ความหมายของเต๋าสมัยเล่าจื๊อ

Socail Like & Share

มนุษย์เจริญรอยตามแผ่นดิน
แผ่นดินเจริญรอยตามสวรรค์
สวรรค์เจริญรอยตาม เต๋า
และเต๋า เจริญรอยตามวิธีทางแห่งธรรมชาติ

นี้คือ แนวแห่งความคิดโดยทั่วไปของปรัชญาของเล่าจื๊อ ธรรมชาติในที่นี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่บังเกิดขึ้นในสากลจักรวาล เป็นความบริสุทธิ์ของภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายด้วยเหตุนี้เมื่อสิ่งทั้งหลายถูกปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน สิ่งทั้งหลายจึงเคลื่อนไหวไปด้วยภาวะที่สมบูรณ์ด้วยภาวะที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างดี เพราะเหตุว่าสิ่งทั้งหลายที่ดำเนินไปตามธรรมชาติของมันโดยปราศจากการปรุงแต่งแต่อย่างใดนั้น ไม่ได้ขัดขวางเต๋า ซึ่งเป็นหลักปฐมมูลแห่งโลกจักรวาล สภาพการณ์ที่ดำเนินไปเช่นนี้เรียกว่าวิถีทางแห่ง หวู เว่ย (Wu Wei) วิถีทางแห่งการไม่กระทำสิ่งใด หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนไปอีกก้าวหนึ่ง ก็คือ วิถีทางแห่ง เว่ย หวู เว่ย (Wei Wu Wei) วิถีทางแห่งการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่กระทำสิ่งใดเลยที่เป็นการขัดขวางวิถีทางแห่งเต๋า
เต๋าโดยปกติแล้ว ไม่กระทำอันใด
แม้กระนั้น ก็ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ถูกกระทำ
คำสอนเรื่อง หวู เว่ย นี้เป็น ทฤษฎีที่เป็นหัวใจของปรัชญาของเล่าจื๊อ

จากความหมายนี้ มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้นตามมาอยู่สองประการ ประการแรกในบทนิพนธ์เรื่อง ประวัติศาสตร์และเรื่องกวีนิพนธ์ (ของขงจื๊อนั้น) ถือเอาว่าสวรรค์เป็นเหมือนบุคคลที่มีตัวตน เรียกว่า ชางตี่ (Shang Ti) หรือ “อัตตภาวะที่สูงสุด” เป็นผู้สนองความต้องการทั้งปวงของมนุษย์ และเป็นผู้ตอบแทนการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ แต่เล่าจื๊อนั้น ปฏิเสธการมีอยู่ของซ้องตี่ และถือว่า สวรรค์นั้นแทนที่จะมีตัวตนเป็นเทพเจ้า มีลักษณะเป็นแต่เพียงเจริญรอยตามเต๋าในกรณีนี้ เล่าจื๊อ เป็นนักปฏิเสธการมีพระเจ้า

ประการที่สอง คือ ปรัชญาของเล่าจื๊อนั้น เป็นปรัชญาที่ยกย่องคุณค่าของธรรมชาติแต่ลดคุณค่าของศิลปะลง ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ มนุษย์นั้นแต่เดิมมีความสุข แต่กลับมามีความทุกข์เพราะผลการเปลี่ยนแปลงที่สังคมเป็นผู้นำมา วิธีที่ดีที่สุดที่จะมีความสุขนั้น คือ การสละทิ้งซึ่งอารยธรรมที่เป็นการปรุงแต่งขึ้นที่มีอยู่ในปัจจุบันให้หมด แล้วดำรงชีวิตโดยสงบ สัมพันธ์กับธรรมชาติในท่ามกลางป่าไม้ ลำธารน้ำ และภูเขา ทรรศนะนี้อาจอธิบายในรูปของความแตกต่างอันน่าทึ่งระหว่างการมีความรู้กับ เต๋า การกลับคืนไปสู่ธรรมชาตินั้นจะกระทำได้ดังนี้

โดยการแสวงหาความรู้ บุคคลนึกถึงประโยชน์มากขึ้นทุกวันๆ โดยการแสวงหา เต๋า บุคคลนึกถึงประโยชน์น้อยลงทุกวันๆ บุคคลจะนึกถึงประโยชน์น้อยลง และสูญเสียประโยชน์ของตนอยู่ตลอดไปจนกระทั่งบุคคลนั้นจะบรรลุถึงวาวะแห่งความสุขสงบ แห่ง หวูเว่ย จงอย่ากระทำสิ่งอันใด โดยการไม่แต่ก็ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ได้กระทำสิ่งอันใด เขาจะเป็นผู้ชนะโลกแต่เมื่อเขาไขว่คว้าเอาเมื่อใด เมื่อนั้นเขาก็ไม่อาจเป็นผู้ชนะโลกได้

เห็นได้ชัดเจนว่า คำว่า เต๋า นั้นเป็นคำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่สุด ประโยคแรกในบทนิพนธ์เรื่อง เต๋า เต้อ จิง มีข้อความว่า

เต๋า ที่สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูดได้นั้น ไม่ใช่เต๋าที่เป็นสิ่งนิรันดร ชื่อที่สามารถเอ่ยเป็นชื่อออกมาได้ไม่ใช่ชื่อที่คงอยู่ตลอดกาล

ตามทรรศนะของเล่าจื๊อนั้น เขาเห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว ก่อนการกำเนิดของโลกจักรวาล บางสิ่งบางอย่างนี้คือสิ่งที่เรียกกันว่า เต๋า ซึ่งในสภาวะอันแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ชื่อ เพราะฉะนั้น เต๋า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูด หรือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกายใดๆ เลย

เพราะว่า ตานั้นจ้องมองดู แต่ไม่เคยเห็นสิ่งนี้จึงเรียกว่า ยี่ (Yi)
เพราะว่า หูนั้นเงี่ยฟัง แต่ไม่ได้ยิน สิ่งนี้จึงเรียกว่า ซี่ (his)
เพราะว่ามือนั้นเอื้อมไปไขว่คว้าเอาแต่จับคว้าเอาไม่ได้สิ่งนี้จึงเรียกว่า เว่ย (wei)
ทั้งสามสิ่งนี้ เราไม่สามารถจะเพ่งพิจารณาได้อีกต่อไป
เพราะสิ่งทั้งสามนี้ เข้าผสมรวมกันเป็น หนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ เต๋า จึงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน สัมผัสไม่ได้ แต่ เต๋า เป็นสิ่งนิรันดรเป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ เป็นสิ่งที่มีภาวะสูงสุดของมันเป็นอภาวะ (nonbeing) เต๋าเป็นกฎที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นฐานรองรับปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกจักรวาล เต๋า เป็นสิ่งที่นิรันดร เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในสถานที่ทุกหนทุกแห่ง เป็นสิ่งที่ใช้ไม่มีวันหมด และเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้คล้ายกับเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวง นี้คือเหตุผลทำไม เต๋า ซึ่งเจริญรอยตามวิถีทางของธรรมชาติ จึงมีสวรรค์ แผ่นดิน และมนุษย์ เป็นสิ่งเจริญรอยตาม

เต๋านั้นจะเข้าใจได้ง่าย ถ้าอาศัยความเข้าใจเรื่องราว เต้อ คำว่า เต้อ ตามที่ใช้ในบทนิพนธ์ เต๋า เต้อ จิง นั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่าคุณธรรม ตามที่รู้จักในปรัชญาของขงจื๊อ เต๋า คือสิ่งที่ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นมา แต่ในกระบวนการที่สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นมานั้น สิ่งทั้งปวงแต่ละสิ่งได้รับบางสิ่งบางอย่างมาจากเต๋า ที่มีลักษณะเป็นสากลภาวะ บางสิ่งบางอย่างที่สิ่งทั้งปวงแต่ละสิ่งได้รับมาจาก เต๋า ที่เป็นสากลภาวะนี้เรียกว่า เต้อ ด้วยเหตุนี้ เต้อ คือ คติความคิดที่แสดงถึงสภาพตามธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง เพราะฉะนั้น เต้อ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือ ภาวะที่สิ่งนั้นเป็นไปตามธรรมชาติของมัน

เต๋า เป็นองค์ประกอบอันสูงสุดของชีวิต มนุษย์จะต้องมีความปรารถนาที่จะดำรงชีวิตของตนให้สอดคล้องสัมพันธ์กับ เต๋า เต้อ เป็นพลังของชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำเนินไป เต้อ เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและเสริมสร้างพลังให้แก่ชีวิต ทั้ง เต๋า และ เต้อ เป็นภาวะแห่งธรรมชาติในความหมายที่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติของมันโดยไม่มีการปรุงแต่ง ภาวะอันบริสุทธิ์ของภาวะตามธรรมชาติเอง สิ่งทั้งหลายในโลกจักรวาลนั้นเรียกว่า เต้อ เต๋าเป็นสิ่งที่ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น เต้อ เป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งทั้งหลายมีสภาพตามที่มันเป็น นี้คือเหตุผลว่า “สรรพสิ่งทั้งปวงนับถือ เต๋า และยกย่อง เต้อ”

จากความหมายของ เต๋า ตามที่ได้กล่าวมานี้ เราสังเกตเห็นว่า เมื่อ เล่าจื๊อกล่าวว่า เต๋า เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสรรพสิ่งทั้งปวงนั้น เล่าจื๊อหมายความแต่เพียงว่า เต๋าปล่อยให้สรรพสิ่งทั้งปวงสร้างตัวของมันเอง ตามธรรมชาติของมัน โดยปราศจากการปรุงแต่งแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ เต๋า จึงไม่ทำสิ่งอันใดแต่ เต๋า “ให้ชีวิตแก่สรรพสิ่งทั้งปวง… ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงลุล่วงสำเร็จ…..หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งทั้งปวง” เต๋า เป็นผู้กระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ขอยกข้อความนี้มาแสดงอีกครั้งหนึ่ง

เต๋า โดยปกติแล้วไม่กระทำสิ่งอันใด
แต่ก็ไม่มีสิ่งอันใดที่ไม่ถูกกระทำ
นี้คือ วิถีทางของเว่ย หวู เว่ย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