เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์

Socail Like & Share

สงกรานต์ มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติ แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้ หมายถึง พระอาทิตย์โคจรหรือเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งกินเวลาประมาณ ๑ เดือน เมื่อผ่านไปครบจักรราศีคือ ๑๒ ราศี ก็เป็นเวลา ๑ ปี โดยประมาณ ประเพณีสงกรานต์และโบราณท่านแบ่งกลุ่ม ตามมาตราวัดได้ราศีละ ๓๐ องศา รวมทั้งจักรราคีก็เป็น ๓๖๐ องศา แต่กลุ่มดาวในราศีหนึ่งๆ นั้นอาจมิได้อยู่ภายในราศีที่แบ่งไว้โดยเด็ดขาด ดาวบางดวงในราศีหนึ่งคาบเกี่ยวหรือเหลื่อมล้ำเข้าไปในราศีอื่นก็มี เหตุนี้จำนวนวันในแต่ละเดือนจึงไม่เท่ากันเสมอไป

เนื่องจากกลุ่มดาวในแต่ละราศีนั้นเรียงรายกันอยู่ในรูปลักษณะต่างๆ กัน การตั้งชื่อเดือนจึงสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มดาวเหล่านั้น เช่น กลุ่มดาวเรียงรายกันอยู่เป็นรูปแมลงป่อง ภาษาสันสกฤตว่า “พฤศจิก” เอาคำว่า “อายน” แปลว่า “การมาถึง” เข้าไปเชื่อมกันด้วยวิธีสนธิก็เป็น “พฤศจิกายน”  หมายถึงการเคลื่อนมาถึงกลุ่มดาวรูปแมลงป่อง หรือกลุ่มดาววัว ซึ่งภาษาสันสกฤตว่า “พฤษภ”  มาสนธิกับ “อาคม” ซึ่งแปลว่า “การมาถึง” เช่นเดียวกัน ก็กลายเป็น “พฤษภาคม” ที่เราแยกใช้คำเชื่อมหรือคำที่นำมาสนธิว่า “อายน” หรือ “อาคม” ก็เพื่อแบ่งเดือนที่มีจำนวนวันเป็น ๓๐ วันบ้าง ๓๑ วันบ้าง ให้เป็นเครื่องสังเกตได้ง่าย

วันและเวลาที่พระอาทิตย์โคจรจากราศีหนึ่ง ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ ๑ เดือนนั้น เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ คือ ในเดือนเมษายนท่านเรียกเป็นพิเศษว่า มหาสงกรานต์ เพราะถือเป็นวันและเวลาที่ตั้งต้นปีใหม่

ที่โบราณถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันสิ้นปีเก่าและขึ้นปีใหม่ เนื่องมาจากประชาชนที่อยู่เหนือเขตร้อนของโลก เช่น ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือ เมื่อถึงฤดูหนาวหนาวจัด อากาศมืดครึ้ม บางแห่งจะมีหิมะปกคลุม สัตว์บางชนิด เช่น กบ กระรอก กระแต ต้องหยุดหากิน นอนนิ่งอยู่ในรูในโพรงชั่วคราว ต้นไม้ต้นหญ้าหยุดการเจริญเติบโต แม้แต่ใบไม้ก็ร่วงหมดราวกับธรรมชาติกำลังจะตายไป ครั้นสิ้นฤดูหนาวย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ จัดเป็นฤดูกาลที่ดีที่สุด เพราะอากาศคลายความหนาว แจ่มใส และชุ่มชื้น สบายดีจริงๆ ต้นไม้ผลิตดอกออกช่อแตกใบเขียวชอุ่มเขาจึงนับเอาต้นฤดูใบไม้ผลิเป็นวันขึ้นปีใหม่ แสดงความยินดีปรีดา เล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์กัน และบังเอิญสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพในทางกสิกรรม กำลังว่างจากทำไร่ไถนา จึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันทำบุญใหญ่ แล้วเล่นสนุกกัน

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์มาแต่สมัยโบราณว่า ท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นเทพชั้นพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร เด็กอายุ ๘ ขวบที่เรียนจบไตรเพท ด้วยปัญหา ๓ ข้อ จึงต้องตัดเศียรตัวเองบูชาธรรม บาลตามสัญญาที่ตกลงกัน แต่เศียรของท้าวกบิลพรหมนี้ร้อนแรงนัก ถ้าวางบนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง หากทิ้งในมหาสมุทรนํ้าก็จะแห้ง จึงมอบหน้าที่ให้ธิดาทั้ง ๗ นาง ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเช่นนี้ประจำทุกปี ความจริงธิดาทั้ง ๗ นางนั้น มีชื่อต่างๆ กัน แต่รวมเรียกว่า นางสงกรานต์ทั้งสิ้น

ประเพณีเกี่ยวกับสงกรานต์ มีดังนี้
๑. วันจ่ายสงกรานต์
๒. ทำบุญตักบาตร
๓. บังสุกุลอัฐb
๔. สรงนํ้า รดนํ้า สาดนํ้า รื่นเริงในวันสงกรานต์
๕. ก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนก ปล่อยปลา

๑. วันจ่ายสงกรานต์
นิยมทำขนมกวนกันแทบทุกบ้าน โดยมากเป็นข้าวเหนียวแดง กะละแม ซึ่งเก็บไว้รับประทานได้นานวัน สำหรับไปทำบุญ ถวายพระ และแจกเพื่อนบ้าน เป็นการแสดงไมตรีจิตในวันขึ้นปีใหม่ นับเป็นอัธยาศัยอันดีงามของคนไทยโดยทั่วๆ ไป

๒. ทำบุญตักบาตร
โดยปรกติสงกรานต์จัดแบ่งเป็น ๓ วัน คือ
วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันต้นของปีใหม่ ชาวบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระที่วัดประจำหมู่บ้านของตน ส่วนทางภาคเหนือจะเรียกวันนี้ว่า “วันสังขารล่อง ถือเป็นวันสิ้นปีเก่า หลังจากทำบุญแล้ว เขาจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนของคนเป็นการใหญ่กำจัดความสกปรกซึ่งถือว่าเป็นความไม่ดีของปีเก่าให้หมดสิ้นไป เพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วยความบริสุทธิ์ เป็นมงคล ราษฎรภาคกลางก็ถือคติเช่นนี้เหมือนกัน เป็นผลพลอยได้ประโยชน์ที่เพิ่มวันสาธารณสุขได้อีกวันหนึ่ง

วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันเนา หรือ “วันเน่า” ทางภาคเหนือจะพักผ่อนอยู่แต่ในบ้านไม่ไปไหน เป็นแต่หุงต้มอาหาร จัดสำรับคาวหวานเตรียมเอาไปทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ในวันรุ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องระวังอย่าให้เกิดบาดแผลขึ้นได้ มิฉะนั้นแผลจะเน่า รักษาให้หายได้ยาก เพราะแปลความหมายของคำว่า “เน่า” เอาตรงๆ นั่นเอง

วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” เพราะเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่แต่เป็นวัน “พระยาวัน” ของทางภาคเหนือ ชาวบ้านจะนำภัตตาหารคือสำรับคาวหวาน ผลไม้ และหมากเมี่ยงไปถวาย พระที่วัด เรียกว่า “ทานขันข้าว” หรือ “ทำบุญขันข้าว” เพื่ออุทิศผลบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

สำหรับภาคกลางนั้นมีการทำบุญตักบาตรตลอด ๓ วัน

๓. บังสุกุลอัฐิ หรือกระดูกของผู้ตาย
ประเพณีแต่เดิม นิยมฝังอัฐิของญาติผู้ใหญ่ไว้ใต้โคนต้นโพธิ์ในวัด โดยกำหนดสถานที่เอาไว้ หากเป็นผู้มีฐานะดี มักก่อเป็นพระเจดีย์บรรจุอัฐิ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุลใกล้บริเวณนั้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเกรงจะเป็นที่รังเกียจเกลียดกลัวแก่ภิกษุ สามเณรและสัปปุรุษทั้งปวง จึงทรงมีพระราชกำหนด จุลศักราช ๑๑๖๗ (พ.ศ. ๒๓๔๘) ให้เก็บอัฐิมาไว้ที่บ้าน จะนิมนต์พระมาบังสุกุลที่บ้าน หรือจะนำอัฐิไปทำที่วัดพร้อมๆ กับเพื่อนบ้านก็ได้ แล้วแต่สะดวกหากไม่มีอัฐิก็เขียนชื่อผู้ตายลงในแผ่นกระดาษ แล้วบังสุกุลได้เช่นเดียวกัน

ในบางท้องถิ่น มีพิธีบวงสรวง ผีปูย่าตายายประจำหมู่บ้าน เพื่อขอความคุ้มครองและความอยู่เย็นเป็นสุขในวันปีใหม่ จะทำพิธีวันไหนก็แล้วแต่จะนัดหมายตกลงกัน นอกจากนี้ยังเซ่นผีพ่อแม่ ปูย่า ตายาย ตลอดจนสังเวยพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเป็นกิจเฉพาะของแต่ละครัวเรือน

๔. สรงน้ำ รดน้ำ สาดน้ำ
ก่อนนี้ชาวบ้าน นิยมประดิษฐานพระพุทธรูปที่วัดมากกว่าจะเอาไว้บูชาในบ้านที่ตนอยู่ ด้วยนับถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นของสูง เมื่อถึงวันสงกรานต์ จึงพากันนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาประพรมพระพุทธรูปด้วยนำอบ เรียกว่า สรงน้ำพระ และอธิษฐานขอพรเพื่อความสุขสวัสดีปีใหม่ จากนั้นก็มีการสรงนํ้าพระสงฆ์ซึ่งโดยมากเป็นสมภารเจ้าวัด หรือพระที่มีลูกศิษย์นับหน้าถือตามากมาย ก็ต้องนัดหมายกำหนดวันและเวลาเพื่อไปชุมนุมสรงนํ้าให้ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วท่านจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์อำนวยพรปีใหม่แก่ผู้ที่ไปรดนํ้า เมื่อหมดภารกิจทางศาสนาแล้ว ส่วนมากนิยมไปรดนํ้าผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือเพื่อขอศีลขอพรจากท่านตามประเพณี..

