ระดับความเชื่อของชาวล้านนา

Socail Like & Share

ความสัมพันธ์ของคติความเชื่อระหว่างระดับเมืองและระดับหมู่บ้าน
ตำราการดูลักษณะดินของครูบาโนกล่าวนั้นสามารถใช้เลือกสถานที่สำหรับสร้างเมืองจนกระทั่งถึงหมู่บ้านตลอดจนที่สำหรับสร้างบ้าน การเลือกทำเลเมืองนั้นย่อมเป็นวิสัยของชนชั้นบริหารระดับเจ้านาย จึงแสดงว่าตำราดังกล่าวที่ได้รวบรวมคติและพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นความรู้ที่ผู้รู้จะเป็นผู้บอกกล่าว หรือแนะนำแก่ชนชั้นปกครองจนถึงชาวบ้านและเป็นความรู้หรือตำราที่ใช้ร่วมกัน ในสมัยที่ลานนายังเป็นอิสระดำรงฐานะเป็นประเทศราชอยู่นั้น พิธีกรรมต่างๆ ในราชสำนักของเจ้าผู้ครองนครยังคงนิยมประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันเรื่อยมา ครั้นอำนาจบริหารตกมาอยู่ใต้อำนาจบริหารส่วนกลางคือกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมานั้น คติความเชื่อและพิธีกรรมของราชสำนักฝ่ายเหนือก็เริ่มเสื่อมความนิยมและเลิกราไปในที่สุด แต่พิธีกรรมตลอดจนคติความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นตกมาอยู่กับประชาชนทั่วไปทั้งหมู่บ้านในเมืองและชนบทที่ยังคงนิยมปฏิบัติและยึดถือกันอยู่ โดยชาวบ้านจะอาศัยพระที่เชี่ยวชาญทางคติแผนโบราณเป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งพระประเภทนี้มักจะมีตำราที่ตกทอดสืบต่อกันมาบันทึกไว้ในสมุดข่อยหรือปั้มหนังสา และในใบลาน พิธีกรรมบางอย่างพระก็จะเป็นผู้ประกอบพิธีเอง บางอย่างพระจะให้คำแนะนำโดยให้ชาวบ้านไปว่าจ้าง หรือติดต่อ ฆราวาส “หรืออาจารย์” ผู้ทรงความรู้ประจำหมู่บ้านเป็นผู้ประกอบพิธี ความรู้เหล่านี้เดิมบันทึกสำหรับใช้กันเฉพาะหมู่ผู้ประกอบพิธีกรรมเท่านั้นและเป็นตำราที่หวงแหนไม่ค่อยถ่ายทอดกันอย่างกว้างขวาง ครั้นตกมาถึงสมัยปัจจุบันความรู้ต่างๆ เริ่มสูญหายไป จนถึงกับมีสำนักพิมพ์บางแห่งในภาคเหนือได้ว่าจ้าง ให้หาผู้รวบรวมและพิมพ์ เผยแพร่ซึ่งหนังสือ ดังกล่าวจะมีวางขายกันทั่วไปตามร้านขายเครื่อง สังฆภัณฑ์ ซึ่งผู้รวบรวมก็มักกล่าวว่าได้รวบรวมมาจากตำราแผนโบราณที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่โบราณที่ได้มาจากสมุดข่อยและคัมภีร์ใบลานที่เขียนด้วยอักษรพื้นเมือง

อนึ่งการเลือกดูที่ๆ จะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงพระเจ้าเม๊งราย พระร่วงและพระยางำเมืองได้ขึงเชือกระดับดูก็รู้ว่าพื้นดินตรงบริเวณจะสร้างเมืองนั้น เบื้องตะวันตกสูงเอียงต่ำไปทางตะวันออก เป็นที่ที่มีเดชะเป็นชัยมงคลเป็นอันมาก ซึ่งตรงกับตำราแผนโบราณในคัมภีร์โลกสมมุติราช และตำราแผนโบราณพื้นเมือง ซึ่งญาณรังษีเป็นผู้รวบรวม และร้านประเทืองวิทยาเชียงใหม่ จัดพิมพ์จำหน่าย โดยได้กล่าวถึงอุปะเทห์แห่งการตั้งบ้านเมืองว่า “เนื้อที่บ้านใด ทิศตะวันตกเฉียงใต้สูง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่ำและทิศตะวันตกเฉียงเหนือสูง ทิศตะวันออก-เฉียงเหนือต่ำ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือสูง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ต่ำ สถานที่นั้นจะมีโชคลาภดีนัก ฯ” (ซึ่งซอยทิศไว้ เป็น 3 ทิศ พื้นที่เป็นมงคลจะสูงตะวันตก และเอียงต่ำมาทางตะวันออก) ซึ่งแสดงว่าคติความเชื่อตั้งแต่สมัยพระเจ้าเม็งรายนั้นยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีคติความเชื่อดั้งเดิมอีกหลายอย่างที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานระดับหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าแต่ละหมู่บ้านย่อมมีผี หรืออารักษ์คอยคุ้มครองอยู่เพื่อคอยปกป้องรักษาและอำนวยความสุขสมบูรณ์แก่ชาวบ้านหมู่บ้านในชนบทของลานนาเกือบทุกหมู่บ้านใน ปัจจุบันนี้ แต่ละหมู่บ้านจะมีบริเวณที่พำนักของผีเสื้อบ้าน (บางแห่งเรียกว่าผีเจ้าบ้าน) โดยบริเวณนั้นชาวบ้านจะปลูกศาลหรือหอให้ผีเจ้าบ้านใช้เป็นที่สิงสถิต บริเวณดังกล่าวจะตั้งอยู่ตรงบริเวณชายบ้านที่เป็นดงไม้หรือมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ โดยเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านั้นเป็นที่สิงสถิตของผีและถือว่าเป็นอารักษ์ที่มีศักดิ์ตํ่ากว่าอารักษ์เสื้อเมือง ซึ่งผีหรือเจ้าบางองค์จะคุ้มครองหมู่บ้านตลอดทั้งไร่นา และผีหรือเจ้าบางองค์จะคุ้มครอง เฉพาะตัวหมู่บ้าน ผีที่คุ้มครองหมู่บ้าน และไร่นา เรียกว่า “ผีเจ้านาย” ผีที่คุ้มครองหมู่บ้านโดยเฉพาะเรียกว่า “ผีเจ้าบ้าน” ผีนี้จะไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึงบริเวณเนื้อที่นา ซึ่งบรรดาผีหรืออารักษ์หรือเจ้านี้สะท้อนให้เห็นไปถึงโครงสร้างทางการเมือง และสังคม ของชาวนาไทยภาคเหนือ โดยที่แต่ละหมู่บ้านตำบล และเมืองจะมีวิญญาณคุ้มครองอยู่เป็นตำแหน่งประจำ ที่มีอำนาจลดหลั่นกันตามลำดับชั้นของขนาดเนื้อที่ๆ ผีเจ้าถือครองอยู่ จากการสำรวจข้อมูล ทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ นั้นพบว่าชาวบ้านยังคงนับถือ บางบ้านถือเคร่งครัดมาก และยังเชื่อกันว่าหากหมู่บ้านใดมีคนจากหมู่บ้านอื่นโยกย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะต้องไปบอกกล่าวให้ผีเสื้อบ้านหรือผีเจ้าบ้านทราบเสมอ โดยเฉพาะแถบอำเภอจูน จังหวัดพะเยา และหมู่บ้านแถบอำเภอเชียงกลางจังหวัดน่าน การเซ่นสรวงจะต้องกระทำทุกปีในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมอันเป็นเวลาก่อนช่วงฤดูทำนานั่นเอง แม้ในเมืองเชียงใหม่นั้นก็เชื่อกันว่ามีผีปู่แสะย่าแสะ เป็นผีที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่นอกเหนือจากอารักษ์เจ้าหลวงคำแดง และมีความสำคัญมาก สมัยก่อนกษัตริย์ ขุนนาง และชาวบ้านเป็นผู้ร่วมพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี กล่าวกันว่าการที่เมืองเชียงใหม่ต้องประสบยุคเข็ญก่อนเสียเอกราชแก่พม่าในสมัยกษัตริย์เมกุฏิก็มีสาเหตุหนึ่งมาจากที่กษัตริย์ห้ามไม่ให้ชาวบ้านไปทำพิธีบูชา และเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ แม้ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ได้มีชาวบ้านส่งบัตรสนเท่ห์ กล่าวหาว่าเจ้าเมืองไม่สนใจเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ การเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะนี้ชาวบ้านเชิงดอยสุเทพ และชาวบ้านแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ยังคงกระทำพิธีสังเวยอยู่ นอกจากนี้ยังมีพิธีสักการะบูชาเสาอินทขีล (หลักเมือง) ซึ่งเป็นที่รวมวิญญาณของชาวเมืองและบรรพบุรุษในอดีต พิธีดังกล่าวมักจะทำกันในปลายเดือน ๘ เหนือ (เดือน ๖ ใต้) ช่วงข้างแรมแก่ๆ มักจะเริ่มทำในวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ เสร็จเอาเมื่อวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ ในระหว่างการทำพิธีนี้เขาจะจัดให้มีซอพื้นเมือง และมีช่างฟ้อนหอกฟ้อนดาบมาฟ้อนสังเวยเทพยดาอารักษ์ พวกช่างซอที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทุกคนไม่ว่าอยู่ห่างไกลสักเพียงไร จะต้องเดินทางมารวมกันที่เสาอินทขีล และผลัดกันซอ เป็นพลีกรรมถวาย และมีพิธีกรรมสืบชาตาเมืองชาตาบ้านอีกด้วย การสืบชาตาเมืองจะทำที่บริเวณกลางเมืองและบริเวณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในกำแพงเมือง ส่วนพิธีสืบชาตาบ้านจะทำที่บริเวณ “ทอเสื้อบ้าน” มีการสังเวยจตุโลกบาล และเสื้อบ้านมีการทำบุญ ตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษึสงฆ์ ที่นิมนต์มาสวดพระปริตต์ และชัยมงคล เพื่อขับไล่สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน ให้อันตรธานหรือสูญหายไป พิธีสักการะบูชาเสาอินทขีลนั้นในสมัยก่อนได้จัดทำกันเป็นงานใหญ่ และทำกันเป็นประจำมาเลิกเอาในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา และปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อฟื้นจัดทำพิธีขึ้นอีกแต่ทำเฉพาะการบูชาอินทขีลอย่างเดียว
ในบางหมู่บ้านตรงบริเวณทางแยก ๔ หรือ ๓ แพร่ง กลางๆ หมู่บ้านจะมีการปักเสาหลักไม้ เรียกว่า “เสาหลักบ้าน” เอาไว้นอกเหนือจากศาลผีเสื้อบ้านที่อยู่ในดงไม้เสานี้ บางหมู่บ้านเรียกว่า “ใจบ้าน” (คล้ายกับสะดือบ้าน) ถือว่าเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านนั่นเอง ซึ่งได้คติมาจากเสาหลัก และทุกปีหลังสงกรานต์จนถึงก่อนเข้าพรรษาจะมีการทำบุญเลี้ยงพระและมีการอาราธนาให้ท่านสวดพระปริตต์และชัยมงคลคาถาที่บริเวณหลักบ้านนี้เช่นกัน เสาใจบ้าน หรือหลักบ้านนี้ไม่ค่อยพบมากเท่าที่พบเมื่อออกสำรวจข้อมูลทางสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน พบเพียง ๓ แห่งที่เป็นหมู่บ้านของชาวไทยยวน คือ ที่หมู่บ้านดอนมูล อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ บ้านเวียงป่าเป้า อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย และบ้านส้อ ต.เบือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน
ที่มาโดย:วิวัฒน์  เตมียพันธ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *