไม่ให้ศพเบ่งขยายดันโลงทั้งสองข้างให้แตกหรือแยกออก ทำให้น้ำเหลืองรั่วไหลออกมา

เหตุที่ทำบ่วงผูกไว้เป็น ๓ บ่วงนั้น มีความหมายผูกเป็นคาถาว่า “ปุตโต คีวัง ธะนัง ปาเท ภริยา หัตเถ” ดังโคลงโลกนิติ บทที่ ๑๓๙
มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว        พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ        หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ        รึงรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้        จึ่งพ้นสงสาร

บางท่านใช้กลับกันว่า “ปุตโต คีวัง ธะนัง หัตเถ ภริยา ปาเท” ปุตโต คีวัง (คีเว ก็มี) ห่วงลูกผูกคอ (ลูกเป็นห่วงผูกคอ) ธะนัง หัตเถ ห่วงทรัพย์ผูกมือ (ทรัพย์เป็นห่วงผูกมือ) ภริยา ปาเท ห่วงคู่ผูกเท้า (ภริยา-สามี เป็นห่วงผูกเท้า) แล้วเอากรวยบรรจุดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือ สมัยก่อนกินหมากพลูก็มีหมากพลูด้วย

เสร็จแล้วห่อด้วยผ้าขาวยาวสองทบ ห่อตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้าให้มิดทั้งตัว ชายผ้าทั้งสองอยู่ทางศีรษะสำหรับขมวดเป็นก้นหอย มัดตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาเป็นเปลาะๆ ด้วยด้ายดิบโตขนาดนิ้วมือ เพื่อกันไม่ให้ขาดเวลาที่ศพเบ่งขึ้น แล้วมารัดกับชายผ้าที่ขมวดเป็นก้นหอยบนศีรษะให้แน่น แล้วเหลือชายเส้นด้ายที่มัดนั้นปล่อยออกมานอกโลงพอควร เพื่อผูกผ้าโยงให้พระบังสุกุลจะได้แล่นเข้าไปถึงตัว

อธิบายเหตุตราสังชนิดปริศนาธรรมว่า ห่วง ๓ อย่างนี้ ย่อมผูกมัดสัตว์โลกไม่ให้หลุดพันจากห้วงแห่งสังสารวัฏ ต่อเมื่อตัดบ่วงเหล่านี้ขาดจึงจะพ้นทุกข์ได้

โลงและการเบิกโลง

ก.โลง คือ ที่บรรจุศพ ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีเลื่อยใช้ ช่างจะนำไม้ทั้งท่อนมาขุดทำเป็นราง แล้วใช้ไม้อุดหัวอุดท้ายอีกทีหนึ่ง ต่อมามีเลื่อยใช้แล้ว จึงได้เลื่อยไม้ออกเป็นแผ่นกระดานแล้วใช้ไม้หลายแผ่นประกอบกันเป็นโลง เรียกว่า หีบศพ ไม้ที่นำมาใช้ในการต่อโลง ได้แก่ไม้งิ้ว หรือไม้อุโลก ใช้ต่อโลงสำหรับผู้ที่ป่วยตายตามปกติ ส่วนศพที่ตายไม่บริสุทธิ์ เช่น ตายโหง มักจะบรรจุโลงที่ต่อด้วยไม้สัก มีคำพูดเด็กๆ ที่มักจะร้องเล่นกันว่า “ผีตายโหงไว้โลงไม้สัก” การที่นิยมโลงไม้สักนั้น ก็คงจะมุ่ง ประโยชน์ที่ทนทานและแข็งแรง ถ้าจะเอาลงฝังดินก็ไม่ผุง่าย แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้โลงไม้สักหรือโลงไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งมีผู้ต่อสำเร็จไว้ขายตามร้านทั่วๆ ไป นับว่าสะดวกดี

ข. การเบิกโลง เมื่อเจ้าภาพจัดหาโลงศพมาแล้ว สัปเหร่อจะเป็นผู้ทำพิธีเบิกโลงตามธรรมเนียม คือ เอาไม้ไผ่มาเกรียกโตขนาดเท่านิ้วก้อย เกรียกหนึ่งผ่าปลายข้างหนึ่งไว้สำหรับไว้คาบกับปากโลง แล้วผ่าปลายอีกข้างหนึ่งสำหรับคาบด้ายสายสิญจน์ ไม้ไผ่ดังกล่าวใช้ ๘ อัน เรียกว่าไม้ปากกา ทางเจ้าภาพต้องจัดหากระทงเล็กๆ สำหรับใส่กุ้งพล่าปลายำ ๘ กระทง หรือจะใช้อาหารอย่างอื่นตามท้องถิ่นก็ได้ มีเทียนเล่มเล็กๆ ๙ เล่ม (สำหรับทำนํ้ามนต์ ๑ เล่ม ใช้ติดปากโลงอีก ๘ เล่ม) ด้าสายสิญจน์ ๑ กลุ่ม นํ้าสำหรับทำนํ้ามนต์ ๑ ขัน กับเงินอีก ๖ สลึง สัปเหร่อคนหนึ่งจะใช้ไม้ปากกาที่เตรียมไว้คีบเข้ากับปากโลงเคียงกับไม้ปากกานั้นจนครบ ๘ กระทง แล้วจุดเทียนที่ติดปากโลงทั้ง ๘ เล่ม สัปเหร่ออีกคนหนึ่งจะตั้งพิธีทำนํ้ามนต์ธรณีสารว่าคาถา “สีโรเม พุทฺธเทวญฺจ….ปสิทธิเม” เมื่อเสร็จก็วักน้ำมนต์ในขันขึ้นเสยผม ๓ ครั้ง แล้วหยิบขันนํ้ามนต์ไปพรมที่โลงพร้อมทั้งวักนํ้ามนต์ในขันเสยผมไปด้วย สัปเหร่อ คนหนึ่งจะหยิบเทียนที่จุดปากโลงเล่มหนึ่งมาจุดด้ายสายสิญจน์ระหว่างช่องปากกานั้นให้ไหม้ขาดจากกันทุกช่อง เว้นไว้แต่ช่องด้านสกัดด้านหนึ่งซึ่งจะกำหนดให้ เช่น หัวโลง แล้วสัปเหร่อคนที่พรมน้ำมนต์เสร็จแล้วนั้น ในมือถือพร้าโต้มากดลงที่ด้ายสายสิญจน์ระหว่างกลางโลง ปากบริกรรมคาถาว่า “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ สงฺฆํ ปจฺจกฺขามิ” ๓ ครั้ง แล้วก็ร้องถามขึ้นว่า “โลงของใคร” เจ้าภาพต้องร้องตอบไปว่า เป็นโลงของผู้นั้น (ออกชื่อผู้ตาย) สัปเหร่อผู้ถือพร้าโต้ก็จะสับด้ายสายสิญจน์ลงกับปากโลง ๓ ที โดยสับลงตรงกลางก่อน แล้วสับข้างซ้ายและข้างขวา กะระยะให้ห่างกันประมาณหนึ่งนิ้ว สับให้ด้ายสายสิญจน์ขาด แล้วล้มปากกาและเทียนที่จุดไว้ปากโลงลงในโลงให้หมด โยนกระทงกุ้งพล่า ปลายำทิ้งไป ก็เป็นอันเสร็จพิธีเบิกโลง

เครื่องประกอบโลง
โลงที่จะบรรจุศพ เมื่อทำการเบิกโลงเสร็จแล้ว จะต้องมีสิ่งประกอบดังนี้

ก. ฟากหรือเฝือก ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดกว้างประมาณ ๕ เซ็นติเมตร ยาวพอขนาดที่จะนำลงโลงได้ จำนวน ๗ อัน เกลาข้อและลบเหลี่ยมพอเรียบๆ กักด้วยหวายให้เรียงติดกันเป็นผืน เอาทางผิวไม้ขึ้นข้างบน แล้วมัดติดกันกับกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งวางขวางทำเป็นหมอนเท่าขนาดความกว้างของโลงเป็น ๓ ระยะ เพื่อกันมิให้ศพวางลงกับพื้นโลง และเพื่อให้เกิดช่องว่างสำหรับบรรจุเครื่องซับนํ้าเหลืองข้างใต้ฟากหรือเฝือกนั้นได้ การที่โบราณให้มีการวางเฝือกนี้เพื่อประโยชน์ ๒ ประการ คือ เวลาจะยกศพออกจากโลงย่อมสะดวก และเวลาเผาไฟจะได้ลอดขึ้นตามซี่เฝือกนั้น ทำให้เผาศพไหม้ได้รวดเร็ว ในปัจจุบันโลงศพนี้จีนต่อขายตามร้าน ฟากหรือเฝือกใช้ไม้นอก ความกว้างราว ๓ เซ็นติเมตร ตีตะปูติด กับไม้หมอนห่างๆ เพียง ๔ ซี่บ้าง ๕ ซี่บ้าง ไม่เป็นกำหนดแน่นอน แล้วแต่ทางร้านจะกำหนดขึ้นเอง ส่วนศพอนาถาไม่มีเงินจะซื้อโลง ก่อนจะนำไปเผาหรือฝังสดๆ สัปเหร่อจะใช้ผ้าห่มนอนห่อพันศพเข้าแล้วห่อด้วยเฝือกไม้ไผ่ ๗ ซี่อีกทีหนึ่ง แล้วหามไปวัดโดยไม่ต้องใช้โลง จึงมีคำพูดติดปากมาแต่โบราณว่า  “ไม่พ้นนอนเฝือก ๗ ซี่” ซึ่งมีความหมายว่า “ถึงจะถือเนื้อไว้ตัวว่าเป็นคนมั่งมี มียศอำนาจวาสนาอย่างไรก็ตาม ก็คงไม่พ้นนอนเฝือก ๗ ซี่ไปได้ คือ หลังจากที่ตายไปแล้ว ถึงจะยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องนอนเฝือก ๗ ซี่ ที่รองก้นโลงเหมือนกัน

ข. ใบตองตานี ๓ ยอด เมื่อวางเฝือกหรือฟากลงไปในโลงแล้ว ต้องหาใบตองตานี ๓ ยอด มาวางลงบนเฝือกหรือฟาก แล้วปูเสื่อหรือที่นอนลงบนใบตองอีกทีหนึ่ง ให้มีพร้อมทั้งหมอนหนุน แล้วยกศพวางตะแคงในโลง พร้อมทั้งบรรจุเครื่องซับนํ้าเหลืองและเครื่องดับกลิ่นเหม็น เช่น ปูนขาว ใบชา ขมิ้นผง ใบสาเก ใบฝรั่ง ใบบัวหลวง เถ้าแกลบ กระดาษฟาง เป็นต้น บางท้องที่ใช้ผลฝรั่งสุกวางไว้บนโลง เพราะเชื่อว่าฝรั่งสุกสามารถดูดกลิ่นเหม็นเข้าไปไว้ได้

การที่ต้องปูใบตองตานีไว้ก็เพื่อรองรับนํ้าเหลืองไม่ให้ไหลตกไปถึงก้นโลงได้ง่าย การที่ต้องใช้ยอดตอง ๓ ยอดนั้น ยังไม่พบอธิบายว่าเพื่ออะไร บางท่านอธิบายว่า การที่ปูใบตอง ๓ ยอด ต้องปูตามยาว ๒ ข้างๆ ละยอด และปูทาบตรงกลางอีกยอดหนึ่ง ก็พอดีกับพื้นที่ของโลง ถ้าจะใช้ใบตองน้อยกว่านี้ก็จะไม่พอกับพื้นที่ หรือถ้ามากกว่านี้ก็จะมากไป เกินความจำเป็น อนึ่ง การที่ต้องตัดใบตองไม่ไว้หูนั้นก็ด้วยเกรงว่า เมื่อตัดไว้หูแล้วจะเหลือหางของใบตองสั้นกว่าความยาวของโลงจะปิดพื้นที่ว่างในโลงไม่มิดนั่นเอง

ค. บันไดวางหลังโลง ใช้ไม่ไผ่จักออกแล้วนำมาผูกให้เหมือนขั้นบันได ขนาดความยาวและความกว้างเท่ากับปากโลง ส่วนการทำขั้นบันได บางท่านว่ามี ๓ ขั้น ถ้าจะอธิบายเป็นปัญหาธรรม ก็หมายถึง ภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ บางตำราว่าเกี่ยวกับปริศนาธรรม คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อันเป็นเรื่องของชีวิตที่ตกอยูในอนิจจลักษณะ ซึ่งสัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดไม่ รู้ขาด ดุจคนขึ้นบันไดฉะนั้น การทำขั้นบันได บางท่านว่าต้องทำ ๔ ขั้น ดังที่มีคำพูดติดปากว่า “ขั้นคู่บันไดผี ขั้นคี่บันไดคน” ดังนี้ การจักไม่ไผ่เป็น ๔ ขั้น เรียกว่า บันไดผีนี้ กล่าวกันว่าเพื่อให้ผู้ตายพาดขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การทำบันได ๔ ขั้น ยังไม่พบที่มา น่าจะหมายถึง อริยสัจ ๔ ซึ่งจะเป็นทางหรือบันไดให้หลุดพ้นจากภพทั้งสาม ในปัจจุบันสัปเหร่อบางวัดก็ไม่ทำบันได วางหลังโลงกันแล้ว คงใช้เครื่องประกอบโลงเพียง ๒ อย่าง คือ ฟากหรือเฝือก และใบตองตานี ๓ ยอดเท่านั้น ส่วนบางแห่งทำบันไดไว้ปากหีบศพข้างในก็มี

ตั้งศพ
เมื่อบรรจุศพลงในโลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะตั้งศพไว้ที่บ้านเพื่อบำเพ็ญกุศลก่อนก็ดี จะนำไปตั้งก่ออิฐถือปูนไว้หรือฝังไว้ก็ดี หรือจะนำไปตั้งบนเชิงตะกอนเพื่อเตรียมเผาก็ดี ถือกันว่าต้องหันศีรษะศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ แต่ถ้าไม่สามารถตั้งศพให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกได้ ก็ให้หันศีรษะของศพไปทางทิศใต้ แต่ไม่ตั้งหันศีรษะศพไปทางตะวันออกหรือทิศเหนือ การที่ต้องหันศีรษะศพไปทางทิศตะวันตกนี้ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งพระอิศวรประกอบพิธีโกนจุกพระพิเนต (พระพิฆเณศ) ไม่ได้เชิญพระอังคารมาร่วมในพิธี พระอังคารโกรธ บันดาลให้มีดไปตัดเศียรพระพิเนตไปทิ้งในแม่นํ้า พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้พระเพชฉลูกรรม์ (พระวิศวกรรม) ไปเอาศีรษะมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน ที่นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกมาต่อ ปรากฏว่าไปพบช้างนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จึงตัดหัวช้างมาถวายพระอิศวร พระพิเนตจึงมีเศียรเป็นช้าง

ดังนั้น คนเราจึงไม่นิยมหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แม้แต่ทิศใต้ก็ไม่นิยมเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นเสนียดจัญไร การตั้งศพจึงต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก แต่ถ้ามีความจำเป็นจะตั้งหันศพไปทางทิศตะวันตกไม่ได้ ก็ให้หันศีรษะไปทางทิศใต้

ตามไฟหน้าศพ
คนที่สิ้นลมหายใจแล้ว เขาจะใช้ผ้าคลุมตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าให้มิดไม่ให้เห็นหน้าตา ผู้ที่ตาย ในตอนบ่ายหรือเย็นซึ่งบรรจุศพไม่ทันในวันนั้น หรือบรรจุลงโลงแล้วตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เขาจะตามไฟศพไว้ทางปลายเท้า ในสมัยก่อนไฟที่จุดใช้กะลามะพร้าวพร้อมทั้งเนื้อซีกหนึ่ง ใส่น้ำมันมะพร้าวบางทีใส่เกลือด้วย ใช้นมไม้ทองหลางร้อยด้ายดิบเป็นไส้ มีภาชนะบรรจุข้าวเปลือกรองรับตะเกียงกะลามะพร้าวอีกทีหนึ่ง คงจะรองรับไว้เพื่อไม่ให้กะลาที่ตั้งโคลงเคลง น้ำมันอาจหกได้ บางตำราแถมหม้อใส่น้ำ ๓ หม้อ ไม้ฟาก ๓ อัน ตั้งและวางไว้ด้วย นอกจากนํ้ามันมะพร้าว จะใช้น้ำมันละหุ่งและนํ้ามันปลาก็ได้ ความประสงค์ต้องการใช้นํ้ามันมะพร้าวมากกว่าอย่างอื่น เพราะนํ้ามันมะพร้าวไม่มีควัน ส่วนที่ใช้อย่างอื่น คงเป็นเรื่องที่สะดวกอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น ในการจัดพระศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เอาขันใส่ข้าวสารปักแว่นติดเทียนไว้แทน แต่เทียนไม่ต้องจุดไฟเพราะมีไฟอื่นแล้ว

ทางภาคอีสานใช้ด้ายดิบเป็นไส้ ฟั่นเป็นเกลียวแล้วทำเป็นตีนกาวางลงกลางภาชนะหรือเอาไส้หญ้าปล้องแทนด้ายดิบก็มี แต่ใช้วางข้างหัวโลง จะวางตรงไหนก็ได้ไม่กำหนด ภาชนะที่ตามไฟของภาคนี้ นอกจากใช้กะลามะพร้าวแล้ว ที่ใช้เปลือกลูกตุมกาหรือกระบอกไม้ไผ่ก็มี ชนบทบางท้องที่ใช้ถ้วยแก้ว โคม หรือตะเกียงสุดแต่สะดวก การตามไฟหน้าศพนี้ทำเป็นประเพณีอยู่หลายชาติ เช่น จีน อินเดีย ก็มีตามไฟเช่นเดียวกัน ในชั้นต้นคงจะใช้กิ่งไม้ใบไม้แห้งสุมเป็นกองจุดไว้ในบริเวณบ้านแล้วจึงมาถึงขั้นใช้ใต้ ใช้น้ำมันจนมาใช้ไฟฟ้า ไฟที่จุดตามไว้นี้ต้องระวังไม่ให้ดับ ถ้าดับต้องจุดใหม่ทันที

เหตุที่ต้องตามไฟหน้าศพ ในชั้นเดิมคงจะเกิดความหวาดกลัว พอตกกลางคืนมืด ผู้ที่เฝ้าศพคงจะเกิดกลัวผีจึงต้องจุดไฟไว้ให้สว่าง ถ้าจะอธิบายชนิดปริศนาธรรมก็ว่า มนุษย์นั้นมี ๔ จำพวก พวกที่หนึ่ง มาสว่างไปสว่าง คือพวกที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เลื่อมใสนับถือประพฤติและปฏิบัติตนในทางที่ชอบตามคำสั่งสอนของพระศาสนา คนจำพวกนี้รุ่งเรืองทั้งภพนี้และภพหน้า จึงได้ชื่อว่ามาสว่างไปสว่าง

พวกที่สองมาสว่างไปมืด คือพวกที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา อันนับว่าพบแสงสว่างแล้วแต่ไม่เลื่อมใส ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ ประพฤติกาย วาจา ใจ ทุจริต เมื่อละจากโลกนี้ก็จะต้อง ไปสู่ทุคติ จึงได้ชื่อว่า มาสว่างไปมืด

พวกที่สาม มามืดไปสว่าง คือคนจำพวกที่เกิดมาในพวกมิจฉาทิฐิ ไม่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ตนกลับเป็นคนสัมมาทิฐินับถือพระพุทธศาสนา ประพฤติและปฏิบัติตนในทางที่ชอบ คนจำพวกนี้ได้ชื่อว่ามามืดไปสว่าง

พวกที่สี่ มามืดไปมืด คือคนจำพวกที่เกิดมาในพวกมิจฉาทิฐิ ทั้งตนก็เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ชอบ คนจำพวกนี้เรียกว่า มามืดไปมืด

อีกนัยหนึ่งเป็นปัญหาธรรมเตือนสติผู้ยังมีชีวิตอยู่ ให้ดำเนินชีวิตไปในทางสว่าง คนจะเกิดมาสว่างหรือมืดก็ดี ขอให้ไปสว่าง คือเกิดมาแล้วให้รู้จักบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ประพฤติกาย วาจา ใจ ในทางสัมมาปฏิบัติ

การที่โบราณใช้มะพร้าวซีกเติมน้ำมันมะพร้าว บางทีใส่เกลือด้วย เป็นตะเกียงตั้งไว้บนภาชนะ บรรจุข้าวเปลือก เป็นปัญหาธรรมว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นของบริสุทธิ์ ไม่มีควัน ดุจคนที่ปราศจากกิเลส ส่วนเกลือเปรียบด้วยบาปอกุศลเป็นคนละอย่าง ปนเคล้าเข้ากันไม่ได้ เปรียบบุญบาปเหมือนนํ้ามันกับน้ำ ย่อมเข้ากันไม่ได้ เช่นเดียวกับการทำบาปๆ ก็ส่งผลให้เป็นทุกข์ ทำบุญๆ ก็ส่งผลให้เป็นสุข บุญและบาปย่อมผลัดเปลี่ยนกันให้ผลวนเวียนอยู่ตามที่ตนได้กระทำไว้ การที่บรรจุข้าวเปลือกไว้ในภาชนะ แสดงปัญหาธรรมว่า ใครหว่านข้าวกล้าลงในนาแล้ว ข้าวกล้าย่อมจะงอกขึ้นเป็นต้นข้าว จะได้ผลดีเลวอย่างไรย่อมแล้วแต่ชนิดของพันธุ์ข้าว และพื้นที่นานั้นๆ ข้าวจะไม่กลายเป็นต้นหญ้าได้ฉันใด ถ้าทำบุญไว้บุญจะส่งผลให้ที่จะกลายเป็นบาปย่อมไม่ได้ฉันนั้น

สวดศพ
ในระหว่างที่เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านหรือที่วัดในเวลากลางคืน จะมีพระภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า “สำรับหนึ่ง” มาสวดพระอภิธรรมหน้าศพ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. หรือ ๑๙.๓๐ น. แล้วแต่เจ้าภาพจะกำหนด ก่อนสวดเจ้าภาพต้องจุดธูปเทียน เสร็จแล้วอาราธนาศีล พระภิกษุผู้อาวุโสในจำนวน ๔ รูป เป็นผู้ให้ศีล เมื่อรับศีลจบแล้ว จึงตั้งต้นสวดพระอภิธรรมต่อไป นิยมสวด ๔ จบบางแห่งสวดเพียง ๓ จบก็มี พระภิกษุที่สวดพระอภิธรรมกำหนด ๔ รูปนั้น แต่เดิมเนื่องจากต้องการให้สะดวกแก่เจ้าภาพที่ระถวายสังฆทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น ถ้านิมนต์พระจำนวนหลายรูปก็จะไม่สะดวกแก่เจ้าภาพ จึงเลยถือกันมาจนบัดนี้ว่า พระสวดศพต้อง ๔ รูป

การที่มีสวดพระอภิธรรมหน้าศพนั้น ประสงค์จะสวดให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ฟัง เพื่อจะได้เป็นข้อพิจารณาในมรณสติกรรมฐาน ว่าเกิดมาเป็นสังขารร่างกายแล้ว ก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด ซึ่งทุกคนจะหลีกเลี่ยงหาได้ไม่ ถ้าคิดได้เช่นนี้ก็จะเป็นเครื่องดับความวิปโยคอาลัยรักผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้บ้าง อีกประการหนึ่ง การสวดพระอภิธรรม กล่าวกันว่า เหมือนได้สร้างพระอภิธรรมฉลองคุณมารดาตามประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ จึงนิยมสวดพระอภิธรรมมากกว่าสวดอย่างอื่น

เซ่นศพ
เมื่อมีผู้ตายลง ระหว่าง ๓ วัน นับตั้งแต่วันตายเป็นต้นไป ผู้ที่เป็นเจ้าภาพหรือลูกหลานจะต้องจัดหาข้าว นํ้า พร้อมทั้งกับข้าวใส่สำรับแล้วนำไปตั้งไว้ข้างโลงศพวันละ ๒ เวลา คือ เวลาเช้า และเวลาเย็น เพื่อเป็นการเซ่นศพ เวลาที่จะเซ่นให้ใช้มือเคาะข้างโลง ๓ ครั้ง บอกศพให้รับประทานอาหาร ถ้าผู้ตายเป็นพ่อ ก็ร้องบอกว่า “พ่อกินอาหาร” ถ้าเป็นปู่ก็ร้องว่า “ปู่กินอาหาร” ถ้าเป็นญาติที่เคยเรียก อย่างไรก็บอกอย่างนั้นทุกคราวไป อาหารที่ตั้งเซ่นศพให้ตั้งไว้นานประมาณหนึ่งชั่วโมงจึงจะยกกลับได้

การเซ่นศพนี้ ถือว่า “สิ่งใดมีอยู่ก็ย่อมคงอยู่และจะมีอยู่ต่อไป” ในทำนองเดียวกันแม้ว่าผู้ตายจะตายไปแล้วก็ตาม ขณะที่มีชีวิตอยู่เคยกินอย่างไร เมื่อตายไปแล้วก็คงต้องกินอยู่อย่างนั้น เป็นคติทางไสยศาสตร์
ที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาล การเซ่นศพไม่ใช่มีแต่เฉพาะของไทยแม้ชาวต่างประเทศก็มี พวกฝรั่งอธิบายว่าที่ต้องเซ่นศพเพราะเกรงผีจะโกรธ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องเซ่นศพนี้ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในหมู่ชาวไทยทั่วไป

นำศพออกจากบ้าน
เมื่อจะยกศพลงจากเรือนเพื่อนำไปวัดหรือนำไปยังสถานที่เก็บศพตามประเพณี มีวิธิปฏิบัติดังนี้

ก. ไม่หามศพลอดขื่อ ในสมัยโบราณถือกันว่า ผู้ป่วยนอนตายอยู่ที่ห้องไหน ก็จะตั้งศพบำเพ็ญกุศลในห้องนั้น ไม่ยอมย้ายศพจากห้องที่ตายไปไว้ห้องอื่นเหมือนอย่างที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ การยกศพมีข้อห้ามอยู่หลายประการ เช่น เมื่อยกศพออกจากห้องไปก็ไม่ให้หามลอดขื่อ แต่จะไปออกประตูอีกห้องหนึ่งเพื่อให้พ้นขื่อ บ้านโบราณที่เป็นฝากระดานลูกปะกน ต้องเปิดฝาปะกนออกกระแบะหนึ่งเพื่อยกศพออกทางนั้น มายังระเบียงแล้วหามออกนอกชาน ลงบันไดไปวัดเลยก็มี การที่ห้ามหามศพลอดขื่อนี้ บ้านแต่ก่อนทำขื่อเตี้ย ถ้าหากหามศพลอดขื่อ ศีรษะของผู้ยกหีบศพอาจจะไปถูกขื่อเข้า จึงต้องห้าม และถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ข. ชักฟากสามซี่ตีหม้อน้ำสามใบ ข้อนี้เป็นปริศนาธรรมฟากสามซี่ได้แก่ชาติ การเกิดต้องอาศัยภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ส่วนหม้อน้ำ ๓ ใบนั้น ได้แก่ วัยทั้งสาม คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย เหตุด้วยสัตว์โลกมีเกิดมาจะต้องแตกดับไปในวัยทั้งสาม จะคงอยู่ตลอดไปหาได้ไม่ จึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

ค. ประตูป่า ก่อนที่จะนำศพออกจากบ้านต้องทำประตูป่า คือ เอากิ่งไม้สองกิ่งมาปักไว้บนประตูที่จะนำศพออก ผูกปลายจรดกัน เมื่อยกศพออกไปแล้ว ให้ถอนกิ่งไม้ทิ้งเสีย การที่ต้องทำประตูป่านี้ ก็เพื่อจะไม่ให้ผีกลับมาเรือนได้อีก เพราะเวลาที่ยกศพผ่านไปแล้ว กิ่งไม้ถูกถอนทิ้ง เวลาผีจะกลับมาบ้านเดิมไม่เห็นกิ่งไม้เป็นที่สังเกตก็จะเลยไปที่อื่น ไม่มารบกวนผู้ที่อยู่ต่อไปอีก เรื่องประตูป่านี้บางท่านอธิบายเป็นปัญหาธรรมว่า ประตูป่าช้าใครไปแล้วไม่ได้กลับมาเห็นญาติอีก

ง. ซัดข้าวสาร ขณะที่ยกศพเคลื่อนออกจากบ้านจะไปวัด ต้องซัดข้าวสาร บางทีก็ซัดเกลือด้วย เวลาซัดให้ว่าคาถา “คจฺฉ อมุมฺหิ พุทฺธปัต” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ตายไปผุดไปเกิด จะได้ไม่มารบกวนศพในบ้าน

จ. ไม้ขีดทางที่ไป เวลายกศพจะต้องมีคนคอยขีดทาง เห็นจะทำเครื่องหมายให้คนที่จะตามไปภายหลังได้สังเกตและตามไปหาที่ไว้ศพได้ถูกต้อง เพราะในสมัยโบราณมักจะนำไปไว้ในป่าหรือป่าช้าที่ลึกมาก อยู่ไกลจากบ้านเกรงจะหลงกัน จึงขีดทางทำเครื่องหมายไว้

ฉ. ห้ามไม่ให้หามศพข้ามน้ำข้ามสวน การห้ามข้อนี้ไม่เกี่ยวกับลัทธิหรือศาสนาเลย แต่ที่โบราณเขาห้ามเนื่องจากเจ้าของนาหรือสวนรังเกียจในการที่นำศพผ่านเข้าไปในเขตที่ดินของเขา หรืออีกอย่างหนึ่งก็เกรงว่าจะไปเหยียบต้นข้าวและต้นไม้เขาตาย ครั้นนานเข้าไม่มีใครทราบความเดิมก็เลยถือเป็นประเพณีกันต่อๆ มา อีกอย่างหนึ่งศพก็ถือว่าเป็นอัปมงคล เมื่อผ่านเข้าไปในที่ดินของใครที่ดินนั้นก็จะพลอยเป็นอัปมงคลไปด้วย เขาจึงห้าม

ช. โปรยข้าวตอก เวลาที่หามศพไปตามทาง ต้องจัดให้มีคนโปรยข้าวตอกไปตลอดทางบางรายโปรยข้าวสารแทน ทั้งนี้เป็นปัญหาธรรมว่า ข้าวตอกไม่งอกได้ฉันใด ผู้ที่ตายแล้วก็คงฉันนั้น บางท่านอธิบายว่า ข้อนี้ถือเป็นเคล็ดเพื่อป้องกันมิให้ผีมารบกวนคนที่อยู่บ้าน

วันเผาศพ
การกำหนดวันเผาศพนั้นไม่เหมือนกับการกำหนดวันทำบุญอื่นๆ เพราะมีข้อห้ามไว้ว่าข้างขึ้น ห้ามเผาคู่ ข้างแรมห้ามเผาคี่ ถือเป็นอัปมงคล เรียกว่า “ผีเผาคน” ส่วนข้างขึ้นเผาคี่เรียกว่า “คนเผาผี” โบราณถือกันมาก การนับวันคู่และวันคี่ ให้นับดังนี้คือ ข้างขึ้น นับตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๕ ส่วนข้างแรมนับตั้ง แต่ ๑๖ ถึง ๓๐ ดังนั้น วันแรม ๑ คํ่า จึงเป็นเลข ๑๖ ถือเป็นวันคู่ วันแรม ๒ คํ่า เป็นเลข ๑๗ ถือเป็นวัน คี่ เพื่อให้จดจำได้ง่าย คนโบราณจึงพูดว่า “ข้างขึ้นเผาคี่- ข้างแรมเผาคู่”

การกำหนดวันเผาดังกล่าวข้างต้นนี้ อธิบายเป็นปัญหาธรรมว่า การที่เผาวันคี่ ก็เนื่องมาจากความตายเป็นของเฉพาะตัว ไม่มีใครจะมาตายแทนกันได้ จนมีคำพูดติดปากกันมาว่า “มาคนเดียวไปคนเดียว” ดังนี้เป็นต้น นอกจากการห้ามเผาวันคู่วันคี่แล้ว วันศุกร์ วันพฤหัสบดี และวันพระ โบราณก็ห้าม เพราะวันศุกร์เป็นวันมงคล ไม่ควรทำให้เป็นอวมงคล ถือว่า “เผาผีวันศุกร์ให้ทุกข์แก่ญาติ” ที่ถือเช่นนี้ท่านผู้รู้บางคนอธิบายว่า ในวันศุกร์สัปเหร่อคงจะหยุดงาน ถ้าจะเผาก็คงไม่มีใครทำหน้าที่ให้ จึงงด วันพฤหัสบดีโบราณถือเป็นวันครู ไม่ควรเผาศพ ส่วนวันพระ เป็นวันที่ต้องถือศีล ถ้าเผาในวันนั้นอาจทำให้สัตว์อื่นที่อยู่ในศพต้องพลอยถูกเผาเสียชีวิตไปด้วย ต่อมาในปัจจุบันไม่ค่อยถือกันแล้ว เพราะถือความสะดวกเป็นใหญ่ เผาวันไหนก็ได้ ขอให้สะดวกก็แล้วกัน อีกประการหนึ่ง วัดบางวัดหาวันว่างได้ยากจึงต้องเผาตามวันที่เจ้าภาพสะดวกที่สุด

เวียนศพก่อนเผา
ก่อนจะเผาศพ เรามักจะตั้งศพทำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนาก่อน โดยตั้งศพสวดพระอภิธรรม ๑ คืน รุ่งขึ้นในวันเผาจะมีเลี้ยงพระและเทศน์ เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีต่างๆ ทางศาสนาแล้วถึงเวลาเผา จะยกศพจากที่ตั้งบนศาลามาเวียนรอบเชิงตะกอน ๓ รอบ โดยเวียนไปทางซ้ายมีลูกหลานและญาติสนิทเท่านั้นที่เดินตามศพ แขกไม่จำเป็นต้องเดินตามด้วย เมื่อเวียนครบ ๓ รอบแล้วจึงยกขึ้นสู่เชิงตะกอน

การวนสามรอบนั้น เปรียบเหมือนทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือตกอยู่ในไตรวัฏฏ์ อันมีกรรม กิเลส และวิบาก ซึ่งเป็นเหตุและผลของกันและกัน มนุษย์เกิดมาแล้วย่อมมีกรรม คือ การกระทำ ได้แก่ ทำ พูด คิด (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม) ดี ชั่ว เป็นกิเลส สุขทุกข์ คือผลที่ได้รับเป็นวิบาก ถ้าทำดี พูดดี คิดดี ผลที่ได้รับคือความสุข ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ผลที่ได้รับคือความทุกข์ คนตายที่เรากำลังเดินตามการเวียนอยู่นั้น บางทีเราเรียกว่า สิ้นกรรม คือ หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิดแล้ว ส่วนคนที่ยังเดินตามศพยังต้องทำ ต้องพูด ต้องคิดต่อไป ฉะนั้นการเวียนศพสามรอบจึงหมายถึง กรรม กิเลส และวิบาก อันเป็นทางดำเนินชีวิตแห่งมนุษย์ที่เวียนวนไปไม่มีที่สิ้นสุด

ล้างหน้าศพ
เวลาก่อนที่จะเริ่มเผาศพ สัปเหร่อจะเอามะพร้าวมาผลหนึ่งกระเทาะเปลือกเตรียมไว้ พอถึงเวลาเผาจึงต่อยเอาน้ำมะพร้าวรดลงที่หน้าศพในโลง ส่วนเนื้อมะพร้าวนั้น โยนลงไปยังบริเวณใกล้ๆ เชิงตะกอนที่เผาศพ เล่ากันว่าใครได้กินจะแก้นอนกัดฟันได้ แท้จริงอย่างไรไม่ปรากฏ นํ้ามะพร้าวเป็นนํ้าที่สะอาดบริสุทธิ์ มีเครื่องห่อหุ้มหลายชั้น อธิบายปริศนาธรรมว่า สิ่งที่สะอาดเท่านั้นจึงจะกำจัดสิ่งที่โสโครกได้ เท่ากับเอากุศลกรรมล้างอกุศลกรรม สิ่งสกปรกจะล้างสิ่งสกปรกด้วยกันไม่ได้ฉันใดจะให้อกุศลกรรมล้างอกุศลกรรมย่อมไม่ได้ฉันนั้น

เดินสามหาบ
เมื่อเผาศพแล้ว รุ่งขึ้นเวลาเช้าจัดสามหาบไปยังที่เผาศพ สามหาบคือของถวายพระ ในหาบหนึ่งๆ มีหม้อข้าว หม้อแกง เชิงกราน (สมัยนี้ไม่มีจะเปลี่ยนเป็นอั้งโล่ก็ได้) ในหม้อบรรจุข้าวสาร, พริก, หอม, กระเทียม, กะปิ, กุ้งแห้ง ฯลฯ ล้วนเป็นเครื่องเสบียงกรังอยู่ในสาแหรกข้างหนึ่ง ส่วนสาแหรกอีกข้างหนึ่งมีอาหารคาวหวาน บรรจุเหมือนกันทั้งสามหาบ แล้วให้ลูกหลานหรือญาติ ๓ คน หาบคนละหาบ คนถือผ้าไตรอีก ๓ คน เดินนำหน้าหาบคนละไตร ครบ ๓ ไตร เดินเวียนกองฟอนทาง ซ้ายคนละ ๓ รอบ เวลาเดินให้กู่อย่างชาวสวนหรือชาวป่า กู่ว่า “วู้ๆ” คนละ ๓ ครั้ง คนข้างหน้ากู่ คนข้างหลังก็รับกู่กันทุกคน เดินเวียน ๓ รอบแล้วเจ้าพนักงานก็รับไปตั้งที่อาสนสงฆ์ แล้วเจ้าภาพเอาผ้าไตรไปทอดที่กองฟอน นิมนต์พระสงฆ์ ๓ รูป มาชักบังสุกุล เสร็จแล้วถวายของในหาบ พระสงฆ์สวด ยถาสัพพี เจ้าภาพกรวดนํ้าอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย ส่วนพิธีของหลวงการเดินสามหาบนั้น เมื่อเวียน ๓ รอบแล้ว นำสามหาบมาที่อาสนสงฆ์ นิมนต์ท่านฉันในที่นั้น เมื่อฉันเสร็จ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จการ ทำกันเป็น ๒ อย่างดังนี้ ส่วนที่ชาวบ้านทำกันมักถวายสามหาบให้พระไปฉันที่กุฏิ เวลาหาบไปกุฏิพระห้ามคนหาบเหลียวหลัง

ปัจจุบันไม่ปรากฏว่าชาวบ้านคนใดมีประเพณีสามหาบ ที่มีอยู่บ้างก็เป็นพิธีของหลวง และใช้ปิ่นโตแทนสาแหรก สมัยก่อนเผาศพกันนอกเมือง พระสงฆ์ไปปลงอสุภ ชาวบ้านจึงนำของไปทำบุญถวายพระสงฆ์ในที่นั้น และที่กู่ก็เพื่อให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะหนทางเป็นป่ามองไม่ค่อยเห็นกัน จึงต้องกู่เรียกกันเพื่อไม่ให้หลงทาง

อธิบายปริศนาธรรมว่า การเดินรอบกองฟอน ๓ รอบนั้น เปรียบดังว่า ตราบใดที่คนเรายังไม่บรรลุถึงอมตธรรมแล้ว ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ส่วนการกู่เรียกว่า “วู้ๆ” นั้นแสดงว่า ไม่รู้ว่าผู้ตายไปเกิด ไปอยู่ ณ ที่ไหน จึงได้กู่เรียกให้รู้ว่าตนได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แล้ว

แปรรูปและเก็บอัฐิ
หลังจากที่เผาศพเสร็จแล้ว ในวันรุ่งขึ้นจะมีการแปรรูปอัฐิ คือ ครั้งแรกแต่งรูปกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก สมมติว่าเป็นคนตาย แล้วนิมนต์พระมาชักบังสุกุลตาย เสร็จแล้วเกลี่ยกองกระดูก จัดทำรูปคนขึ้นใหม่แบบเดิม แต่ให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วนิมนต์พระชักบังสุกุลเป็นอีกครั้งหนึ่ง เจ้าภาพบางคนเอาแก้วแหวนเงินทองโปรยลงไปบนกองกระดูกแล้วประพรมด้วยนํ้าหอมก็มี แล้วจึงนิมนต์พระชักผ้าบังสุกุลเป็นอีกทีหนึ่ง

หลังจากที่พระบังสุกุลเสร็จแล้ว ก็เก็บกระดูกไปใส่ในโกศบูชาบ้าง นำไปบรรจุใส่ในเจดีย์บ้าง บางรายเจ้าภาพเอาส่วนที่เหลือจากที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ห่อผ้าขาวเอาไปลอยในน้ำที่จะพัดพาไปได้ เช่น ในทะเล เป็นต้น ตามแต่เจ้าภาพหรือลูกหลานจะตกลงกัน เมื่อบุตรธิดาหรือญาติมิตรมีความระลึกถึงจะได้ไปยังที่นั้น แล้วบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายตามความกตัญญูกตเวทีที่พึงกระทำกันมาเป็นเวลาช้านาน

ไว้ทุกข์
ประเพณีการไว้ทุกข์ปรากฏว่ามีทุกชาติทกภาษา แต่วิธีปฏิบัติแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละชาติ สำหรับการไว้ทุกข์ของคนไทยนั้น เริ่มไว้ทุกข์นับตั้งแต่วันตายเป็นต้นไป ญาติและผู้มาร่วมงานจะไว้ทุกข์ให้แก่ผู้ตาย เพื่อแสดงถึงความเศร้าโศกอาลัยรักผู้ที่จากไป ในสมัยโบราณสีผ้าที่ไว้ทุกข์ คือ สีขาว กล่าวกันว่า คงได้รับแบบอย่างมาจากจีน ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นสีดำ เพราะได้รับแบบอย่างมาจากประเทศตะวันตก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพิ่มสีไว้ทุกข์ขึ้นอีก คือ สิกุหร่า สีนกพิราบ และสีนํ้าเงิน เข้าใจว่าสีดังกล่าวนี้ไทยเราคงจะคิดขึ้นเอง การแต่งกายไว้ทุกข์ ในสมัยปัจจุบัน แต่งตามประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบการไว้ทุกข์ในงานศพ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ กำหนดไว้ว่า
“(๑) ชาย
ก. แต่งเครื่องแบบ ให้ใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งดำ ขนาดกว้างระหว่าง ๑-๑๐ เซนติเมตร พันแขนซ้ายเบื้องบน
ข. แต่งกายสุภาพตามรัฐนิยม ให้ใช้เสื้อขาว กางเกงขายาวขาว (ถ้าเป็นคอแบะให้ใช้เสื้อเชิ้ตขาว ผ้าผูกคอดำเงื่อนกะลาสี) รองเท้าหนังดำ ถุงเท้าดำ และใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งดำขนาดกว้างระหว่าง ๑-๑0 เซนติเมตร พันแขนซ้ายเบื้องบน
(๒) หญิง แต่งกายสุภาพตามรัฐนิยม ให้ใช้เครื่องดำล้วน”

การกำหนดการไว้ทุกข์ของคนไทย นิยมไว้ทุกข์ ๑๕, ๕๐ และ ๑๐๐ วัน ไม่เกิน ๑ ปี แต่ถ้าหากเผาในระหว่างนี้ก็ออกทุกข์ได้ แต่คนไทยในชนบทส่วนมากไม่ไว้ทุกข์ เพราะถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือย

ทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วันศพ
ประเพณีการทำบุญเนื่องในงานศพ มีดังนี้
เมื่อจัดการนำศพลงหีบเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเป็นการทำบุญ ๗ วัน (สัตตมวาร) การทำบุญควรนิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์เย็น และถวายอาหารบิณฑบาตเช้า เช่น ถ้าผู้นั้นถึงแก่กรรมวันอาทิตย์ ควรนิมนต์พระมาสวดเย็นวันเสาร์ (ถ้าจะมีกงเต๊กก็เริ่มมีแต่วันเสาร์ด้วย) แล้วฉันเช้าหรือฉันเพลในวันอาทิตย์ หรือจะทำอย่างถวายสังฆทานก็ได้เมื่อพระฉันแล้วตอนบ่ายมีพระธรรมเทศนาตอนเย็นบังสุกุล ตอนคํ่ามีสวดพระอภิธรรม แต่การทำบุญเช่นนี้ไม่เหมาะสำหรับสมัยนี้ เพราะเปลืองทรัพย์และเหน็ดเหนื่อยมาก ผู้คนไม่สู้จะพรักพร้อมเหมือนแต่ก่อน จึงทำบุญแต่เพียงวันเดียวเป็นส่วนมาก ที่จริงการทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันตายเป็นของเกิดใหม่ เป็นประเพณีของจีนและญวน เพิ่งมีในรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการทำกงเต๊ก ครั้งงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ของเดิมของไทยเป็นการทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันปลงศพ เพราะแต่ก่อนเขาไม่นิยมเก็บศพไว้ในบ้านนานๆ โดยมากไม่เกิน ๓ วัน ถ้าเอาศพไว้ที่วัดก็มักทำบุญ ๗ วันที่วัด ถ้าเผาก่อน ๗ วันก็ทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันเผา ส่วนทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน ไม่มี แต่คนไทยเอามาปนเข้ากับเรื่องทำบุญ ๗ วัน นับแต่วันตาย ซึ่งเป็นคติของจีนและญวน

ตามประเพณีจีนและญวน ญาติของผู้ที่ถึงแก่กรรมจะทำบุญหน้าศพทุกวัน นับตั้งแต่วันที่ถึงแก่กรรมไปจนครบ ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้ว ต่อไปจะทำบุญ ๗ วันครั้งหนึ่งไปอีก ๗ ครั้ง ครบ ๕๐ วัน แล้วหยุดงานพิธีไปจนถึงทำบุญร้อยวัน เหตุที่จีนและญวนทำบุญอุทิศให้ผู้ตายทุกวันทุกระยะเช่นนี้ถือว่า เป็นการช่วยอุดหนุนจุนเจือบุญให้แก่ผู้ตาย จึงเป็นต้นแบบที่ทำบุญหน้าศพ ซึ่งเรียกว่า สัตตมวาร ปัญญาสมวาร และศตมวาร คือทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน

การทำบุญ ๕๐ วัน ทำเมื่อครบ ๗ ของ ๗ คือ ๔๙ วัน ต้องทำบุญให้ตรงกับวันที่ถึงแก่กรรม เหมือนเมื่อทำบุญ ๗ วัน จึงจะนับว่าเป็นการทำบุญ ๕๐ วัน คือ ถึงแก่กรรมวันอะไร ก็เลี้ยงพระในวันนั้น เช่น ถึงแก่กรรมวันอาทิตย์ก็ทำบุญเลี้ยงพระให้ตรงกับวันอาทิตย์ การทำบุญมีสวดมนต์เย็น ฉันเช้า มีเทศน์บังสุกุล และสวดพระอภิธรรม นอกจากงานเลี้ยงพระแล้ว จะตัดงานอื่นให้ย่นย่อตามกำลังทรัพย์ กำลังคนก็แล้วแต่เจ้าภาพจะพิจารณาตามสมควร

การทำบุญ ๑๐๐ วัน นับตั้งแต่วันถึงแก่กรรม เป็นการทำบุญคล้าย ๗ วัน และ ๕๐ วัน แต่มักจะทำเป็นงานใหญ่กว่า บางรายกำหนดปลงศพในวันครบ ๑๐๐ วัน หรือจะปลงศพก่อน ๑๐๐ วันก็เพราะเมื่อเสร็จการปลงศพแล้ว จะได้ทำบุญอัฐิในการทำบุญ ๗ วัน ภายหลังปลงศพรวมกับการทำบุญ ๑๐๐ วัน เป็นงานเดียวกัน ถ้ายังไม่ทำการปลงศพ ก็ต้องทำบุญ ๑๐๐ วันก่อนแล้วจึงปลงศพ

ที่มา:กรมศิลปากร