พระพิฆเนศวร์

Socail Like & Share

พระพิฆเนศวร์
พิฆเนศวร์ แปลตามรูปศัพท์ว่าอุปสรรค ดังนั้น พระพิฆเนศวร์เป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง สามารถกีดขวางมนุษย์ เทวดาและมารร้ายต่างๆ ได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถกำจัดเครื่องกีดขวางทั้งปวงได้ พระองค์มีพระนามต่างๆ กันออกไปมากมายตามแต่ประวัติในแต่ละคัมภีร์ เช่น พิฆเนศวร คชานนะ เอกทันต์ คณปติ คเณศพิฆนราชะ เหรัมพะ ลัมโพทระ สุรปกรรณะ และคุหา¬ครชะ เป็นต้น พระองค์เป็นโอรสของพระศิวะและนางปารวตี (อุมา) ปัจจุบันเป็นที่นับถือของชาวฮินดูมาก เมื่อจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือจัดงานฉลองเกี่ยวกับศาสนาทุกครั้ง จะต้องสักการะพระพิฆเนศวร์ก่อน เพื่อให้พิธีกรรมและงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปโดยปราศจากอุปสรรคใดๆ
พระพิฆเนศวร์มีเศียรเป็นช้าง เป็นเชษฐาของพระขันธกุมารเทพเจ้าแห่งการสงคราม เป็นเจ้าแห่งสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดและเจ้าแห่งอุปสรรค ด้วยเหตุนั้นจึงมีผู้เคารพนับถือมาก ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจและคณะ (คนแคระ) คือ ผู้รับใช้ของพระอิศวรด้วย ทรงหนูเป็นพาหนะ
ในประติมากรรมพระพิฆเนศวร์จะประทับนั่งและประทับยืน บัลลังก์ที่ประทับบางทีก็เป็นบัลลังก์ดอกบัว บางทีก็ทรงหนู เนื่องจากพุงใหญ่มากจึงนั่งขัดสมาธิไม่ได้ต้องแยกขา การยืนมักยืนตรงไม่ยืนตริภังค์หรือทวีภังค์อย่างเทพอื่นๆ เพราะพุงใหญ่ งวงมักทำห้อยลงมาทางซ้ายหรือขวา ส่วน ใหญ่ห้อยไปทางซ้าย มักจะมี ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐ และ ๑๖ กร แต่ส่วนใหญ่นิยมทำ ๔ กร มีงูพันรอบอกและเอวแห่งละตัว สิ่งที่ถือมักต่างกันออกไปตามแบบที่ปรากฏ ส่วนใหญ่จะเป็น ปาศะ (บ่วง) อังกุศะ (ขอสับช้าง) ลูกแอปเปิล ลูกหว้า ไม้ไผ่ มะพร้าว มะม่วง ก้อนน้ำตาล ศักติ (หอก) ลูกศร และธนู ดาบและโล่ ค้อน คทา ตรีศูล ทวน และธง
ในจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่าที่ทราบ ในขณะนี้ได้มีการค้นพบพระพิฆเนศวร์ ๔ องค์ เป็นศิลา ๑ องค์ และที่เหลืออีก ๓ องค์เป็นสำริด

พระพิฆเนศวร์ศิลาองค์นี้ ได้ค้นพบ ณ วัดพระเพรง สถานที่เดียวกันกับที่พบพระวิษณุรุ่นเก่าที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพระพิฆเนศวร์ที่ทรงมี ๒ กร พระกรขวาหักหายไปพร้อมทั่งปลายงวงและพระกรรณ พระหัตถ์ซ้ายถือขนมโมทกะ (ขนมต้ม) อันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ เหนือพระนาภีมีแนวชายผ้าคาดไว้ ทรงพาหุรัด ไม่ทรงสวมมงกุฎ ไม่ประดับพระศอ แต่ประดับเชือกศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ คือ ยัชโญปวีต อันหมายถึง การเป็นทวิชาชาติ คือ ผู้เกิดสองหน ทรงประทับนั่งสมาธิ การที่ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะเป็นธรรมชาติและไม่มีการประดับด้วยเครื่องประดับมากมาย จึงจัดได้ว่าเป็นพระพิฆเนศวร์ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคใต้องค์หนึ่ง และมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ส่วนประติมากรรมพระพิฆเนศวร์สำริดอีก ๓ องค์ ได้ค้นพบที่
เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในอำเภอเมืองทั้งสิ้น แต่ละองค์จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ องค์แรก ได้แก่ พระพิฆเนศวร์ประทับยืน มี ๔ กร กรขวาหลังทรงถือสังข์ กรขวาหน้าทรงถืองาขวาของตนเองที่หักไป กรหลังซ้ายถือบ่วงบาศ และกรซ้ายหน้าถือขนมโมทากะ พระเศียรประดับด้วยกระบังหน้า มีพาหุรัดทองกร แสะกรองศอ มีสายยัชโญปวีต ทรงนุ่งผ้าสั้น มีเข็มขัดผ้าคาด และชายผ้าห้อยลงมาข้างหน้าประทับยืนบนฐานสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น ฐานชั้นล่างมีจารึกอักษรทมิ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ปรากฏอยู่ จึงอาจจะกำหนดได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้มีอายุ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม จากอินเดียภาคใต้ แต่กระบังหน้าคล้ายกับพระคเณศจากบาสัก ศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ (ราวพ.ศ. ๑๔๖๕-๑๔๙๐) องค์ที่สองเป็นพระพิฆเนศวร์ที่มีรูปแบบเหมือนกับองค์แรกทุกประการ จะแตกต่างกันออกไปก็เพียงแต่องค์นี้ประทับนั่งเท่านั่น สิ่งที่แปลกมากในศิลปกรรมชิ้นนี้คือ พระองค์ประทับนั่ง บนฐานสี่เหลี่ยมที่มีร่องน้ำอย่างเดียวกันกับโยนิโทรณะที่พบโดยทั่วไปในนครศรีธรรมราชใต้ฐานดังกล่าวยังมีหนูพาหนะของพระองค์หมอบอยู่ด้วย การที่มีฐานเช่นนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในการประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์นั้น คงจะรองรับน้ำที่รดผ่านพระองค์ไปใช้ในกิจพิธีต่างๆ เพื่อสิริมงคล เทวรูปองค์นี้คงจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และพระพิฆเนศวร์องค์สุดท้าย เป็นพระพิฆเนศวร์ ๒ กรหัตถ์ขวาทรงถืองาตนเองที่หัก หัตถ์ซ้ายทรงถือขนมโมทากะ ประทับนั่งสมาธิเหนือฐานสี่เหลี่ยม พระเศียร ประดับด้วยกระบังหน้าและหมวกทรงกระบอก คล้ายเทวรูปพระนารายณ์ที่พบโดยทั่วไปในภาคใต้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปัลลวะของอินเดียภาคใต้ มีกรองศอ พาหุรัดทองพระกร สายยัญโญปวีต และผ้าคาดบั้นพระองค์ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม นับเป็นประติมากรรมที่งดงามและประณีตมาก ด้วยเหตุที่รับอิทธิพลจากศิลปะปัลลวะดังกล่าวมาก อาจจะกำหนดอายุได้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้
วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *