ประเพณีลอยกระทงของภาคต่าง ๆ

Socail Like & Share

ประเพณีลอยกระทงของภาคต่าง ๆ

ลอยกระทงพายัพ  หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำพิธี ๓ วัน ในเดือนยี่เปง(คือเพ็ญเดือนยี่ ตรงกับเดือน ๑๒ ของภาคกลาง เพราะการนับเดือนของภาคนี้เร็วกว่าภาคกลาง ๒ เดือน)  โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันจ่าย  วันขึ้น ๑๔ ค่ำ  เป็นวันทำบุญและวันทำกระทง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันลอยกระทง

กระทงที่ลอยแบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด คือ กระทงของเจ้าผู้ครองนครและบริพาร กระทงใหญ่และกระทงเล็ก

กระทงของเจ้าผู้ครองนครและบริพารเป็นกระทงที่ทำขึ้นส่วนหนึ่งต่างหาก  และจะลอยก่อนกระทงของทางวัดและประชาชน  กระทงที่เจ้าครองนครและบริพารนำไปลอยนี้เรียกกันว่ากระทงลอยประทีป เป็นปฐมฤกษ์

กระทงใหญ่ เป็นกระทงที่วัดใหญ่ ๆ ในละแวกหมู่บ้านที่ทางวัดและชาวบ้านช่วยกันทำ โดยทำเป็นรูปเรือตั้งไว้ตรงลานวัด แล้วชาวบ้านนำเสบียงกรัง มีข้าวสาร น้ำตาล เป็นต้น มาใส่ไว้ในกระทงนอกจากนี้ก็มี ไม้ขีดไฟ เทียนไข ผ้าห่มกันหนาว และของอื่น ๆ อีก โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการทำทานเมื่อถึงเวลาลอยกระทงก็พากันแห่แหนมาทางเรือกันอย่างสนุกสนาน  พร้อมทั้งกระทงเล็ก ๆ อันเป็นของส่วนตัวซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

กระทงเล็ก ส่วนมากทำด้วยกาบมะพร้าวเป็นรูปต่าง ๆ เป็นของส่วนตัวของชาวบ้าน ในกระทงเล็ก ๆ เหล่านี้ จะมีกล้วย อ้อยใส่ลงไปด้วย ชาวบ้านจะนำกระทงเล็ก ๆ ไปพร้อมกับกระทงใหญ่

การลอยกระทงของชาวพายัพดังกล่าวนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะบูชาพระอุปคุต ซึ่งชาวพายัพพากันนับถือมาก และว่าพระอุปคุตบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก  นอกจากนี้ก็ถือว่า เป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัยและบาปต่าง ๆ ให้ไปเสีย

มีประเพณีที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องลอยกระทงทางภาคพายัพ ก็คือ การทำบุญที่วัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำนั้น ชาวบ้านจะนำขนมเทียนที่ทำขึ้นสำหรับงานนี้ไปแจกกันตามบ้านต่าง ๆ เวลาค่ำเด็กผู้หญิงจะนำช่อดอกไม้ช่อเล็ก ๆ ไปให้ผู้ใหญ่ที่รักษาอุโบสถศีลที่วัด ส่วนเด็กผู้ชายทำกระทงเล็ก ๆ และเตรียมประทัดไปจุด พอตกเย็นชาวบ้านจะนำผางประทีปหรือกระทงประทีปที่ทำด้วยดินเผาขนาดถ้วยตะไลเล็ก ๆ ที่มีขี้ผึ้งกับน้ำมันมะพร้าวใส่ไว้โดยมีด้ายขวั้นเป็นไส้เอาไปวัดเวลาค่ำ  ผางประทีปเหล่านี้จะนำไปจุดไว้ที่หน้าพระประธานในอุโบสถ  หากไม่สามารถจุดได้หมด ก็นำกลับมาจุดบูชาที่หิ้งพระตามบ้าน การจุดประทีปในผางประทีบดังกล่าวนี้ ชาวบ้านถือกันว่าสำคัญมาก หากไม่จุดพวกยักษ์จะมาเอาหัวไป

ลอยกระทงภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เอาหยวกกล้วยมาทำเป็นกระทงขนาดใหญ่ กล่าวคือ เอาหยวกกล้วยทั้งต้นมาต่อกันโดยใช้ไม้เสียบยาวหลายวา วางขนานเป็นสองแถว ห่างกันพอประมาณ แล้วเอาไม้ปักเป็นเสาบนหยวกกล้วยเป็นระยะ ๆ บนปลายเสาทำเป็นรูปเรือหรือรูปพระยานาค แล้วเอาผ้าชุบน้ำมันยางจุดบนปลายไม้ข้าง ๆ เป็นระยะ ๆ หรือไม่ก็จุดได้ หยวกกล้วยที่นำมาต่อขนานไว้นั้นเป็นเหมือนหุ่นให้เรือหรือพระยานาคลอยอยู่ กระทงแบบนี้วัดในตำบลหนึ่ง ๆ จะทำกระทงหนึ่ง แล้วพากันลากไปทางเหนือน้ำจอดไว้ทั้งสองฝั่ง เวลาเย็นชาวบ้านก็พากันลงเรือมาชุมนุมร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน จนถึงเวลาค่ำ จึงพากันเอาเชือกมายกกระทงบากไปปล่อยกลางน้ำ พอกระทงลอยไปลับตาแล้วจึงพากันกลับบ้าน

ลอยกระทงภาคใต้

พิธีลอยกระทงของชาวภาคใต้ เอาหยวกกล้วยมาทำเป็นแพ บรรจุเครื่องอาหารแล้วลอยไป แต่มีข้อน่าสังเกตก็คือ การลอยกระทงทางภาคใต้ดังกล่าวนี้ ไม่มีกำหนดว่าเป็นกลางเดือน ๑๒ หรือเดือน ๑๑ ดังกล่าวแล้ว แต่จะลอยเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ ดังนี้ ก็เพื่อให้หายโรคภัยไข้เจ็บที่ตนเป็นอยู่ ทำนองพิธีอาพาธพินาศและเรื่องเสียกบาล

ส่วนของที่บรรจุในกระทงนั้น บางแห่งว่ามีอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ แต่บางแห่งว่าไม่ได้บรรจุอะไร  มีแต่ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น และเรียกการลอยกระทงนี้ว่า “ไหลเรือ”

เรื่องของการลอยกระทงของภาคอีสานนี้ก็คือ ส่วนมากจะทำในจังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง และลอยกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ นอกจากนี้ยังมีรวงข้าวอ่อนผูกไว้ด้วย  แล้วเอากระทงไปวางไว้เฉย ๆ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้

เก็บความจากหนังสือ เรื่องเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ของเสฐียรโกเศศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *