พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

Socail Like & Share

กฐิน ตามศัพท์บาลีแปลว่า กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเย็บจีวรถวายพระภิกษุห่มครอง กรอบไม้ขึงผ้าเพื่อเย็บนี้ไทยเรียกว่า สะดึง เมื่อนำผ้าไตรจีวรเย็บโดยใช้กรอบไม้ขึงให้เป็นผืนติดต่อกันเป็นท่อนๆ เรียกว่า เย็บเข้ากระทงสำเร็จรูปเป็นไตรจีวร เหตุที่ต้องใช้กรอบไม้ขึงผ้าเย็บก็เพราะในสมัยพุทธกาลไม่มีเครื่องจักรที่จะเย็บผ้าเช่นปัจจุบัน จึงผ้าพระกฐินเกิดเป็นศัพท์ว่า ผ้าไตรกฐิน ผ้าไตรองศ์กฐิน หรือผ้ากฐิน

มูลเหตุที่เกิดทอดกฐินในบาลีกล่าวว่า ครั้งพุทธกาลพระภิกษุเมืองปาไถยรัฐ ๓๐ รูปจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ที่ประทับเชตุวันมหาวิหาร แต่มาไม่ทันเพราะจะถึงเวลาเข้าพรรษาจึงพักเข้าพรรษาเสียก่อนที่เมืองสาเกต เมื่อออกพรรษาแล้วก็รีบออกเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า การเดินทางของพระภิกษุเหล่านี้ถูกฝนเปรอะเปื้อนโคลนตมในระหว่างเดินทาง พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความยากลำบากได้ทรงตรัสอนุญาตให้พระภิกษุเมื่อออกพรรษาแล้ว ให้อยู่รับผ้ากฐินที่จะมีผู้นำมาถวายเสียก่อน คือกำหนดเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เป็นเวลา ๑ เดือน เรียกว่าสุดกฐินกาล

ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุจำนวนมากขึ้นผ้ากฐินที่พุทธศาสนิกชนทำขึ้นมีไม่พอจะถวายทั่วทุกองศ์ พระภิกษุสงฆ์ไม่กล้าที่จะรับเกรงว่าจะเป็นการแก่งแย่งกัน เป็นการนำมาซึ่งความแตกสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเพื่อความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ขึ้นเป็นพระธรรมวินัย กำหนดให้พระภิกษุผู้จำพรรษาสิ้น ๓ เดือน คือไตรมาสในอาวาสนั้น โดยวางหลักเกณฑ์ว่าพระภิกษุรูปใดมีจีวรครองเก่ากว่าภิกษุอื่นในอาวาสที่จำพรรษาด้วยกัน รอบรู้พระธรรมวินัยปฏิบัติศาสนกิจเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ เป็นที่เคารพนับถือของหมู่พระสงฆ์ และไม่มีอธิกรณ์ใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียในทางปฏิบัติและพระธรรมวินัย พระภิกษุในอาวาสที่จำพรรษาลงอุโบสถร่วมสังฆกรรมได้เห็นชอบพร้อมกันอนุโมทนาให้เป็นผู้รับครองผ้ากฐิน ซึ่งผู้นำมาถวายจะเจาะจงถวายผ้ากฐินแด่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ จึงต้องวางไว้แล้วกล่าวคำถวายโดยไม่เจาะจง จึงเรียกกันว่า ทอดกฐิน

โดยเหตุนี้การทอดกฐินจึงเป็นเทศกาลและประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชน จัดเป็นงานกุศลยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพิธีของหลวงหรือพิธีของราษฎร คือเป็นประเพณีสำคัญมาแต่โบราณตั้งแต่ไทยได้รับพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่มีการกุศลใดๆ ที่พุทธศาสนิกชนร่วมกันด้วยจิตศรัทธาและมีความสามัคคีในการทำบุญเสมอการทอดกฐิน ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัยว่า

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ฝูงท่วย มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนนอนบริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสวดญัตติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิกพู้นเท้าหัวลาน คำบงคำกลอย ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ….”

ประเพณีกฐินจึงสืบเป็นราชประเพณีและเทศกาลบำเพ็ญกุศลทอดกฐิน เริ่มแต่วันออกพรรษา แรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๒ เป็นสุดกฐินกาล

ส่วนราชประเพณีของหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงในวันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันแรม ๙ คํ่า เดือน ๑๑ เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางบก ทางเรือ วันละ ๒ วัดบ้าง ๓ วัดบ้าง ในสมัยก่อนๆ เป็นงานใหญ่เสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค คือทรงพระราชยาน มีกระบวนแห่ราชอิสริยยศ เครื่องสูง สังข์ แตร กลองชนะ คู่เคียง อินทร์พรหมถือหอก ถือทวน ถือดาบ เชิญพระแสงต่างๆ เป็นกระบวนราชอิสริยยศ แต่งกายอย่างทหารไทยโบราณ สมัยต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกองทหารแบบยุโรปขึ้นแล้ว จึงจัดให้มีกองทหารแบบใหม่เป็นกระบวนหน้าและกระบวนหลังตาม เช่น มีแตรวงธงประจำกองนำ ทหารม้า ทหารราบทุกเหล่า ทหารปืนใหญ่ ทั้งหมดแต่งเครื่องแบบเต็มยศแห่นำและตามเสด็จฯ และบางปีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินทางเรือเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ผ้าไตรองค์กฐินตั้งในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กระบวนเรือพระอิสริยยศมีเรือคู่ชักเป็นรูปสัตว์ที่หัวเรือ เช่นรูปพญาพานรบ้าง รูปอสูรบ้าง มีสังข์ แตร มโหระทึก ปี่ กลองชนะ ประโคม มีศิลปินเห่เรือ และมีกระบวนเรือตั้งเรือแซง เป็นต้น แต่งกายด้วยเครื่องทหารแบบโบราณ สวมหมวกหูกระต่าย หมวกทรงประพาส เมื่อเคลื่อนกระบวนเรือพยุหยาตรา ศิลปินประจำเรือผ้าไตรจะเห่ตามบทประพันธ์กาพย์เห่เรือ ฝีพายร้องรับเป็นตอนๆ

ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถม้าพระที่นั่ง รถยนต์พระที่นั่ง เรือยนต์พระที่นั่ง ไปถวายผ้าพระกฐิน และบางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเป็นเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราสถลมารค บางปีก็กำหนดเสด็จฯ กระบวนพยุหยาตราชลมารคตามโบราณราชประเพณี เช่น เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๒ และ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินวัดอรุณราชวราราม เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคโดยจัดเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งบุษบกเชิญผ้าไตรพระกฐิน นำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในกัญญาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่อเป็นการรักษาราชประเพณีที่เคยมีมาแต่กาลก่อนและเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมของไทย

โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภ์ เฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนามีวัดที่ทางราชการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ๑๙๐ วัด ในฐานะที่เป็นวัดหลวงตามราชประเพณีพระมหากษัตริย์ย่อมจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดหลวงทุกวัด แต่จำนวนวัดหลวงมีมากมายหลายจังหวัดทั่วราชอาณาจักร บางโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง และบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินให้ครบทุกวัดที่เป็นพระอารามหลวงตามกำหนดเทศกาลทอดกฐินได้

เมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินพระอารามหลวงในเขตที่ใกล้พระนครเป็นส่วนมาก เริ่มพระกฐินหลวงแต่วันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ เป็นวันแรก กำหนดเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ๓ วัด หรือ ๒ วัด รุ่งขึ้นแรม ๗ คํ่าพักวันหนึ่ง วันที่พักนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป็น กระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะต้องกำหนดในวันแรม ๙ คํ่า ก็เพราะวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่านํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนพระนครจะขึ้นมากและนิ่งไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปี

พระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนดเป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เป็นประจำปีในปัจจุบัน ๑๖ วัด คือ
๑. วัดบวรนิเวศวิหาร (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๖)
๒. วัดสุทัศนเทพวราราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๘)
๓. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๑)
๔. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๕)
๕. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๗)
๖. วัดมกุฎกษัตริยาราม (มีพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๔)
๗. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๔)
๘. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (เป็นวัดคู่พระบรมราชวงศ์จักรี)
๙. วัดราชาธิวาส (มีพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และพระบรมราชสริรางคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๑๐. วัดราชโอรสาราม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๓)
๑๑. วัดอรุณราชวราราม (มีพระบรมราซสริรางคารรัชกาลที่ ๒)
๑๒. วัดเทพศิรินทราวาส (รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศถวายพระบรมราชชนนี)
๑๓. วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สร้างขึ้นไว้ ณ นิวาสสถานเดิม)
๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริ ให้สร้างเป็นวัดประจำพระราชวังบางปะอิน)
๑๕. วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (มีพระบรมราชสริรางคารรัชกาลที่ ๖)
๑๖. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (เป็นวัดในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ ถือเป็นราชประเพณี เมื่อพระมหากษัตริย์เสวยราชย์บรมราชาภิเษกแล้วจะต้องเสด็จฯ ไปถวายสักการะ พระพุทธชินราช)

พระอารามหลวงในจำนวน ๑๖ วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินวันละ ๓ วัด หรือ ๒ วัด เริ่มแต่วันแรม ๖ คํ่า เดือน ๑๑ เสด็จฯ ๓ วัน ส่วนวัดที่เหลือก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระกฐินหลวงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์และเป็นกฐินหลวงพระราชทานพระบรมวงศ์ หรือราชสกุล ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นกฐินพระราชทาน

ส่วนพระอารามหลวงอื่นๆ นอกจาก ๑๖ วัดนี้ ซึ่งมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางปีก็โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นบางวัด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้กระทรวง ทบวง กรม สถาบัน คณะบุคคล เมื่อมีจิตศรัทธาจะถวายผ้าพระกฐิน พระอารามหลวงวัดใดวัดหนึ่งนอกจากที่สงวนไว้ ๑๖ วัดนั้นแล้ว ก็ให้แจ้งความจำนงขอพระราชทาน ไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะรวบรวมกราบบังคมทูลขอพระราชทานครองพระกฐินหลวงนำไปทอดถวาย ณ วัดหลวงที่มีจิตศรัทธาประสงค์จะไปทอดกฐิน เครื่องพระกฐินวัดเหล่านี้กรมการ ศาสนาเป็นผู้จัดไว้ให้พร้อม เพราะถือเป็นพระกฐินหลวงพระราชทาน

การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินและโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ โดยออกเป็นหมายกำหนดการ แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สวมสายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือจุลจอมเกล้าและช้างเผือก ถ้าปีใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามด้วย ต้องกำหนดสายสะพายราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยเป็นสายสำคัญ แต่สำหรับวัดอรุณราชวราราม ต้องกำหนดสายสะพายราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์เป็นสายสำคัญ ในกรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์นั้น หมายกำหนดการจะได้กำหนดแต่งกายเต็มยศ สายสะพายขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรี และทุกวัดที่ออกหมายกำหนดการแต่งเครื่องแบบเต็มยศต้องมีทหารเหล่ารักษาพระองค์จัดเป็นกองเกิยรติยศ พร้อมแตรวง ธงประจำกองไปตั้งรับ-ส่งเสด็จฯ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระอารามหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ถวายผ้าพระกฐินเป็นงานออกหมายกำหนดการเต็มยศ ในพระอุโบสถจะได้ทอดพระราชอาสน์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยถวายคลุมด้วยผ้าเยียรบับ

พระกฐินหลวงที่ทอด ณ วัดฝ่ายธรรมยุต ที่ไตรองค์กฐินจะมีผ้าขาวพับซ้อนอยู่ข้างบน เมื่อทอดถวายพระสงฆ์ทำกฐินกรรมเสร็จแล้ว เสด็จฯ กลับ เจ้าพนักงานช่างเย็บซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายใน (สตรี) สังกัดสำนักพระราชวัง จะช่วยฝ่ายสงฆ์ตัดเย็บผ้าขาวที่ทรงทอดถวายรวมกับไตรองค์กฐินเอาไปตัดเย็บเข้ากระทงเป็นจีวรแล้วย้อมใหม่ด้วยสีกรัก (สีเปลือกไม้) ถวายพระสงฆ์ไปทำพิธีกรรมในการครองผ้าพระกฐินต่อไป ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จในวันนั้น

กำหนดวันและวิธีถวายผ้าพระกฐินเสด็จพระราชดำเนินและแทนพระองค์ มีดังนี้

วันแรก ขึ้น ๖ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายมงกุฎไทย

วันที่ ๒ ขึ้น ๗ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชนีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๓ ขึ้น ๘ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๔ ขึ้น ๙ คํ่า เดือน ๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่งกายเต็มยศ สายสะพายนพรัตน์ และข้างเผือก

วันที่ ๕ ขึ้น ๑๐ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรี และจุลจอมเกล้า

วันที่ ๖ ขึ้น ๑๑ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรีและจุลจอมเกล้า

วันที่ ๗ ขึ้น ๑๒ คํ่า เดือน ๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่งกายเต็มยศ สายสะพายจักรีและ จุลจอมเกล้า

เวลา ๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดที่ ๑ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ เจ้าหน้าที่ศุภรัตทูนเกล้าฯ ถวายผ้าพระกฐินที่ประตูนอกพระอุโบสถ ทรงรับพาดระหว่างพระกรอุ้มเชิญเข้าไปในพระอุโบสถ ทรงวางผ้าพระกฐินบนพานแว่นฟ้าหน้าอาสนสงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถทรงกราบทรงหยิบผ้าสำหรับห่มถวายพระประธานที่วางอยู่บนหลังผ้าไตรพระกฐิน พระราชทานให้เจ้าหน้าที่ภูษามาลา แล้วเจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ วัดนี้ จบแล้ว ทรงหยิบผ้าไตรกฐินที่วางบนพานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกรประนมพระหัตถ์ผินพระพักตร์สู่พระประธาน ทรงว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ๓ จบ แล้วหันพระพักตร์สู่ที่ชุมนุมสงฆ์ ทรงว่าคำถวายผ้าพระกฐิน
แบบที่ ๑ สำหรับวัดฝ่ายธรรมยุต
อิมํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินทุสฺสํ สงฺฆสฺส
โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ
อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏคฺคณฺหาตุ
ปฏิคฺเหตุวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ
อมหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย

แบบที่ ๒ สำหรับวัดฝ่ายมหานิกาย
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ทุติยมฺปิ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม
ตติยมฺปิ อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม

แบบที่ ๓ สำหรับวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ มีราชประเพณีวางไว้ให้ว่าเป็นภาษาไทย

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษาถ้วนไตรมาส ในพระอาวาส ราชวรมหาวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินแล้วกระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ฯ

แบบที่ ๔ สำหรับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงกำหนดให้ใช้ตามแบบวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์

ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจำพรรษา ถ้วนไตรมาส ในพระอาวาสราชวรวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินแล้วกระทำกฐินัตถารกิจ ตาบพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ฯ

เมื่อทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินแล้วทรงวางผ้าไตรบนพานแว่นฟ้า ทรงประเคนเทียนปาติโมกข์ แด่พระสงฆ์รูปที่ ๒ แล้วประทับพระราชอาสน์ พระสงฆ์ทำกฐินกรรมตามพระวินัย พระสงฆ์รูปที่ได้เป็นผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองไตรพระกฐินเรียบร้อยแล้วกลับมานั่งที่เดิม ต่อจากนี้เลขาธิการพระราชวังจะได้เข้าไปหมอบเฝ้าฯ กราบบังคมทูล แล้วเชิญพระราชกระแสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ถวายเครื่องบริขารพระกฐิน แด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน พระราชวงศ์ผู้ที่ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า จะถวายความเคารพแล้วไปยังอาสนสงฆ์ พระราชวงศ์องค์อื่นจะได้ส่งเครื่องบริขารให้พระราชวงศ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้ารับแล้วถวายพระสงฆ์โดยผินพระพักตร์ออกสู่ที่ประทับ แต่ถ้าเป็นของมีคม เช่น ขวาน สิ่ว จะต้องหันหลังส่งตามลำดับ เมื่อถวายเครื่องบริขารพระกฐินเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถ้าวัดใดมีผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ผู้แทนเจ้าอาวาสจะกราบบังคมทูลเบิกตัวเข้าไปเฝ้าฯ ทูนเกล้าฯ ถวายเงินตามลำดับจนหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปฏิสันถารกับเจ้าอาวาส แล้วเสด็จฯ ไปทรงกราบที่เครื่องนมัสการหน้าพระพุทธปฏิมาประธาน เสด็จฯ ยังวัดที่ ๒ หรือที่ ๓ ต่อไป แล้วเสด็จฯ กลับ

ในกรณีวัดที่เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินนั้น มีการสดับปกรณ์พระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เช่น วัดบวรนิเวศวิหารและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพระผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองผ้าไตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะแล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ ๑๐ รูป สดับปกรณ์ ออกไปครองผ้ากลับเข้านั่งที่เดิมพร้อมกับพระผู้ครองผ้าพระกฐินแล้วจึงถวายเครื่องบริขารพระกฐิน

อนึ่งพระกฐินหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้แทนพระองค์ ตลอดจนพระกฐินพระราชทาน รวมทั้งที่แจ้งความจำนงไปยังกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีคำว่าถวายผ้าพระกฐินเป็นภาษาไทย ดังนี้

“ผ้าพระกฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา¬ภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กอปรด้วยพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าน้อมนำถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งจำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงรับผ้าพระกฐินทานนี้ กระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตนั้น เทอญ ”

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้วางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงและกฐินพระราชทาน ดังนี้

แนวปฏิบัติ เกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงและพระกฐินพระราชทาน

เนื่องด้วยกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่า สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในวัดหรือใกล้วัดมักจะนำนักเรียนไปตั้งแถวรับพระกฐินหลวง และพระกฐินพระราชทานเป็นประจำ กระทรวงศึกษาธิการจึง ปรับปรุงแนวปฏิบัติขึ้นใหม่ ดังนี้

๑. พระกฐินหลวงและพระกฐินพระราชทาน
“พระกฐินหลวง” หมายความว่า พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ องคมนตรี หรือบุคคลผู้หนึ่งผู้ใด เสด็จไป หรือไปถวายแทนพระองศ์ ตามหมายของสำนักพระราชวัง

“พระกฐินพระราชทาน” หมายความว่า พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน แก่กระทรวง ทบวง กรม องค์การ สโมสร สมาคม หรือเอกชนผู้มีเกียรติซึ่งขอพระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อนำไปถวาย ณ พระอารามหลวง

“สถานศึกษา” หมายความว่า โรงเรียน วิทยาลัย หรือสถานศึกษา ที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

“หัวหน้าสถานศึกษา” หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

แนวปฏิบัตินี้เป็นแนวปฏิบัติของสถานศึกษาที่นำนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ลูกเสือ ยุวกาชาด หรือเนตรนารี ไปตั้งแถวรับผู้เป็นองค์ประธานหรือประธานเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับพิธีทางศาสนา หรือพิธีการในพระอุโบสถ

๒. สถานศึกษาที่ควรไปรับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน
๒.๑ สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในวัดนั้น
๒.๒ สถานศึกษาที่เคยตั้งอยู่ในวัดนั้น
๒.๓ สถานศึกษาที่ทางวัดเคยอุปการะ หรือกำลังอุปการะอยู่
๒.๔ สถานศึกษาที่ทางวัดขอร้อง หรือสถานศึกษาที่ทางจังหวัดเห็นสมควรให้ไปรับพระกฐินหลวง หรือพระกฐินพระราชทาน

๓. วิธีดำเนินการ
เมื่อวัดใดได้รับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน ให้หัวหน้าสถานศึกษาดังกล่าวในข้อ ๒ นำนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ไปตั้งแถวรับผู้เป็นองค์ประธาน หรือประธาน โดยให้ดำเนินการดังนี้
๓.๑ ติดต่อประสานงานกับวัดเพื่อทราบกำหนดแน่นอน และแจ้งจำนวนครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ที่จะไปตั้งแถวรับให้ทางวัดทราบแล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย
๓.๒ การฝึกซ้อมเกี่ยวกับการรับพระกฐินหลวงหรือพระกฐินพระราชทาน ให้กระทำได้เท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ควรจะให้เสียเวลาของนักเรียนนักศึกษาน้อยที่สุด

๔. การรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน และรับผู้เป็นประธานที่ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินมาทอดถวาย
๔.๑ การแต่งกาย ให้เป็นไปตามหมายกำหนดการ หรือกำหนดการว่าด้วยการนั้น
๔.๒ การตั้งแถวรับ จะคัดจัดนักเรียนนักศึกษาทุกแผนกไว้ในที่เดียวกัน หรือแบ่งแยกนักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี หรือยุวกาชาดไว้คนละแห่ง ก็ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามที่เห็นสมควร
๔.๓ การจัดโต๊ะหมู่บูชา ถ้าเป็นการรับเสด็จพระราชดำเนิน หรือในกรณีที่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ให้จัดโต๊ะหมู่บูชา ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ ไม่ต้องจุดธูปเทียน

๕. การจัดดุริยางค์บรรเลงรับ-ส่ง
๕.๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีใน รัชกาลก่อน สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระ ราชดำเนินมาถึงให้หัวหน้าสถานศึกษา หรือผู้ควบคุมแถวบอกทำความเคารพ นักเรียน นักศึกษา ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ทำความเคารพตามระเบียบว่าด้วยการนั้น ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
๕.๒ พระกฐินหลวงที่พระราชทานพระราชวงศ์ องคมนตรี ไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง เมื่อเสด็จหรือไปถึงวัดรับผ้าไตรของหลวง เชิญเข้าสู่พระอุโบสถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อกลับบรรเลงเพลงมหาชัย
๕.๓ นายกรัฐมนตรี หรือผู้มีเกียรติที่ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดถวายมาถึงรับผ้าไตรของหลวงเชิญเข้าสู่พระอุโบสถ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเมื่อนายกรัฐมนตรีกลับ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาชัย ส่วนบุคคลผู้มีเกียรตินอกจากนี้เมื่อกลับไม่ต้องบรรเลงเพลงใดๆ

๖. การถวายรายงานและรายงาน
ให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือผู้ควบคุมแถว ถวายรายงานและหรือรายงานตามแบบดังนี้
(แบบถวายรายงานรับพระกฐินหลวง)
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า……………………..(ออกนาม) ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท………………………..(ชื่อสถานศึกษา) นักเรียน นักศึกษา………..คน
ครู อาจารย์…………..คน ลูกเสือ……………คน เนตรนารี………………คน
ยุวกาชาด…………….คน รวมทั้งสิ้น…………คน

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า……………………………..(ลงนาม)
ตำแหน่ง………………………………………
หมายเหตุ ถ้าเป็น
๑. สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อน
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ๓. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
คาขึ้นต้นใช้ “ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบฝ่าละอองพระบาท……………..
คำสรรพนาม “ข้าพระพุทธเจ้า, ใต้ฝ่าละอองพระบาท”
คำลงท้าย    “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม”

                 ซอง
ขอพระราชทานทูนเกล้าฯ ถวาย
รายงาน
จำนวน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

(แบบกล่าวรายงานรับพระกฐินพระราชทาน)
ถ้าผู้ได้รับพระกฐินพระราชทานเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า หรือสมเด็จพระบรมวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้า ใช้ว่า

“ขอพระราชทานกราบทูล ทราบฝ่าละอองพระบาท…………………….(ชื่อสถานศึกษา) นำนักเรียน นักศึกษา………….คน ครู/อาจารย์……………..คน ลูกเสือ    ………………คน เนตรนารี…………คน
ยุวกาชาด……………คน รวมทั้งสิ้น……………………คน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า……………………..(ลงนาม)
ตำแหน่ง……………………………..
หมายเหตุ
๑. ถ้าเป็นพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ให้ใช้ ขอประทานกราบทูล ทราบฝ่าพระบาท ถ้าเป็นหม่อมเจ้า ใช้ กราบทูล คำลงท้ายว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
๒. ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา

คำขึ้นต้น    “กราบเรียน, เรียน…………….(ออกชื่อตำแหน่งที่จะรายงาน)
คำลงท้าย    “จึงขอประทานกราบเรียน เรียน เพื่อโปรดทราบ”

                    ซอง
รายงาน
จำนวนครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา
ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด

ที่มา:กรมศิลปากร