การสรงนํ้าสมัยก่อน รดอาบให้ทีเดียว อาบแล้วผู้รดนำผ้าใหม่มาให้ผลัด มีผ้านุ่งผ้าห่มชุดหนึ่ง พร้อมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน จึงเป็นประเพณีที่ต้องจัดหาผ้านุ่งผ้าห่มไปในงานรดนํ้าผู้ใหญ่สืบต่อกันมา ปัจจุบันนี้ทำพอเป็นสังเขป คือ เทรดลงที่มือท่านด้วยนํ้าอบ นํ้าหอม และที่สุดพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็สาดนํ้ากันเอง เป็นการเล่นสนุกของชาวชนบทสมัยก่อนตามสภาพของท้องถิ่นและสังคม

เหตุที่มีสรงนํ้า รดน้ำ และสาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า การสาดนํ้าจะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ในฤดูปีเดือนประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีนํ้าการเพาะปลูกทำไร่ไถนาก็ได้ผล ประการหนึ่ง และถือกันว่า นํ้าเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้นํ้าจึงเป็นสิ่งใช้ในพิธีต่างๆ เช่น อาบนํ้าหรือซัดนํ้าหรือรดน้ำเมื่อทำพิธีสมรส อาบเมื่อตาย อาบเมื่อโกนจุกหรือบวชนาค ฯลฯ การอาบน้ำในพิธีหรือการสาดนํ้านี้ มิได้ทำกันในหมู่คนไทยเท่านั้น หากยังเป็นประเพณีของชนอีกหลายชาติ เช่น เยอรมัน พม่า ลาว ฯลฯ โดยมีคตินิยมคล้ายๆ กัน

๕. ก่อพระเจดีย์ทราย
ไม่มีกำหนดแน่นอนว่าจะต้องก่อในวันสงกรานต์ วันอื่นๆ ที่ใกล้เคียงก็มีก่อกัน และไม่จำเป็นจะต้องก่อในบริเวณวัด อาจก่อที่ริมทางเดิน กลางลานบ้าน หรือที่หาดทรายก็ได้ การขนทรายมาก่อพระเจดีย์นั้น นอกจากจะเป็นกุศลได้บุญแรงแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย เพราะชาววัดชาวบ้านก็จะสามารถใช้ทรายนั้นให้เป็นประโยชน์ในการก่อสร้างและทำถนน

การปล่อยนกปล่อยปลา
การปล่อยปลานั้น พอจะสันนิษฐานถึงเหตุได้บ้างว่า ก่อนหน้านี้เป็นหน้านํ้า นํ้าในแม่นํ้าลำคลอง ไหลบ่าเข้าไปในทุ่ง ฝูงปลาก็ว่ายเข้าไปวางไข่ ลูกปลายังไม่ทันจะโต ก็ถึงหน้าน้ำลด นํ้าขาดตอนเป็นห้วงๆ คงมีนํ้าเหลือบ้างก็ที่แอ่งและหนองนํ้า ฝูงปลาหนีตามน้ำลงมายังแม่น้ำลำคลองไม่ทันโดยเฉพาะลูกปลาก็ตกค้างอยู่ อีกไม่ช้าพอนํ้าแห้งหมดปลาเหล่านี้ก็จะตาย เหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลา ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อหนังอะไร ก็เลี้ยงไว้ในตุ่มในไหเพื่อเอาบุญ และนำไปปล่อยในแม่นํ้าลำคลองวันสงกรานต์ ปลาที่รอดตายนั้นก็มีโอกาสขยายพันธุ์ได้ต่อไป นับว่าเพิ่มบุญกุศลขึ้นอีก จึงมีประเพณีปล่อยปลาและสืบเนื่องมาถึงปล่อยนกด้วย

ระหว่างงานสงกรานต์นี้ หนุ่มสาวจะได้รับความสุข สนุกรื่นเริงกันเต็มที่ เพราะได้แต่งตัวสวยๆ งามๆ ทำบุญก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน สาดนํ้ารดกันแล้วตอนเย็นๆ แดดร่มลมตกก็จะมีการเล่น ต่างๆ เช่น โยนชิงช้า เพลงชาวไร่ มอญซ่อนผ้า ช่วงชิง ตี่จับ การเล่นพื้นเมือง ฯลฯ ซึ่งนานทีมีหน ญาติผู้ใหญ่หรือบิดามารดาจึงปล่อยให้ลูกหลานว่างจากงานมาเล่นสนุกกันเช่นนี้

การเล่นสงกรานต์ ตามประเพณีไทย อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามภาคต่างๆ ของประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกันดังกล่าวแล้วนั่นเอง

ที่มา:กรมศิลปากร