ขันโตก : ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ขันโตกดินเนอร์”

Socail Like & Share

ขันโตก : ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ขันโตกดินเนอร์”

โดย  วิลี พานิชพันธ์ (อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติ  ซึ่งนับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีงาม เหมาะสมกับสภาวะของชาติที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน

แต่บ่อยครั้งที่การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูนี้มักจะกระทำโดยการขาดความรู้ความเข้าใจ  โดยทำกันอย่างลวก ๆ ตามยุคสมัยนิยม ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวแล้ว  ยังสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเพณีวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย

บทความนี้ผู้เขียนต้องการเสนอแนะความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยง “ขันโตกดินเนอร์” ซึ่งเป็นประเพณีแบบใหม่อย่างหนึ่งที่มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นประเพณีของเมืองเหนือหรือของชาวลานนามาช้านาน

ถ้าพิจารณาคำว่า “ขันโตกดินเนอร์” ให้ดีแล้วก็จะเห็นได้ว่าคำ ๆ นี้มิได้เป็นคำในภาษาท้องถิ่นลานนาแต่ดั้งเดิม แต่เป็นคำศัพท์ใหม่ซึ่งประยุกต์ขึ้นจากคำในภาษาถิ่นลานนาว่า “ขันโตก” กับคำว่า “ดินเนอร์” ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ

คนต่างถิ่นส่วนมากที่มาเยี่ยมเยียนภาคเหนืองของประเทศไทย มักจะได้รับการต้อนรับจากเจ้าถิ่นด้วยการเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์  โดยมีการบอกเล่าว่นี่คือประเพณีการต้อนรับแขกแบบดั้งเดิม

คำบอกเล่าดังกล่าวนี้คือข้อมูลที่ผิดพลาดที่ถูกนำไปเผยแพร่จนกระทั่งเรียกว่ากู่ไม่กลับ ชาวลานนาหรือคนพื้นเมืองทางเหนือเองตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยายมาไม่เคยรู้จักคำว่า “ขันโตกดินเนอร์” และเพิ่งได้มารู้เห็นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

ฉะนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องขันโตกดินเนอร์กันเสียใหม่ เพื่อที่จะได้ลดความเข้าใจผิด และการเผยแพร่วัฒนธรรมแบบบิดเบือนให้น้อยลง

จากประสบการณ์และความรู้ทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านลานนาของผู้เขียนที่มีอยู่ การเลี้ยงขันโตกนั้นคือการเลี้ยงอาหารทั่ว ๆ ไปในงานทำบุญไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่วัด การทำอาหารประเภทไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแขกที่มาทำงานและทุนทรัพย์ของเจ้าภาพ  แต่โดยหลักแล้วมักจะเป็นอาหารที่พิเศษกว่าโภชนาการปกติตามบ้านเพราะถือว่าเป็นงานเลี้ยง เช่นว่า มีกับข้าวหลาย ๆ อย่าง มีเนื้อสัตว์มากขึ้น หรือว่าวิธีการปรุงที่พิถีพิถันกว่าอาหารที่กินอยู่ประจำวัน

ตามธรรมดาชาวบ้านทางเหนือจะมีกับข้าวมื้อละอย่างหรือสองอย่าง  ซึ่งประกอบขึ้นด้วยผักและแป้งเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์หรือโปรตีนมากนัก อาหารขันโตกนั้นมักจะใส่ในถ้วยก้นลึก บางครั้งมีฝาครอบเพื่อรักษาความสะอาด คนทางเหนือไม่นิยมใช้จาน  เพราะเมื่อวางขันโตกแล้วจะเกะกะกินที่ จานข้าวก็ไม่ใช้ เพราะส่วนใหญ่กินข้าวเหนียวจากก่องข้าว ที่สานด้วยไม้ไผ่

ตัวขันโตกนั้นจะมีลักษณะเป็นถาดไม้แผ่นใหญ่กลม ๆ มีขาสูงประมาณหนึ่งคืบตกแต่งด้วยการกลึงให้สวยงามพอประมาณ ทำหน้าที่เป็นทั้งถาดและโต๊ะอาหารเล็ก ๆ ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็วในการจัดวางสำรับอาหารบนพื้นตามประเพณีการกินอยู่แบบไทย

การกินโตกนั้นก็ไม่มีพิธีรีตรองอะไรมากมาย  ในสมัยเดิมเมื่อถึงเวลาอาหารซึ่งโดยมากจะเป็นอาหารกลางวัน  เพราะคนไทยไม่นิยมทำบุญกลางคืนกัน(ยกเว้นงานศพ) เจ้าภาพก็จะยกอาหารใส่ขันโตกเป็นสำรับออกมาวางเป็นชุด ๆ ให้ห่างกันพอสมควรที่จะให้คนล้อมวงรับประทานโดยไม่เบียดเสียดจนเกินไป  ซึ่งจะมีจำนวนคนประมาณ ๔-๖ คนต่อหนึ่งโตก

ของคู่เคียงกับสำรับโตกคือ คนโฑดินเผาใส่น้ำดื่ม ขันน้ำเล็ก ๆ สำหรับใช้ดื่มน้ำ กระโถนรองรับเศษอาหาร และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือพานเมี่ยงและบุหรี่สำหรับหลังอาหาร

“ก่องข้าว” เป็นคำภาษาถิ่นลานนาเทียบได้กับคำว่า “กล่องข้าว” บางท้องถิ่นเรียกว่า “แอ๊บข้าว”, “ปุ๊กข้าว” หากเทียบกับคำภาษาถิ่นอีสานก็คือ “กระติ๊บข้าว” นั่นเอง

ในงานบุญบางงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัด  ถ้ามีช่างฟ้อนและวงดนตรีพื้นเมือง เขาก็มักจะจัดให้มีการแสดงในช่วงนี้ซึ่งถือว่าเป็นการบันเทิงและแสดงศิลปะการฟ้อนตลอดจนความงามของเด็กสาวช่างฟ้อน  เมื่อรับประทานเสร็จก็เคี้ยวเมี่ยง สูบบุหรี่ คุยกันไปตามอัธยาศัย เป็นอันว่าเสร็จสิ้นการเลี้ยงขันโตก

งานเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์ในปัจจุบันได้กำเนิดมาจากอาจารย์ไกรศรี นิมานเหมินท์  ผู้ซึ่งได้มีความคิดริเริ่มประยุกต์เอางานเลี้ยงโตกแบบชาวบ้านมาเลี้ยงต้อนรับให้เกียรติแก่อาคันตุกะต่างแดนเมื่อประมาณยี่สิบปีเศษมานี้เอง

ความคิดริเริ่มอันนี้ได้วางแบบแผนงานขันโตกดินเนอร์ มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ซึ่งส่วนมากเข้าใจว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของทางเหนือ  แม้กระทั่งชาวลานนารุ่นใหม่เองก็คิดว่าเป็นเช่นนั้น

เดิมทีทางภาคเหนือเองไม่มีประเพณีการเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารค่ำ แต่เมื่อจำเป็นต้องเอาการกินโตกซึ่งปกติเป็นอาหารกลางวันมาต้อนรับแขกเมืองในตอนค่ำ ก็เลยมีการเติมคำว่า “ดินเนอร์” เข้าไปกับ “ขันโตก” ตามแบบสากลนิยม

การแต่งกาย สำหรับงานขันโตกดินเนอร์ ปัจจุบันก็พยายามเลือกลักษณะที่ดูเผิน ๆ แล้วให้เป็นแบบทางเหนือได้พอสมควร เช่น สตรีก็จะแต่งตัวลักษณะคล้ายช่างฟ้อน คือนุ่งผ้าซิ่นลายขวาง ใส่เสื้อแขนกระบอกรัดรูปสีลูกกวาด ห่มสไบสีตัดกับเสื้อและเกล้ามวยแบบต่าง ๆ ส่วนสุภาพบุรุษก็จะใส่เสื้อม่อฮ่อมกางเกงม่อฮ่อม ตามแบบชาวนา ชาวสวนทางเหนือ คาดเอวด้วยผ้าขาวม้าลายตาหมากรุกจากโบ๊เบ๊ ถ่ายรูปออกมาแล้วมีสีสันหลากตาดี ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่เป้าหมายของงานที่ถือว่าเป็นการให้เกียรติกันนั้น ก็ค่อนข้างจะไม่ตรงกับประเพณีดั้งเดิมเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะการแต่งตัวเพื่อให้เกียรติของชาวลานนาที่ทำกันมาแต่โบราณ คือการใส่เสื้อขาว และห่มผ้าสไบขาว ทั้งหญิงและชาย ผ้าซิ่นก็ต้องต่อตีนจกเพื่อเป็นการแต่งเต็มยศ

การใส่เสื้อม่อฮ่อมคาดผ้าขาวม้านั้นคือการออกไปทำงานในไร่สวนกัน มิใช่เป็นการให้เกียรติต่อผู้ใดแต่อย่างใด

การแห่ขันโตกด้วยดนตรี และช่างฟ้อน ประดับด้วยแสงเทียนระยิบระยับนั้นได้ประยุกต์มาจากการแห่ครัวทานหรือเครื่องไทยทานไปวัด เป็นบรรยากาศที่ดูแล้วตื่นตาตื่นใจคล้าย ๆ กับการเสริฟอาหารขั้นโต๊ะแบบฝั่งผสมชาวเกาะเล็กน้อย  สามารถสร้างความประทับใจให้แก่อาคันตุกะได้ดีพอสมควร

อาหารที่ใช้รับประทานตามแบบขันโตกดินเนอร์นั้นก็มีลักษณะที่แปลกไปจากกินโตกแต่เดิมมาก เช่น รายการอาหารจะต้องเป็นอาหารทางเหนือชนิดปรับปรุงให้สอดคล้องกับรสลิ้นของคนต่างถิ่น คือ แกงฮังเล(Burmese Curry) น้ำพริกอ่อง (Meat sauce for spaghetti, Burmese Style) จิ๊นทอด (Pork chop) หรือ ผักกะหล่ำ (Chop suey)

อาหารเหล่านี้ จะเรียกว่าเป็นอาหารแบบฉบับทางเหนือที่แท้จริงก็พอได้ แต่ไม่สนิทใจนัก เพราะนานทีปีหน คนทางเหนืออาจจะได้รับประทานสักทีหนึ่ง  ซึ่งต่างจากแกงหยวกกล้วย แกงหน่อไม้ใส่ชะอม ไข่มดแดง น้ำพริกหนุ่มใส่ปลาร้า ผักลวก ลาบควายที่นิยมกันตามพื้นบ้านจริง ๆ และอาจจะเป็นที่น่าสะอิดสะเอียนของชาวถิ่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขึ้นโตกแล้ว ถ่ายรูปไม่สวย

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้นั่งกินขันโตกดินเนอร์แต่ละท่านอาจมีจานกระเบื้องอย่างดีพร้อมด้วยช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ และแก้วเครื่องดื่ม ซึ่งมักจะเกะกะเรี่ยราดอยู่รอบ ๆ โตกอาหาร ระบบช้อนกลางแบบผู้ดีรับประทานอาหารก็ถูกนำมาใช้บนขันโตกอย่างประดักประเดิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้กินกับข้าวเหนียว คนโฑใส่น้ำ และพานเมี่ยง บุหรี่ เป็นของประดับคู่กับขันโตกไป ไม่ได้ถูกใช้จริง ๆ บางทีก็มีขันน้ำอะลูมิเนียมใส่น้ำลอยดอกมะลิมาไว้สำหรับล้างมือหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วด้วย  และก็ไม่แปลกใจที่บางครั้ง อาคันตุกะจากภาคกลางของไทยยกน้ำล้างมือขึ้นมาซด โดยที่นึกว่าเป็นน้ำสำหรับใช้ดื่ม

การฟ้อนรำ และการละเล่นเพื่อให้แขกชมไประหว่างรับประทานอาหารส่วนใหญ่ก็ได้มาจากแบบพื้นบ้านบ้าง ราชสำนักบ้าง ผสมผเสเข้าไปให้เกิดลักษณะคล้าย ๆ กับแนวความคิดของงานแสดงใน Restaurant-Theatre แถว Las Vegas

การจุดดอกไม้ไฟ ซึ่งแต่เดิมจะจุดกันในงานสมโภชวัดวาอารามหรืองานศพก็ถูกนำมาแสดงเพื่อสร้างความระทึกใจให้แก่แขกที่มาร่วมงาน การรำวงแบบภาคกลาง ซึ่งไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเพณีวัฒนธรรมภาคเหนือเลยก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการปิดท้ายรายการ ขันโตกดินเนอร์ไป

เท่าที่กล่าวมานี้ ก็มิได้มีเป้าหมายที่จะยับยั้งงานประเพณีขันโตกดินเนอร์แต่อย่างใด เพราะขันโตกดินเนอร์นั้นได้ก่อให้เกิดสิ่งดีงาม และประโยชน์ขึ้นหลายอย่างหลายประการ อย่างน้อยก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวเหนือจำนวนมากที่มีความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น หรือไม่ก็เรียกร้องความสนใจในแง่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ข้อสำคัญที่ควรตระหนักถึงก็คือ งานเลี้ยงแบบขันโตกดินเนอร์นั้นมิได้เป็นประเพณีดั้งเดิมของทางเหนือของไทย แต่ว่าเป็นการประยุกต์จากประเพณีกินโตกมาอีกทีหนึ่ง พร้อมกับเพิ่มเติมสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปอีกมากมาย ผสมปนเปออกมาเป็นแบบหัวมังกุท้ายมังกร

บางทีก็เข้าท่า แต่บางทีก็เละเทะน่าเกลียด เช่น ชุดผู้หญิงใส่ซิ่นผ้าไหมมัดหมี่แหวกสูงถึงสะโพก และระบำชาวเขาปลอมทำนองระบำจ้ำบ๊ะ ซึ่งทำให้ภาพพจน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางเหนือผิดเพี้ยนไป และขาดความีสุนทรีย โดยสิ้นเชิง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *